คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคีณอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ม. 4

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7627/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจหน้าที่การเวนคืนที่ดินของรัฐและการฟ้องร้องค่าทดแทน
จำเลยที่ 1 เป็นกระทรวง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และนโยบายของรัฐ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรมในสังกัดของจำเลยที่ 1 มีอธิบดีกรมทางหลวงเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนในนามของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองมีอำนาจหน้าที่จัดให้มีหรือสร้างทางหลวง ตลอดจนการดูแลรักษาและซ่อมบำรุงทางหลวง การดำเนินการสำรวจเพื่อเวนคืนที่ดินตาม พ.ร.ฎ.กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2524ก็เพื่อให้ได้ที่ดินมาสร้างทางหลวง ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสองตามนโยบายของรัฐ เมื่อเวนคืนแล้ว พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก...เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน - ลาดกระบัง พ.ศ.2532มาตรา 4 ให้อสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตกเป็นของจำเลยที่ 2 เงินค่าทดแทนที่จ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงินงบประมาณของจำเลยทั้งสองซึ่งได้รับจากรัฐ เหตุที่กฎหมายกำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนก็เพราะจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลไม่อาจแสดงเจตนาและกระทำการเองได้ จำเป็นต้องแสดงเจตนาและกระทำโดยอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 การกระทำหรือการดำเนินการใด ๆเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินของโจทก์ จึงถือได้ว่าเป็นการดำเนินการของจำเลยทั้งสองนั่นเอง ส่วนที่ต้องมีคณะกรรมการทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นและจำนวนค่าทดแทนของอสังหาริมทรัพย์ และคณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ค่าทดแทนนั้น เป็นเพียงกลไกของกฎหมายเพื่อกลั่นกรองงานเสนอต่อเจ้าหน้าที่เวนคืนและรัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.หรือ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์พิจารณาสั่งการให้ดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย นอกจากนี้การดำเนินการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนถือว่าเป็นการกระทำในทางปกครองอย่างหนึ่ง และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ก็มีบทบัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.หรือ พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์แล้วแต่กรณี และฟ้องคดีต่อศาลได้ ดังนี้ หาใช่คดีมีข้อพิพาทในทางแพ่งสามัญทั่ว ๆไปที่ต้องคำนึงถึงการโต้แย้งสิทธิไม่ เมื่อจำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนการเวนคืนให้แก่โจทก์จำนวนหนึ่ง แต่โจทก์ไม่พอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนนั้นและไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีโดยเห็นว่ายังไม่เป็นธรรม โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้แม้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้ฟ้องผู้ใดก็ย่อมหมายถึงบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเวนคืนซึ่งก็คือจำเลยทั้งสองนั่นเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 163/2520 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินเวนคืน: กรมชลประทานมีสิทธิขับไล่ผู้รบกวนการครอบครอง แม้มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์
ที่พิพาทอยู่ในเขตเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางหลวงฯ แม้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ซื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนรวมทั้งที่พิพาทแล้วมอบให้กรมชลประทานโจทก์สร้างเขื่อน อันเป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับดังกล่าว ก็เป็นการดำเนินการและพิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินเป็นของรัฐ เมื่อโจทก์ได้เข้าดำเนินการสร้างเขื่อนตามโครงการแล้วจึงเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาที่พิพาท แม้โจทก์จะไม่มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยและบริวาร ซึ่งเข้าไปตั้งปั๊มน้ำมันเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์ให้ออกไปจากที่พิพาทได้