คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อัมพร ทองประยูร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 576 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3860/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าสินไหมทดแทนจากละเมิด: การขาดประโยชน์จากการใช้แรงงานในอุตสาหกรรม
จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทชน ก. พนักงานของโจทก์ได้รับบาดเจ็บต้องหยุดงานเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลรวม 17 วัน โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้จ่ายเงินเดือนให้ในระหว่างหยุดงาน 17 วัน เป็นเงิน8,257 บาท ก. เป็นพนักงานมีหน้าที่จะต้องประกอบการงานในอุตสาหกรรมให้แก่โจทก์เป็นประจำ จึงมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่โจทก์ การละเมิดของจำเลยเป็นเหตุให้ก. ไม่สามารถประกอบการงานให้โจทก์ได้ตามปกติเป็นเหตุให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการงานของ ก. โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในส่วนนี้ การไฟฟ้านครหลวงโจทก์ประกอบกิจการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อหากำไร และเป็นกิจการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้แรงงานและทุนมาก จึงเป็นอุตสาหกรรมตามความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 445

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3746/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับในสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลมีอำนาจลดจำนวนลงให้เหมาะสมกับความเสียหายที่แท้จริงได้
หลังจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ชนเสาอากาศวิทยุของโจทก์เสียหายเป็นเงิน 35,752 บาทแล้ว จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์มีข้อความสรุปได้ว่าจำเลยทั้งสองตกลงจะซ่อมแซมและติดตั้งเสาอากาศวิทยุและอุปกรณ์วิทยุให้ถูกต้องสามารถใช้การได้ดี แข็งแรงได้มาตรฐานของทางราชการให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 20 วันนับตั้งแต่วันทำสัญญา ถ้าจำเลยทั้งสองผิดสัญญายอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 90,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าเสียหายจำนวน 90,000 บาทตามหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันไว้นั้น เป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และเบี้ยปรับนั้นแม้จะได้กำหนดกันไว้ในสัญญา แต่ก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้น ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3490/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรสจากมรดก: ที่ดินที่ได้มาหลังสมรสด้วยเงินมรดกยังคงเป็นสินสมรส แม้มีการจดทะเบียนภายหลัง
เดิมที่ดินพิพาทเป็นของ บ. มารดาผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 บ.ได้จำนองไว้แก่ธนาคาร บ.ถึงแก่ความตายเมื่อพ.ศ. 2513 เมื่อ บ. ตายทรัพย์สินทั้งหมดก็เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคนทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599ถือได้ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทใน พ.ศ. 2513 มาในระหว่างสมรสและผู้ร้องได้ที่ดินพิพาทมาโดยมิใช่กรณีที่ระบุไว้ว่าเป็นสินเดิมหรือสินส่วนตัวตามมาตรา 1463 และ 1464 จึงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1466 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และตราบใดที่ยังไม่แบ่งทรัพย์มรดกผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์มรดกทั้งหลายย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาททุกคนร่วมกันผลประโยชน์ส่วนที่เป็นของผู้ร้องย่อมเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 อีก ดังนั้นเงินที่ได้จากการขายพืชผลของสวนและนามรดกที่นำไปไถ่ถอนที่ดินพิพาทจากธนาคารย่อมเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 ไม่ใช่สินส่วนตัวของผู้ร้องแม้ผู้จัดการมรดกของ บ.จะได้จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องแต่ผู้เดียวในพ.ศ. 2520ภายหลังจากพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้ว ก็เป็นเรื่องการแบ่งมรดกระหว่างทายาทมิใช่เป็นการได้รับทรัพย์มรดกอันจะเป็นสินส่วนตัวเพราะเป็นทรัพย์ที่ได้มาระหว่างสมรสดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่มาตรา 1471(3) บัญญัติไว้ไม่ พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 2บัญญัติไว้ว่าพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสของผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 อยู่ก่อนวันดังกล่าว แม้จะได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกก็ไม่กลับกลายเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง เพราะจะเป็นการใช้มาตรา 1471(3)แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ย้อนหลังขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวทั้งความตามมาตรา 5 ก็มีความหมายเฉพาะว่า ความสมบูรณ์ของการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ไม่ถูกกระทบกระเทือน คือไม่เสื่อมเสียไปเท่านั้น ไม่ได้มีข้อความให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ย้อนหลังอันเป็นการยกเว้นความตามมาตรา 2 ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วจะถือว่าความสมบูรณ์ของการอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5ต้องถูกกระทบกระเทือนถึงคือต้องเปลี่ยนไปใช้กฎหมายใหม่หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3490/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรสจากทรัพย์มรดก: การเปลี่ยนแปลงสถานะหลังพ.ร.บ.ใหม่ และการใช้กฎหมายย้อนหลัง
ผู้ร้องได้รับทรัพย์มรดกซึ่งรวมทั้งที่พิพาทมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2513 ที่พิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1ผู้เป็นสามีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1466(เดิม) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์มรดกอื่นส่วนที่เป็นของผู้ร้องย่อมเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกันดังนั้น แม้จะมีการนำเงินที่ได้จากการขายพืชผลของสวนและนา มรดกไปไถ่ถอนจำนองที่พิพาทและโอนที่พิพาทให้กับผู้ร้องในปี พ.ศ. 2520ภายหลังจาก พ.ร.บ. ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้วก็ไม่ทำให้ที่พิพาทกลับกลายเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่พิพาทที่โจทก์นำยึด บทบัญญัติมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มีความหมายเฉพาะว่าความสมบูรณ์ของการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ไม่ถูกกระทบกระเทือน คือไม่เสื่อมเสียไปเท่านั้น ไม่ได้มีข้อความว่าให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519ย้อนหลังอันเป็นการยกเว้นความตามมาตรา 2 แต่อย่างใด จะถือว่าความสมบูรณ์ของการอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 จะต้องถูกกระทบกระเทือนคือต้องเปลี่ยนไปใช้กฎหมายใหม่หาได้ไม่ เพราะเป็นการใช้กฎหมายไม่ต้องด้วยความตามตัวอักษรที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 และมาตรา 5 ดังกล่าวอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ.มาตรา 4 วรรคแรก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3266/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุมผู้ต้องสงสัยค้าไม้หวงห้าม: พฤติการณ์หลีกเลี่ยงกฎหมายเป็นเหตุสมควรในการจับกุม
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้นำสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้สักผ่านด่านอยู่เป็นประจำแทบทุกวันเป็นเวลานาน โดยนำผ่านด่านเพียงครั้ง 1 ชิ้น กรณีเช่นนี้ย่อมเห็นเจตนาของโจทก์โดยชัดแจ้งว่าเป็นการหลีกเลี่ยง กฎหมาย การกระทำของโจทก์เป็นเหตุผลให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์น่าจะ เป็นผู้ค้าสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต การที่จำเลยจับโจทก์ด้วยเหตุผลจากพฤติการณ์ของโจทก์เองจึงเป็น การกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่จงใจแกล้งจับโจทก์ หรือประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด จึงมิใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3266/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจจับกุมเจ้าพนักงานป่าไม้: พฤติการณ์หลีกเลี่ยงกฎหมายเป็นเหตุสมควรในการจับกุม
โจทก์ทั้งสองเป็นผู้นำสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้สักผ่านด่านตรวจออกไปนอกเขตอุทยานแห่งชาติเป็นประจำแทนทุกวัน โดยนำผ่านด่านเพียงครั้งละ 1 ชิ้น เป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมาย เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ผิดกฎหมาย การที่โจทก์ทั้งสองได้กระทำมาเป็นเวลานานและโดยเฉพาะเดือนสิงหาคม 2530 ได้มีการนำสิ่งประดิษฐ์ทำด้วยไม้สักผ่านด่านเฉพาะโจทก์ที่ 1 จำนวน 25 เที่ยว โจทก์ที่ 6 จำนวน 20 เที่ยว เมื่อนำพฤติการณ์ดังกล่าวมาประกอบกับการกระทำของโจทก์ทั้งสองในวันที่ถูกจับ เป็นเหตุผลให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ช่วยป่าไม้จังหวัดผู้มีอำนาจจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ เชื่อว่าโจทก์ทั้งสองน่าจะเป็นผู้ค้าสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อจำเลยได้จับกุมโจทก์ทั้งสองในการขับรถผ่านด่าน แม้จะมีสิ่งประดิษฐ์ที่ทำด้วยไม้สักเพียง 1 ชิ้น แต่พฤติการณ์ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาจนถึงวันถูกจับกุม เป็นเหตุผลอันสมควรที่ชี้ให้เห็นว่า โจทก์ทั้งสองน่าจะมีการกระทำอันผิดกฎหมาย การที่จำเลยจับโจทก์ทั้งสองด้วยเหตุผลจากพฤติการณ์ของโจทก์ทั้งสองเอง จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่จงใจแกล้งจับโจทก์ทั้งสองหรือประมาทเลินเล่อ จึงมิใช่เป็นการละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งแยกที่ดินและกรรมสิทธิ์ตามการครอบครองจริง แม้ชื่อในโฉนดจะสลับกัน ศาลมีสิทธิแก้ไขชื่อให้ตรงตามการครอบครอง
โจทก์ และ ล. ได้รับมรดกตามพินัยกรรมเป็นที่ดิน 1 แปลงโดยลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดร่วมกัน ต่อมาโจทก์และ ล.ได้ขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกไป 2 โฉนด โดยขอแบ่งแยกตามส่วนที่แต่ละคนครอบครอง แต่มีการระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินสลับกันกรณี เช่นนี้ต้องถือว่าแต่ละฝ่ายมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในส่วนที่ตนครอบครองอย่างเป็นเจ้าของจริง ๆ ตลอดมา และมีสิทธิขอแก้ไขชื่อในโฉนดให้ตรงตามความจริงได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3147/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษคดีอาวุธปืนเมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลง และอำนาจศาลฎีกาในการแก้ไขโทษแม้ไม่มีการอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯโดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาในความผิดฐานอื่นถ้ามีกรณีที่ศาลฎีกาเห็นว่าการปรับบทลงโทษไม่ถูกต้องหรือการกำหนดโทษไม่เหมาะสมแล้วศาลฎีกามีอำนาจที่จะแก้ไขได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 ประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเพียงว่าจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนโดยไม่ได้ความว่าเป็นอาวุธปืนของบุคคลอื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้หรือไม่และโจทก์ก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าเป็นอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียน ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคหนึ่งอันเป็นบทลงโทษสำหรับกรณีที่เป็นอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนที่ผู้อื่นได้รับอนุญาต อันเป็นผลร้ายแก่จำเลยจึงเป็นการไม่ชอบต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 72 วรรคสาม ซึ่งเป็นเพียงการมีอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และมีบทกำหนดโทษเบากว่า และเมื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาวุธปืนที่พาไปเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นผลร้ายน้อยกว่า การใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง ก็ควรจะเปลี่ยนไปในทางที่ลดลง ซึ่งศาลฎีกาแก้ไขได้แม้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3091/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีละเมิดและการรับผิดของลูกหนี้ร่วม
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 บัญญัติให้นายจ้างได้รับการชดใช้จากลูกจ้างเฉพาะค่าสินไหมทดแทนที่นายจ้างได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำไว้เท่านั้นค่าฤชาธรรมเนียมในคดีก่อนที่ผู้เสียหายฟ้องนายจ้างและลูกจ้างให้ร่วมกันรับผิดในละเมิดที่ศาลพิพากษาให้คู่ความชดใช้แก่กันนั้นเป็นการใช้ดุลพินิจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161ส่วนค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดนั้นศาลวินิจฉัยให้รับผิดชดใช้กันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 428 ถึง 447 ซึ่งมิได้กล่าวถึงค่าฤชาธรรมเนียมที่คู่ความจะต้องชดใช้กันในคดีละเมิดไว้ ดังนั้นจะถือว่าค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลพิพากษาให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันชดใช้ให้ผู้เสียหายในคดีก่อนเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดไม่ได้ นายจ้างจึงฟ้องขอให้ลูกจ้างชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลพิพากษาให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายเป็นจำนวนทั้งหมดไม่ได้ แต่คำพิพากษาในคดีดังกล่าวมีผลทำให้นายจ้างและลูกจ้างเป็นลูกหนี้ร่วมของผู้เสียหาย ความรับผิดในระหว่างลูกหนี้ร่วมจะต้องเป็นไปตามมาตรา 296 ซึ่งบัญญัติให้ต่างคนต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กันในกรณีนี้นายจ้างจึงมีสิทธิให้ลูกจ้างชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ชำระเกินไปกว่าความรับผิดคืนจากลูกจ้างได้ตามส่วน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3007/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดจากการก่อสร้างที่ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย และขอบเขตค่าเสียหายที่เรียกได้
ค่าจ้างทนายความดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองที่โจทก์ต้องจ่ายไปมิใช่ค่าเสียหายโดยตรงจากการที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดเป็นความเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของตึกที่ทำการก่อสร้างได้ยื่นคำขออนุญาตโดยมีแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน รายการคำนวณแนบไปด้วยเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างและจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงชื่อเป็นผู้ควบคุมงานตอกเสาเข็ม ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องใช้ปั้นจั่นขนาดใหญ่ตอกเสาเข็มคอนกรีตลงในบริเวณที่ก่อสร้างเพื่อทำการก่อสร้างตึกสี่ชั้นซึ่งอยู่ใกล้บ้านโจทก์ทั้งสองเมื่อผู้รับจ้างกระทำการดังกล่าวทำให้บ้านโจทก์ทั้งสองแตกร้าวเสียหาย จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้สั่งให้ผู้รับจ้างกระทำการนั้นและเกิดการเสียหายขึ้น ถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ผิดในส่วนของการงานที่สั่งให้ทำ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์
of 58