พบผลลัพธ์ทั้งหมด 473 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3250/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยกฟ้องคดีอาญาเนื่องจากโจทก์ไม่มาศาล และสิทธิในการขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์อันเป็นการยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคแรกประกอบด้วยมาตรา 181 ไม่ใช่เป็นการยกฟ้องโดยเหตุที่โจทก์ไม่มีพยานมาสืบตามฟ้องนั้น เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่11 ธันวาคม 2532 โจทก์มายื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2532 หลังจากศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้องเพียง3 วัน ยังไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันศาลยกฟ้อง ทั้งคำร้องของโจทก์ก็ได้แสดงเหตุที่มาไม่ได้ไว้ด้วยแล้ว ซึ่งหากเป็นความจริงตามคำร้องก็นับว่ามีเหตุสมควรที่มาไม่ได้ จึงชอบที่จะไต่สวนคำร้องของโจทก์เสียก่อน จึงจะวินิจฉัยได้ว่าที่โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดนั้นมีเหตุสมควรหรือไม่ การยื่นคำร้องเช่นนี้ไม่จำต้องยื่นเสียในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งหรืออย่างน้อยในวันรุ่งขึ้น การที่โจทก์มายื่นคำร้องหลังจากศาลชั้นต้นยกฟ้อง 3 วัน ก็ยังมิได้แสดงว่าโจทก์ไม่นำพาคดี ถือว่าโจทก์จงใจไม่มาศาลตามกำหนดนัดอันจะต้องยกคำร้องของโจทก์เสีย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3204/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสนับสนุนการกระทำผิดฐานครอบครองไม้ผิดกฎหมาย แม้ไม่มีส่วนร่วมครอบครองโดยตรง
โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีไม้สักแปรรูปของกลางไว้ในครอบครองโดยอ้างเอาพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งรับขนไม้ของกลางโดยรู้อยู่ว่าเป็นไม้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีส่วนครอบครองไม้ของกลางด้วย แต่ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยที่ 1ร่วมครอบครองไม้ของกลาง ดังนี้การนำข้อสันนิษฐานมาลงโทษจำเลยย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะความจริงอาจเป็นดังข้อสันนิษฐานหรือเป็นอย่างอื่นก็ได้ทั้งสองกรณี ฟังไม่ได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิด ถือได้ว่ามีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานร่วมครอบครองไม้ของกลางหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกระทำผิดฐานครอบครองไม้ของกลาง แต่การที่จำเลยที่ 1 รับขนไม้ของกลางให้ผู้กระทำผิดโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2620/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับสภาพหนี้จากการให้การของจำเลย แม้ไม่มีต้นฉบับสัญญา ศาลรับฟังได้หากจำเลยยอมรับการเป็นผู้ค้ำประกัน
จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันตามสำเนาท้ายฟ้องโจทก์ และยังให้การรับเข้ามาอีกว่า จำเลยที่ 2 ไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในฐานะผู้ค้ำประกันได้เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมคบกันเพื่อฉ้อโกงหรือหลอกลวง จำเลยที่ 2โดยโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเช่าซื้อกัน ดังนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 รับว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงไม่จำต้องส่งต้นฉบับหนังสือสัญญาเช่าซื้อและหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานต่อศาล.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2551/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เหตุสุดวิสัยในการยื่นอุทธรณ์ล่าช้า: ความบกพร่องในการขนส่งทั่วไปไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย
ทนายจำเลยห่อคำฟ้องอุทธรณ์แล้วส่งให้จำเลยทางรถยนต์โดยสารประจำทาง ไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติวิสัยเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่ง ที่จำเลยไม่ได้รับห่อคำฟ้องอุทธรณ์ภายในกำหนดโดยอ้างว่าเป็นความผิดของพนักงานบริษัทรถยนต์โดยสารที่ค้นหาหรือส่งห่อคำฟ้องอุทธรณ์ให้จำเลยล่าช้าพฤติการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้เสมอในการขนส่งทั่วไป ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดแล้ว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2320/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อตกลงหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลเป็นสัญญา โจทก์ฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามได้
ข้อตกลงที่ศาลจดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาภายหลังโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลพิพากษาคดีไปตามยอมแล้วนั้น เป็นข้อตกลงที่โจทก์จำเลยตกลงกันว่าจะปฏิบัติต่อกันย่อมเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง ภายหลังจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นได้ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าโจทก์จำเลยตกลงกันเวลาใดและที่ใด.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2296/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโต้แย้งดุลพินิจศาลในการรับฟังพยานหลักฐานคดีทำร้ายร่างกาย ทำให้ฎีกาต้องห้ามตามกฎหมาย
คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีและศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษไม่เกินกำหนดดังกล่าว ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำคำเบิกความของแพทย์ที่ว่าหลังเกิดเหตุ 15 วัน ได้ตรวจบาดแผลอีกครั้ง แผลเป็นปกติดีมาวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8) เป็นการไม่ชอบ เพราะตามรายงานการตรวจบาดแผลของแพทย์ ท้ายฟ้องระบุว่าบาดแผลดังกล่าวต้องใช้เวลารักษานาน 6สัปดาห์นั้นเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ฟังว่าพยานบุคคลในกรณีนี้มีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานเอกสารจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2280/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การดำเนินการตามฎีกา: ศาลต้องสั่งคำแถลงจำเลยเมื่อส่งสำเนาฎีกาไม่ได้ ไม่ใช่รอจำเลยแถลงเอง
เมื่อส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ไม่ได้ จำเลยผู้ฎีกาได้ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า ส่งสำเนาฎีกาให้ทนายโจทก์ไม่ได้ เพราะทนายโจทก์ออกไปธุระ และขอให้ส่งใหม่อีกครั้งโดยวิธีปิดหมาย ศาลชั้นต้นสั่งว่าให้รอผลการส่งหมายก่อน ต่อมาอีก 4 เดือนเศษ พนักงานเดินหมายเพิ่งรายงานผลการส่งหมายให้ศาลชั้นต้นทราบดังที่จำเลยแถลง ดังนี้ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งคำแถลงของจำเลยว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่ศาลชั้นต้นกลับสั่งให้รอจำเลยแถลง โดยมิได้แจ้งคำสั่งให้ทราบด้วย จำเลยย่อมไม่ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว และไม่อาจดำเนินการอะไรได้ การที่ระยะเวลาล่วงเลยไปเช่นนี้เป็นเพราะความบกพร่องของพนักงานเดินหมายที่รายงานผลการส่งหมายล่าช้าเกินสมควรจะถือว่าจำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลกำหนดและถือว่าจำเลยทิ้งฎีกาไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2154/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดทางอาญาจากความประมาทเลินเล่อที่ไม่ช่วยเหลือบุตรที่คลอดก่อนกำหนดและถูกโยนลงจากที่สูง
จำเลยที่ 2 สำคัญผิดว่าบุตรแรกเกิดของตนถึงแก่ความตายแล้วจึงโยนลงมาจากหน้าต่างโรงแรม แม้โจทก์จะไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ร่วมลงมือกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 แต่การที่ จำเลยที่ 1 อยู่ร่วมห้องเดียวกับจำเลยที่ 2 ตามลำพัง ในขณะที่จำเลยที่ 2 คลอดบุตร จำเลยที่ 2 ย่อมต้องมีความเจ็บปวด ซึ่งจะต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือตน ตามพฤติการณ์จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นในการคลอดบุตรของจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการคลอดก่อนกำหนดประมาณ 2 เดือนเศษก็หาใช่ว่าเด็กทารกจะไม่มีชีวิต รอดอยู่เสมอไปไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะบิดาย่อมมีหน้าที่ต้องเอาใจใส่ดูแล บุตรด้วยการใช้ความระมัดระวังตรวจดู ให้ถ้วนถี่เสียก่อนว่าบุตรที่เกิดมายังมีชีวิต รอดอยู่หรือไม่ มิใช่ปล่อยให้จำเลยที่ 2 โยนบุตรทิ้งไปโดยมิได้ห้ามปรามทั้ง ๆ ที่ จำเลยที่ 1สามารถใช้ความระมัดระวังในกรณีเช่นนี้ได้ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1727/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นฉ้อฉลได้ แม้ไม่ได้ยกขึ้นในคำฟ้องอุทธรณ์ หากเป็นประเด็นที่เคยว่ากันในศาลชั้นต้นและถูกยกขึ้นในคำแก้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฉ้อฉลหลอกลวงขายสินค้าให้แก่จำเลย แต่จำเลยต้องรับผิดชำระค่าสินค้า และพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยอุทธรณ์โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีย่อมคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นที่วินิจฉัยให้โจทก์แพ้ โดยตั้งประเด็นเรื่องโจทก์ฉ้อฉลหลอกลวงขายสินค้าให้แก่จำเลยหรือไม่นั้นมาในคำแก้ อุทธรณ์ ขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 237 และมาตรา 240.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1650/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาต้องห้าม: โต้แย้งดุลพินิจศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เรื่องการรอการลงโทษในคดีอาญา
โจทก์ยื่นฎีกาขอไม่ให้รอการลงโทษ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษปรับ 1,400 บาทอีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีจึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษ จำคุกจำเลยไม่เกินสองปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมาก ก็ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219