คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 224 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 70 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1468/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางจำเป็น-ค่าทดแทน: ศาลฎีกาแก้ไขค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นให้เหมาะสมกับสภาพทางและเนื้อที่ดิน
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ทางในที่ดินของจำเลยทั้งเจ็ดเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า ทางในที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ใช่ทางจำเป็น หากฟังว่าเป็นทางจำเป็น โจทก์ต้องใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้การรับว่า โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางในที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 และฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนจากโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ ดังนั้น การที่จะบังคับให้ใช้ค่าทดแทนหรือไม่เพียงใดนั้น ต้องวินิจฉัยก่อนว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ ปัญหาเรื่องการใช้ค่าทดแทนเป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นอันเป็นประเด็นสำคัญในคดี คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ทั้งค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปีละ 30,000 บาท และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ปีละ 20,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางจำเป็นไปจนกว่าจะหมดความจำเป็นในการใช้ทางนั้น จำนวนค่าทดแทนที่โจทก์จะต้องใช้แก่จำเลยทั้งเจ็ดจึงขึ้นอยู่กับการใช้ทางจำเป็นของโจทก์ว่าเริ่มต้นเมื่อใดและสิ้นสุดลงเมื่อใด ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตย่อมไม่อาจคำนวณค่าทดแทนเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้ว่าประเด็นเรื่องทางจำเป็นจะยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงเถียงกันในชั้นอุทธรณ์เฉพาะเรื่องจำนวนค่าทดแทนว่ามีเพียงใด ก็ไม่ทำให้คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้กลับกลายเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีมีทุนทรัพย์ อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง
แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขอให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 1,000,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 1,000,000 บาท กับจำเลยที่ 4 และที่ 5 ฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนเป็นเงินคนละ 140,000 บาท ซึ่งเป็นค่าทดแทนจำนวนเดียว มิใช่ค่าทดแทนเป็นรายปีก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสี่ บัญญัติให้กำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้ ศาลจึงมีอำนาจกำหนดค่าทดแทนให้เป็นรายปีนับแต่วันที่โจทก์ใช้ทางจำเป็นไปจนกว่าจะหมดความจำเป็นในการใช้ทาง หาใช่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่งไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8596/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงอำนาจปกครองบุตรหลังหย่า และการเพิกถอนข้อตกลงค่าเลี้ยงชีพโดยพิจารณาประโยชน์สูงสุดของบุตร
โจทก์ฎีกาประเด็นขอให้เพิกถอนข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเรื่องที่โจทก์ตกลงจะให้ค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลยจำนวน 200,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาของโจทก์ว่า คำฟ้องในเรื่องค่าเลี้ยงชีพเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 และไม่รับวินิจฉัยนั้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะประเด็นค่าเลี้ยงชีพ เป็นการฟ้องตั้งสิทธิ อันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องในครอบครัวระหว่างโจทก์จำเลยซึ่งเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และ 248 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็เห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ 247
ประเด็นขอเพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยนั้น โจทก์อ้างว่า หากผู้เยาว์อยู่กับโจทก์ จะได้ประโยชน์และความผาสุกดีกว่าอยู่กับจำเลย เหตุที่อ้างไม่ถือเป็นการใช้อำนาจปกครองโดยมิชอบ หรือประพฤติชั่วร้ายอันเป็นเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง แต่การที่ผู้เยาว์พักอาศัย เรียนหนังสือ และอยู่ในความดูแลของโจทก์ และผู้เยาว์ทำคำแถลงต่อศาลว่า ประสงค์จะอยู่กับโจทก์ อยู่กับจำเลยและบิดาเลี้ยงไม่มีความสุข ผู้เยาว์อายุ 10 ปีแล้วถือได้ว่ามีความรู้สึกนึกคิดได้โดยตนเอง สาเหตุที่ไม่อยากอยู่กับจำเลยสามารถบอกเหตุผลได้ มิได้กล่าวอ้างลอยๆ ประกอบกับฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองของจำเลยฝ่ายเดียวตามที่ตกลงในบันทึกท้ายทะเบียนหย่า แต่คำบรรยายฟ้องและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองตามที่ตกลงกันไว้กับจำเลย ถือว่าโจทก์ประสงค์ที่จะใช้อำนาจปกครอง เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เพื่อประโยชน์ความผาสุกของผู้เยาว์ อาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520,1521 สมควรให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองร่วมกับจำเลย โดยให้โจทก์มีอำนาจกำหนดที่อยู่ผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14721/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์และฎีกาที่ขัดต่อข้อจำกัดตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตราจองจากการรับมรดกตามพินัยกรรมของ ว. ขณะโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยทั้งสองเข้าไปบุกรุกที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิหรือชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากเดิมที่ดินพิพาทเป็นของ จ. บิดาของจำเลยที่ 2 เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย ย. มารดาจำเลยที่ 2 ได้โอนที่ดินพิพาทให้ ว. ซึ่งมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกโดยชอบ เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินมาจาก ว. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงไม่มีข้อต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแน่ชัดที่จะแสดงว่าโจทก์ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยพินัยกรรมจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองและศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และกรณีเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2931/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดอำนาจอุทธรณ์คดีไม่มีทุนทรัพย์และทุนทรัพย์น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลย จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทมิใช่เป็นของโจทก์ แต่เป็นของผู้อื่น คือ ม. และ ห. กับมิได้อ้างว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินมาจาก ม. และ ห. และยึดถือครอบครองเพื่อตนจนได้สิทธิครอบครองแล้ว ถือไม่ได้ว่าจำเลยต่อสู้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท คดีของโจทก์ที่ฟ้องและมีคำขอบังคับให้ขับไล่จำเลยจึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เมื่อโจทก์พอใจไม่อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนที่ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จากการที่จำเลยอยู่ในที่ดินโดยละเมิดเดือนละ 2,000 บาท จึงต้องถือว่าเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ซึ่งห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ในส่วนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย แม้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่ค่าเสียหายตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นไปคำนวณถึงวันที่ 27 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นวันฟ้อง จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในส่วนนี้ก็ไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เช่นกัน อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่สิทธิที่จะฎีกาปัญหาดังกล่าวอีก เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยไว้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีขับไล่: ต้องมีนิติสัมพันธ์กับจำเลย และข้อจำกัดการอุทธรณ์/ฎีกาในคดีค่าเช่าต่ำ
คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องเพียงเดือนละ 1,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสองและมาตรา 248 วรรคสอง การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 และศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่ก่อนจึงมีสิทธิดีกว่าจำเลย แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง โดยไม่มีการรับรองหรืออนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ทั้งไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงผิดต่อกฎหมาย การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่ชอบ ขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสองและมาตรา 243 (3) (ก) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่โจทก์มีสิทธิการเช่า เพราะจำเลยครอบครองอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยไม่ได้เพราะไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน การที่จำเลยจอดรถในที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย หาใช่ละเมิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ชอบที่จะฟ้องขับไล่และขอให้ศาลเรียกการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมซึ่งจะมีผลทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6955/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์: ข้อจำกัดการอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 และการไม่เป็นฟ้องซ้ำ
โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามสิบออกจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินคืนแก่โจทก์ร่วม อันเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแม้ในคำฟ้องจะไม่ปรากฏว่าที่ดินที่จำเลยทั้งสามสิบแต่ละคนครอบครองนั้นโจทก์และโจทก์ร่วมอาจนำออกให้เช่าได้ในอัตราเดือนละเท่าใด แต่ปรากฏว่าโจทก์เช่าที่ดินทั้งหมดจากโจทก์ร่วมในราคา 450 บาท ต่อปี ดังนั้น คดีระหว่างโจทก์และโจทก์ร่วมกับจำเลยทั้งสามสิบในแต่ละคนจึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง การที่จำเลยทั้งสามสิบอุทธรณ์ว่า สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับโจทก์ร่วมไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์และโจทก์ร่วมทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสามสิบเข้าไปปลูกไม้ดอกไม้ประดับในที่ดินพิพาทตามโครงการเฉลิมพระเกียรติของอำเภอตั้งแต่ปี 2540 อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามสิบดังกล่าวมาก็เป็นการไม่ชอบ และถือว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยทั้งสามสิบจึงฎีกาในปัญหานี้ต่อมาไม่ได้ ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12874/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่และชดใช้ค่าเสียหายจากที่ดินมือเปล่า: ศาลฎีกายกปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจศาลและสิทธิฎีกา
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายจันทร์ มีทรัพย์สินมรดกเป็นที่ดินพิพาท บ. บิดาจำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทบางส่วนเพื่อทำนา ทำไร่ และขออาศัยที่ดินอีกประมาณ 4 ไร่ เพื่อปลูกบ้าน โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองเช่าและอาศัยอยู่ต่อไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนบ้านและออกไปจากที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า บ. เข้าจับจองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ ปี 2504 ต่อมา บ. ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองทำประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน ที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามคำฟ้องและคำให้การเป็นการโต้เถียงกันว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายปีละ 20,000 บาท จึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองและศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามา จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และกรณีเช่นนี้จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสอง
คดีนี้เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์ และที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ 15,000 บาท นั้น เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) ศาลฎีกาจึงแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10756/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และผลกระทบต่อการบังคับคดี
คดีนี้เป็นคดีต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ข้อห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัตินี้ต้องใช้บังคับแก่การอุทธรณ์ทั้งในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีตลอดจนปัญหาเรื่องอื่นๆ ที่เป็นสาขาคดี ซึ่งรวมถึงปัญหาในชั้นบังคับคดีด้วย โดยเหตุที่ทำให้ต้องห้ามอุทธรณ์ต้องถือตามเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ในคดีตามคำฟ้องและคำให้การที่พิพาทกันแต่เดิมนั้นเป็นลำดับ หากมีเหตุอันต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วแม้ปัญหาในชั้นสาขาคดีในส่วนการบังคับคดีจะไม่มีเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ตามเหตุต้องห้ามในคดีแต่เดิมดังกล่าว
การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จากพยานหลักฐานในสำนวนน่าจะฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยออกจากที่ดินตามฟ้องของโจทก์ภายในวันที่ 31 มกราคม 2538 ตามกำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจึงไม่อาจที่จะบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยได้ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมาเมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรแล้วย่อมยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และ 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6853/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีฟ้องขับไล่ผู้เช่า/บริวาร ค่าเช่าไม่เกิน 4,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริง
เดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่าและบริวารออกจากอสังหาริมทรัพย์ตามสัญญาเช่าที่ดินพิพาทซึ่งมีค่าเช่าปีละ 30,000 บาท หรือเดือนละ 2,500 บาท อันเป็นการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท คู่ความในคดีฟ้องขับไล่เดิมจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง เมื่อคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารของจำเลยผู้ถูกฟ้องขับไล่ในชั้นบังคับคดีอันเป็นสาขาของคดีเดิมจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงชู้ แม้ยังมิได้ฟ้องหย่า คดีกระทบสิทธิครอบครัว อุทธรณ์ได้
โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยโดยอ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับ พ. ในลักษณะชู้สาวและแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของ พ. จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่กับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาโดยตรง หาใช่คดีละเมิดธรรมดาไม่ ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6
แม้รายการใช้โทรศัพท์จะเป็นเพียงสำเนาเอกสารและโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้จำเลย แต่เมื่อปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของบริษัท อ. บุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 (2)
คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการฟ้องหย่าก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516 (1) เสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้อง
of 7