คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 218 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 264 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5682/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตจากศาลล่าง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (3) (5) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นจำคุก 1 ปี 12 เดือน และลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 12 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) เป็นจำคุก 1 ปี 5 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 13 เดือน 15 วัน และให้กักกันจำเลยมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ในเรื่องการเพิ่มโทษจำเลย จากเดิมที่ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) โดยมิได้แก้บทมาตราแห่งความผิดตามฟ้อง ซึ่งเป็นการแก้เฉพาะเรื่องโทษ แม้จะให้กักกันจำเลยมีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) แต่การกักกันไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดเดิมไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาใน ปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว เว้นแต่ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือ ลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือรับรองในฎีกาว่า มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ซึ่งคดีนี้เป็นคดีอาญาทั่วไปมิได้มีบทบัญญัติให้การฎีกาจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา การฎีกาจึงอยู่ในบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 216 และมาตรา 221 ที่กำหนดให้จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือ ทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาอนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยมิได้ยื่นเป็นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาศาลล่างทั้งสองดังกล่าวอนุญาตให้ฎีกา คำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 เมื่อจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 221 แห่งกฎหมายข้างต้น จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4447/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม เนื่องจากเป็นการโต้เถียงดุลพินิจศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และการขอผ่อนผันชำระค่าปรับเป็นอำนาจศาลชั้นต้น
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง โดยปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรแล้ว จำนวน 2,743,672 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 1,371,836 บาท ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงเป็นคดีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลล่างให้จำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับ ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษปรับนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยฎีกาขอผ่อนชำระค่าปรับนั้น เห็นว่า การบังคับชำระค่าปรับเป็นกระบวนการในการบังคับคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยยังมิได้มีคำขอให้ศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาสั่ง จึงยังไม่มีเหตุที่จะฎีกาในเรื่องนี้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2104/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าและเกี่ยวข้องกับอาวุธปืน เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้าย โจทก์คงมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกันกระทำผิดด้วยกัน แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับโดยเด็ดขาดห้ามมิให้รับฟังคำซัดทอดนั้นและข้อเท็จจริงตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 บอกเล่าถึงความเป็นไปในการกระทำความผิด มิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลเพื่อให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดแล้วให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียงลำพัง คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงรับฟังได้ แต่อย่างไรก็ตามการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด หรือพยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้านนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีและไม่มีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 แม้โจทก์มีพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวน เบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพก็ตาม แต่คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวมิใช่พยานหลักฐานที่มีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่มีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย อันถือว่าเป็นพยานหลักฐานประกอบอื่นตามความหมายของพยานหลักฐานประกอบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227/1 วรรคสอง กรณีจึงไม่ใช่พยานหลักฐานประกอบอื่นที่สนับสนุนให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานบุคคลอื่นมานำสืบเกี่ยวกับการร่วมกันกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อีก เช่นนี้ คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีเหตุผลอันหนักแน่น ไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์เป็นที่สงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ขับรถยนต์ของกลางให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดสองฐานนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: ปัญหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอำนาจพนักงานสอบสวนและผลต่อการฟ้องคดีอาญา
จำเลยฎีกาโต้เถียงว่าพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุคนใดจะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140 เป็นฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยข้อเท็จจริงเนื่องจากศาลชั้นต้นรับฎีกาที่ไม่ชอบตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 279 วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบมาตรา 285 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนและเป็นผู้สืบสันดาน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คงจำคุกกระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี 24 เดือน ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 2 ปี ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน โดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นใดซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุกกระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 38 กระทง เป็นจำคุก 152 ปี 304 เดือน รวมจำคุกทุกกระทง 166 ปี 328 เดือน แม้รวมโทษทุกกระทงแล้วลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) ก็ตาม แต่เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกข้อหา เพราะจำเลยสำคัญผิดหรือหลงผิดในสิ่งที่ตนมิได้กระทำ จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายเพียง 5 ครั้ง แต่มิได้กระทำชำเราผู้เสียหาย และพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดอื่นนอกจากความผิดฐานอนาจารดังกล่าว การวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจำต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากพฤติการณ์แห่งคดีและจากพยานหลักฐานที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจรับฟังมาเป็นข้อชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษและค่าสินไหมทดแทนในคดีทำร้ายร่างกายถึงแก่ความตาย ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
การยื่นฎีกาในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคสอง และมาตรา 223 บัญญัติให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น และให้เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นตรวจฎีกาว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลฎีกาหรือไม่ เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ศาลชั้นต้น จึงมีอำนาจตรวจฎีกา และเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด ก็มีอำนาจสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไปในคำฟ้องฎีกาเสียทีเดียวได้ แม้จำเลยจะมิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมาด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4687/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเราผู้สืบสันดาน: ศาลฎีกาพิพากษาแก้บางส่วน ยกฟ้องบางข้อหา และแก้ไขคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง
สำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โดยยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาเป็นทำนองว่าไม่มีเจตนาทำร้ายผู้ร้อง เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อนี้มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยศาลตั้งให้ ธ. เป็นผู้แทนเฉพาะคดี เมื่อจำเลยเป็นบุพการีของผู้ร้องและมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น ดังนั้น การยื่นคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้จึงเป็นคดีอุทลุม ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้อง และศาลล่างทั้งสองพิพากษาในคดีส่วนแพ่งให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไว้ในคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4257/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตฎีกาตามกฎหมาย และมีประเด็นต้องห้ามมิให้ฎีกา
คดีที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หากจำเลยประสงค์จะฎีกาในปัญหาดังกล่าว จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 แต่จำเลยกลับยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาดังกล่าวโดยตรง และรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณา ซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดอนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวว่า "สั่งในฎีกา" และมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยว่า "จำเลยยื่นฎีกาภายในกำหนดเวลาที่ศาลขยายให้โดยมาแสดงตนต่อศาล รับฎีกาจำเลย สำเนาให้โจทก์แก้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาฎีกา ปิดได้" จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่ง ทั้งนี้ แม้คำร้องของจำเลยจะมีใจความทำนองว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดก็ตาม ก็ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจแก่ศาลฎีกาที่จะก้าวล่วงมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาได้ จึงให้ยกคำร้อง และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 อนุญาตให้ฎีกาหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองให้ฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3129/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับเนื่องจากยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงพ้นกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
จำเลยยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาที่จำเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้เสียแล้ว คำร้องดังกล่าวของจำเลย จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษและวรรคความผิดในศาลอุทธรณ์ ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด ทำให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้าม
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ จำคุก 25 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง จำคุก 3 ปี 6 เดือน เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 27