คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 339

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 346 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์ในเคหสถานโดยแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงาน ศาลฎีกาแก้เป็นความผิดฐานลักทรัพย์และทำร้ายร่างกาย
ตามมาตรา 1 (1) แห่ง ป.อ. กำหนดบทนิยามคำว่า "โดยทุจริต" หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำโดยทุจริตจึงมิได้จำกัดว่าต้องเป็นการแสวงหาประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์เท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมมีหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของตนหรือเป็นการเอาไปเพื่อทำลายหลักฐาน จึงเป็นการเอาทรัพย์นั้นไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ และถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอันเป็นการลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริตแล้ว
การที่จำเลยทั้งสามไปที่ร้านที่เกิดเหตุโดยอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดขอตรวจค้นและใส่กุญแจมือโจทก์ร่วมไพล่หลังมิได้กระทำเพื่อเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา 339 (1) ถึง (5) ในการที่จะเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไป แต่เป็นการทำเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมขัดขืนหรือหลบหนี ดังนั้น การลักเอาฮาร์ดดิสก์ของโจทก์ร่วมไปจึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นในภายหลัง การใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม อันจะเป็นความผิดข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืน แต่เป็นเพียงความผิดข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืนโดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงานและโดยมีหรือใช้อาวุธปืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ปืนอัดลมไม่ใช่ 'อาวุธปืน' ตามกฎหมาย ศาลยกฟ้องความผิดมีอาวุธปืน และพิพากษาให้นับโทษคดีอื่น
แม้ความผิดข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อมีการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในข้อหาชิงทรัพย์ในเคหสถานโดยมีและใช้อาวุธปืนและโดยใช้ยานพาหนะแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่าจำเลยใช้ปืนอัดลมขู่ผู้เสียหายไม่ให้ขัดขืนจนผู้เสียหายเกิดความกลัว แต่โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าปืนอัดลมดังกล่าวมีคุณสมบัติและระบบการทำงานซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนได้ อันจะเป็นอาวุธปืนตามบทนิยามคำว่า "อาวุธปืน" แห่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 กรณีจึงไม่อาจสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้ และคดีต้องฟังข้อเท็จจริงว่าปืนอัดลมดังกล่าวมิใช่อาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ แต่เป็นเพียงสิ่งเทียมอาวุธปืน อันถือไม่ได้ว่าเป็นอาวุธโดยสภาพตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 1 (5) แห่ง ป.อ. การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร และชิงทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8209/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำแนกความผิดจากชิงทรัพย์เป็นลักทรัพย์ เนื่องจากไม่มีการใช้กำลังข่มขู่
พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงแต่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและสอบถามว่า เสพยาเสพติดหรือไม่แล้วขอตรวจค้นตัวผู้เสียหายทั้งสองก่อนที่จะล้วงเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายที่ 1 เอาบุหรี่ของผู้เสียหายที่ 2 ไปและบอกว่าจะพาไปตรวจปัสสาวะ หากไม่พบสารเสพติดก็จะปล่อยตัวไปนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 คดีคงฟังได้เพียงว่า จำเลยร่วมกับพวกที่ยังหลบหนีกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (6) (7) วรรคสอง ซึ่งความผิดฐานนี้เป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ที่ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษให้ถูกต้องได้เพราะความผิดฐานนี้มีโทษเบากว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3116/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ vs. ขู่เข็ญทำให้ตกใจกลัว ศาลพิจารณาพฤติการณ์และเจตนาของผู้กระทำ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 โดยมิได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 392 แม้การที่จำเลยใช้มีดขู่เข็ญให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือตกใจเป็นความผิดตาม มาตรา 392 ก็ตาม แต่ความผิดฐานนี้ไม่ใช่การกระทำอันรวมอยู่ในความผิดฐานชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 392 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7532/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์ การใช้กำลังประทุษร้ายต้องกระทำต่อตัวทรัพย์หรือตัวผู้เสียหายโดยตรง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับ ป. ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลม 1 เล่ม ฟันข้อมือขวาของผู้เสียหาย 1 ครั้ง มิได้บรรยายว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายโดยใช้สายไฟของเครื่องเป่าผมผูกมัดประตูห้องน้ำไว้กับประตูระเบียงห้องจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่สามารถออกจากห้องน้ำได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวจำเลยและ ป. มิได้ใช้แรงกายภาพกระทำต่อผู้เสียหาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ คงเป็นการกระทำที่เป็นการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 310 ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำที่โจทก์บรรยายฟ้องและประสงค์จะให้ลงโทษจำเลย ส่วนการที่ผู้เสียหายใช้มือข้างขวาเปิดบานเกล็ด ป. ใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลมฟันข้อมือผู้เสียหาย 1 ครั้ง เป็นเหตุให้มีบาดแผลยาว 1 ซ.ม. เมื่อผู้เสียหายร้องขอให้จำเลยเอายามาให้ ป. เอายามาให้ผู้เสียหาย นับว่าผิดวิสัยของคนร้ายที่ประสงค์ทำร้ายร่างกายเจ้าของทรัพย์เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ การกระทำของ ป. จึงเป็นการกระทำที่มิได้เกี่ยวเนื่องกับการลักทรัพย์และเป็นเรื่องเฉพาะตัวของ ป. เอง เพราะจากคำเบิกความของผู้เสียหายไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้เห็นด้วยในลักษณะอย่างใด จำเลยคงมีความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3656/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระบุบทความผิดชิงทรัพย์: พิจารณาเฉพาะวรรคที่มีโทษหนักที่สุด
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์แล้ว และปรากฏว่าการชิงทรัพย์ของจำเลยมีเหตุฉกรรจ์ทำให้ต้องได้รับโทษหนักขึ้น และเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 ทั้งวรรคสองและวรรคสาม ในการระบุบทมาตราแห่งความผิดก็ระบุเฉพาะวรรคที่มีบทหนักที่สุดเพียงวรรคเดียว หาจำต้องระบุให้ครบทุกวรรคไม่ เพราะแต่ละวรรคต่างมีองค์ประกอบความผิดเช่นเดียวกับวรรคแรก แตกต่างกันเฉพาะเหตุที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น ดังนั้น เมื่อการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 339 วรรคสาม ซึ่งเป็นบทหนักกว่าวรรคสองแล้ว ก็ไม่ต้องระบุวรรคสองซึ่งเป็นอัตราโทษเบากว่าอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 869/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยายามชิงทรัพย์ด้วยอาวุธปืน: การกระทำไม่สำเร็จเพราะเจตนาแค่ค้นหาสินค้า
จำเลยใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญผู้เสียหายว่าอย่าส่งเสียงและให้ส่งของมีค่าให้ เมื่อผู้เสียหายส่งกระเป๋าสะพายให้และพูดว่า จะเอาอะไรก็เอาไปขอบัตรประจำตัวประชาชนไว้ จำเลยค้นกระเป๋าสะพายแล้วเห็นว่าไม่มีของมีค่าจึงส่งกระเป๋าสะพายคืนให้ และคลำที่คอผู้เสียหายเพื่อหาสร้อยคอ ผู้เสียหายบอกจำเลยว่าไม่มีของมีค่าติดตัวมา จำเลยจึงปล่อยตัวผู้เสียหายแล้วเดินหนีไป แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ประสงค์จะแย่งเอากระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไปเป็นของตน เพียงแต่ต้องการค้นหาของมีค่าในกระเป๋าสะพายเท่านั้น มิฉะนั้นเมื่อจำเลยได้กระเป๋าสะพายแล้วก็ต้องหลบหนีไปทันทีโดยไม่ต้องเปิดดูและคืนกระเป๋าสะพายให้ผู้เสียหาย ดังนั้น เมื่อจำเลยยังไม่ได้ของมีค่าตรงตามเจตนาของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นการชิงทรัพย์สำเร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11107-11108/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานชิงทรัพย์และเป็นซ่องโจร: ศาลฎีกาแก้ไขบทลงโทษให้ถูกต้องตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 กับพวกร่วมกันวางแผนไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมีความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 6 ไปชิงทรัพย์ของผู้เสียหายตามแผนที่ร่วมกันวางไว้ ย่อมเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะ แต่ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานชิงทรัพย์เกี่ยวเนื่องกัน กล่าวคือ พวกจำเลยที่ 1 และที่ 6 กระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเพื่อจะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 6 ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรด้วย จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 6 ไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10288/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความน่าเชื่อถือพยานหลักฐาน, การชี้ตัวผู้ต้องหา, และการเปลี่ยนแปลงข้อกล่าวหาจากชิงทรัพย์เป็นรับของโจร
คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนและบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพก็เป็นพยานบอกเล่า และจำเลยนำสืบปฏิเสธว่ามิได้เกิดจากความสมัครใจเช่นนี้ คำให้การดังกล่าวโดยลำพังไม่อาจรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้ กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าผู้เสียหายจำจำเลยได้ว่าเป็นคนร้ายที่ชิงทรัพย์ของผู้เสียหายหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง พฤติการณ์ของจำเลยที่ซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวมาในสภาพที่มีร่องรอยการขูดลบแก้ไขหมายเลขเครื่องยนต์และหมายเลขตัวถังรถ ไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน ไม่ติดแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษี และไม่ได้สมุดคู่มือจดทะเบียน ซึ่งเป็นสภาพที่ผิดปกติจากการซื้อขายรถจักรยานยนต์ทั่วไป จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ซื้อไว้โดยสุจริต และย่อมรู้ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่าขณะซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจำเลยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดฐานรับของโจรตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก เท่านั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในระหว่างการพิจารณาแตกต่างกับที่กล่าวในฟ้อง แต่เป็นข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดฐานรับของโจรและชิงทรัพย์ ซึ่งความผิดฐานชิงทรัพย์ได้รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วยแล้ว จึงไม่ให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อพิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องที่เกินคำขอหรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9805/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระชากทรัพย์ทำให้ล้ม: ไม่ถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายโดยเล็งเห็นผล
การกระทำโดยเล็งเห็นผลนั้นหมายความว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าผลนั้นอาจเกิดขึ้นได้ ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้าย ขณะที่รถจักรยานยนต์ของจำเลยทั้งสองประกบรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 กระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายที่แขวนอยู่ที่กระจกรถจักรยานยนต์อย่างแรง ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายล้มลงและผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยทั้งสองไม่อาจเล็งเห็นผลได้แน่นอนว่าการกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 จะทำให้รถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับล้มลงเพราะรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายอาจจะล้มหรือไม่ล้มก็ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น แม้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจะล้มลงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายอันเป็นผลมาจากแรงกระชากกระเป๋าสะพายของจำเลยที่ 1 ก็หาใช่จำเลยทั้งสองกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลอันถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายของกฎหมายแต่ประการใดไม่ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามฟ้อง คงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดเท่านั้น
of 35