คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 821

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 487 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18460/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขยายเวลาไถ่ทรัพย์ขายฝาก: หนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ผูกพันได้ แม้ไม่ได้จดทะเบียน, การมอบอำนาจโดยปริยาย
การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้
การไม่นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คงมีผลทำให้คู่สัญญาไม่อาจยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง ดังนั้น การตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ตามหนังสือขอต่อสัญญาขายฝาก ซึ่งมีจำเลยที่ 1 ผู้รับไถ่ลงลายมือชื่อไว้ แม้มิได้นำไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่การที่จำเลยที่ 2 รู้เห็นยินยอมในการกระทำของจำเลยที่ 1 กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 หรือยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการตกลงและทำหนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่ให้แก่โจทก์ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับไถ่ด้วย หนังสือขยายกำหนดเวลาไถ่จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยนำทรัพย์สินที่รับซื้อฝากไปขายก่อนครบกำหนดเวลาไถ่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16482/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดของหน่วยงานต่อการซื้อวัสดุอุปกรณ์โดยเจ้าหน้าที่พัสดุ แม้จะมีการปฏิบัติผิดระเบียบ
ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 18, 19 และ 39 กำหนดให้การซื้อหรือการจ้างด้วยวิธีตกลงราคาซึ่งมีราคาไม่เกิน 100,000 บาท ให้เจ้าหน้าที่พัสดุติดต่อตกลงราคากับผู้ขายหรือผู้รับจ้างโดยตรงแล้วให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุจัดซื้อและจัดจ้างได้ภายในวงเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าส่วนราชการ แต่หากกรณีจำเป็นและเร่งด่วนที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมายไว้ก่อนและไม่อาจดำเนินการตามปกติได้ทัน ให้เจ้าหน้าที่พัสดุหรือเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการนั้นดำเนินการไปก่อนได้แล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าส่วนราชการ จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ทำหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่นและแต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีสิทธิมารับสินค้าที่ได้สั่งซื้อหลายครั้งไปจากโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันควรเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 อยู่ในขอบเขตอำนาจที่กระทำแทนจำเลยที่ 1 ส่วนระเบียบขั้นตอนการจัดจ้างหรือสั่งซื้อที่ระบุว่าจำเลยที่ 3 ละเลยไม่ปฏิบัตินั้นก็เป็นระเบียบภายในของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ประกาศให้บุคคลภายนอกทราบ ดังนั้นแม้จำเลยที่ 3 จะทำการจัดซื้อสินค้าจากโจทก์แทนจำเลยที่ 1 โดยผิดระเบียบขั้นตอนและเพื่อประโยชน์ของตนโดยไม่สุจริต แต่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดระเบียบขั้นตอนของจำเลยที่ 3 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและต้องได้รับความคุ้มครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12939/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพัน แม้ผู้ลงนามไม่เข้าใจผล และตัวแทนเชิดไม่ต้องทำเป็นหนังสือ
นิติกรรมใดจะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักโมฆะกรรมหรือโมฆียะกรรมในบรรพ 1 ลักษณะ 4 หมวดที่ 1 และที่ 2 แห่ง ป.พ.พ. ส่วนความไม่เข้าใจถึงผลของสัญญาประนีประนอมยอมความว่าเป็นการระงับข้อพิพาท ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะหรือโมฆียะ
ต. อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ที่ 1 มาประมาณ 30 ปี และอาศัยอยู่ด้วยกันกับโจทก์ที่ 2 ที่บ้านเกิดเหตุจากสภาพโจทก์ที่ 1 ย่อมทราบถึงการซ่อมรถและซ่อมบ้านที่บริษัท ว. เป็นผู้จัดการให้เป็นอย่างดีเมื่อซ่อมบ้านเสร็จ ต. รับมอบงาน โจทก์ที่ 1 ก็ไม่คัดค้าน ครั้นซ่อมรถเสร็จ ต. กับโจทก์ที่ 2 เป็นคนลงชื่อรับค่าซ่อมในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ที่ 1 ก็ไม่โต้แย้งคัดค้านว่า ต. และโจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนตน พฤติการณ์ย่อมฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 รู้แล้วยอมให้ ต. และโจทก์ที่ 2 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนในการรับค่าซ่อมบ้านและซ่อมรถตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การเป็นตัวแทนเชิดนั้นไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 798 ที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือเหมือนการตั้งตัวแทนทั่วไป สัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีผลบังคับถึงโจทก์ที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18978/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนจำกัดอำนาจ, หนังสือค้ำประกัน, ผู้ค้ำประกันต้องรับผิด, การมอบอำนาจ, สัญญาค้ำประกัน
ข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการและในสัญญาระบุว่า หากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับความตกลงนี้ และไม่อาจหาข้อยุติได้ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการ เป็นข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้กับคู่สัญญา ได้แก่ โจทก์กับบริษัท อ. เท่านั้น ไม่มีผลใช้บังคับกับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัท อ. ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้
จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารและประทับตราสำคัญของบริษัท อ.ทุกครั้ง ในส่วนที่เกี่ยวกับแผนการชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ก็กระทำในนามของบริษัท และบริษัทปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นโดยมีการส่งหนังสือยืนยันยอดหนี้และชำระหนี้ให้แก่โจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า บริษัท อ. ให้การรับรองในการกระทำของจำเลยที่ 1 ถือเป็นการมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ติดต่อและเจรจาทำความตกลงกับโจทก์แทนบริษัท การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของบริษัทและกระทำไปภายในขอบอำนาจของตัวแทน
หนังสือค้ำประกันที่จำเลยทั้งสองทำไว้แก่โจทก์เพื่อค้ำประกันการชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกโดยบริษัท อ. ภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการซื้อขาย มีเพียงลายมือชื่อของจำเลยทั้งสองผู้ค้ำประกันเท่านั้น ไม่มีลายมือชื่อของโจทก์อยู่ด้วย หนังสือค้ำประกันดังกล่าว จึงเป็นเพียงหลักฐานในการค้ำประกันเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสอง เท่านั้น ไม่ใช่หนังสือค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 104 ลักษณะ 7 ใช้เป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12066/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนเชิด-ผูกพันจำเลย: การซื้อขายสินค้าผ่านผู้จัดการ/กรรมการ จำเลยต้องรับผิด
ถ. ผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลย ติดต่อกับโจทก์ขอซื้อผลิตภัณฑ์นม โดยโทรสารจากสำนักงานจำเลย หลังจากโจทก์ส่งสินค้าครบแล้ว จำเลยร่วมซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เห็นได้ว่า ถ. และจำเลยร่วมต่างเป็นผู้กระทำการแทนจำเลย หาก ถ. ขายหรือสั่งซื้อสินค้าโดยอ้างว่ากระทำไปในฐานะผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยบุคคลภายนอกย่อมเข้าใจได้ว่า เป็นการสั่งสินค้าโดยจำเลย ส่วนจำเลยร่วมเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลย เมื่อจำเลยร่วมแสดงเจตนาในการขายหรือซื้อสินค้ากับบุคคลภายนอก บุคคลนั้นย่อมเข้าใจได้ว่าตนซื้อขายสินค้ากับจำเลย การกระทำของ ถ. และจำเลยร่วมจึงเป็นตัวแทนเชิดของจำเลย จำเลยต้องผูกพันในการซื้อขายสินค้ากับโจทก์ ส่วนที่ใบสั่งซื้อสินค้าที่ส่งให้โจทก์ไม่มีลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งซื้อก็เป็นระเบียบภายในของจำเลยเท่านั้นและการส่งสินค้าให้แก่บุคคลอื่น ในสถานที่อื่นมิใช่ที่ทำการของจำเลยไปตามที่ระบุในใบสั่งซื้อสินค้า ก็เป็นปกติของการค้าขายที่ผู้ซื้ออาจขายต่อหรือนำสินค้าไปส่งต่อตามทางธุรกิจของตน จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4115/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนทำสัญญาจ้างงานต่างประเทศ: ความรับผิดของตัวการและตัวแทนตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บริษัท ย. มีหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนกระทำการทุกอย่างแทนในการจัดหาคนหางานไปทำงานในประเทศไนจีเรีย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 จัดทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้าง เป็นกรณีจำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างงานแทนบริษัท ย. ซึ่งเป็นตัวการอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างงานนั้นเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างงานกับโจทก์แทนบริษัท ย. ไม่ใช่กรณีจำเลยทั้งสองเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครอบแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 820, 821 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18623/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนจำกัดอำนาจ: จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับตัวแทน (จำเลยที่ 2) ในการซื้อขายรถยนต์ แม้จะมีการกระทำโดยผิดระเบียบ
แม้จำเลยที่ 2 มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 แต่การติดต่อซื้อขายรถระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 นั้น กระทำการในที่ทำการและเวลาทำการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 ตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่า จำเลยที่ 1 ได้แสดงให้โจทก์หรือบุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 แล้ว การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 2 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมเป็นการกระทำในขอบอำนาจแห่งตัวแทนเพื่อกิจการค้าขายที่จำเลยที่ 1 จะถือเอาประโยชน์จากกิจการนั้นได้ ไม่ว่าการที่จำเลยที่ 2 รับซื้อรถคันเก่าจากโจทก์โดยนำไปฝากขายที่เต็นท์รถมือสอง จะเป็นการกระทำโดยจำเลยที่ 1 จะมีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อรถเก่าจากลูกค้าหรือไม่ก็ตาม ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการส่วนหนึ่งของการขายซึ่งเป็นไปตามนโยบายการขายของจำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำในหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันต่อโจทก์ในกิจการที่จำเลยที่ 2 กระทำไปด้วย แม้จะปรากฏว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 อาจเป็นเรื่องการกระทำโดยผิดระเบียบของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเรื่องกิจการภายในของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 2 เอง ไม่อาจยกเป็นข้ออ้างต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเพื่อให้ตนพ้นผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15911/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายรถยนต์โดยตัวแทน การรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอก และการจดทะเบียนรถยนต์
โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทของจำเลยที่ 1 โดยติดต่อกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ไปเกินอำนาจหรือนอกขอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมาย โดยขายต่ำกว่าราคาต้นทุน และไม่มีอำนาจรับเงินแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ทางปฏิบัติของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการมีมูลเหตุอันสมควรที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทน ที่ให้ส่วนลดและของแถมแก่ลูกค้าและมีอำนาจรับเงินแทนจำเลยที่ 1 อยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนดังเช่นที่จำเลยที่ 2 เคยรับเงินค่าจองรถยนต์จาก พ. ไปแล้ว ไม่มีปัญหาอย่างใด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปภายในขอบอำนาจของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 และเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกับโจทก์โดยเห็นแก่อามิสสินจ้างตามมาตรา 825 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติมาตรา 823 และมาตรา 825 เพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดตามที่ฎีกาได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระราคารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยครบถ้วนและโดยสุจริตแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์และมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11488/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดร่วมกันของนายจ้างและตัวแทน กรณีตัวแทนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดละเมิด
การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อ ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อเลี้ยวขวากลับรถกะทันหันให้รถขวางถนน จนเป็นเหตุให้ อ. ซึ่งขับรถยนต์กระบะ พุ่งชน จน อ. ถึงแก่ความตาย และ ส. ซึ่งนั่งโดยสารมาด้วยได้รับบาดเจ็บ เมื่อขณะเกิดเหตุปรากฏว่าจำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกหกล้อรับจ้างขนส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรับจ้างขนส่งสินค้าและมีเครื่องหมายสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 3 ติดไว้ที่ข้างรถบรรทุกหกล้อ เช่นนี้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกหกล้อรับจ้างขนส่งสินค้าให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นประจำโดยใช้เครื่องหมายสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 3 ติดไว้ที่ข้างรถมองเห็นได้ชัดเจน อันมีลักษณะเป็นการเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ในการรับจ้างขนส่งสินค้า ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เชิดให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10865/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินโดยไม่สุจริตและหลักตัวการ-ตัวแทน ศาลยืนว่าผู้รับโอนที่สุจริตไม่ต้องรับผิด
ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด โจทก์อ้างเพียงว่าพระครู ส. จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เป็นการทำผิดวัตถุประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นการโอนให้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 เท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของกฎหมายว่า รับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต" เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริต มิได้ล่วงรู้ถึงการที่โจทก์จดทะเบียนให้พระครู ส. ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทนคือ พระครู ส. ทำการเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตัวการจึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต โจทก์จึงต้องรับผิดผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3
of 49