คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 821

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 487 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8191/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสินค้าโดยไม่มีใบสั่งซื้อตามเงื่อนไข จำเลยไม่ต้องรับผิด
ในการซื้อขายที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันมา ส. พนักงานของจำเลยซึ่งได้รับอนุมัติจากจำเลยเป็นการภายในจะเป็นผู้ติดต่อสั่งซื้อกับโจทก์โดยต้องส่งสำเนาใบสั่งซื้อที่ได้รับอนุมัติจาก ศ. กรรมการบริษัทจำเลย ซึ่งลงลายมือชื่อผู้อนุมัติในใบสั่งซื้อไปให้โจทก์ทางโทรสาร และโจทก์จะต้องนำสำเนาใบสั่งซื้อดังกล่าวไปแสดงเพื่อขอรับต้นฉบับใบสั่งซื้อจาก ส. เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากจำเลย เห็นได้ว่าจำเลยถือการส่งสำเนาใบสั่งซื้อทางโทรสารเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ เพื่อป้องกันมิให้พนักงานของจำเลยซึ่งทำหน้าที่จัดซื้อกระทำการทุจริตแอบอ้างสั่งซื้อสินค้าโดยไม่ได้รับอนุมัติจากจำเลย การที่ ส. สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ทางโทรศัพท์โดยไม่ได้ส่งสำเนาใบสั่งซื้อทางโทรสารไปยังโจทก์ซึ่งผิดเงื่อนไขทางปฏิบัติในการซื้อขายดังกล่าว จะถือว่าจำเลยเชิด ส. เป็นตัวแทนหรือยอมให้ ส. เชิดตนเองเป็นตัวแทนในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ด้วยวิธีการดังกล่าวหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ส่งสินค้าให้แก่ ส. ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าการสั่งซื้อสินค้าของ ส. ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการสั่งสินค้าของโจทก์และ ส. นำสินค้าที่ได้รับไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าสินค้าแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4861/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฉ้อฉลในการทำสัญญาประกันชีวิต ความรับผิดของตัวแทนและบริษัทประกันภัย
การที่โจทก์ทั้งสามลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตมอบให้จำเลยที่ 1 ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 ไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพราะถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าเป็นการขอต่ออายุกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับเดิม เป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม จึงเป็นความสำคัญผิดในสาระสำคัญนิติกรรมย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
โจทก์ทั้งสามรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาเป็นเวลานาน และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ชักชวนให้โจทก์ทั้งสามทำสัญญาประกันชีวิตฉบับเดิม โจทก์ทั้งสามย่อมให้ความเชื่อถือไว้วางใจ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามประมาทเลินเล่อในการลงลายมือชื่อในคำขอทำสัญญาประกันชีวิต ดังนั้น สัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์จึงไม่มีผลสมบูรณ์ที่ใช้บังคับได้
จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจรับเบี้ยประกันชีวิตในนามจำเลยที่ 2 ดังนี้ คนทั่วไปที่ถูกจำเลยที่ 1 ชักชวนให้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 ย่อมต้องเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าด้วย ดังนั้น พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 ติดต่อกับโจทก์ทั้งสามเพื่อต่ออายุกรมธรรม์และรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้าในนามของจำเลยที่ 2 โดยเปิดเผย จึงเท่ากับจำเลยที่ 2 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการติดต่อรับประกันชีวิตและรับเบี้ยประกันชีวิตล่วงหน้า การที่จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์ทั้งสามให้ลงลายมือชื่อในคำขอประกันชีวิตเป็นการจงใจให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 และต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 ด้วย
ค่าเสียหายอันเป็นค่าใช้จ่ายของโจทก์ทั้งสามในการติดตามทวงถามให้จำเลยทั้งสองคืนเบี้ยประกันชีวิต เป็นค่าเสียหายอันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 มิใช่ค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาเป็นโมฆะ หากโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายย่อมเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6112/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อการกระทำของตัวแทน และอายุความฟ้องละเมิด
เอกสารที่จำเลยที่ 3 ใช้ติดต่อกับโจทก์เป็นเอกสารที่ติดต่อกันในนามของจำเลยที่ 1 แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า โจทก์ได้เข้าทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ดำเนินคดีให้โจทก์หรือโจทก์ได้เข้าตกลงทำสัญญากับผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เป็นทนายความประจำบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้สถานที่ของจำเลยที่ 1 เป็นที่ทำการของจำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้เอกสารติดต่อกับโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 รวมตลอดถึงการที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้ ว. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำงานฟ้องคดี จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้ว ยอมให้จำเลยที่ 3 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 เมื่อจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อดำเนินการให้ ว. ฟ้องคดีให้โจทก์ล่าช้าจนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีของโจทก์เพราะเหตุขาดอายุความ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 เพราะเหตุละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 การอ่านคำพิพากษาในคดีแพ่ง ถ้าคู่ความทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลตามกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 140 (3) ศาลจะงดการอ่านคำพิพากษาก็ได้ โดยให้ศาลจดแจ้งไว้ในรายงานและให้ถือว่าคำพิพากษานั้นได้อ่านตามกฎหมายแล้ว กรณีดังกล่าวเป็นการกำหนดขั้นตอนตามกฎหมายให้กระบวนพิจารณาในคดีแพ่งสามารถดำเนินการต่อไปได้จนเสร็จสิ้นแม้กฎหมายให้ถือว่าได้มีการอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้วโดยชอบตั้งแต่วันนัดฟังคำพิพากษาก็ตาม แต่คดีได้ความว่าโจทก์นำเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ยืนฟ้อง ส. ไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนวันที่คดีดังกล่าวจะขาดอายุความ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้รายงานผลการดำเนินงานให้โจทก์ทราบเพียงครั้งเดียว และไม่ได้แจ้งวันที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าวให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงไม่ได้ไปฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามกำหนดนัด ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่ทราบว่าคดีดังกล่าวขาดอายุความด้วยเหตุใด และผู้ใดเป็นผู้กระทำให้คดีดังกล่าวขาดอายุความ จนกระทั่งวันที่ 27 กันยายน 2544 จำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกรับสภาพความรับผิดให้แก่โจทก์โดยยอมรับความผิดพลาดในการดำเนินคดีดังกล่าวว่าเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงเพิ่งทราบถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมในวันดังกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2545 จึงยังไม่พ้น 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนเชิด: ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ต่อการชำระค่าจ้าง
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินค่าจ้างโดยบรรยายฟ้องสรุปได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เข้าทำสัญญารับจ้างรับเหมาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ และเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้รับเหมาช่วงติดตั้งต่อเติมอาคารดังกล่าว จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างโจทก์ระบุเงื่อนไขในการทำงานและได้รับค่าจ้างตามหนังสือสัญญาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จะว่าจ้างช่วงหรือให้ใครเป็นผู้ปฏิบัติงานเป็นอำนาจของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างและชำระเงินให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ประสานงานให้จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์ กับตรวจรับมอบงานแทนจำเลยที่ 1 และเบิกค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 มามอบให้โจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ดังนั้น แม้ตามคำให้การจำเลยที่ 2 มิได้ใช้ถ้อยคำว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 แต่เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดแล้ว เห็นได้ในตัวว่าจำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 คดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3328/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและการให้สัตยาบัน หากเจ้าหนี้รับชำระหนี้จากบุคคลอื่นโดยไม่คัดค้าน หนี้ระงับสิ้น
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 3 ให้แก่โจทก์และบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 3 แล้วแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไปรับเงินค่าจ้างงวดแรกจากจำเลยที่ 3 แล้วนำไปชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้และไม่ดำเนินการใด ๆ เช่น แจ้งให้จำเลยที่ 3 ระงับการจ่ายเงินสำหรับงวดต่อ ๆ ไป ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 เข้าใจว่าสามารถจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ได้โดยตรง การกระทำของโจทก์นับว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การชำระหนี้งวดแรก ทั้งยังเป็นการยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนโจทก์ในการขอรับชำระหนี้ในงวดต่อ ๆ ไปด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ตามสัญญาจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ไปจนครบถ้วนแล้ว หนี้ของจำเลยที่ 3 จึงระงับสิ้นไป โจทก์ไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้อีกได้ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2952/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายและเช่าที่ดินพิพาทเป็นโมฆะเนื่องจากเจตนาลวง โดยมีเจตนาให้จำเลยและนางสุพรมีที่ดินอยู่อาศัยร่วมกัน
สัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินพิพาทเป็นสัญญาที่ทำขึ้นโดยไม่มีเจตนาแท้จริงให้ผูกพันกัน เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์และจำเลย เพื่อให้โจทก์นำที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมต่อธนาคาร และให้จำเลยทำสัญญาเช่าเพื่อเป็นประกันการผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร สัญญาซื้อขายและสัญญาเช่าดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง
เจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยเกิดจาก ส. และจำเลยเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยเนื่องจากเจ้าหนี้จะยึดที่ดินและบ้านที่อยู่อาศัยชำระหนี้ แต่จำเลยและ ส. ไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารมาชำระหนี้ได้ จึงต้องขอให้โจทก์เป็นผู้กู้ยืมเงินให้เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของจำเลย เพื่อจะนำที่ดินมาเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยและ ส. โดยจำเลยและ ส. มีหน้าที่ร่วมกันผ่อนชำระหนี้ที่โจทก์กู้ยืมมาคนละครึ่ง หากจำเลยและ ส. ร่วมกันชำระหนี้จนครบ 10 ปี ตามสัญญาจำนอง หนี้จะหมด จำเลยมีสิทธิได้แบ่งที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกบ้านแล้วจำนวนครึ่งหนึ่งของที่ดินทั้งหมดนอกจากส่วนที่กันเป็นถนน ส่วนที่ดินที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะตกเป็นของ ส. ซึ่งถือเป็นตัวการซึ่งเชิดโจทก์เป็นตัวแทนทำนิติกรรมแทน ส. สัญญาตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินแม้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท แต่เจตนาที่แท้จริงของโจทก์และจำเลยที่ต้องการให้ ส. และจำเลยมีที่ดินอยู่อาศัยคนละครึ่ง จึงให้จำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารครึ่งหนึ่ง เพื่อว่าเมื่อจำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้ครบแล้วจะได้แบ่งที่ดินครึ่งหนึ่งจึงพึงสันนิษฐานได้โดยพฤติการณ์แห่งกรณีว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีเจตนาจะให้ตกลงในส่วนนี้แยกออกจากสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ข้อตกลงในส่วนนี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะและมีผลผูกพันโจทก์ว่าเมื่อจำเลยร่วมผ่อนชำระหนี้จำนองแก่ธนาคารแม้เพียงบางส่วนจำเลยก็มีสิทธิในที่ดินพิพาทฐานะในเจ้าของร่วมด้วยเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 397/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมการสหกรณ์อนุมัติซื้อรถเกินงบประมาณ ทำให้สหกรณ์เสียหาย แม้สัตยาบันภายหลังก็ยังต้องรับผิด
ในขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 เป็นคณะกรรมการ ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2540 ของโจทก์มีมติอนุมัติให้ซื้อรถยนต์เพื่อใช้ในกิจการของโจทก์สองคัน ในวงเงิน 1,500,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด 1 คัน ราคา 291,970 บาท และยี่ห้อเบนซ์ 1 คัน ราคา 1,750,000 บาท เกินกว่าวงเงินตามมติของโจทก์ดังกล่าวถึง 541,970 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ และทำให้โจทก์เสียหาย เพราะโจทก์จะต้องจ่ายเงินซื้อรถยนต์ในราคาที่สูงเกินไป แทนที่จะนำเงินจำนวนนั้นไปใช้อย่างอื่นตามวัตถุประสงค์ของโจทก์เป็นการไม่ประหยัดไม่ต้องด้วยวัตถุประสงค์ของโจทก์ ที่จำเลยทั้งสิบสี่อ้างว่าโจทก์ให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำดังกล่าวแล้ว ทั้งโจทก์ยังขายรถยนต์ทั้งสองคัน โดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุนไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นนับแต่วันที่จำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว แม้ภายหลังโจทก์จะขายรถยนต์ทั้งสองคันโดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุนก็ไม่อาจทำให้ความเสียหายของโจทก์กลับเป็นไม่มีความเสียหายอีกได้ และการให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ต้องรับผิดชอบต่อผู้ขายรถยนต์ทั้งสองคัน ผู้สุจริตจากการกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 ถึง 823 เท่านั้นโดยมิได้ทำให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นความรับผิดในความเสียหายจากการกระทำของตนต่อโจทก์
เมื่อปรากฏว่าตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสิบสี่อนุมัติให้ซื้อรถยนต์ทั้งสองคัน จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2543 อันเป็นวันที่นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการชั่วคราว จำเลยทั้งสิบสี่ยังมีฐานะเป็นกรรมการดำเนินการของโจทก์อยู่ จึงยังถือไม่ได้ว่าก่อนหน้าวันที่ 20 ธันวาคม 2543 โจทก์ทราบเหตุการณ์กระทำละเมิดของจำเลยทั้งสิบสี่ แต่ถือว่าโจทก์ได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 20 ธันวาคม 2543 อันเป็นวันที่นายทะเบียนสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งและตั้งกรรมการดำเนินการโจทก์ชั่วคราว เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 28 สิงหาคม 2544 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11515/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อของผู้มอบอำนาจและการซื้อขายโดยสุจริตของบุคคลภายนอก
จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความ กับลงลายมือชื่อรับรองสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน มอบให้แก่ ท. ไปพร้อมกับโฉนดที่ดิน เมื่อ ท. นำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความว่าจำเลยมอบอำนาจให้ ท. จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนยกให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ ท. จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยต้องยอมรับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง จำเลยจะยกความประมาทเลินเล่อของตนเองดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่กระทำการโดยสุจริตหาได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821
จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 เมื่อจำเลยนำสืบไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริต การขายฝากที่ดินพิพาทระหว่าง ท. กับโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์ เมื่อ ท. ไม่ไถ่ที่ดินคืนภายในกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7848/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องค่าสินค้า และผลของการรับสภาพหนี้ต่ออายุความ
สิทธิเรียกร้องจากการที่จำเลยทั้งสามซื้อสินค้าจากโจทก์ เพื่อส่งขายให้แก่ลูกค้าอันมิใช่ซื้อไปเพื่อใช้เป็นการเฉพาะภายในบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) มิใช่อายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)
การที่จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ขอผ่อนชำระหนี้งวดแรกภายในเดือนมกราคม 2543 ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงโดยระยะเวลาที่ล่วงไปนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินงวดแรกแก่โจทก์ตามที่รับสภาพหนี้ไว้ เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มกราคม 2543 และเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ปรากฏว่ายอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทน กรณีจึงไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 3 ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ด้วย ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4723/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนเชิด: การผูกพันตัวการจากลายมือชื่อในหนังสือบอกเลิกสัญญา
ส. เป็นบุตรของ ว. และ ฉ. หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ ส. เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดอยู่ด้วย ทั้ง ส. ยังมีหน้าที่ขับรถยนต์คันหนึ่งและเป็นผู้ประสานงานตามสัญญาจ้างเหมารถรับส่งพนักงานของจำเลยระหว่างโจทก์กับจำเลยตลอดมา ส่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับ ส. ว่า โจทก์เชิด ส. ออกแสดงเป็นตัวแทน โจทก์จึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่า ส. เป็นตัวแทนของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 ประกอบมาตรา 1042 ดังนั้น การที่ ส. ลงลายมือชื่อในหนังสือแจ้งเลิกสัญญาต่อจำเลย ย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ แม้จำเลยจะให้การว่าโจทก์บอกเลิกสัญญา แต่คดีได้ความว่า ตัวแทนเชิดของโจทก์เป็นผู้บอกเลิกสัญญาก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องนอกประเด็นนอกคำให้การ เพราะเป็นการนำสืบให้ทราบถึงความจริงว่าเป็นอย่างไร
of 49