คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไพศาล รางชางกูร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 952 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1446/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลักประกันสัญญาค้ำประกัน: การบังคับชำระหนี้จากหลักประกันต้องสอดคล้องกับหนี้ของลูกหนี้
ป.พ.พ. มาตรา 222, 368, 377, 378, 391
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดกับโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ต้องซื้อผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวดจากโจทก์ไปจำหน่าย จำเลยที่ 2เป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์สำหรับค่าผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวดในวงเงิน 478,500 บาท และค้ำประกันสำหรับขวดเปล่าขนาด 20 ลิตร ในวงเงิน180,000 บาท แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ทำให้โจทก์เสียหายขาดผลกำไรจากการจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดตามสัญญา ซึ่งในแต่ละเดือนหากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาโจทก์ควรได้รับผลกำไรจากน้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 950 ลูกบาศก์เซนติเมตร จำนวน150,000 ขวด อัตรากำไรขวดละ 0.42 บาท เป็นเงินจำนวน 63,000 บาท ส่วนน้ำดื่มบรรจุขวดขนาด 20 ลิตร จำนวน 15,000 ขวด อัตรากำไรขวดละ 1.15 บาทเป็นเงินจำนวน 17,250 บาท รวมเป็นผลกำไรเดือนละ 80,250 บาท เมื่อตามสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวด กำหนดให้จำเลยที่ 1 รับน้ำดื่มบรรจุขวดของโจทก์ไปจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2535 เป็นต้นไป ซึ่งปรากฏว่าในเดือนเมษายน 2535 จำเลยที่ 1 ก็เริ่มผิดสัญญา โดยรับน้ำดื่มบรรจุขวดจากโจทก์ไปน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงกันไว้และหลังจากนั้นก็ผิดสัญญาตลอดมา โจทก์ก็มีหนังสือเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงไม่ปฏิบัติตามสัญญาเมื่อผลจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่นนี้ย่อมทำให้โจทก์ขาดผลกำไรและหากปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเท่าไรก็ยิ่งขาดประโยชน์มากขึ้น หากโจทก์รีบบอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 และจัดหาวิธีการจำหน่ายทางอื่นแล้วก็น่าจะมีโอกาสแก้ไขปัญหาความเสียหายดังกล่าวได้ แต่โจทก์กลับปล่อยเวลาล่วงเลยต่อไป จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาภายใน 10 วัน มิฉะนั้นให้ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา แต่ส่งหนังสือฉบับนี้ให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 18 กันยายน 2535 ถึงโจทก์ แจ้งถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้จำเลยที่ 1ขาดทุนและไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ หากโจทก์จะเลิกสัญญาก็ขอให้ลดค่าปรับให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญาต่อไปแต่ก็ปรากฏว่าโจทก์ยังปล่อยเวลาเนิ่นนานออกไปอีกระยะหนึ่ง จึงมีการปิดประกาศแจ้งหนังสือบอกเลิกสัญญาเพื่อให้จำเลยที่ 1 ทราบ พฤติการณ์ที่โจทก์ปล่อยให้ความเสียหายพอกพูนเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลายาวนานดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ไม่พยายามบรรเทาความเสียหายตามที่สมควรจะกระทำได้ จึงไม่สมควรได้รับค่าเสียหายดังกล่าวเป็นระยะเวลายาวนานจนถึงวันที่มีผลเป็นการเลิกสัญญาตามที่โจทก์เรียกร้อง
ตามสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดที่พิพาทระบุว่า จำเลยที่ 1 ได้นำหลักประกันสัญญาเป็นหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2จำนวน 2 ฉบับ จำนวนเงินรวม 658,500 บาท มอบไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา และในกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1ยอมให้โจทก์ริบหลักประกันสัญญาหรือเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ผู้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นจำนวนทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้แล้วแต่โจทก์จะเห็นสมควร ส่วนหนังสือค้ำประกันที่ำจำเลยที่ 2 ทำให้ไว้แก่โจทก์มีข้อความระบุว่า หากจำเลยที่ 1ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดของสัญญาดังกล่าวซึ่งโจทก์มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ได้แล้วจำเลยที่ 2 ยอมชำระเงินแทนทันทีโดยไม่ต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อนหลักประกันตามข้อสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดดังกล่าวไม่ใช่กรณีที่คู่สัญญามีความมุ่งหมายให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำที่อาจริบได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 377และ 378 และการที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำหนดให้จำเลยที่ 1ต้องวางหลักประกันซึ่งกำหนดได้เป็นจำนวนเงินที่แน่นอนเนื่องจากจำเลยที่ 1มีหนี้ที่ต้องซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดจากโจทก์ไปจำหน่ายโดยต้องชำระค่าน้ำดื่มบรรจุขวดแก่โจทก์ และหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก็ต้องชำระค่าเสียหายซึ่งมีการกำหนดอัตราค่าปรับไว้ในสัญญาด้วยเช่นนี้ ย่อมเข้าใจได้ว่า โจทก์ประสงค์จะให้มีหลักประกันเพื่อความมั่นใจในการบังคับชำระหนี้เงินจากจำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าน้ำดื่มบรรจุขวดหรือค่าเสียหายตามสัญญาได้โดยง่าย โดยสามารถบังคับจากหลักประกันนั้นได้ การจะพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากหลักประกันตามสัญญาได้เพียงใด จำเป็นต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่เป็นข้อสำคัญเสียก่อน หากปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์แล้ว จึงพิจารณาต่อไปถึงการบังคับชำระหนี้จากหลักประกัน กรณีที่สัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดและหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2ระบุให้โจทก์สามารถเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันได้โดยไม่ต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน เป็นเพียงข้อตกลงที่ให้ความสะดวกในวิธีการบังคับชำระหนี้จากหลักประกันเท่านั้น หาใช่ข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับชำระหนี้ตามหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 โดยไม่คำนึงว่าจำเลยที่ 1 จะมีหนี้ที่ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์หรือไม่เพียงใดอันทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์เกินไปกว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่ เมื่อหนี้ตามฟ้องของโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ต่อโจทก์เพียง 220,735 บาท กับดอกเบี้ยมีเพียงใด จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามความรับผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเพียงเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1396/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำหรือไม่: คดีลักกระแสไฟฟ้า vs. คดีละเมิดสัญญาจากเครื่องวัดไฟเสียหาย
พนักงานอัยการเคยเป็นโจทก์ฟ้องอาญาต่อจำเลยในมูลคดีเดียวกับคดีนี้กล่าวหาว่าจำเลยลักกระแสไฟฟ้าของโจทก์และขอให้จำเลยชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้าที่ลักไปคืนแก่โจทก์ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์แล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในฐานะจำเลยที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้กระแสไฟฟ้าให้รับผิดชำระค่ากระแสไฟฟ้าและค่าเสียหายตามสัญญาซึ่งจำเลยทำไว้กับโจทก์ ดังนี้แม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายจะมิได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวก็ถือว่าพนักงานอัยการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนแพ่งแทนโจทก์สำหรับสภาพแห่งความรับผิดอันเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยแล้ว แต่ความรับผิดซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นความรับผิดตามลักษณะของสัญญาเป็นคนละเหตุกับที่พนักงานอัยการฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ราคาในคดีอาญา ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องของพนักงานอัยการในคดีก่อน เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยแก้ไขเครื่องวัดการใช้กระแสไฟฟ้าอันจำเลยจะต้องชดใช้ค่าปรับตามสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าปรับตามสัญญาได้และปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1029/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำกัดความรับผิดของผู้กระทำความผิดทางอาญาจากพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์และคำให้การของผู้เสียหาย
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายนอนไม่หลับจึงลุกจากเตียงไปเปิดไฟฟ้าแต่ยังไม่ทันเปิดจำเลยก็เข้าไปอยู่ในห้องนอนและอยู่ห่างผู้เสียหายประมาณ 1 เมตร ในมือถือมีดและเดินเข้าจะรวบลำตัวของผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายยกมือซ้ายขึ้นกันคมมีดที่จำเลยถือจึงบาดนิ้วมือและเข่าของผู้เสียหายผู้เสียหายร้องขอความช่วยเหลือก็มีเสียงตอบรับ จำเลยตกใจและวิ่งไปเปิดประตู แต่เปิดไม่ออก จำเลยจึงวิ่งย้อนกลับไปยังหน้าต่างที่ใช้ปีนเข้ามา จำเลยวิ่งอยู่ในห้อง กลับไปกลับมาและฉายไฟฉายด้วย ปรากฏว่าไฟฉายที่ส่องไปกระทบกระจกตู้เสื้อผ้าที่ตั้งไว้ในห้องนอนซึ่งใช้เป็นที่กั้น เป็นห้องนอนในตัวซึ่งมีช่องกระจกใสอยู่ 5 ช่องเพื่อหาทางหนีอย่างฉุกละหุก แม้ไม่ตั้งใจส่องไฟไปกระทบบานกระจกแต่บานกระจกเหล่านั้นตั้งอยู่ในระยะใกล้ การส่องไฟหาทางหนีเป็นธรรมดาที่ต้องส่ายลำแสงไฟไปทั่วย่อมจะเกิดแสงสว่างสะท้อนกลับทำให้ผู้เสียหายเห็นคนร้าย นอกจากนี้ยังปรากฏว่าผู้เสียหายสามารถเห็นไฟฉายที่คนร้ายถืออยู่นั้นว่าเป็นไฟฉายใช้ถ่านไฟฉาย 2 ก้อน และมีดที่คนร้ายถือยาว 1 คืบเศษสีขาวลักษณะเป็นมีดพกบ่งชัดว่าผู้เสียหายสามารถเห็นความยาวของมีด หากมีดที่ถือไม่ยาวเป็นคืนก็ไม่น่าจะทำให้เกิดบาดแผลที่มือผู้เสียหายยาว 2.5 เซนติเมตร มีดที่ผู้เสียหายเบิกความถึงจึงสอดคล้องลักษณะการใช้ ทั้งผู้เสียหายสามารถระบุเสื้อผ้าที่คนร้ายสวมว่าเป็นเสื้อสีเทาลักษณะเสื้อทหารและสวมกางเกงสีดำ ทำให้เชื่อว่ามีแสงสะท้อนสว่างพอที่จะเห็นหน้าคนร้าย ประกอบกับจำเลยเป็นญาติและมีบ้านอยู่ห่างบ้านเกิดเหตุประมาณ 150 เมตร ผู้เสียหายจึงรู้จักจำเลยมาก่อนและจำจำเลยได้เป็นอย่างดี เพราะมีบ้านอยู่ใกล้ ๆ กันย่อมมองเห็นรูปร่างหน้าตาเป็นประจำ แม้แสงสว่างที่ส่องเป็นเพียงแสงสะท้อนก็เชื่อว่ามีแสงเพียงพอที่ผู้เสียหายจะเห็นและจำคนร้ายได้ วันรุ่งขึ้นผู้เสียหายระบุตัวจำเลยว่าเป็นคนร้ายและเจ้าพนักงานตำรวจไปจับในวันรุ่งขึ้นนั้นเองกับได้บันทึกพฤติการณ์แห่งการกระทำของคนร้าย ทั้งระบุชื่อของจำเลยว่าเป็นคนร้ายด้วย แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้ระบุชื่อคนร้ายในทันทีต่อผู้ที่ไปที่เกิดเหตุ แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่า คนร้ายไม่ใช่จำเลยจึงไม่ใช่เหตุที่จะทำคำให้การและคำเบิกความของผู้เสียหายเสียไป ทั้งในเวลาเย็นของวันที่จำเลยถูกจับนาง พ. ภริยาจำเลยและญาติของจำเลยไปเจรจากับผู้เสียหายโดยตกลงชำระค่าเสียหายให้จำนวน 5,000 บาท หากจำเลยไม่ใช่คนร้ายภริยาและญาติของจำเลยก็ไม่จำต้องไปเจรจาชำระค่าเสียหายแม้ผู้ไปเจรจาไม่ใช่จำเลยแต่ก็มีภริยาจำเลยและญาติสนิทรวมอยู่และเจรจาเพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยยอมชำระเงินจำนวนไม่น้อย พยานหลักฐานของโจทก์สมเหตุสมผลสอดคล้องกับพยานแวดล้อม พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 960/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาฉ้อโกง แม้ชำระเงินบางส่วน แต่ยังไม่ครบตามเช็คทั้งสองฉบับ ถือเป็นความผิด 2 กระทง
จำเลยออกเช็ค 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงินเพื่อชำระค่าเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ให้แก่ผู้เสียหาย แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับและจำเลยถูกฟ้องในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ แม้ เงินที่ผู้เสียหายได้รับไปจากจำเลยในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจะเป็นจำนวนมากกว่าจำนวนเงินในเช็คฉบับแรกก็ตาม แต่ก็ยังไม่พอเพียงต่อการชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ ทั้งหมดที่จำเลยออกเช็คทั้ง 2 ฉบับที่พิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ ผู้เสียหาย เมื่อหนี้ดังกล่าวยังมีผลผูกพันจำเลย ทั้งตาม ข้อตกลงที่ผู้เสียหายกับจำเลยร่วมกันแถลงต่อศาลชั้นต้นระบุ ว่า จำเลยต้องชำระเงินให้ครบถ้วนตามเช็คทั้ง 2 ฉบับผู้เสียหายจึงจะถอนคำร้องทุกข์ให้ และไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายกับจำเลยได้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงให้คดีตามเช็คฉบับหนึ่งฉบับใดเลิกกันไปก่อนได้ คดีตามเช็คฉบับแรกจึงยังไม่เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 การออกเช็คของจำเลยจึงเป็นความผิด 2 กระทง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 960/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชี แม้ได้รับชำระบางส่วนก็ยังเป็นความผิดได้
จำเลยออกเช็ค 2 ฉบับ สั่งจ่ายเงินเพื่อชำระค่าเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ให้แก่ผู้เสียหาย แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับและจำเลยถูกฟ้องในความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯแม้เงินที่ผู้เสียหายได้รับไปจากจำเลยในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจะเป็นจำนวนมากกว่าจำนวนเงินในเช็คฉบับแรกก็ตาม แต่ก็ยังไม่พอเพียงต่อการชำระหนี้ค่าเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ทั้งหมดที่จำเลยออกเช็คทั้ง 2 ฉบับที่พิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย เมื่อหนี้ดังกล่าวยังมีผลผูกพันจำเลย ทั้งตามข้อตกลงที่ผู้เสียหายกับจำเลยร่วมกันแถลงต่อศาลชั้นต้นระบุว่า จำเลยต้องชำระเงินให้ครบถ้วนตามเช็คทั้ง 2 ฉบับผู้เสียหายจึงจะถอนคำร้องทุกข์ให้ และไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายกับจำเลยได้เปลี่ยนแปลงข้อตกลงให้คดีตามเช็คฉบับหนึ่งฉบับใดเลิกกันไปก่อนได้ คดีตามเช็คฉบับแรกจึงยังไม่เลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 การออกเช็คของจำเลยจึงเป็นความผิด 2 กระทง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดทรัพย์ซ้ำและการบังคับคดี: เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิอายัดทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้ชั่วคราว
แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอายัดเงินของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามคำร้องของโจทก์ ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีอื่นก็มีสิทธิที่จะขออายัดทรัพย์นั้นเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีของตน เพราะกรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามมิให้อายัดทรัพย์ซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 และเมื่อบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ครอบครองเงินของจำเลยได้จัดส่งเงินดังกล่าวซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดไว้ชั่วคราวมาแล้วเมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นได้ขอบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้บังคับคดีโดยมีหนังสือขออายัดเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว การอายัดเงินดังกล่าวของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามคำร้องของโจทก์ย่อมสิ้นผลไปโดยปริยาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 220/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมรสซ้อนและคุณสมบัติผู้จัดการมรดก ศาลพิจารณาจากฐานะ ความประพฤติ และการอยู่ร่วมกัน
ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างก็จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายโดยผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายเมื่อปี 2524 ภายหลังจากผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับผู้คัดค้านเมื่อปี 2523 การสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องจึงอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1496(ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) ประกอบมาตรา 1452 คือ ในขณะที่ผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับผู้ร้องนั้นผู้ตายยังเป็นคู่สมรสของผู้คัดค้านซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1452 และเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1495 แต่เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาศาลแสดงว่าการสมรสของผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะ ต้องถือว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องยังมีอยู่ ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมและมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องมีอาชีพเป็นหลักแหล่งมั่นคง และไม่มีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างใด ส่วนผู้คัดค้านมีอาชีพตั้งของขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามทางเท้าไม่เป็นกิจลักษณะทั้งยังเคยถูกจับในข้อหาลักลอบเล่นการพนัน ซึ่งมีผู้ถูกจับรวม 12 คนไม่ใช่เล่นเพื่อพักผ่อนหย่อนใจในระหว่างเพื่อน ๆ และยังเคยไปยืมเงินจำนวน 18,000 บาท จากผู้อื่นและไม่ชำระตามกำหนดย่อมแสดงว่าผู้คัดค้านมีปัญหาทางการเงิน การตั้งผู้จัดการมรดกโดยไม่มีข้อกำหนดตามพินัยกรรม จะต้องคำนึงถึงหน้าที่ในการจัดการมรดกและความประพฤติของผู้จัดการมรดกด้วยเพราะผู้จัดการมรดกมีหน้าที่รวบรวมและแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท เมื่อเปรียบเทียบฐานะหน้าที่การงานและความประพฤติของผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้วผู้ร้องมีความเหมาะสมเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายมากกว่า จึงควรแต่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 55/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามฆ่า: การพิสูจน์เจตนาและตัวผู้เสียหายจากหลักฐาน
การที่โจทก์ระบุชื่อผู้เสียหายในฟ้องผิดพลาดและรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลหรือศพของแพทย์ระบุชื่อผู้บาดเจ็บผิดพลาดไปบ้างเฉพาะในหน้าหลังส่วนหน้าแรกถูกต้องนั้นถือได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ทั้งจำเลยก็นำสืบต่อสู้โดยอ้างฐานที่อยู่ขณะเกิดเหตุมิได้หลงต่อสู้กับตัวผู้เสียหายแต่อย่างใด ข้อผิดพลาดดังกล่าวจึงไม่ถึงกับทำให้รับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8408/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อผิดพลาดชื่อผู้เสียหายในฟ้อง และการใช้หนังสือมอบอำนาจที่ไม่ติดอากรแสตมป์ในคดีอาญา
แม้โจทก์บรรยายฟ้องผิดไปว่า บริษัทฮ. เป็นผู้เสียหายก็ตามแต่ทางพิจารณาได้ความว่า บริษัทส.เป็นผู้เสียหายการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นผัดฟ้องฝากขังก็ระบุชื่อผู้เสียหายถูกต้องมาแต่แรก ดังนี้ ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย และข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้เพราะไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจึงลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 192 วรรคสองกรณีมิใช่เป็นเรื่องทางพิจารณาได้ความแตกต่างในสาระสำคัญที่ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสอง ตราสารใดที่ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118 นั้น จะใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะคดีแพ่งเท่านั้น ไม่รวมถึงคดีอาญาด้วย ดังนี้การที่ผู้เสียหายทำหนังสือให้ ฐ. ผู้รับมอบอำนาจไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ แม้หนังสือดังกล่าวจะปิดอากรแสตมป์ 10 บาท ก็ตาม แต่เมื่อไปแจ้งความตามหนังสือดังกล่าวแล้ว กรณีเป็นการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์และเมื่อมีการร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8408/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อผิดพลาดการระบุผู้เสียหายในฟ้อง ไม่กระทบการดำเนินคดีหากไม่เป็นสาระสำคัญ และการใช้เอกสารไม่ติดอากรแสตมป์ในคดีอาญา
แม้โจทก์บรรยายฟ้องผิดไปว่า บริษัท ฮ.เป็นผู้เสียหายก็ตามแต่ทางพิจารณาได้ความว่า บริษัท ส.เป็นผู้เสียหาย การดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นผัดฟ้องฝากขังก็ระบุชื่อผู้เสียหายถูกต้องมาแต่แรก ดังนี้ ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย และข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้เพราะไม่ติดใจสืบพยาน ศาลจึงลงโทษจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคสองกรณีมิใช่เป็นเรื่องทางพิจารณาได้ความแตกต่างในสาระสำคัญที่ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคสอง
ตราสารใดที่ไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118นั้น จะใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะคดีแพ่งเท่านั้น ไม่รวมถึงคดีอาญาด้วย ดังนี้การที่ผู้เสียหายทำหนังสือมอบอำนาจให้ ฐ.ผู้รับมอบอำนาจไปแจ้งความพนักงาน-สอบสวนเกี่ยวกับเช็คเรียกเก็บเงินไม่ได้ แม้หนังสือดังกล่าวจะปิดอากรแสตมป์10 บาทก็ตาม แต่เมื่อก็ไปแจ้งความตามหนังสือดังกล่าวแล้ว กรณีเป็นการมอบอำนาจให้ร้องทุกข์และเมื่อมีการร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้
of 96