คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 79ทวิ (3)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1588/2522

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระภาษีเงินได้แทนลูกจ้าง และการคืนภาษีการค้าสำหรับวัตถุดิบเพื่อการผลิต
โจทก์เป็นผู้ยื่นชำระภาษีการค้าและภาษีเงินได้เองโดยเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยไม่ได้ประเมินเรียกให้โจทก์ชำระดังนี้ เป็นกรณีที่ไม่มีการประเมินเรียกเก็บโจทก์จึงไม่ต้องอุทธรณ์การประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 และเมื่อโจทก์มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในทางแพ่ง โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจนำคดีมาฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
ค่าภาษีเงินได้ซึ่งลูกจ้างผู้มีเงินได้จะต้องชำระให้แก่จำเลยนั้นเป็นหนี้อันเกิดขึ้นตามบทบัญญัติของกฎหมายการที่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างจ่ายเงินค่าภาษีเงินได้แทนลูกจ้างไปนั้นถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้โดยบุคคลภายนอกดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 314 เงินที่โจทก์ชำระหนี้แทนลูกจ้างไปนั้นเป็นเงินของโจทก์ดังนั้น ถ้าโจทก์ชำระเกินจำนวนที่ลูกจ้างเป็นหนี้อยู่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเงินย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกคืนส่วนที่ชำระเกินไปนั้นได้
ประมวลรัษฎากรมาตรา 63 ที่บัญญัติว่า บุคคลผู้ใดถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีตามส่วนนี้ บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืน แต่ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไป นั้นใช้บังคับสำหรับบุคคลซึ่งถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายในวันที่จะใช้สิทธิเรียกเงินของตนที่ถูกหักภาษีเกินไปคืนแม้โจทก์จะไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย แต่โจทก์เป็นผู้ออกเงินของโจทก์ชำระค่าภาษีแทนลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างของโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้และถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย มีสิทธิได้รับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืนโดยต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้ชำระภาษีนั้นแทนโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเท่าที่ลูกจ้างมีอยู่ คือต้องยื่นคำร้องขอรับเงินจำนวนที่เกินนั้นคืนต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไปตามประมวลรัษฎากร มาตรา 63 เช่นเดียวกันส่วนเรื่องอายุความลาภมิควรได้นั้นจำเลยไม่ได้หยิบยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการชอบแล้ว
โจทก์นำวัตถุดิบต่าง ๆ เข้ามาเพื่อใช้ผลิตเป็นสินค้าเพื่อขาย มิได้นำมาเพื่อขายในขณะที่เป็นวัตถุดิบดังนี้ แม้โจทก์จดทะเบียนประกอบการค้าไว้ในฐานะผู้นำเข้าและผู้ผลิตก็ตาม โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าวัตถุดิบดังกล่าวตามความหมายในประมวลรัษฎากร มาตรา 77 คือโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราภาษีการค้าและรายการที่ประกอบการค้าตามมาตรา 78 วรรคแรก และโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าในกรณีที่ให้ถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าเป็นผู้ประกอบการค้าตามมาตรา 78 วรรคสอง และเมื่อโจทก์มิได้เป็นผู้ประกอบการค้าวัตถุดิบต่าง ๆ เพื่อขายโดยเฉพาะก็จะถือว่าการที่โจทก์นำวัตถุดิบต่าง ๆ เข้ามาเพื่อใช้ผลิตสินค้าเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 79ทวิ(3) ไม่ได้ด้วย โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าสำหรับวัตถุดิบในฐานะผู้นำเข้าตามประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น (มิถุนายน 2505 ถึง ตุลาคม 2513)