คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2516 ข้อ 13

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2522

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลจากการละเมิดประมวลรัษฎากรและการแยกความผิดแต่ละกรรม
เมื่อฟ้องโจทก์ตอนแรกได้บรรยายว่า จำเลยจัดให้มีการฉายภาพยนตร์ เพื่อเก็บเงินจากผู้ซื้อตั๋วเข้าชมภาพยนตร์จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายบทหลายกระทง และได้บรรยายการกระทำตามข้อ (ก)(ข)(ค)และ(ง) กับอ้างมาตราในประมวลรัษฎากร ซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดฟ้องโจทก์จึงได้บรรยายแล้วว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องแต่ผู้เดียวและโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิดดังนั้น แม้ฟ้องข้อ (ข) บรรยายว่าพนักงานของจำเลยที่ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยเป็นผู้ฉีกตั๋วและข้อ (ค) บรรยายว่าพนักงานของจำเลยไม่นำกากตั๋วใส่ภาชนะโดยไม่กล่าวถึงจำเลยก็พอเห็นได้ว่าการกระทำของพนักงานของจำเลยผู้ได้รับแต่งตั้งจากจำเลย เป็นการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของผู้จัดให้มีมหรสพและผู้รับผิดชอบดำเนินการมหรสพนั้นเอง ทั้งข้อเท็จจริงก็ ฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำผิดโดยผู้ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยให้คอยรับตั๋วจากผู้ดู ไม่ฉีกตั๋วที่ได้รับจากผู้ดูแล้วไม่นำกากตั๋วใส่ภาชนะ ทันที อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลรัษฎากร โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้ จำเลยรับผิดทางอาญาได้
จำเลยจำหน่ายตั๋วเข้าชมภาพยนตร์โดยมิได้ปิดอากรมหรสพ 346ฉบับ ไม่ฉีกอากรมหรสพที่ปิดทับบนตั๋วให้ขาดเป็นสองตอน 7 ฉบับ และไม่นำกากตั๋วใส่ภาชนะทันที 143 ฉบับ เมื่อการเสียอากรมหรสพ ต้องเสียเป็นรายตัวผู้ดูตามประมวลรัษฎากร มาตรา 132 การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรตั๋วทุก ๆ ฉบับแม้ จะกระทำต่อเนื่องในการฉายภาพยนตร์รอบเดียวก็ตามแต่ก็แยกการกระทำออกจากกันได้ตามตั๋วแต่ละฉบับ จึงเป็นความผิดหลายกรรม ต่างกันรวม 496 กระทง หาใช่เป็นความผิดเพียง 3 กระทงไม่