คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 218 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 264 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4679/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเรื่องข้อเท็จจริง, อำนาจสอบสวนคดีปลอมเอกสาร, และการฟ้องคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน
แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยเพียงว่า "รับเฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในข้อ 3 ให้รอไว้สั่งเมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาคำร้องขอให้อนุญาตให้ฎีกาเสร็จแล้ว" แต่เมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลยอีก กลับส่งสำนวนมาศาลฎีกาโดยไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบ แต่เมื่อจำเลยฎีกาในข้อ 3 ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องและขอให้รอการลงโทษจำเลยไว้ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นควรสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในข้อ 3 โดยไม่จำต้องย้อนสำนวน
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาและรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นเรื่องต่างหากจากความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมในคดีนี้ แม้ศาลฎีกายกฟ้องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้กระทำในศาล ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยปลอมหรือใช้คำสั่งศาลปลอมหรือไม่ จำเลยจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีความผิดในคดีนี้หาได้ไม่
จำเลยปลอมเอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ตั้ง ท. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เมื่อ ท. นำสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมดังกล่าวไปอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นในการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล จึงถือว่ามีการใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นซึ่งศาลชั้นต้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวน เมื่อขณะนั้นยังไม่แน่ว่าบุคคลใดเป็นผู้ปลอมคำสั่งศาลดังกล่าว และการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารได้กระทำในท้องที่ใด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) และเหตุที่จำเลยปลอมคำสั่งศาลชั้นต้นและ ท. นำสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมไปอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นเป็นความผิดหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (4) ด้วยแล้ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้
ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมเป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ต้องมีการร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นเป็นผู้เสียหายที่สามารถร้องทุกข์หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4410/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริง และการบังคับตามคำพิพากษาคดีอาญาในคดีแพ่ง
คดีนี้ในส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะกำหนดโทษและเพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ถูกต้องโดยระบุวรรคของ มาตรา 290 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และบทบัญญัติที่อ้างอิงประกอบภายในวงเล็บ ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
เมื่อคดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกใช้ไม้ ขวดสุรา และก้อนอิฐเป็นอาวุธทุบตีและร่วมกันชกต่อยทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามฟ้อง ตามป.วิ.อ. มาตรา 46 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามเนื่องจากเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานในข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานขับรถโดยประมาท จำคุก 4 ปี ฐานหลบหนีและไม่แจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำคุก 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 2 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสี่ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงลงโทษฐานขับรถโดยประมาทจำคุก 3 ปี ฐานหลบหนีและไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จำคุก 45 วัน รวมจำคุก 3 ปี 45 วัน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่าเหตุตามฟ้องไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในคดีเยาวชน: ข้อจำกัดการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและการกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน
การที่ศาลชั้นต้นอันเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 4 ปี นับแต่วันพิพากษาหากไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต มีกำหนด 1 วัน ไม่ถือเป็นการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 และต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน จำเลยยื่นฎีกาขณะ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มีผลใช้บังคับ ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 124 ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว
แม้จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นก็เป็นการไม่ชอบ เนื่องจากผู้พิพากษาที่จะอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในกรณีนี้ได้คือ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 8 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ส่วนฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษแทนการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมหรือกำหนดระยะเวลาการฝึกและอบรมให้ต่ำลง อันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับการกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ ซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาดังกล่าว ตามมาตรา 124 ประกอบมาตรา 121 (2) ทั้งเป็นกรณีที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวไม่อาจอนุญาตให้ฎีกาได้ เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 และในกรณีนี้ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 221 โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 6 มาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทำร้าย vs. พยายามฆ่า และการรอการลงโทษในคดีเยาวชน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบ มาตรา 80, 83 จำคุก 5 ปี ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนด 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ส่งจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 2 ปี ขั้นสูง 3 ปี กรณีเป็นการแก้ไขเฉพาะระยะเวลาการฝึกอบรมซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183 และมาตรา 6 ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
เจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ผู้กระทำต้องเล็งเห็นผลของการกระทำแล้วว่าจะทำให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตายได้ ซึ่งเป็นผลที่เห็นได้ชัดว่าจะเกิดขึ้น มิใช่เพียงแค่อาจจะเกิดขึ้นเท่านั้น การที่จำเลยกับพวกร่วมกันถีบรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายทั้งสองขับด้วยความเร็ว 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งเป็นความเร็วไม่มาก ทำให้ผู้เสียหายทั้งสองไถลไปตามไหล่ทางที่มีหญ้าขึ้นปกคลุม และได้รับบาดแผลถลอกเป็นส่วนใหญ่ คงมีแต่ผู้เสียหายที่ 2 ที่นิ้วมือขวาฉีกด้วยเท่านั้น จึงเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยเพียงเจตนาทำร้ายเท่านั้น
แม้จำเลยจะฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยหนักเกินไปย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่ความผิดโดยรอการลงโทษให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 969/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันในความผิดเกี่ยวกับเอกสารทางราชการและการแจ้งความเท็จ การปรับบทกฎหมายและขอบเขตการแก้ไขโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ออกเป็นสามกรรมต่างกันและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 แม้ความผิดดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะกระทำเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของระบบงานทะเบียนราษฎรและมีจุดประสงค์ในการกระทำความผิดเพียงอย่างเดียวคือเพื่อให้ได้อาศัยอยู่กับสามีและบุตรในประเทศไทยอย่างถาวรก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระและอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยชัดแจ้งและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 137, 265, 267, 268 วรรคแรก เป็นความผิดสามกรรม จำคุกกระทงละ 2 ปี ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ให้กระทงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 (1) (3) วรรคสองด้วย และลงโทษจำเลยที่ 1 สองกระทง กระทงละ 2 ปี ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ละกระทงไม่เกินห้าปี ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้และคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้พร้อมฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3
ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 วรรคท้าย บัญญัติว่าถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยต้องระวางโทษหนักขึ้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 (1) (3) วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขโทษให้หนักขึ้นได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 661/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิด ม.143, การรับเงินเพื่อจูงใจเจ้าพนักงาน, และการเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้เสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยกระทงละ 4 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 12 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่าจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 4 ปี เป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ว่าพยานโจทก์ขัดแย้งกันไม่เพียงพอฟังเพื่อลงโทษจำเลยเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกา
จำเลยเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ โดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมาย เพื่อให้กระทำการในหน้าที่โดยการช่วยเหลือในทางคดีให้สั่งไม่ฟ้องคดีแก่บุคคลที่ถูกดำเนินคดีอาญา แม้พนักงานอัยการจะมิได้เป็นเจ้าของสำนวนในคดีนั้นและจำเลยยังมิได้ให้เงินก็ตาม ก็ถือว่าพนักงานอัยการนั้นเป็นเจ้าพนักงานที่จำเลยจะจูงใจให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่บุคคลที่จำเลยจะให้ช่วยเหลือแล้ว การกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบแห่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว และเป็นความผิดต่อรัฐโดยตรง โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวต่อเนื่อง: กระทำชำเราโทรมเด็กหญิงหลายครั้ง ความผิดต่อเนื่องในวาระเดียวกัน
หลังจากจำเลยกับพวกกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงที่ขนำที่เกิดเหตุครั้งแรกแล้ว จำเลยกับพวกยังคงควบคุมหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้โดยพาผู้เสียหายไปที่ขนำอีกแห่งหนึ่งแล้วร่วมกันกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงในครั้งต่อไปถือว่าผู้เสียหายยังไม่หลุดพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยกับพวก ดังนั้น การกระทำชำเราของจำเลยกับพวกอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงทั้งสองครั้งจึงต่อเนื่องเชื่อมโยงกันอยู่ในวาระเดียวกัน โดยเจตนาเดิมไม่ขาดตอนจากกันจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 171/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยายามฆ่า ร่วมกันมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
การที่ผู้เสียหายพยายามบ่ายเบี่ยงไม่ยอมเบิกความต่อศาล ครั้นเมื่อมาเบิกความกลับระบุว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่คนร้าย อันขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวนที่ให้การยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย จึงเชื่อว่าเป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ให้ไม่ต้องรับโทษ ชั้นสอบสวนผู้เสียหายให้การตั้งแต่วันเกิดเหตุยังไม่มีเวลาไตร่ตรองหาเหตุผลมาช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มายังสถานีตำรวจ ผู้เสียหายก็ชี้ตัวยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายตั้งแต่วันเกิดเหตุนั้นเอง คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจึงน่าเชื่อถือมากกว่าคำเบิกความชั้นศาล
โจทก์ฎีกาเพียงว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ลงโทษจำเลยทั้งสองในบางข้อหานั้น โจทก์ไม่เห็นด้วย ขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวมิได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาเพื่อให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15973/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษความผิดพยายามกระทำชำเราและกระทำอนาจารเด็ก ศาลต้องลงโทษฐานความผิดที่มีโทษหนักที่สุด
การที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีและฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยให้ลงโทษบทหนักฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 80 มีโทษจำคุกขั้นสูง 33 ปี 4 เดือน ส่วนความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายมีโทษจำคุกขั้นสูงเพียง 15 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องเป็นให้ลงโทษบทหนักตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 80 โดยไม่ได้แก้ไขบทความผิดและกำหนดโทษกับลดโทษให้จำเลยอีกกระทงละหนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยกระทงละ 3 ปี 4 เดือน อันถือได้ว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ส่วนความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร พิพากษาแก้เฉพาะโทษ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้จำคุกไม่เกินห้าปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธและปรักปรำจำเลย กับขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลย เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกา
of 27