คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 456 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 28 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6395/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินมือเปล่า สิทธิครอบครอง และผลของการส่งมอบการครอบครอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ ประเด็นดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาได้ เพราะมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ก็ไม่มีผลที่จะเป็นข้อยกเว้นหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่จำเลยทั้งสองมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้
ในประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์นอกจากจะยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่งแล้ว ยังเป็นข้อเท็จจริงที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้มีผลเกี่ยวข้องไปถึงจำเลยที่ 2 อีกด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิที่จะฎีกาในประเด็นข้อนี้
การซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ย่อมสมบูรณ์ด้วยการส่งมอบการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 แม้ขณะซื้อที่ดินพิพาทจะมีข้อตกลงกันไว้ว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมโอนให้แก่โจทก์เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไปได้ทุกเมื่อก็ตาม ก็คงมีความหมายเพียงว่าหากโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินที่พิพาทให้แล้ว จำเลยที่ 1 ก็จะไปดำเนินการให้เท่านั้น หาใช่ว่าเป็นการบังคับจำเลยที่ 1 ที่จะต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์จะมีความประสงค์เช่นนั้นหรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมิใช่เงื่อนไขในสัญญาซื้อขายอันจะมีผลทำให้สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดกลายเป็นสัญญาจะซื้อจะขายไปไม่ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5962/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกบ้านให้เป็นการบริจาค (สังหาริมทรัพย์) ไม่ต้องทำเป็นหนังสือ และความรับผิดจากอุบัติเหตุทางละเมิด
น. ยกให้เฉพาะที่ดินที่ปลูกบ้านเกิดเหตุให้แก่ บ. โดยไม่รวมบ้าน และยกบ้านเกิดเหตุให้แก่โจทก์เพื่อให้รื้อถอนไปสร้างใหม่ บ้านเกิดเหตุจึงไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินและเป็นการยกให้ในลักษณะสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ การยกให้บ้านเกิดเหตุจึงสมบูรณ์โดยหาจำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6436/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินโดยไม่มีสัญญาเป็นหนังสือและส่งมอบการครอบครอง ทำให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน
จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์และส่งมอบการครอบครองให้แล้ว โดยไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาเป็นหนังสือจึงตกเป็นโมฆะ แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบการครอบครองเป็นการโอนการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 2 เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แม้สัญญาซื้อขายไม่สมบูรณ์ สิทธิเกิดจากการครอบครองตามกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนชื่อ
แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ ม. จะไม่ชอบเพราะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่ขณะที่ซื้อขายกันที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมือเปล่า ม. จึงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น เมื่อ ม.ส่งมอบที่ดินพิพาทและโจทก์เข้าครอบครองแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1378 อันเป็นการได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาด้วยการครอบครองตามกฎหมาย มิใช่เป็นการได้มาตามสัญญาซื้อขาย ม. ย่อมไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ม. ให้ดำเนินการเพิกถอนชื่อ ม. ออกจากโฉนดที่ดินพิพาทปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3970/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายขายฝากโมฆะ-สิทธิครอบครอง-อำนาจฟ้อง: จำเลยครอบครองก่อนโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า หนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับ ฮ. เป็นสัญญาขายฝากที่มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การทำสัญญาซื้อขายกันเองเป็นโมฆะ โจทก์ไม่อาจกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ซื้อขายกันตามสัญญาขายฝากดังกล่าวได้ ส่วนหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่กรมประชาสงเคราะห์ตกลงยอมให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ มีลักษณะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นบุคคลสิทธิ โจทก์ไม่อาจบังคับผู้อื่นนอกจากคู่สัญญาได้ จำเลยครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทอยู่ก่อนโดยโจทก์ยังมิได้เข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท ถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่าของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า อ. ผู้ให้จำเลยเช่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาท มิได้รับโอนสิทธิและได้รับอนุญาตจากกรมประชาสงเคราะห์การครอบครองของ อ. จึงเป็นการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น การเข้าอยู่อาศัยในที่ดินและบ้านพิพาทของจำเลยจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์นั้น มิได้เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่วินิจฉัยมาแต่อย่างใด เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับ ฮ. เป็นสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดอย่างหนึ่ง จึงต้องทำตามแบบตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะ
ขณะที่ ฮ. โอนสิทธิในบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และกรมประชาสงเคราะห์ทำหนังสืออนุญาตให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านดังกล่าว โจทก์ไม่อาจเข้าครอบครองทำประโยชน์ได้เนื่องจากจำเลยครอบครองอยู่ แสดงว่าโจทก์ไม่เคยเข้าไปยึดถือครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทเลย โจทก์ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 การที่จำเลยยังคงครอบครองและทำประโยชน์อยู่ในบ้านและที่ดินอยู่นั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9085/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดิน: การยึดถือแทนเจ้าของเดิมไม่ถือเป็นการแย่งการครอบครอง และสิทธิในการเรียกร้องราคาที่ดิน
การตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินระหว่างโจทก์กับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซึ่งคู่สัญญาต่างโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้กันและกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 518 อันมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งมาตรา 519 ระบุให้นำบทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายมาใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย เมื่อฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้เจรจาต่อรองกันมาตลอด แม้ที่ดินที่จำเลยที่ 1 นำมาแลกเปลี่ยนจะเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่จำเลยที่ 1 ก็ตกลงที่จะดำเนินการให้สามารถโอนที่ดินสาธารณประโยชน์นั้นแลกเปลี่ยนกับที่ดิน ส.ค. 1 ของ ก. ปู่โจทก์ซึ่งต่อมาเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินของโจทก์ได้ และจำเลยที่ 1 ก็ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นให้แก่โจทก์จนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดให้ความเห็นชอบในการออกพระราชบัญญัติโอนที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิมให้แก่โจทก์ แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้ถอนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจดำเนินการโอนที่ดินนั้นให้โจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของโจทก์ได้ แสดงว่าการตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิใช่การแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการแลกเปลี่ยนที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้แก่โจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของโจทก์ จึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดิน เมื่อปรากฏว่า ก. ได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินของตนกับจำเลยที่ 1 และได้ยอมให้จำเลยที่ 1 เข้าทำถนนในที่ดินดังกล่าวจึงเท่ากับมีการชำระหนี้บางส่วน ย่อมฟ้องร้องบังคับคดีกัน ตามสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินนั้นได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่ดิน ส.ค. 1 ของ ก. และทำเป็นถนนสาธารณะจึงเป็นการยึดถือแทน ก. จ. บิดาโจทก์ และโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครอง มิใช่ยึดถือในฐานะเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินนั้น ไปยัง ก. หรือ จ. หรือโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินนั้นแทน ก. หรือ จ. หรือโจทก์ต่อไป อันจะถือเป็นการแย่งการครอบครองที่ดินดังกล่าว เมื่อถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้แย่งการครอบครองที่ดินดังกล่าว กรณีจึงยังไม่อาจเริ่มนับระยะเวลาที่ฝ่ายโจทก์ถูกแย่งการครอบครองที่ดินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสองได้
เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจโอนที่ดินสาธารณประโยชน์สระสิมโดยออกพระราชบัญญัติโอนที่ดินนั้นแก่โจทก์ตามสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินอันเป็นสัญญาต่างตอบแทนได้ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิได้รับโอนที่ดินของโจทก์จากโจทก์ และจำเลยที่ 1 ต้องคืนที่ดินนั้นแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจคืนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคาที่ดินนั้นแก่โจทก์ได้
เมื่อการแลกเปลี่ยนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินกับที่ดิน ส.ค. 1 ระหว่างฝ่ายจำเลยที่ 1 กับฝ่ายโจทก์เป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการเกี่ยวกับการออกพระราชบัญญัติเพื่อโอนที่ดิน สาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของฝ่ายโจทก์ มิใช่สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาด สัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวจึงบังคับกันได้ และหากมีพระราชบัญญัติให้โอนที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้โจทก์ ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นก็สามารถโอนให้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1305 ดังนี้ การกระทำของนายกเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้แทนจำเลยที่ 1 ในขณะทำสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่จำกัดเฉพาะผู้มีสิทธิครอบครองจริง สัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์ต้องจดทะเบียน
โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากวัด พ. แต่โจทก์ยังไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตามสัญญาเช่า ส่วนจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าของ ส. มารดาจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าเดิมมาก่อน แม้สัญญาเช่าระหว่าง ส. กับวัด พ. ระงับไปแล้วถือว่าจำเลยอยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นการละเมิดต่อเจ้าของที่ดิน มิใช่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าใหม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินพิพาทโดยลำพัง
ส่วนที่ ส. ทำสัญญาขายฝากบ้านพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทแก่ ล. ภริยาโจทก์ แม้ระบุชื่อสัญญาว่าสัญญาขายฝากเฉพาะสังหาริมทรัพย์ แต่เนื้อหาสัญญาระบุขายฝากบ้านพร้อมที่ดินพิพาท ทั้งเมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน ล. อาศัยสัญญาขายฝากไปทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากวัด พ. ทันที และคำฟ้องโจทก์ที่ว่าโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพราะประสงค์เข้าอยู่อาศัยในบ้านพิพาทเอง พฤติการณ์มีเหตุผลน่าเชื่อว่า ล. รับซื้อฝากบ้านพิพาทเพื่ออยู่อาศัย มิใช่รื้อถอนไปอย่างสังหาริมทรัพย์จึงเป็นการขายฝากบ้านในลักษณะอสังหาริมทรัพย์ เมื่อคู่สัญญาทำสัญญากันเองโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 491โจทก์ไม่ใช่เจ้าของบ้านพิพาทจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6503/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด vs. สัญญาจะซื้อจะขาย: การพิจารณาจากเจตนาและข้อความในสัญญา
การวินิจฉัยว่าสัญญาที่โจทก์และจำเลยกระทำต่อกันเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดหรือเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ต้องพิจารณาถึงข้อความในสัญญาประกอบกับเจตนาของโจทก์และจำเลยในขณะทำสัญญายิ่งกว่าชื่อของสัญญาที่ทำต่อกัน แต่สัญญาจะซื้อจะขายในคดีนี้เป็นแบบพิมพ์ที่ให้คู่ความกรอกข้อความตามที่ต้องการเอาเองซึ่งไม่ปรากฏข้อความไว้ว่าทั้งสองฝ่ายตกลงจะไปจดทะเบียนโอนกันเมื่อใด แม้จะมีการกำหนดราคาที่ดินว่าไร่ละ 19,687.50 บาท ซึ่งคำนวณตามเนื้อที่ดินแล้วเป็นเงิน68,906.25 บาทเศษ ก็ตาม แต่เมื่อเงินมัดจำที่โจทก์วางแก่จำเลยระบุจำนวน 63,000บาทแล้ว และในช่องจำนวนเงินส่วนที่ต้องชำระอีกกลับมีการขีดไว้ แสดงว่าไม่มีราคาที่ดินที่จะต้องชำระกันอีก ทั้งการที่จำเลยมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญาก็ไม่มีพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินในภายหน้าอีก ส่วนราคาที่ดินที่ค้างชำระอีก 5,906.25 บาท ก็แสดงว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะรับจากโจทก์แล้ว ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ามีการตกลงกันด้วยวาจาว่าจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินในภายหน้านั้น จึงเป็นการสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่อาจรับฟังพยานบุคคลเช่นนี้ได้ หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ยังคงสมบูรณ์ในฐานะที่เป็นสัญญาซื้อขายโดยโอนการครอบครองในที่ดินให้แก่กัน ซึ่งทำให้โจทก์ได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดิน และเมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6619/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิในที่ดินโดยหนังสือแสดงเจตจำนงก่อนเสียชีวิต ไม่ถือเป็นมรดก
แม้ ร. ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ดินพิพาทครบถ้วนแล้วตั้งแต่ปี2510และ ร.มีสิทธิเรียกร้องในที่ดินพิพาทตามสัญญาเช่าซื้ออันถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของ ร.ก็ตามแต่ในระหว่างที่ ร.ยังมีชีวิตอยู่ในปี2513 ร.ได้ทำหนังสือแสดงความจำนงตามข้อบังคับของสหกรณ์ ธ.ว่าหาก ร.ต้องพ้นจากสมาชิกภาพของสหกรณ์ ธ.ขอให้สหกรณ์ ธ.โอนบรรดาสิทธิผลประโยชน์และหนี้สินที่ ร.มีอยู่ในสหกรณ์ ธ.ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทต่อมา ร. ทำกินในที่ดินพิพาทไม่ไหวในปี2518สหกรณ์ ธ.ได้รับจำนองเข้าเป็นสมาชิกแทน ร.สิทธิในที่ดินพิพาทจึงโอนมาเป็นของจำเลยตามข้อบังคับของสหกรณ์ดังกล่าวต่อมาปี2522 ร.ถึงแก่ความตายสิทธิในที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์สินที่ ร.มีอยู่ขณะถึงแก่ความตายจึงไม่เป็นมรดกของ ร.ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1599วรรคหนึ่งการที่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในปี2531จึงไม่ใช่การรับโอนมรดกของ ร.ในฐานะเจ้าของรวมผู้มีสิทธิรับมรดกร่วมกับโจทก์แต่เป็นเพียงทำให้การได้มาบริบูรณ์ตามกฎหมายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6619/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โอนสิทธิในที่ดินหลังทำสัญญาเช่าซื้อครบถ้วน: ไม่ใช่การรับมรดก แต่เป็นการได้มาตามข้อบังคับสหกรณ์
แม้ ร. ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ดินพิพาทครบถ้วนแล้วตั้งแต่ปี 2510และ ร.มีสิทธิเรียกร้องในที่ดินพิพาทตามสัญญาเช่าซื้ออันถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของ ร.ก็ตาม แต่ในระหว่างที่ ร.ยังมีชีวิตอยู่ในปี 2513 ร.ได้ทำหนังสือแสดงความจำนงตามข้อบังคับของสหกรณ์ ธ.ว่า หาก ร.ต้องพ้นจากสมาชิกภาพของสหกรณ์ ธ.ขอให้สหกรณ์ ธ.โอนบรรดาสิทธิผลประโยชน์และหนี้สินที่ ร.มีอยู่ในสหกรณ์ ธ.ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาท ต่อมา ร.ทำกินในที่ดินพิพาทไม่ไหว ในปี 2518 สหกรณ์ ธ.ได้รับจำเลยเข้าเป็นสมาชิกแทน ร. สิทธิในที่ดินพิพาทจึงโอนมาเป็นของจำเลยตามข้อบังคับของสหกรณ์ดังกล่าว ต่อมาปี 2522 ร.ถึงแก่ความตาย สิทธิในที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์สินที่ ร.มีอยู่ขณะถึงแก่ความตาย จึงไม่เป็นมรดกของ ร.ตามประมวล-กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในปี 2531 จึงไม่ใช่การรับโอนมรดกของ ร.ในฐานะเจ้าของรวมผู้มีสิทธิรับมรดกร่วมกับโจทก์ แต่เป็นเพียงทำให้การได้มาบริบูรณ์ตามกฎหมายเท่านั้น
of 3