คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 150 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1105/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากขับรถขณะเมาสุราและการพิจารณาความร้ายแรงของการกระทำผิด
การที่ลูกจ้างเมาสุราขับรถยนต์ของนายจ้างชนรถของผู้อื่นทำให้รถของนายจ้างเสียหายเล็กน้อยนั้น แม้นายจ้างจะมีระเบียบว่าดื่มสุราแล้วเมาอาละวาดอาจมีโทษถึงถูกไล่ออกก็ตาม แต่การเมาสุราแล้วขับรถ มิใช่เมาสุราอาละวาดการกระทำของลูกจ้างจึงเป็นเพียงฝ่าฝืนระเบียบที่ห้ามลูกจ้างขับรถโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้นซึ่งมิได้กำหนดไว้ว่ามีโทษสถานใดแสดงว่ามิได้ประสงค์ให้เป็นกรณีที่ร้ายแรงเสมอไป จึงต้องย่อมแล้วแต่พฤติการณ์เป็นเรื่องๆ ไป และเมื่อไม่ได้ความว่าลูกจ้างเมามากจนไม่สามารถขับรถได้ทั้งยังได้ขับอยู่ภายในบริเวณโรงงานในตอนดึก โอกาสที่จะเกิดความเสียหายมีน้อย ประกอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไม่มากจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้างในกรณีร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 899-910/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเพราะเกษียณอายุ: ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ยังมีผลผูกพัน แม้มีระเบียบภายใน
พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ใช้สำหรับพิจารณาว่า คุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจมีอย่างไรบ้าง การที่รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติในเรื่องอายุนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ มิได้ยกเว้นไว้ว่าไม่ให้ถือเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศดังกล่าว
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46กำหนดบทนิยามคำว่า 'การเลิกจ้าง' ไว้ และได้ระบุเจาะจงลงไปด้วยว่า 'การเลิกจ้างตามข้อนี้' แสดงว่าให้ใช้แก่เรื่องค่าชดเชยตามประกาศนี้เท่านั้น มิได้มุ่งหมายให้นำไปใช้แก่เรื่องอื่นหรือกฎหมายอื่นด้วย การแปลคำว่า 'เลิกจ้าง' ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา31 จึงไม่จำต้องพลอยแปลตามข้อ 46 ด้วย (การที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ(ฉบับที่6) กลับไปใช้ข้อความตาม (ฉบับที่ 2) โดยไม่มีข้อความให้รวมเอากรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างด้วยดังเช่น (ฉบับที่ 5) นั้นอาจเป็นเพราะเห็นบทนิยามคำว่า 'การเลิกจ้าง' ตามที่เคยใช้อยู่นั้น ครอบคลุมถึงกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุอยู่แล้วก็ได้ เพราะมิได้ระบุยกเว้นไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด จะถือว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนหลักการยังไม่ได้
นายจ้างหามีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยขึ้นเองให้ขัดแย้งกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน อันมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายไม่
แม้นายจ้างจะได้กำหนดเป็นข้อตกลงซึ่งลูกจ้างทราบดีแล้วตั้งแต่สมัครเข้าทำงานว่า เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ก็จะให้พ้นจากตำแหน่งไป ก็ถือไม่ได้ว่ามีการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว เพราะเป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติลูกจ้างเป็นการทั่วไป
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46และข้อ 47 ไม่ปรากฏชัดว่ามีเจตนารมณ์ในการกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ลูกจ้างมีเงินยังชีพในระหว่างหางานใหม่เนื่องจากต้องออกจากงานโดยไม่รู้ตัว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 ไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และยังไม่มีกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้เป็นพิเศษเกี่ยวกับอายุความในเรื่องนี้ จึงต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164
ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างจึงเป็นหนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดเวลาชำระไว้แน่นอนแล้วโดยลูกจ้างมิพักต้องทวงถามอีกเมื่อจำเลยมิได้จ่ายให้ตามกำหนดเวลาที่กฎหมายบังคับไว้ จึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875-878/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน แม้หลักเกณฑ์ราชการจะแตกต่าง
การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 หมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใด โดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ ทั้งไม่มีข้อความยกเว้นไว้มิให้ถือว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุอันถือว่าเป็นการขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นการเลิกจ้าง การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุจึงเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน
เดิม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานมิได้มีความระบุไว้ถึงเรื่องการเกษียณอายุ ต่อมามีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5) มีข้อความเพิ่มเติมว่า การเลิกจ้างรวมทั้งกรณีลูกจ้างต้องพ้นตำแหน่งเพราะเกษียณอายุนั้น เป็นการเน้นความหมายของคำว่าเลิกจ้างให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น และต่อมามีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6)ไม่มีข้อความว่า การเลิกจ้างให้รวมทั้งกรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุ เช่น ประกาศกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 5) ก็ไม่ทำให้ความหมายของการพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเปลี่ยนแปลงไป
การที่กระทรวงการคลังวางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าชดเชยไว้ว่า การที่พนักงานรัฐวิสาหกิจพ้นจากตำแหน่ง เพราะเกษียณอายุตามกฎหมายมิใช่เป็นกรณีเลิกจ้างนั้น เป็นเพียงหลักเกณฑ์ตามแนวความเห็นของทางราชการ ไม่มีผลบังคับอย่างกฎหมาย จึงไม่มีผลลบล้างความหมายของคำว่าเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
เงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย มีหลักเกณฑ์การจ่ายแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จึงถือไม่ได้ว่าเงินบำเหน็จเป็นค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินบำเหน็จกับการจ่ายค่าชดเชย: ข้อบังคับนายจ้างไม่อาจเปลี่ยนแปลงสิทธิค่าชดเชยตามกฎหมาย
เงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 29 ผู้ปฏิบัติงานจะมีสิทธิได้รับต่อเมื่อมีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เว้นแต่การออกจากงานเพราะเหตุที่ระบุไว้ เช่นเจ็บป่วยไม่สามารถทำงานต่อไปได้ มีระยะเวลาทำงานถึงกำหนดที่กล่าวแล้ว และกรณีผู้ปฏิบัติงานตาย จำเลยก็ยังต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ทายาทของผู้ปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานจะไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จเมื่อถูกลงโทษไล่ออกหรือให้ออกตามข้อบังคับของจำเลย และทายาทไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จถ้าผู้ปฏิบัติงานถึงแก่ความตายเพราะกระทำผิดอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยซึ่งถ้าไม่ตายเสียก่อนจะถูกลงโทษไล่ออกหรือให้ออก ดังนี้ เงินบำเหน็จเป็นเงินที่มีลักษณะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างกับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงาน ข้อ 46,47 และเป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ยิ่งกว่าให้เป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยจึงเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างมิใช่ค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้ในข้อ 11 วรรคแรกว่า 'การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ ให้ถือเป็นการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน' เมื่อข้อบังคับดังกล่าวออกโดยอาศัยความในมาตรา 18(8) แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเพียงให้คณะกรรมการมีอำนาจออกข้อบังคับว่าด้วยการสงเคราะห์ ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นการเป็นผู้จัดการพนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารและครอบครัวของบุคคลดังกล่าวหาได้ให้อำนาจกำหนดให้เงินตามข้อบังคับที่ออกเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานด้วยไม่ ข้อบังคับของจำเลย ข้อ 11 วรรคแรก จึงไม่มีผลให้เงินบำเหน็จ ซึ่งเป็นเงินประเภทอื่นกลายเป็นค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774-780/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชย: การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและกฎหมายแรงงาน
พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ.2518 ใช้สำหรับพิจารณาว่าคุณสมบัติขั้นมาตรฐานของพนักงานรัฐวิสาหกิจมีอย่างไรบ้าง การที่รัฐวิสาหกิจให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติในเรื่องอายุจะเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้หรือไม่นั้นต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 เมื่อประกาศดังกล่าวมิได้ยกเว้นไว้เป็นพิเศษว่า การให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุไม่ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยแล้วเพียงแต่การที่รัฐซึ่งเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจทั้งหลายกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งปวงให้เป็นระเบียบเดียวกันในรูปของกฎหมายนั้น หามีผลเป็นข้อยกเว้นไปในตัวสำหรับบทนิยามของคำว่า 'การเลิกจ้าง' ตามกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยไม่
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยได้กำหนดบทนิยามไว้ในข้อนี้เองว่า 'การเลิกจ้าง' หมายความว่าอย่างไร ทั้งยังจำกัดลงไปด้วยว่า 'การเลิกจ้างตามข้อนี้' แสดงว่า'การเลิกจ้าง' ในข้อ 46 นี้ใช้แก่ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเท่านั้น มิได้มุ่งหมายให้นำไปใช้แก่เรื่องอื่นหรือกฎหมายอื่นดังนั้น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 31จึงไม่ต้องพลอยแปลคำว่า 'การเลิกจ้าง' ตามคำแปลในเรื่องค่าชดเชยด้วย
การที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ (ฉบับที่ 6) แก้ไขข้อ 46ของประกาศฯ (ฉบับที่ 5) ตัดข้อความที่ให้รวมเอากรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างด้วยออกไปนั้น อาจจะเป็นเพราะเห็นว่าบทนิยามคำว่า'การเลิกจ้าง' ตามที่เคยใช้อยู่ครอบคลุมถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุอยู่แล้วก็ได้เพราะมิได้ระบุยกเว้นเป็นพิเศษแต่อย่างใด จะถือว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนหลักการยังไม่ได้
แม้ระเบียบของนายจ้างได้กำหนดเป็นข้อตกลงซึ่งเมื่อลูกจ้างสมัครเข้าทำงานก็ทราบอยู่แล้วว่า เมื่อมีอายุครบ 60ปีบริบูรณ์ก็จะพ้นจากตำแหน่งไป ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้มีการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว เพราะมิใช่เป็นการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นรายๆ ไปว่าจะจ้างกันเป็นระยะเวลานานเท่าใด และการจ่ายค่าชดเชยนี้ เป็นหน้าที่ซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ในการจ่ายก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้นั้นนายจ้างหามีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยนั้นเองให้ขัดแย้งกับประกาศฯ. อันมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายไม่
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2นิยามคำว่า 'ค่าชดเชย' แต่เพียงว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แม้จะดูข้อ 46 และ47 ด้วยก็ไม่ปรากฏชัดว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้เป็นเพื่อการช่วยเหลือให้ลูกจ้างมีเงินยังชีพในระหว่างหางานใหม่เนื่องจากต้องออกจากงานโดยไม่รู้ตัว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 ไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและยังไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้เป็นพิเศษเกี่ยวกับอายุความในเรื่องนี้ จึงต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปีตามมาตรา 164
ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง จึงเป็นหนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดเวลาชำระไว้แน่นอนแล้วโดยลูกจ้างมิพักต้องทวงถามอีก. เมื่อนายจ้างมิได้จ่ายให้ก็ต้องเสียดอกเบี้ยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานหย่อนความสามารถ ต้องพิจารณาเหตุผลที่แท้จริง หากเป็นการลงโทษทางวินัย จะไม่เข้าข่ายต้องจ่ายค่าชดเชย
การที่ ท.เป็นลูกจ้างจำเลย.จำเลยให้ท. ออกจากงาน ท.ตาย.โจทก์ซึ่งเป็นภรรยาและบุตรของท. ฟ้อง เรียกค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างจากจำเลยตามกฎหมายแรงงานนั้นจะต้องนำกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับ
การที่จำเลยมีคำสั่งให้ ท. ออกจากงานโดยในข้อความตอนต้นของคำสั่งกล่าวถึงกรณีที่ ท. กระทำผิดวินัยขาดงาน และแจ้งลาป่วยผิดระเบียบ หากอยู่ต่อไปก็จะเกิดการเสียหายแก่งาน จึงให้ออกจากงานฐานหย่อนความสามารถในอันจะปฏิบัติหน้าที่ของตน ดังนี้คำสั่งในตอนต้นเป็นเพียงพฤติการณ์แสดงให้เห็นถึงความประพฤติของ ท. ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้หย่อนความสามารถ คำสั่งให้ออกจากงานของจำเลยดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ออกเพราะกระทำผิดระเบียบและวินัยโดยฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตวินัยลูกจ้าง: การประพฤติชั่วร้ายแรงนอกเวลางานและผลกระทบต่อการเลิกจ้าง
ลูกจ้างอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาเป็นใจความว่า นายจ้างน่าจะกำหนดวินัยและโทษทางวินัยได้เฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงาน ส่วนนอกเวลาทำงานเป็นเรื่องส่วนตัวของลูกจ้างเมื่อลูกจ้างไม่ได้ทำให้นายจ้างเสียหาย นายจ้างจะเอาเรื่องส่วนตัวของลูกจ้างซึ่งไม่เกี่ยวกับการทำงานและไม่เกี่ยวกับความประพฤติในเวลาทำงานมาเป็นเหตุไล่ลูกจ้างออกฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงย่อมไม่เป็นการถูกต้องนั้นแม้ปัญหาข้อนี้จะมิได้ยกขึ้นอ้างอิงมาแต่ต้นแต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงมีสิทธิอ้างอิงได้
นายจ้างผู้ประกอบกิจการทั้งหลายนอกจากต้องการให้ลูกจ้างร่วมกันทำงานด้วยความเรียบร้อยราบรื่นและมีประสิทธิภาพแล้ว ย่อมต้องการรักษาชื่อเสียงของกิจการของตนไม่ให้เสื่อมเสียด้วย และการที่ลูกจ้างจะสามารถร่วมกันทำงานดังกล่าวย่อมต้องอาศัยความสามัคคีไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์กันในหมู่คณะของลูกจ้างนั้น ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในข้อที่ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยจึงอาจครอบคลุมถึงความประพฤติส่วนตัวบางประการของลูกจ้างนอกเวลาทำงานได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 351/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากลูกจ้างไม่ลงชื่อรับทราบคำเตือน การกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบอย่างร้ายแรง
โจทก์กระทำผิดระเบียบโดยมาทำงานสาย จำเลยได้ออกคำเตือนเป็นหนังสือให้โจทก์ลงชื่อรับทราบ แต่โจทก์ขัดขืนและโต้เถียงกับผู้จัดการของจำเลย ดังนี้จำเลยมีวิธีการแจ้งให้โจทก์ทราบคำเตือนโดยวิธีอื่นได้ เช่น แจ้งด้วยวาจาหรือปิดประกาศคำเตือนให้ทราบการขัดขืนไม่ยอมลงชื่อรับทราบคำเตือนจึงมิใช่การฝ่าฝืนคำสั่งระเบียบข้อบังคับเป็นการร้ายแรง แม้โจทก์ได้โต้เถียงกับผู้จัดการด้วยก็ไม่ได้ความว่าเป็นเรื่องอื่นนอกเหนือจากผู้จัดการจะให้โจทก์ลงชื่อรับทราบคำเตือนจึงจะปรับการกระทำของโจทก์ขึ้นเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งระเบียบข้อบังคับเป็นการร้ายแรงหาได้ไม่ จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2967-2971/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนัดหยุดงานที่ผิดกฎหมายและการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
การนัดหยุดงานนั้น เมื่อพิจารณาในแง่ของการกระทำแล้วก็ย่อมเรียกได้ว่าลูกจ้างแต่ละคนซึ่งร่วมในการนัดหยุดงานนั้นต่างได้ละทิ้งการงานซึ่งตามปกติตนมีหน้าที่ปฏิบัติให้แก่นายจ้างด้วยโจทก์นัดหยุดงานในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 34(6) และกระทำไปในระหว่างที่มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ข้อพิพาทแรงงานเข้าสู่การชี้ขาดและห้ามนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2519 ที่ห้ามลูกจ้างนัดหยุดงานโดยเด็ดขาด การนัดหยุดงานของโจทก์จึงเป็นความผิดอันมีโทษทางอาญาตามมาตรา 139 และ 141 ได้ และเมื่อการหยุดงานนั้นเป็นการละทิ้งหน้าที่อยู่ในตัวและนัดหยุดงานกันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน จึงต้องถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควรด้วย กรณีต้องด้วยมาตรา 31(4)ของพระราชบัญญัติดังกล่าว และข้อ 47(4) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2453/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม, ค่าจ้างค้างจ่าย, ดอกเบี้ยผิดนัด, หลักฐานสำเนา, การคิดดอกเบี้ย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างที่ค้างค่าจ้างในการที่ไม่บอกเลิกจ้างล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อน ค่าชดเชยค่าเสียหายและเงินที่โจทก์ออกทดรองไปก่อน จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้ไล่โจทก์ออกจากงานแต่โจทก์ลาออกเองเนื่องจากทราบว่าจำเลยกำลังจะดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ในข้อหายักยอก โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชย ค่าเสียหายและค่าจ้างที่ไม่บอกเลิกจ้างล่วงหน้า ศาลแรงงานกลางจึงตั้งประเด็นวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ออกจากบริษัทจำเลยนั้นเป็นเพราะจำเลยเลิกจ้างโจทก์หรือว่าเพราะโจทก์ลาออกเอง แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยไล่โจทก์ออกมิใช่โจทก์ลาออกเอง ดังนี้ จะถือว่าศาลมิได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้เลยหาได้ไม่
เอกสารเรื่องเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายเป็นเพียงภาพถ่ายอันเป็นสำเนาเอกสาร จำเลยแถลงไม่รับรองความถูกต้อง โจทก์มิได้แถลงว่าต้นฉบับมีอยู่หรือไม่ อยู่ที่ใด เหตุใดโจทก์จึงไม่อ้างมาแสดงต่อศาล ดังนี้ ไม่อาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา93
ค่าจ้างที่จำเลยต้องจ่ายให้โจทก์เนื่องจากเลิกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา582 มิใช่ค่าจ้างตามบทนิยามในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ จำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตามข้อ31 แต่ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 และค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 49 เกิดขึ้นในทันทีที่นายจ้างเลิกจ้างเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้จ่ายเงิน 2 จำนวนนี้แก่โจทก์ ก็ย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดแต่นั้นจึงต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี
of 15