คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. ตาราง 1 ข้อ 1(ก)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลคำฟ้องหลายข้อหา: พิจารณาจากมูลหนี้แต่ละข้อหาแยกกันได้
การพิจารณาว่าคดีใดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเท่าใด จำต้องพิจารณาจากคำฟ้องคดีนั้นเป็นเกณฑ์ โจทก์ฟ้องจำเลยมา 3 ข้อหา คือให้จำเลยรับผิดใช้เงินตามหนี้เบิกเงินเกินบัญชี หนี้ตามสัญญากู้เงิน และหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งหนี้ในแต่ละข้อหานั้น จำเลยก่อหนี้ขึ้นกับโจทก์ต่างเวลากัน และมีกำหนดเงื่อนไขในการชำระแตกต่างกัน ดังนั้น หนี้ในแต่ละข้อหาจึงแยกจากกันได้แม้จะได้นำที่ดินจดทะเบียนจำนองเป็นประกัน ก็เป็นเรื่องของหลักประกันซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก และโดยสภาพโจทก์อาจฟ้องรวมกัน 3 ข้อหามาในคำฟ้องเดียวกันได้ แต่ค่าขึ้นศาลโจทก์จะรวม 3 ข้อหาแล้วเสียค่าขึ้นศาลมาในอัตราสูงสุดนั้นหาชอบไม่ ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มมาในแต่ละข้อหานั้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3248/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสนอซื้อขายหุ้นต้องมีเจตนาชัดเจน หากตกลงกันไม่ได้ในราคา ถือเป็นเพียงการเจรจา ไม่เกิดสัญญาผูกพัน
โจทก์จำเลยต่างเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเดียวกันซึ่งมีข้อบังคับระบุว่า ผู้ถือหุ้นคนใดมีความประสงค์จะโอนหุ้น ต้องโอนให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทเดียวกันก่อน การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าประสงค์จะขายหุ้น โดยมิได้กำหนดราคาค่าหุ้น หากแต่ให้มาติดต่อกับน. ผู้รับมอบอำนาจของจำเลยก่อน จึงเป็นเพียงการเชื้อเชิญมิใช่คำเสนอ และหนังสือโต้ตอบระหว่างโจทก์จำเลยในเรื่องราคาค่าหุ้น อันเป็นข้อสำคัญแห่งสัญญาซึ่งยังไม่ตกลงกัน ก็มิใช่เป็นคำเสนอและคำสนองอันทำให้สัญญาซื้อขายหุ้นเกิดขึ้น โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องให้บังคับจำเลยโอนหุ้นแก่โจทก์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนขายหุ้นซึ่งมีราคาปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นเงิน 3,050,000 บาท เป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าวตามตาราง 1 ข้อ1 ก. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1544/2520

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การแบ่งความรับผิดหลายฝ่าย และขอบเขตความรับผิดของนายจ้าง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ค่าเสียหายของโจทก์รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,980,000 บาท แต่โจทก์มิได้เรียกร้องเอาเต็มจำนวนดังกล่าว คงติดใจขอเพียง 700,000 บาท กับดอกเบี้ยอีก 45,125 บาท รวม 748,125 บาท ดังนี้ การคิดค่าขึ้นศาลต้องคิดจากจำนวนเงิน 748,125 บาท ตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง
ในคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ต. ฐานขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ เป็นเหตุให้สามีโจทก์ซึ่งโดยสารมากับรถคันนั้นถึงแก่ความตาย และศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ต. คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมรับผิดในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ชนกับรถ ต. เป็นเหตุให้สามีโจทก์ถึงแก่ความตายเป็นคดีแพ่ง ดังนี้ ในคดีอาญาดังกล่าวมีประเด็นเพียงว่า ต.ขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังหรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับจำเลยในคดีแพ่งนี้ซึ่งมิใช่คู่ความในคดีเดิม โจทก์จึงนำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ได้
ในกรณีที่จำเลยกับผู้อื่นต่างคนต่างทำละเมิด มิใช่ร่วมกันทำละเมิดนั้น ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลย รับผิดตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งความผิดของจำเลยได้
โจทก์ฟ้องจำเลยร่วมกับ ต.ทำละเมิด แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นว่าขอให้แบ่งส่วนความรับผิด แต่เรื่องค่าเสียหายนั้นศาลชอบที่จะกำหนดให้ชำระตามสมควรได้
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ว่าเป็นนายจ้าง ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้าง กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาก็ตาม เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยที่ 2 รับผิดน้อยลงศาลฎีกาก็พิพากษาให้มีผลตลอดถึงจำเลยที่ 1 ด้วยได้