คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 797

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 887 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1521/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าตอบแทนพยาน: สัญญาจ้างพยานเบิกความและให้ข้อมูลคดี ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
โจทก์เคยช่วยติดต่อหาซื้อที่ดินให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 และ ส. และหาคนมาเช่าที่ดิน โจทก์จึงเป็นผู้รู้รายละเอียดดังกล่าว การที่จำเลยทั้งสามไปหาข้อเท็จจริงจากโจทก์และโจทก์ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับทนายความและติดตามหาบุคคลที่เกี่ยวข้องไปเป็นพยานให้งานของโจทก์จึงเป็นงานรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับคดี ส่วนที่โจทก์ต้องไปเบิกความเป็นพยานก็เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องที่ต้องกระทำไม่ขัดต่อกฎหมายเรื่องการรับฟังพยานหลักฐาน ทั้งไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามคู่ความให้ค่าตอบแทนแก่พยาน การที่ฝ่ายจำเลยทั้งสามตกลงให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 2,000,000 บาท ก็เป็นเรื่องที่เสนอผลประโยชน์แก่โจทก์เอง โจทก์มิได้เรียกร้อง เมื่อเที่ยบกับมูลค่าทรัพย์ที่ฝ่ายจำเลยทั้งสามจะได้รับคืนและจำนวนคดีที่จำเลยทั้งสามเป็นความซึ่งใช้เวลานาน 8 ถึง 9 ปี ค่าตอบแทนดังกล่าวจึงไม่สูงจนเกินไป จึงไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ
จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 1 และร่วมกันตกลงว่าจ้างโจทก์เป็นพยาน ให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีด้วย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดในฐานะเป็นผู้ร่วมว่าจ้าง กรณีมิใช่เรื่องตัวการตัวแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแทนและความรับผิดร่วมของนิติบุคคลในสัญญาซื้อขาย
หนังสือมอบอำนาจระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินคดีแพ่งว่าด้วยสัญญาซื้อขายแทนโจทก์ เป็นการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์เมื่อมีข้อโต้แย้งในเรื่องสัญญาซื้อขาย ดังนั้น เมื่อมีข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องดังกล่าวกับบุคคลใดผู้รับมอบอำนาจย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับมอบหมายได้โดยไม่จำต้องระบุว่าให้ดำเนินคดีแก่จำเลยอีก
แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดจะจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วน และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 3 ต่อไป แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชี สภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 3 ยังคงมีอยู่ต่อไปตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี จำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดในฐานะหุ้นส่วนไม่ใช่ในฐานะห้างหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249, 1077 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีและการมอบอำนาจช่วง กรณีกรรมการบริษัทลงนามมอบอำนาจแทนบริษัท
หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้า บริษัท สแกนดิเนเวียฯ โดยนาย ซ. และนาย ว. กรรมการผู้มีอำนาจ ขอแต่งตั้งให้นาย ว. แต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญบริษัท ให้เป็นตัวแทนของบริษัท และให้อำนาจดำเนินการแทนบริษัท ดังจะกล่าวต่อไปนี้ ?ข้อ 1 ให้ตัวแทนมีอำนาจฟ้องคดี ? ข้อ 9 ? ให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วง เพื่อให้มีอำนาจและดำเนินการตามอำนาจดังกล่าวข้างต้นให้ทุกประการ?" และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความว่า "ด้วยหนังสือนี้ ข้าพเจ้า บริษัทสแกนดิเนเวียฯ โดยนาย ว. กรรมการผู้มีอำนาจ ขอแต่งตั้งให้ นาย จ. และหรือ นาย ก. ให้เป็นตัวแทนของบริษัทและให้อำนาจดำเนินการแทนบริษัทดังจะกล่าวต่อไปนี้?" แม้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่านาย ว. ผู้มอบอำนาจกระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ มิได้ระบุว่ากระทำการแทนในฐานะตัวแทนโจทก์ก็ตาม แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 10 บัญญัติว่า "เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้น ดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล" ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยในคำฟ้องระบุว่า นาย จ. และหรือ นาย ก. เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วง กับอ้างหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เป็นพยานหลักฐาน ทั้งใบแต่งทนายความโจทก์ระบุว่า ผู้แต่งทนายความ คือ โจทก์ โดยนาย จ. ผู้รับมอบอำนาจช่วง จึงต้องถือว่านาย ว. มีเจตนาลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 เพื่อมอบอำนาจช่วงให้นาย จ. และหรือ นาย ก. ฟ้องคดีนี้ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ หาได้กระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์แต่อย่างใด ดังนี้ หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 จึงมีผลสมบูรณ์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญ มีอำนาจกระทำการแทนและมีผลผูกพันโจทก์ ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ในการดำเนินคดีนี้ โจทก์มอบอำนาจให้นาย ว. เป็นผู้ดำเนินคดีแทนและมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ ซึ่งนาย ว. ได้มอบอำนาจช่วงให้นาย จ. และ/หรือ นาย ก. เป็นผู้ดำเนินคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และ 3 ดังนั้น นาย ว.ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์มีฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ด้วย รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ การกระทำของนาย ว. ตามหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่ขัดกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ "ข้อ 1 มีอำนาจกระทำการ และลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ และมีอำนาจมอบอำนาจช่วงแก่บุคคล หรือนิติบุคคลอื่นใดเกี่ยวกับกิจการให้เช่า/เช่าซื้อของบริษัท ดังนี้ 1.1 ยึดทรัพย์สินที่ให้เช่า/เช่าซื้อ 1.2? 1.6?" ข้อความดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการและลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ แทนโจทก์ส่วนหนึ่ง กับมีอำนาจมอบอำนาจช่วงแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใดเกี่ยวกับกิจการให้เช่าหรือเช่าซื้อของโจทก์ตามที่ระบุในข้อ 1.1 ถึง ข้อ 1.6 อีก
ส่วนหนึ่ง ดังนั้น นางสาว พ. และนาย ส. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารในฐานะตัวแทนตรวจสอบเอกสาร L/C หน้าที่ต่อตัวการและผู้รับประโยชน์
แม้จำเลยจะต้องตรวจสอบเอกสารการส่งสินค้าออก แต่หน้าที่ของจำเลยดังกล่าวเกิดจากการแต่งตั้งและมอบหมายจากธนาคาร ฟ. และธนาคาร บ. จำเลยจึงปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนของธนาคาร ฟ. ผู้เปิดเครดิตกับธนาคาร บ. ผู้ยืนยันเครดิต หากจำเลยปฏิบัติหน้าที่บกพร่องก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธนาคารซึ่งเป็นตัวการ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบต่อตัวการโดยความรับผิดชอบในการตรวจเอกสารตามยูซีพี 500 มุ่งหมายถึงหน้าที่และความรับผิดของธนาคารที่เกี่ยวข้องในการตรวจเอกสารเลตเตอร์ออฟเครดิตก็เพื่อให้ถูกต้องตามเงื่อนไขในการขอเปิดเครดิตของลูกค้าผู้ขอเปิดเครดิตเพื่อประโยชน์แก่ผู้ขอเปิดเครดิตนั้นในอันที่จะได้รับเอกสารถูกต้องครบถ้วนตามคำขอเปิดเครดิต มิใช่หน้าที่เพื่อประโยชน์แก่ผู้รับประโยชน์ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่จัดหาเอกสารที่ถูกต้องครบถ้วนมาแสดงเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6550/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม: ศาลแก้ไขการคิดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด)
การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนั้นมิได้มีข้อจำกัดตามกฎหมายว่าจะต้องมอบอำนาจให้ฟ้องบุคคลใดเป็นคดีเรื่องใดโดยเฉพาะเจาะจงเท่านั้น เมื่อหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมีข้อความระบุไว้ชัดว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจคือนาย ส. ฟ้องคดีแทนได้แล้ว นาย ส. ก็มีอำนาจที่จะฟ้องคดีต่าง ๆ แทนโจทก์ได้ รวมทั้งฟ้องจำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์เป็นคดีนี้ได้โดยชอบด้วย โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องทำหนังสือมอบอำนาจระบุเป็นการเฉพาะให้ฟ้องจำเลยทั้งห้าอีก
ตามสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำกันไว้มีข้อตกลงว่า "...ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายให้แก่ธนาคาร โดยคำนวณเงินตราต่างประเทศที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารต้องชำระค่าสินค้าแทนข้าพเจ้า หรือตามอัตราที่ตกลงกันไว้ หรือในอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร ณ วันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีทหรือในอัตราที่ได้กำหนดไว้แนบท้ายหนังสือนี้ โดยข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารเป็นผู้เลือกที่จะใช้อัตราใดแล้วแต่จะเห็นสมควร..." แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันไว้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินไทยจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนวันใดให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิเลือกตามแต่โจทก์จะเห็นสมควร ข้อตกลงเช่นนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับกันได้โดยชอบ การที่โจทก์คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามที่โจทก์จ่ายไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตเป็นเงินไทยในวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาทรัสต์ซีรีทนั้นจึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาทรัสต์รีซีท
สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุว่า กรณีจำเลยที่ 1 ได้ขายสินค้า หรือแม้มิได้นำสินค้าออกขายก็ตาม จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้แนบท้ายแก่ธนาคารโจทก์ โดยคำนวณเงินตราต่างประเทศตามที่ตกลงไว้ โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด นับแต่วันที่ธนาคารโจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 และ ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารโจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้แนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราสูงสุด ดังนี้ข้อความที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ที่ระบุว่า "อัตราสูงสุด" ประกอบกับข้อความที่ขยายความคำว่า "อัตราสูงสุด" ว่า "ที่ธนาคาร (โจทก์)ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด" จึงมีความหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันโดยมีเจตนาให้เป็นอัตราสูงสุดที่ถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศกำหนดไว้ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 อันได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) และเมื่อสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 7 ที่ตกลงกันว่าในกรณีผิดนัดให้คิดดอกเบี้ยใน "อัตราสูงสุด" ซึ่งย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยตามข้อ 4 หรือเป็นอัตราเดียวกันดังที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น จึงถือได้ว่าสัญญาทรัสต์ซีรีทได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แน่นอนเป็นอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป (ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์แล้ว โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเพียงร้อยละ 18.50 ต่อปี และ 16.50 ต่อปี ซึ่งก็ล้วนเป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป(ที่ไม่ผิดนัด) ตามประกาศธนาคารโจทก์ ที่มีผลบังคับในขณะคิดดอกเบี้ยนั้นเช่นกัน หลังจากนั้นจึงคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ซึ่งการคิดดอกเบี้ยดังกล่าวนอกจากจะไม่เกินกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ดังกล่าวแล้ว ยังกลับเป็นคุณแก่จำเลยทั้งห้าอีกด้วย แม้ต่อมาภายหลังปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามอัตราดังกล่าวตามประกาศธนาคารโจทก์ที่มีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลาจนกระทั่งเป็นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขนับตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนถึงวันฟ้อง อันทำให้เห็นเป็นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้โดยอ้างสิทธิตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ทำนองเป็นเบี้ยปรับก็ตาม แต่ที่ถูกนั้นแม้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้ว โจทก์จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ใน "อัตราสูงสุด" ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับอัตราตามสัญญาข้อ 4 ซึ่งได้แก่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ มิใช่อัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์การคิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเพียงการคิดดอกเบี้ยที่ไม่ถูกต้อง ผิดจากข้อสัญญาเท่านั้น มิใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยตามข้อสัญญาที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) ตกลงให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในลักษณะเป็นการตกลงใช้เงินจำนวนหนึ่ง หรือค่าเสียหายเพราะเหตุที่ลูกหนี้ (จำเลยที่ 1) ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระให้ถูกต้องสมควร อันเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลอาจพิพากษาให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตามมาตรา 383 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้เช็คผ่านนายวงแชร์: การระงับหนี้เมื่อชำระเงินให้นายวงแชร์ซึ่งเป็นตัวแทนของโจทก์
นายวงแชร์คือบุคคลที่จัดให้มีการเล่นแชร์ขึ้น โดยมีหน้าที่จัดให้มีการประมูลแชร์รวบรวมเงินจากผู้ร่วมเล่นแชร์เพื่อมอบให้แก่ผู้ประมูลแชร์ได้ ต้องรับผิดชอบถ้าผู้ประมูลแชร์ได้รับเงินไม่ครบ นายวงแชร์จะได้รับผลตอบแทนโดยได้รับเงินจากผู้ร่วมเล่นแชร์เป็นอันดับแรกโดยไม่ต้องประมูล ดังนั้น เมื่อโจทก์ประมูลแชร์ได้ บ. นายวงแชร์จึงมอบเช็คของผู้ร่วมเล่นแชร์รวมทั้งเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คที่โจทก์ได้รับถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 10 ฉบับ โจทก์จึงทวงถามให้ บ. ในฐานะเป็นนายวงแชร์รับผิดชอบและได้มอบเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 10 ฉบับให้แก่ บ. เพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นเช็คฉบับใหม่หรือเปลี่ยนเป็นเงินสด หาใช่ บ. ไปรับเฉพาะเช็คพิพาทมาจากโจทก์เท่านั้น บ. จึงหาใช่ตัวแทนของจำเลยแต่เป็นตัวแทนของโจทก์ เมื่อ บ. นำเช็คพิพาทไปแลกเงินสดจากจำเลยได้แล้ว ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามเช็คให้แก่โจทก์แล้ว จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10443/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์นำไปจดทะเบียนได้ หากมีข้อตกลงชัดเจนก่อนหน้า
โจทก์กู้เงินจากจำเลยและมอบหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้โดยไม่กรอกข้อความให้แก่จำเลยยึดถือไว้ โดยมีข้อตกลงด้วยว่าหากโจทก์ไม่มีเงินชำระคืนตามกำหนด ให้จำเลยนำเอกสารดังกล่าวไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยได้ การที่ต่อมาโจทก์ไม่สามารถหาเงินมาชำระคืนจำเลยได้และจำเลยได้กรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแล้วนำไปจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย เป็นไปตามที่ตกลงกัน จำเลยจึงมีอำนาจกระทำได้ หนังสือมอบอำนาจจึงไม่ใช่เอกสารปลอม และนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4711/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กิจการร่วมลงทุน: ความรับผิดร่วมกันในสัญญาซื้อขายและสัญญาจ้างก่อสร้าง
แม้โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโครงการจัดสรรจากจำเลยที่ 2 และทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ปลูกสร้างอาคารบนที่ดินแปลงดังกล่าว โดยโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงนี้จากจำเลยที่ 2 อีฉบับหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาสัญญาทั้งสามฉบับประกอบสำเนาโฉนดที่ดิน ที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ทำสัญญาจะขายให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ไว้ต่างหากเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าโครงการจัดสรรที่ดินและบ้านเป็นกิจการร่วมลงทุนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อสร้างอาคารบนที่ดินของจำเลยที่ 2 เพื่อจัดจำหน่ายให้แก่ประชาชนแล้วแบ่งผลกำไรร่วมกัน ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองประกอบการร่วมกันเช่นนี้จึงต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายใด ๆ ที่เกิดจากโครงการดังกล่าวต่อคู่สัญญาและบุคคลภายนอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินมรดก สัญญาจะซื้อขายที่มีเงื่อนไข และการยินยอมของทายาทคนอื่น
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 รู้เห็นและยินยอมให้จำเลยที่ 2 มารดาเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขาย ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ฝ่ายผู้จะซื้อ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาในฐานะคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขายก็ตาม แต่การแสดงออกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าวเป็นการเชิดให้จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดาและผู้ครอบครองที่ดินพิพาทออกเป็นตัวแทนหรือยินยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1และที่ 3 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทอันจำเลยที่ 1 และที่ 3 มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 และการนำจำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าเป็นคู่สัญญากับโจทก์ ก็หาจำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ไม่ ทั้งการที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หาใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาจะซื้อขายอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่ เพราะเป็นแต่เพียงการนำสืบความจริงว่า จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนเข้าเป็นคู่สัญญากับโจทก์เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1156/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับมอบสินค้าขัดต่อสิทธิผู้รับตราส่ง และความรับผิดของตัวแทนผู้ขนส่งและผู้รับสินค้า
ใบตราส่งระบุว่า จำเลยเป็นตัวแทนผู้ขนส่งในการส่งมอบสินค้า แสดงว่าจำเลยมิใช่ผู้ขนส่งแต่เป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่ง จำเลยจึงมิได้เป็นคู่สัญญากับผู้ส่งของในสัญญารับขนของทางทะเล จำเลยได้รับคำสั่งจาก ค. ตัวแทนของผู้ขนส่งให้มอบใบสั่งปล่อยสินค้าพิพาทแก่จำเลยร่วมโดยแจ้งว่าต้นฉบับใบตราส่งได้มีการเวนคืนให้แก่ผู้ขนส่งแล้วที่ต้นทางโดยส่งโทรสารใบตราส่งมายืนยันให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวด้วย จำเลยจึงได้มอบใบสั่งปล่อยสินค้าให้จำเลยร่วมนำไปรับมอบสินค้าโดยไม่ได้มีการเวนคืนใบตราส่งจากจำเลยร่วม ตามโทรสารใบตราส่งก็ปรากฏชื่อจำเลยร่วมเป็นผู้รับตราส่ง กรณีไม่มีเหตุให้จำเลยทราบได้ว่าคำสั่งให้ปล่อยสินค้าพิพาทแก่จำเลยร่วมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ การที่จำเลยปล่อยสินค้าพิพาทให้แก่จำเลยร่วมโดยไม่ได้เวนคืนใบตราส่งจึงเป็นการที่จำเลยซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ขนส่งตามสัญญาตัวการตัวแทนระหว่างจำเลยกับผู้ขนส่งปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ขนส่งซึ่งเป็นตัวการโดยสุจริต ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตระบุเงื่อนไขไว้อย่างแจ้งชัดว่าเอกสารใบตราส่งให้ทำในนามโจทก์และให้แจ้งแก่จำเลยร่วม แม้ข้อความในตอนต่อมาจะระบุว่าเอกสารที่ใช้ในการส่งสินค้าทั้งหมดให้ออกในนามจำเลยร่วมก็ตาม ก็ย่อมหมายความว่าเอกสารที่ใช้ในการขนส่งทั้งหมดให้ออกในนามจำเลยร่วม เว้นแต่ใบตราส่งให้ทำในนามโจทก์กล่าวคือ ให้โจทก์เป็นผู้รับตราส่งและให้แจ้งการมาถึงประเทศไทยของเรือบรรทุกสินค้าพิพาทให้จำเลยร่วมทราบ นอกจากนี้ผู้บริหารของ ค. กับบริษัทจำเลยร่วมเป็นผู้บริหารกลุ่มเดียวกัน จำเลยร่วมรับสินค้าไปจากผู้ขนส่งตามคำสั่งของ ค. จึงเชื่อได้ว่าขณะที่จำเลยร่วมรับสินค้าพิพาทไปจากผู้ขนส่ง จำเลยร่วมย่อมทราบดีว่าผู้รับตราส่งคือโจทก์มิใช่จำเลยร่วม โดยจำเลยร่วมเป็นเพียงผู้รับแจ้งการมาถึงประเทศไทยของเรือบรรทุกสินค้าพิพาทเท่านั้น หามีสิทธิที่จะรับสินค้าพิพาทจากผู้ขนส่งได้ไม่ การที่จำเลยร่วมขอรับสินค้าพิพาทไปจากจำเลยตัวแทนผู้ขนส่งโดยไม่มีสิทธิ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์โดยจงใจทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งไม่ได้รับสินค้าและไม่ได้รับชำระค่าสินค้าที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ผู้ขายไปแล้ว จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์
of 89