พบผลลัพธ์ทั้งหมด 212 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อตกลงฝากเงินเพื่อประกันหนี้ ไม่ใช่การจำนำ แม้มีการสลักหลังจำนำสมุดคู่ฝาก
ธนาคารผู้ร้องค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งซื้อเชื่อสินค้าจากโจทก์ในวงเงิน 50,000 บาท โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบสมุดคู่ฝากประจำจำนวนเงิน 50,000 บาท ที่ฝากไว้กับธนาคารผู้ร้องและสลักหลังจำนำเงินฝากตามสมุดคู่ฝากดังกล่าวต่อผู้ร้องด้วย แม้ผู้ร้องได้ยินยอมให้นำเงินฝากดังกล่าวเป็นประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ร้องค้ำประกันจำเลยที่ 1 แต่เงินฝากดังกล่าวย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องมาตั้งแต่มีการฝากเงิน จำเลยที่ 1 ผู้ฝากคงมีสิทธิที่จะถอนเงินที่ฝากไปได้ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนที่ขอถอนเท่านั้น จึงไม่ใช่การส่งมอบสังหาริมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่ผู้ร้องตามลักษณะจำนำแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 ตกลงนำเงินฝากในสมุดคู่ฝากประจำมาค้ำประกันต่อผู้ร้องเป็นเพียงแต่ตกลงว่าจะไม่ถอนเงินไปจากบัญชี และหากจำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระอยู่เท่าไร จำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารผู้ร้องหักเงินฝากมาชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นไปทันที ข้อตกลงระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 คงเป็นการฝากเงินเพื่อประกันหนี้เท่านั้น ไม่ใช่การจำนำ ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากเงินฝากที่ผู้ร้องได้นำส่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์ได้ขออายัดไว้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5472/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การถอนผู้จัดการมรดก เหตุผู้ร้องไม่มีสิทธิ/ส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก
มาตรา 1727 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกได้โดยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 กรณีคือ กรณีแรกเพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่กรณีที่สองเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควร กรณีที่สองนี้มิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นการกระทำโดยมิชอบอย่างใดอย่างหนึ่งในการทำหน้าที่ผู้จัดการมรดก แต่หมายความรวมถึงเหตุอื่นใดก็ได้ที่ทำให้ผู้จัดการมรดกไม่ควรเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป เช่น การเป็นผู้ไม่มีสิทธิขอเป็นผู้จัดการมรดก หรือการขาดคุณสมบัติของผู้ขอเป็นผู้จัดการมรดกเป็นต้น ซึ่งเหตุเช่นว่านี้อาจมีอยู่แล้วในขณะที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกหากแต่ในขณะนั้นยังไม่ปรากฏต่อศาลก็ได้ แม้ผู้คัดค้านจะมิได้อ้างในคำร้องคัดค้านว่าผู้ร้องละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่ก็อ้างเป็นใจความว่าผู้ร้องมิได้เป็นผู้มีสิทธิหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเพราะไม่มีทรัพย์มรดกที่จะต้องจัดการเนื่องจากทรัพย์มรดกคือที่ดิน 1 แปลงตามที่ระบุในคำร้องของผู้ร้องนั้นเป็นของผู้คัดค้านทั้งสอง อันเป็นเหตุอย่างอื่นที่ทำให้ผู้ร้องไม่ควรเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านว่าไม่ใช่เรื่องขอให้เพิกถอนเพราะผู้จัดการมรดกทำผิดหน้าที่จึงไม่ชอบ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับ คำร้อง ของ ผู้คัดค้านทั้งสองไว้พิจารณาต่อไป.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขยายเวลาชำระหนี้จากการประมูลซื้อทอดตลาด ศาลมีอำนาจขยายเวลาได้ แต่ต้องปฏิบัติตามสัญญาหากไม่ชำระตามกำหนด
ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลสู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาด และทำสัญญาซื้อขายไว้ จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาคือชำระเงินส่วนที่เหลือใน15 วัน นับแต่วันทำสัญญาต่อมาผู้ร้องได้ยื่นคำแถลงขอเลื่อนการวางเงินที่เหลือออกไปอีก การที่ศาลอนุญาตให้เลื่อนการวางเงินไปได้เพียง 7 วัน เป็นการขยายเวลาชำระหนี้ตามสัญญาให้แก่ผู้ร้องซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะกระทำได้ เพราะการขายทอดตลาดกระทำไปโดยคำสั่งของศาล จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ไม่ยึดถือระยะเวลาเป็นสำคัญซึ่งนอกจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลาดังกล่าวแล้วยังมีคำสั่งต่อไปอีกว่าหากไม่ชำระให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับไปตามสัญญาซื้อขายที่ผู้ร้องได้ทำไว้ ดังนั้นเมื่อผู้ร้องไม่ชำระเงินภายในกำหนดระยะเวลาที่ได้ขยายให้ไว้ผู้ร้องก็ได้ชื่อว่าผิดนัด หมดสิทธิที่จะซื้อทรัพย์พิพาท และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะต้องริบเงินที่ผู้ร้องได้วางไว้โดยศาลชั้นต้นหาต้องมีคำสั่งว่าผู้ร้องผิดสัญญา และมีคำสั่งให้ริบเงินที่ผู้ร้องได้ชำระไว้แต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4610/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีท
สัญญาค้ำประกันที่จำเลยค้ำประกันบริษัท ส. ต่อโจทก์ มีข้อความในข้อ 1 ว่า "...ตามที่บริษัท ส. ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและขอทำทรัสต์รีซีท (สัญญารับมอบสินค้าเชื่อ) เพื่อขอรับเอกสารและ นำสินค้าออกขายก่อน แล้วจึงนำเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในทรัสต์รีซีท มาชำระแก่ธนาคาร ก. ภายในกำหนดเวลา 90 วัน... ถ้าหากบริษัท ส. ไม่ชำระเงินให้ธนาคาร ก. ตามทรัสต์รีซีท ตามที่กล่าวในข้อ 2 ข้าพเจ้าทั้งสามผู้ค้ำประกันยินยอมรับผิด..." และข้อความตามข้อ 2 มีว่า "สัญญาค้ำประกันนี้ให้มีผลใช้บังคับได้ตลอดไป นับแต่วันที่ ที่ลงในสัญญาฉบับนี้ จนกว่า จะ ได้มีการชำระหนี้กันเสร็จสิ้น และเลิก สัญญาค้ำประกันการชำระหนี้รายนี้ต่อกันแล้ว เพื่อเป็นการค้ำประกัน บริษัท ส. ที่ได้ทำและจะทำทรัสต์รีซีท เป็นคราว ๆ ไป โดยจะเป็นทรัสต์รีซีท ฉบับเดียวหรือหลายฉบับก็ตาม ตามที่กล่าวในข้อ 1..." ดังนี้ เป็นการยินยอมค้ำประกันหนี้ ของของจำเลยที่ 1 ตามสัญญารับมอบ สินค้าเชื่อตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ได้เปิดไว้ก่อนหรือ ในวันที่ที่ทำสัญญาค้ำประกัน และหนี้ ตามสัญญารับมอบสินค้าเชื่อ ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่จำเลยที่ 1 ได้ เปิด ไว้หลังวันทำ สัญญาค้ำประกันด้วย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4056/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทและการทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยทนายความที่ได้รับมอบอำนาจชอบด้วยกฎหมาย ศาลอนุญาตถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ได้
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถอนทนายความคนเดิมและแต่งตั้งทนายความคนใหม่ตามคำร้อง ของ กรรมการชุดใหม่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 คัดค้านการแต่งตั้งทนายความคนใหม่ของจำเลยที่ 1 หรือคัดค้านว่าผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1ไม่ใช่กรรมการของจำเลยที่ 1 หรือคัดค้านว่าหนังสือรับรองแนบท้ายคำร้องไม่ถูกต้อง ทนายความคนใหม่ของจำเลยที่ 1จึงเป็นทนายความของจำเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายตามคำสั่งของศาล ตามหนังสือแต่งตั้งทนายความจำเลยที่ 1 ให้อำนาจทนายความมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาไปในทางจำหน่ายสิทธิเช่น การประนีประนอมยอมความ การที่ทนายความของจำเลยที่ 1ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสองจึงได้กระทำภายในขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 โดยชอบ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของจำเลยที่ 1ให้แก่โจทก์ทั้งสอง โดยฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 3ในฐานะนายทะเบียนหุ้นซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1และอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 เป็นการฟ้องขอให้บังคับ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ปฏิบัติการชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนหุ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองและศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้วทั้งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 อีกต่อไปโจทก์ทั้งสองจึงไม่จำเป็นต้องฟ้องร้อง เพื่อบังคับคดีกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 อีก การถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ชอบที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4029/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การมีส่วนได้เสียในการเป็นผู้จัดการมรดก: หนี้เช็คที่ชำระแล้ว และการอ้างหนี้อื่นที่ไม่ได้รับการยกขึ้นในคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตั้งผู้ร้องให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านฎีกา ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้ร้องถึงแก่กรรม เนื่องจากสิทธิในการร้องขอจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ร้อง จึงไม่อาจตั้งบุคคลอื่นเข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้ร้องได้ให้จำหน่ายคดีเฉพาะของผู้ร้องออกจากสารบบความ ผู้คัดค้านเป็นเจ้าหนี้ตามเช็คของเจ้ามรดก แต่ไม่ยอมรับชำระหนี้ตามที่ผู้ร้องซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทตามพินัยกรรมและร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ขอชำระให้ผู้คัดค้านในระหว่างพิจารณาและได้นำต้นเงินและดอกเบี้ยไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง สิทธิเรียกร้องตามเช็คได้สิ้นสุดแล้วผู้คัดค้านจึงไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกต่อไป ข้ออ้างของผู้คัดค้านที่ว่า เจ้ามรดกยังเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกจำนวนมาก ไม่ใช่เหตุที่ผู้คัดค้านจะกล่าวอ้างมาขอให้แต่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกได้ ส่วนข้ออ้างของผู้คัดค้านว่า นอกจากเป็นหนี้ตามเช็คแล้ว เจ้ามรดกยังเป็นหนี้อื่น ๆ ต่อผู้คัดค้านอีกนั้นผู้คัดค้านไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในคำคัดค้าน จึงไม่ใช่เหตุที่หยิบยกขึ้นอ้างให้ศาลตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก แม้ผู้คัดค้านได้นำสืบในข้อนี้ก็เป็นการนำสืบนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อฟังได้ว่าผู้คัดค้านไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดก ไม่มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งว่าพินัยกรรมปลอม จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านต่อไปว่าพินัยกรรมปลอมหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การมีกัญชาในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้ปริมาณไม่ถึง 10 กก. ก็เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ
พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 26 วรรคหนึ่ง กำหนดการกระทำอันเป็นความผิดคือ การผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในความครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือ 5 โดยไม่ต้องพิจารณาว่ามีปริมาณเท่าใด ส่วนในวรรคสองเป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาดว่า การมียาเสพติดให้โทษประเภท 4 หรือ 5 ไว้ในครอบครองมีปริมาณตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไปเป็นการมีไว้เพื่อจำหน่าย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4014/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ปริมาณยาเสพติดไม่ถึง 10 กก. ไม่กระทบความผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่าย บทสันนิษฐานเด็ดขาดเป็นเพียงข้อจำกัดการโต้แย้ง
ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำอันเป็นความผิด คือการผลิต จำหน่ายนำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4หรือในประเภท 5 ทั้งนี้โดยไม่ต้องพิจารณาว่ายาเสพติดให้โทษจะมีปริมาณเท่าใด ส่วนความในวรรคสองของบทมาตราดังกล่าวที่ให้ถือว่าการมียาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 ไว้ในครอบครองมีปริมาณตั้งแต่สิบกิโลกรัมขึ้นไป เป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้นเป็นเพียงบทสันนิษฐานเด็ดขาดมิให้ผู้กระทำผิดโต้เถียงว่ามีไว้เพื่อการอื่นที่มิใช่มีไว้เพื่อจำหน่าย โจทก์ฟ้องจำเลยว่ามีกัญชาแห้งอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หนักรวม 1,205.45 กรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยให้การรับสารภาพเท่ากับจำเลยรับข้อเท็จจริงแล้วว่าจำเลยมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริง ดังนี้ แม้ยาเสพติดให้โทษจำนวนดังกล่าวจะมีปริมาณไม่ถึงสิบกิโลกรัม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่งประกอบด้วยมาตรา 76 วรรคสอง ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3974/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะ
จำเลยมีอาวุธปืนพกขนาด .223 ไม่มีหมายเลขทะเบียนพร้อมด้วยกระสุนปืนเล็กกล ขนาด .223 แม้กระสุนปืนดังกล่าวเป็นเครื่องกระสุนปืนประเภท ขนาด และชนิดซึ่งนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ แต่เมื่ออาวุธปืนกับเครื่องกระสุนปืนนั้นใช้ร่วมกันได้ จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3911/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดการมรดกตามพินัยกรรม: ผู้รับพินัยกรรมมีสิทธิเป็นผู้จัดการมรดก แม้มีข้อโต้แย้งเรื่องทรัพย์สิน
ผู้คัดค้านที่ 1 บรรยายคำคัดค้านไว้แล้วว่า ผู้คัดค้านที่ 1เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยเป็นผู้รับพินัยกรรมและมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย จึงไม่จำต้องแนบพินัยกรรมมาท้ายคำคัดค้านด้วย การที่คำคัดค้านระบุว่าเจ้ามรดกยกทรัพย์สินให้ผู้คัดค้านที่ 1เพียงผู้เดียว แต่ชั้นพิจารณาได้ความตามพินัยกรรมว่า ทรัพย์สินรายการที่ 1 เจ้ามรดกได้ทำสัญญาจะขายให้บุคคลภายนอก เงินที่ได้ยกให้กับผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนหนึ่ง กับยกให้ ส. อีกส่วนหนึ่งส่วนทรัพย์รายการที่ 2 ตกได้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งหมด เช่นนี้เป็นเรื่องพยานหลักฐานที่นำสืบได้ความไม่เต็มบริบูรณ์ตามคำคัดค้านและก็ยังได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกอยู่ ไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้ที่อ้างเทปบันทึกเสียงเป็นพยานจะต้องถอดข้อความในเทปออกมา หรือต้องนำเทปมาเปิดในขณะพิจารณาคดีของฝ่ายที่อ้างเองหรือฝ่ายตรงข้าม เพราะการนำสืบเสียงพูดเป็นการนำสืบวัตถุพยาน พินัยกรรมฉบับหลังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์มรดกรายเดียวกับที่ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับก่อนเท่านั้น มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อนเฉพาะเกี่ยวกับทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1697 สิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมฉบับก่อนจึงระงับ ส่วนข้อกำหนดในการตั้งผู้จัดการมรดกยังคงมีผลอยู่แต่ตามพินัยกรรมระบุให้ผู้ร้อง ด.และช. เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ถ้าผู้ใดตาย ให้ผู้มีชีวิตอยู่ดำเนินการแทน ดังนั้นเมื่อด.ตายผู้ร้องต้องร่วมกับช. จัดการมรดกของเจ้ามรดก การที่ผู้ร้องขอให้ศาลตั้งเฉพาะผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกจึงขัดต่อเจตนารมณ์ของเจ้ามรดก และเมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านโดยขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกด้วยเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าสมควรตั้งผู้ใด ปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมจึงสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ส่วนผู้ร้องไม่ได้เป็นทายาทโดยธรรมและไม่มีส่วนได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกจึงเหมาะสม.