คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 43 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16-17/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้าง: เลือกรับเงินบำเหน็จไม่สละสิทธิค่าชดเชย และค่าชดเชยถือเป็นหนี้ผิดนัดเมื่อเลิกจ้าง
เมื่อโจทก์มีสิทธิจะได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชย การที่ จำเลยให้โจทก์ขอรับเงินได้ประเภทเดียวเป็นการปฏิเสธจ่ายเงินอีก ประเภทหนึ่งโจทก์จึงต้องขอรับเงินบำเหน็จซึ่งมีจำนวนสูงกว่า ถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย
ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเมื่อไม่จ่ายย่อมถือว่าผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างโดยมิพักต้องเรียกร้องหรือทวงถาม เมื่อผิดนัดก็ต้องเสียดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ และอายุความในการฟ้องเรียกค่าชดเชย
วัตถุประสงค์ขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น ตาม พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น แสดงว่ากิจการ ที่องค์การดังกล่าวดำเนินการหาใช่งานเกษตรไม่ และการประกอบ ธุรกิจขององค์การก็เป็นการจ้างงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไร ในทางเศรษฐกิจ และองค์การนี้ก็ไม่ใช่ส่วนราชการที่เป็นกรมหรือ ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย จึงไม่ได้รับยกเว้นมิให้นำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับ
การที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือเกษียณอายุ ไม่เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน เมื่อพนักงานต้องพ้นจากตำแหน่งไปเพราะเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างหรือให้ออกจากงานซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้
เงินกองทุนบำเหน็จตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นเป็นเงินประเภทอื่น ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง จึงไม่อาจถือว่าเป็นค่าชดเชยได้
การฟ้องเรียกค่าชดเชยไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2001-2002/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รัฐวิสาหกิจต้องอยู่ในบังคับประกาศคุ้มครองแรงงานเช่นนายจ้างเอกชน หากมิได้ยกเว้น
องค์การแก้วจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ มิใช่ราชการส่วนกลางราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่น และไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นกิจการที่กระทรวงมหาดไทยประกาศยกเว้น มิให้อยู่ในข่ายบังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานจำเลยจึงต้องอยู่ในบังคับประกาศดังกล่าวเช่นนายจ้างที่เป็นเอกชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1275/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างแรงงาน: การพิสูจน์ความผิดและสิทธิในการรับค่าชดเชย กรณีไม่ชัดเจนว่าลูกจ้างประมาทเลินเล่อ
เมื่อกรณีฟังไม่ได้ชัดว่าจำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ทำผิดตาม ข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยผู้เป็นนายจ้าง ส่วนค่าเสียหายที่ยังไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์จะต้องรับผิดทั้งหมดหรือไม่ จึงยังไม่มีความแน่นอนพอที่จะนำมาหักจากค่าชดเชยได้ ในชั้นนี้จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้ครบถ้วนก่อน ส่วนหนี้ที่โจทก์ติดค้างต้องว่ากล่าวกันต่างหาก
อุทธรณ์ที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 638/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความ "อัตราเดิม" ในข้อตกลงปรับค่าจ้าง: อ้างอิงค่าจ้างขั้นต่ำเดิม 47 บาท ไม่ใช่อัตราค่าจ้างปัจจุบันของลูกจ้าง
บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยในการปรับค่าจ้างเป็นรายเดือนแก่ลูกจ้างรายวันมีว่า'ลูกจ้างรายวันที่ได้รับค่าจ้างตั้งแต่วันละ 47 บาทขึ้นไปทั้งนี้หากต่อไปมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เป็นวันละเกิน 35 บาทแล้ว การพิจารณาปรับค่าจ้างเป็นรายเดือนแก่ลูกจ้างรายวันจะถือเอาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุดที่บริษัทปรับให้แก่ลูกจ้างเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่รวมกับอัตราเดิมเป็นเกณฑ์การพิจารณา' คำว่าอัตราเดิมตามข้อตกลงดังกล่าว หมายถึงอัตราค่าจ้างวันละ47 บาท ที่กำหนดไว้ในตอนต้นนั้นเอง ไม่ใช่อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างหรือโจทก์แต่ละคนได้รับขณะทำข้อตกลง เพราะค่าจ้างที่โจทก์แต่ละคนได้รับไม่ได้ถูกนำมาระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงอันจะถือให้เห็นว่าเป็นอัตราเดิมเมื่อมีการปรับค่าจ้างใหม่จึงต้องนำค่าจ้างขั้นต่ำที่สุดที่ปรับให้มารวมกับอัตราค่าจ้าง 47 บาท และกลายเป็นอัตราเดิมตามข้อตกลงนี้ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1568/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม: ศาลยืนบังคับใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานกับรัฐวิสาหกิจ
โจทก์มาแถลงข้อหาด้วยวาจาต่อหน้าศาลแรงงานกลางศาลแรงงานกลางสอบถามตามที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แล้วบันทึกรายการแห่งข้อหาไว้ ตามมาตรา 35แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 โดยในตอนต้นกล่าวถึงการที่โจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม คำขอบังคับในตอนท้ายกล่าวว่า ให้จำเลยปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยจ่ายค่าชดเชยรวม 14,400บาทนั้น ย่อมเข้าใจได้แล้วว่าโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน นั่นเอง ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม
การฟ้องเรียกค่าชดเชย ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจด้วย จึงมิใช่กิจการที่ได้รับยกเว้นมิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและเมื่อโจทก์เป็นผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง และงานนั้นไม่เกี่ยวกับงานบ้านไม่ว่าจำเลยจะเรียกโจทก์ว่าพนักงานหรือเรียกว่าลูกจ้างและจำเลยจะวางข้อบังคับกำหนดระเบียบปฏิบัติงาน และระเบียบการลงโทษ การแต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนชั้น เลื่อนขั้นเงินเดือนของพนักงาน ตลอดจนจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์แก่พนักงานไว้อย่างไร ก็ยังต้องถือว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ตามบทนิยามของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน อยู่นั่นเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2522

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกจ้างประสบอันตรายระหว่างเดินทางไปทำงาน ไม่ถือว่าเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน จึงไม่ต้องจ่ายเงินทดแทน
ลูกจ้างของโจทก์ออกเดินทางจากบ้านพักจะไปโรงกุลีเพื่อเอาป้ายสำหรับเดินตรวจทางซึ่งอยู่ในหน้าที่ แต่ยังเดินทางไปไม่ถึงโรงกุลีก็ถูกรถไฟชนถึงแก่ความตายเป็นกรณีที่ผู้ตายยังมิได้เริ่มเดินตรวจทางตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ เพียงแต่กำลังเดินทางจะไปโรงกุลีซึ่งเท่ากับเป็นสถานที่ที่ผู้ตายจะเริ่มต้นทำงานเมื่อผู้ตายได้รับอันตรายในขณะที่ยังเดินทางไปไม่ถึงสถานที่ที่จะเริ่มต้นทำงานและยังมิได้ลงมือทำงานให้แก่โจทก์จะถือว่าประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม2515 ข้อ 2(6) และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2313/2520

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้รับประกันภัยไม่มีสิทธิรับช่วงเรียกค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิด หากกฎหมายแรงงานไม่ได้ให้สิทธินายจ้างเรียกคืน
ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงเท่าที่สิทธิของผู้เอาประกันภัยมีอยู่ ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยในฐานะนายจ้างต้องจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงานให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายนั้น กฎหมายแรงงานเป็นกฎหมายพิเศษใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างโดยเฉพาะ ไม่ได้ให้สิทธินายจ้างที่จะเรียกเงินทดแทนที่จ่ายไปคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างได้ ดังนั้นผู้รับประกันภัยซึ่งได้จ่ายเงินทดแทนไปแทนนายจ้างผู้เอาประกันภัยก็ย่อมไม่มีสิทธิเช่นเดียวกัน จึงไม่อาจมีการรับช่วงสิทธิกันได้
of 5