คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 218 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 264 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20130/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำกัดสิทธิฎีกาในคดีอาญา และการแก้ไขโทษจำคุกในความผิดฐานมีและจำหน่ายยาเสพติด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง, 67 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีน 15 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 7 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 6 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 ปี รวมจำคุก 12 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานนี้ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีน 17 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและแก้โทษด้วย อันเป็นการแก้ไขมาก จึงไม่ต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13798/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริง-ความผิดหลายกรรมต่างกันจากยาและวัตถุออกฤทธิ์
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อเท็จจริง คงรับเฉพาะฎีกาในข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับนั้นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิด และขอให้รอการลงโทษ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการลงโทษของศาลอุทธรณ์อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และเมื่อฎีกาของจำเลยที่ 1 ต้องห้ามดังกล่าว จึงไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ
ยาแผนปัจจุบันและยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ส่วนไดอาซีแพมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 การมียาและวัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวไว้เพื่อขายจึงเป็นความผิดตามกฎหมายคนละฉบับ แสดงว่ากฎหมายแต่ละฉบับมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้กระทำความผิดแยกต่างหากจากกัน การที่จำเลยมียาแผนปัจจุบันและยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้เพื่อขายกับมีไดอาซีแพมวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ไว้เพื่อขายในคราวเดียวกันจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7773/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร แม้ไม่มีบทแก้ไขโทษ แต่ศาลอุทธรณ์แก้โทษจำคุกและปรับ ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ไม่อาจฎีกาได้
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 52 วรรคหก, 65 วรรคหนึ่ง, 70 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 69 ด้วย ซึ่งเป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ อันเป็นเหตุฉกรรจ์ หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพียงแต่แก้จำนวนโทษ โดยมิได้แก้บทลงโทษจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
บทบัญญัติมาตรา 52 วรรคหกของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีจุดมุ่งหมายห้ามมิให้ผู้อุทธรณ์หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นกระทำการใดแก่อาคารในระหว่างอุทธรณ์ในทันทีที่มีการยื่นอุทธรณ์เพื่อรอฟังผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ทั้งนี้เพื่อรักษาสภาพอาคารมิให้ถูกก่อสร้างเพิ่มเติม เพราะถ้าหากปล่อยให้มีการก่อสร้างอาคารต่อไปอาจทำให้อาคารมีสภาพเปลี่ยนแปลงยากแก่การแก้ไขให้ถูกต้อง ดังนั้นข้อห้ามกระทำการใดแก่อาคารจึงเริ่มตั้งแต่วันที่มีการยื่นอุทธรณ์ หาใช่นับแต่วันที่ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7662/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจสอบสวนและการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากเป็นการแก้ไขโทษเล็กน้อย
ที่จำเลยฎีกาว่า สถานที่เกิดเหตุอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยจึงมิใช่พนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนการสอบสวนจึงมิชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าสถานที่เกิดเหตุอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางหรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะโทษอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6597/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขบทลงโทษโดยศาลอุทธรณ์และการจำกัดสิทธิในการฎีกาในประเด็นข้อเท็จจริง
คดีนี้ในความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ปอ. มาตรา 138 วรรคสอง 140 วรรคแรก และวรรคสาม ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ปอ. มาตรา 138 วรรคสอง โดยไม่ได้ปรับบทลงโทษตามมาตรา 140 วรรคแรก และวรรคสามด้วย แต่ลักษณะความผิดตาม ปอ. มาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 140 วรรคแรก ไม่แตกต่างกันและไม่มีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำเหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งมาตรา 138 วรรคสอง ระวางโทษขั้นสูงจำคุกไม่เกินสองปี ส่วนมาตรา 140 วรรคแรก ระวางโทษขั้นสูงจำคุกไม่เกินห้าปีและตาม ปอ. มาตรา 140 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดมาตรา 140 วรรคแรก ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ ไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แก้บทลงโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพียงแต่แก้จำนวนโทษมิได้แก้บทลงโทษ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 954/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอรับฟังการนำยาเสพติดเข้าประเทศ ศาลฎีกายกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย และเป็นผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ความผิดในข้อหาเป็นผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 1,200 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษของศาลล่างทั้งสองเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว
ความผิดในข้อหาร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอรับฟังว่าจำเลยทั้งสองเดินทางออกจากราชอาณาจักรไทยแล้วกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาเพื่อจำหน่าย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายหรือไม่ และยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง แล้ว ศาลฎีกาก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองในความผิดข้อหาเป็นผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเนื่องจากเป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐาน และข้อจำกัดการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ.
ในการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยว่า การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาต้องย้อนไปวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 และผู้เสียหายที่ 2 มีความคล้ายคลึงกัน เนื่องจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งอยู่ร่วมในการสอบสวนด้วยเป็นผู้ตอบคำถามพนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์แทนผู้เสียหายที่ 1 ดังฎีกาของจำเลยหรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยรวม 8 ปี 12 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนด 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10648/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความผิดหลายกรรมต่างกันในคดีกระทำชำเราและพรากเด็ก การฎีกาในข้อเท็จจริงที่ต้องห้าม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีกับฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารเป็นกรรมเดียวกัน ลงโทษจำคุกจำเลย กระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 8 ปี 16 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร กับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9848/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษปรับเป็นรายวันโดยศาลอุทธรณ์ และข้อจำกัดในการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
คดีนี้ ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลย 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ ยกคำขอ ให้ปรับจำเลยเป็นรายวัน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวัน วันละ 2,000 บาท แม้จะเป็นการเพิ่มโทษปรับจำเลย แต่กรณีเป็นการแก้ไขเฉพาะโทษอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยหยุดประกอบกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2550 จึงไม่สามารถปรับรายวันจำเลยนับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2550 นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7898/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานยืนยันจำเลยเป็นผู้ลงมือยิงผู้ตาย ศาลยืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ในการไต่สวนคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลย แม้ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดไต่สวนให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีโอกาสคัดค้านก่อน อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งคู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคแรก ก็ตาม แต่การที่จะขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น ตามวรรคสองของมาตราดังกล่าวกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยกข้อค้านเรื่องผิดระเบียบขึ้นไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความ หรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น
คดีปรากฏตามสำนวนว่าศาลชั้นต้นเบิกจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ในเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งจะครบกำหนดที่จำเลยต้องยื่นฎีกาในวันที่ 23 ธันวาคม 2548 และศาลชั้นต้นนัดฝ่ายโจทก์มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 วันที่ 19 ธันวาคม 2548 โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับสำเนาฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 และทนายโจทก์ร่วมทั้งสองทำคำแก้ฎีกามายื่นต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2549 ดังนี้ ทนายโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งปรากฏว่าได้รับหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ด้วยย่อมเห็นได้จากสำเนาฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยื่นฎีกาลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 ภายหลังวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้ฝ่ายโจทก์ฟังเป็นเวลาถึง 2 เดือน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าจำเลยจะต้องยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือน นับแต่จำเลยได้ฟังคำพิพากษา ย่อมทราบถึงการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลยโดยไม่ได้ให้โจทก์ร่วมทั้งสองมีโอกาสคัดค้านคำร้องของจำเลยตั้งแต่ได้รับสำเนาฎีกาจากโจทก์ร่วมทั้งสองก่อนจะยื่นคำแก้ฎีกาในวันที่ 7 มีนาคม 2549 แล้ว ซึ่งถือว่าโจทก์ร่วมทั้งสองได้ทราบพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างที่ขอให้เพิกถอนการพิจารณาตามคำร้องนับแต่นั้นแล้ว แต่โจทก์ร่วมทั้งสองมิได้ยื่นคำร้องอย่างช้าภายใน 8 วัน นับแต่ทราบพฤติการณ์ดังกล่าวตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ โดยโจทก์ร่วมทั้งสองเพิ่งมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้จำเลยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 คำร้องของโจทก์ร่วมทั้งสองจึงยื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ยกคำร้อง
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโดยอ้างว่าพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย อันเป็นการฎีกาว่าจำเลยไม่ได้มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนตามฟ้องอันเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันไปด้วยในตัว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่หากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืน และพาอาวุธปืนด้วย ศาลก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
of 27