พบผลลัพธ์ทั้งหมด 225 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 628/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดกรรมเดียวกัน-สิทธิฟ้องระงับ: การแยกฟ้องคดีรับของโจรเมื่อจำเลยรับทรัพย์ในคราวเดียวกัน
โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นสองคดี เพราะทรัพย์แต่ละคดีถูกลักคนละตอนกัน เมื่อได้ความว่าจำเลยรับทรัพย์ในทั้งสองคดีนั้นไว้ในคราวเดียวกัน และศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยฐานรับของโจรในคดีหนึ่งแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องจำเลยย่อมเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) เพราะเป็นความผิดกรรมเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 617/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การมอบเงินให้ฝากบัญชีถือเป็นการส่งมอบทรัพย์ให้จำเลยครอบครอง หากนำไปเบียดบังเป็นความผิดฐานยักยอก
การที่โจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่จำเลยเพื่อไปฝากเข้าบัญชีเป็นการส่งมอบทรัพย์ให้อยู่ในความยึดถือของจำเลยอันเป็นการมอบให้ครอบครองทรัพย์ดังกล่าวแทนโจทก์ร่วม จำเลยจึงอยู่ในฐานะครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น เมื่อจำเลยเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาครบกำหนดแล้ว ถือเป็นการเลิกจ้าง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย เว้นแต่เป็นงานครั้งคราวตามกฎหมาย
โจทก์และจำเลยทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน โดยกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดไว้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้างนายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า งานที่โจทก์ทำมีลักษณะเป็นงานถาวรมิใช่เป็นงานครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการการเลิกจ้างไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้าง จำเลยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป ก็ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 จำเลยต้องชดใช้ค่าชดเชยแก่โจทก์ ปัญหาว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการหรือไม่นั้น จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องเป็นฝ่ายยกขึ้นต่อสู้คดีไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องบรรยายมาในคำฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้ยกเรื่องดังกล่าวขึ้นต่อสู้คดี จึงไม่มีประเด็นที่ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา สิ้นสุดสัญญาถือเป็นการเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชย เว้นแต่เป็นการจ้างงานลักษณะพิเศษ
ในกรณีที่มีการทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นหนังสือโดยกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้และนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะครบกำหนดระยะเวลาการจ้างนั้น ถือเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของคำว่าเลิกจ้างในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 ดังกล่าวแล้ว เพราะถ้าไม่หมายความเช่นนั้นคือถือว่าไม่เป็นการเลิกจ้างแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป็นข้อยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง ในกรณีทำสัญญาจ้างกันเป็นหนังสือให้ทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการ และได้กำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของการจ้างไว้ เพราะเมื่อถือว่าไม่เป็นการเลิกจ้างนายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างอยู่แล้วตามความในตอนต้นของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่ว่า "ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังนี้ ฯลฯ"ซึ่งหมายความว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างก็เฉพาะกรณีที่มีการเลิกจ้างเท่านั้น ดังนี้ แม้การจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจะได้ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือและมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนโดยกำหนดวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดการจ้างไว้ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้างและจำเลยไม่ได้ให้โจทก์ทำงานต่อไป ก็ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์ตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 ในปัญหาว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจ้างให้ทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่นายจ้างจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่มีการจ้างให้ทำงานดังกล่าวโดยทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือและกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการจ้างไว้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องเป็นฝ่ายยกขึ้นต่อสู้คดีไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องบรรยายมาในคำฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้ยกเรื่องดังกล่าวขึ้นต่อสู้ จึงไม่มีประเด็นที่ศาลแรงงานจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 570/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน ไม่ใช่กฎหมายแรงงาน การฟ้องคดีก่อนคณะกรรมการคุ้มครองการทำงาน ไม่เป็นเหตุฟ้องไม่รับ
พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 มีวัตถุประสงค์ควบคุมโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ มิใช่กฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่นายจ้างหรือลูกจ้าง ดังนั้น จึงมิใช่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แม้โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีโดยไม่รอให้คณะกรรมการคุ้มครองการทำงานตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว วินิจฉัยข้อขัดแย้งระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยก่อนก็ไม่ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 วรรคสอง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 542/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจากการรังวัดเขตชลประทาน การครอบครองประโยชน์ตกเป็นของแผ่นดิน
กรมชลประทานจำเลยรังวัดกั้นเขตชลประทานไว้ตามประกาศกระแสร์พระบรมราชโองการ เรื่อง ขยายการหวงห้ามและจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างการทดน้ำไขน้ำบริเวณเชียงรากน้อยและบางเหี้ยพ.ศ. 2467 จำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าทดแทนที่พิพาทในสำนวนแรกแต่หลังจากมีการรังวัดกันเขตการชลประทานแล้ว ผ.เจ้าของเดิมก็ไม่ได้ครอบครองทำกิน โดยจำเลยได้ครอบครองดูแลไม่ให้ใครมารุกล้ำตลอดมา ส่วนโจทก์เพิ่งจะเข้าทำกินในปี 2519 ถือได้ว่าผ. ได้สละการครอบครองที่พิพาทสำนวนแรกหลังจากมีการรังวัดกันเขตชลประทานเป็นต้นมา และจำเลยก็ได้ครอบครองดูแลที่ดินในแนวเขตการชลประทานซึ่งรวมถึงที่พิพาทตลอดมาจำเลยใช้ที่ดินในเขตการชลประทานซึ่งรวมถึงที่พิพาทเพื่อทิ้งดินที่ได้จากการขุดลอกคลองชลประทาน ถือได้ว่าเป็นการใช้ที่พิพาทเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะที่พิพาทสำนวนแรกจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) การที่โจทก์ในสำนวนแรก เข้าทำกินในที่พิพาทจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยส่วนที่พิพาทสำนวนหลัง ร. เจ้าของเดิมสละการครอบครองตั้งแต่เมื่อมีการรังวัดกับเขตชลประทานตั้งแต่ปี 2481 และจำเลยได้ครอบครองดูแลที่ดินในเขตการชลประทานมาตั้งแต่มีการรังวัดกันเขตโดยใช้ที่ดินดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ที่พิพาทสำนวนหลังซึ่งอยู่ในเขตการชลประทานจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) นับแต่ที่ ร. สละการครอบครองตั้งแต่เมื่อมีการรังวัดกันเขตการชลประทานถึงแม้ ห. และ โจทก์ในสำนวนหลัง จะเข้าครอบครองและแจ้งการครอบครอง ไว้เมื่อปี 2498 ก็ไม่อาจอ้างการครอบครองขึ้นต่อสู้จำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์ฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ และประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องและดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ไปแล้ว การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์รวมกันมาซึ่งอุทธรณ์แต่ละข้อเป็นการกล่าวอ้างเหตุเพื่อไม่ให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามฟ้อง ดังนี้ อุทธรณ์เฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัย การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มาด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาย่อมยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้เสียและในชั้นฎีกาจำเลยที่ 2 ยังยื่นฎีการวมกันมากับจำเลยที่ 1 อีกในปัญหาเดียวกันกับในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้นฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 2จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อผู้เรียงและพิมพ์นั้น เพียงเป็นฟ้องที่ไม่บริบูรณ์ ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้แก้ไขให้บริบูรณ์ได้ได้ความว่า ทนายโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในฐานะโจทก์ในคำฟ้องเพียงแต่ได้พิมพ์ชื่อ อ. ทนายความในสำนักงานเดียวกันในช่องผู้เรียงและพิมพ์โดยไม่ได้ลงลายมือชื่อ ซึ่งศาลชั้นต้นตรวจสั่งรับคำฟ้องไว้แล้ว และต่อมาทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่า ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์ แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้สั่งคำร้องดังกล่าวก็ถือได้ว่าโจทก์ได้แก้ไขคำฟ้องให้บริบูรณ์และชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระค่าดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องเพราะโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ได้หักกลบลบหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์หมดสิ้นแล้ว ดังนี้คำให้การของจำเลยที่ 1 เป็นคำให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์จำเลยที่ 1 ไม่มีหนี้สินต่อกัน คำให้การของจำเลยที่ 1 จึงก่อให้เกิดประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1ให้การว่าดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องมาก็คำนวณอย่างคลุมเครือเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ และจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้าน จึงถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น จะยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การซื้อขายที่ดินในช่วงระยะเวลาห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทำให้การซื้อขายเป็นโมฆะ แม้มีการครอบครองเป็นเวลานาน
แม้จะรับฟังตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยแต่เมื่อขณะทำการซื้อขายที่ดินพิพาทยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนที่ดินพิพาทภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยและการที่จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยอยู่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 268/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องคดีอาญาฐานยักยอก: ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือนนับจากวันที่รู้ความผิดและตัวผู้กระทำ
โจทก์ร่วมซื้อบ้าน เลขที่ 308 จากการขายทอดตลาด จำเลยเองก็ทราบ เมื่อจำเลยอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 308 ก็ถือว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองบ้านดังกล่าว การที่จำเลยบอกโจทก์ร่วมว่าบ้านที่จำเลยอาศัยอยู่ไม่ใช่บ้านเลขที่ 308 แต่เป็น บ้านเลขที่ 121 ของส. นั้น เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ร่วมรื้อถอนบ้านเลขที่ 308 เพื่อที่จำเลยจะได้รับประโยชน์ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการเบียดบังบ้านเลขที่ 308 เป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 โจทก์ร่วมจะไปรื้อถอนบ้านครั้งแรกวันที่ 28 เมษายน 2527จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตั้งแต่วันนั้น แต่โจทก์ร่วมเพิ่งมาร้องทุกข์เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2530 คดีจึงขาดอายุความ เมื่อคดีขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมตาม มาตรา 43
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐาน: พยานเบิกความขัดแย้ง ทำให้เกิดความสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดจริงหรือไม่
พยานโจทก์ 2 ปาก ซึ่งเป็นผู้ตรวจค้นและจับกุมจำเลยร่วมกันแต่เบิกความถึงการสืบสวนเบื้องต้น การตรวจค้นจับกุม ลักษณะของยาเม็ดของกลางตลอดจนลักษณะสำคัญของบ้านจำเลยแตกต่างกันทุกขั้นตอนโดยตลอดเป็นพิรุธ ถือว่า พยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำหรือไม่ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง.