คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 87 ทวิ (7

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4114/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดรายรับขั้นต่ำทางภาษี ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตาม การประเมินภาษีเป็นโมฆะ
เจ้าพนักงานสรรพากรส่งแบบ ภ.ค.45 ไปให้โจทก์ แต่หนังสือดังกล่าวไม่ถึงโจทก์เพราะระบุเลขบ้านผิด เห็นได้ว่า การกำหนดรายรับขั้นต่ำที่พิพาทคดีนี้เจ้าพนักงานสรรพากรยังไม่ได้ส่งแบบ ภ.ค.45 ให้โจทก์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 38) ข้อ 3 และข้อ 4ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า(ฉบับที่ 44) ซึ่งออกตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 86 เบญจการใช้อำนาจกำหนดรายรับขั้นต่ำของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกำหนดรายรับขั้นต่ำตามมาตรา 86 เบญจ เป็นคนละกรณีกับมาตรา 87,87 ทวิ (7) และ 87 ตรี แม้โจทก์จะเคยได้รับหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินเพื่อตรวจสอบไต่สวน หรือเจ้าพนักงานประเมินจะเคยกำหนดรายรับขั้นต่ำของโจทก์มาก่อนแล้วแต่เมื่อการกำหนดรายรับขั้นต่ำครั้งพิพาทนี้เจ้าพนักงานประเมินมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามมาตรา 86 เบญจ จึงเป็นการไม่ชอบ เจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าใช้อำนาจกำหนดรายรับขั้นต่ำของโจทก์โดยมิชอบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา คำวินิจฉัยคำคัดค้านของอธิบดีกรมสรรพากรจึงไม่ถึงที่สุด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 65/2531 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีการค้าที่ชอบด้วยกฎหมายและการผูกพันของหุ้นส่วนผู้จัดการต่อการชำระภาษี
แม้เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 จะไม่มีอำนาจกำหนดรายรับขั้นต่ำประจำเดือนของโจทก์ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2525เป็นต้นไป เพราะโจทก์ยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือปฏิบัติขัดต่อประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ก็ตาม แต่ได้ความว่าเมื่อโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าเพื่อเสียภาษีการค้าในปี พ.ศ. 2525ไว้แล้ว ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่าโจทก์ได้แสดงรายการการค้าเพื่อเสียภาษีต่ำกว่าที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดไว้จึงแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2525ถึงเดือนธันวาคม 2525 และเดือนมกราคม 2526 ถึงเดือนเมษายน 2526โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 87,87 ทวิ(7) นั้น เป็นการแจ้งการประเมินภาษีการค้าที่ชอบแล้ว หลังจากที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีการค้าเพิ่มแล้วการที่ น.หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ยอมรับว่าเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บภาษีการค้าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มถูกต้องแล้วรวมทั้งสละสิทธิในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โจทก์จะโต้เถียงว่าเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีการค้าเพิ่มรวมตลอดถึงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3ที่ 4 และที่ 5 ว่าไม่ชอบนั้นไม่ได้ การกระทำของ น.ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์มีผลผูกพันโจทก์ให้ต้องเสียภาษีการค้าเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บเพิ่มขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 550/2522 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการกำหนดรายรับย้อนหลังเพื่อประเมินภาษีการค้าตาม ปร. 87 ทวิ (7) และ 88 ทวิ (1)
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงไปควบคุมรายรับของโจทก์เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดรายรับให้ถูกต้อง ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ทวิ (7) และการกำหนดรายรับของผู้ประกอบการค้าด้วยวิธีดังกล่าว กฎหมายมิได้จำกัดว่าให้ทำได้เฉพาะรายรับของปีปัจจุบันเท่านั้น หากเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าปีใดผู้ประกอบการค้ายื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ไม่ถูกต้อง หรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป เจ้าพนักงานประเมินก็ย่อมมีอำนาจกำหนดรายรับของผู้ประกอบการค้าสำหรับในปีนั้นได้เพื่อจะนำมาประเมินภาษีตามมาตรา 87 และการประเมินดังกล่าวมาตรา 88 ทวิ (1) บัญญัติให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า หรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง ถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้า ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับของโจทก์ด้วยวิธีควบคุมรายรับดังกล่าวแล้วประเมินภาษีย้อนหลังไปภายใน 5 ปี (นับแต่ปีที่ควบคุมรายรับ) จึงชอบด้วยกฎหมาย