คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 218 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 264 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5750/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุจำเลยขณะกระทำผิดสำคัญต่อการลงโทษ ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและกฎหมาย
จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2533 เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2547 ดังนั้น ขณะกระทำความผิดจำเลยคงมีอายุเพียง 13 ปีเศษ เท่านั้น หาใช่ 14 ปีเศษ ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 74 การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนและลดมาตราส่วนโทษตาม ป.อ. มาตรา 75 แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 (2) จึงเป็นการไม่ชอบ
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 ลงโทษจำคุกแต่ได้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยส่งตัวไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 1 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา กรณีเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 (2) แทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 ถือได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงต้องห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 124 ประกอบมาตรา 6 และ ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมซึ่งสอบถามแล้วได้ความว่าจำเลยจะนำรถจักรยานยนต์ไปขับเล่นประกอบกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่ปรากฏว่าจำเลยช่วยซ่อนเร้น จำหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ด้วยประการใด ซึ่งรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5087/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความผิดฐานพยายามฆ่าในคดีชุลมุนต่อสู้ ศาลฎีกาไม่รับฎีกาในประเด็นข้อเท็จจริงที่โต้แย้งดุลพินิจศาลอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมแทงและฟันผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่แขนขวาท่อนล่างยาว 5 เซนติเมตร เอ็นฉีกขาดและเส้นประสาทขาด บาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายกว้าง 1.5 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร นิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมากจนนิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ผู้เสียหายที่ 1 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน และรักษาตัวที่บ้านประมาณ 2 เดือน แผลจึงหายเป็นปกติ ระหว่างที่รักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน อันเป็นอันตรายสาหัส
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพยายามฆ่าแต่ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกทำร้ายเนื่องจากการชุลมุนต่อสู้ ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญจึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอันเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเนื่องจากการชุลมุนดังกล่าวหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมปล้นทรัพย์: พฤติการณ์ร่วมกันหลบหนีแม้ไม่มีอาวุธ ถือเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ได้ ศาลลดโทษผู้เข้ามอบตัว
พยานโจทก์เบิกความได้สอดคล้องต้องกัน และไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาก่อน คำเบิกความของพยานโจทก์จึงน่าเชื่อถือ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกมาด้วยกันและหลบหนีไปด้วยกัน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่มีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย และไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำผิดก็ตาม แต่พวกของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์และจำเลยที่ 3 นั่งเป็นคนแรกพาคนร้ายมาและพากันหลบหนีไป โดยใช้ถุงพลาสติกครอบปิดป้ายทะเบียนรถไว้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวถือได้ว่าร่วมกระทำความผิดด้วยกัน จึงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจและรับว่าไปในที่เกิดเหตุและหลบหนีไปด้วยกันอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ จึงสมควรลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 และให้มีผลถึงความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิด ม.143 และการไม่ห้ามฎีกาในข้อกฎหมาย แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ร้อยตำรวจเอก ส. เป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่ ต. ถูกจับกุมดำเนินคดีอาญา จำเลยเรียกและรับเงินจำนวน 5,000 บาท จาก ต. และ น. เพื่อเป็นการตอบแทนที่จำเลยจะจูงใจร้อยตำรวจเอก ส. เจ้าพนักงานในฐานะพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว โดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมาย เพื่อให้ร้อยตำรวจเอก ส. กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่ ต. โดยการช่วยเหลือในทางคดี เพื่อทำให้ ต. หลุดพ้นจากความผิด เป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาของจำเลยว่าจำเลยเจตนาเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยอ้างว่าจะจูงใจเจ้าพนักงานไม่ให้ดำเนินคดีแก่ ต. และปล่อยตัวให้หลุดพ้นจากคดีอาญา ถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแห่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว ส่วนการที่จำเลยไปติดต่อหรือจูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีใด หรือเจ้าพนักงานจะกระทำการใดอันเป็นการช่วยเหลือ ต. ก็มิใช่องค์ประกอบแห่งความผิดอันต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตามกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5404/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกัน ตัดโค่นไม้-ครอบครองของป่าหวงห้าม ศาลฎีกาแก้ไขโทษ
ความผิดฐานร่วมกันตัด โค่นหรือทำลายต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและฐานร่วมกันเก็บหาของป่าหวงห้ามเป็นการกระทำที่สามารถแยกเจตนาของจำเลยทั้งหกออกจากความผิดฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน เพราะเมื่อจำเลยทั้งหกร่วมกันตัด โค่น ทำลายต้นไม้และเก็บหาของป่าหวงห้ามแล้วย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองทันทีโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยทั้งหกจะได้ครอบครองของป่าหวงห้ามหรือไม่ การกระทำของจำเลยทั้งหกจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ส่วนที่จำเลยทั้งหกฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกฐานร่วมกันตัด โค่นหรือทำลายต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าหวงห้าม ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่กำหนด เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานตัด โค่นหรือทำลายต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกคนละ 3 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษฐานร่วมกันตัด โค่นหรือทำลายต้นไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ จำคุกคนละ 3 ปี และฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่กำหนด จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยทั้งหก เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นคดีที่จำเลยทั้งหกฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายก็ตาม หากศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยทั้งหกหนักเกินไป ก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกให้เหมาะสมแก่ความผิดได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5047/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริง แม้จำเลยอ้างให้ใช้กฎหมายเกี่ยวกับโทษและรอการลงโทษ
คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นจึงสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ข้อที่จำเลยฎีกาว่า หลังจากถูกจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพและให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าพนักงานตลอดมา ตั้งแต่ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ขอให้นำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/1 และ 100/2 มาใช้ให้เป็นคุณแก่จำเลยซึ่งจำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำให้การของจำเลย โดยโจทก์มิได้รับรอง และอ้างอีกประการว่า คดีมีเหตุอันควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 โดยจำเลยระบุในฎีกาว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น เป็นฎีกาที่ประสงค์ให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างและใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษตามความประสงค์ของจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4458/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในคดีอาญา: โทษจำคุกต่อกระทงไม่เกิน 5 ปี
คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยกระทำความผิดรวม 90 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกกระทงละ 3 เดือน แม้รวมโทษทุกกระทงแล้วลงโทษจำคุกจำเลยถึง 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (1) ก็ตาม แต่เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4189/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณโทษเพื่อพิจารณาข้อห้ามฎีกาในคดีอาญา ต้องรวมโทษที่เพิ่มขึ้นด้วย
การที่จะพิจารณาว่าคดีใดต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาเป็นรายกระทงความผิดและกำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยได้รับ ซึ่งการเพิ่มโทษจำเลยในความผิดใด โทษที่เพิ่มขึ้นก็ย่อมรวมเป็นโทษที่ศาลจะนำไปกำหนดโทษสุดท้ายที่จำเลยได้รับในความผิดนั้น ดังนั้น จึงต้องนำการเพิ่มโทษมาคำนวณในการใช้สิทธิฎีกาด้วย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2550)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2724/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายไม่ถือเป็นการยอมความ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม สิทธิฟ้องคดีอาญาไม่ระงับ
ตามรายงานประจำวันธุรการไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าฝ่ายผู้เสียหายตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที แต่กลับมีเงื่อนไขที่จำเลยจะต้องปฏิบัติต่อฝ่ายผู้เสียหายก่อน โดยต้องชำระเงินค่าเสียหายตามข้อตกลง เมื่อครบกำหนดสัญญาที่จำเลยตกลงชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้ ผู้เสียหายจึงไปร้องทุกข์ ย่อมแสดงให้เห็นชัดว่า ถ้าจำเลยไม่ชำระเงินให้ตามที่ตกลง ฝ่ายผู้เสียหายก็ยังติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยอยู่ แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจำเลยจะนำเงินจำนวนดังกล่าวมาวางศาลและฝ่ายผู้เสียหายรับไปแล้ว ก็ไม่มีผลผูกพันฝ่ายผู้เสียหายให้เลิกคดีอาญากัน กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป
การที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น แม้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายมาด้วย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยให้เหมาะสมกับความผิดได้ เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยสักครั้งหนึ่งเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี ซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมโดยส่วนรวมมากกว่าที่จะจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2426/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องปลอมและใช้เอกสารปลอมร่วมกับเจ้าพนักงาน มีอำนาจแก้โทษจำเลยที่ไม่ฎีกาได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความใด ๆ และไม่มีบุคคลใดลงลายมือชื่อเป็นพยาน ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจ แล้วจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ปลอมหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 กรอกข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจจำนองที่ดินตลอดจนให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ลงลายมือชื่อเป็นพยานและรับรองว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ต่อมาจำเลยทั้งหกร่วมกันใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินแทน เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อ จึงจดข้อความอันเป็นเท็จตามคำบอกกล่าวของจำเลยทั้งหกลงในสัญญาจำนองอันเป็นเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้ระบุชัดแล้วว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยอื่นปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมดังกล่าว กับแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการแล้ว จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องให้ละเอียดว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นและหรือกระทำการใด ๆ ร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีใด อย่างใด ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้
จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก แม้ฎีกาของจำเลยที่ 2 จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายมาด้วย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ให้เหมาะสมกับความผิดได้ โดยเห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้บรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นจนโจทก์ไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 อีก เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยที่ 2 เพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 2 กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกา ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาแต่การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้โทษตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
of 27