พบผลลัพธ์ทั้งหมด 346 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ชิงทรัพย์โดยมีพยานหลักฐานยืนยันการกระชากสร้อยคอของผู้เสียหาย แม้จำเลยอ้างพยานเบิกความแตกต่างกัน ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาเดิม
ผู้เสียหายกับภริยาต่างยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้กระชากสร้อยคอผู้เสียหายไป ผู้เสียหายและภริยาต่างรู้จักกับจำเลย มีบ้านอยู่ในซอยเดียวกัน และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน หลังเกิดเหตุผู้เสียหายไปแจ้งความ พาเจ้าพนักงานตำรวจมาที่เกิดเหตุ และตามจับจำเลยได้ พยานหลักฐานโจทก์มั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยกระชากสร้อยคอผู้เสียหายจริง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 360/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาชิงทรัพย์: การกระทำด้วยอารมณ์โกรธแค้น ไม่เข้าข่ายความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นการข่มขืนใจ
จำเลยกับผู้เสียหายเป็นนักศึกษาต่างสถาบัน นักศึกษาของสถาบันทั้งสองเคยมีเรื่องวิวาทชกต่อยกันเป็นประจำ จำเลยเคยถูกนักศึกษาสถาบันเดียวกับผู้เสียหายทำร้ายด้วยมีดได้รับบาดเจ็บ และเคยถูกถีบตกลงจากรถยนต์โดยสาร การที่จำเลยกระชากคอเสื้อและพูดขู่ผู้เสียหายให้ถอดเข็มขัดของผู้เสียหายให้จำเลยเมื่อพบกันในศูนย์การค้าโดยเข็มขัดดังกล่าวมีหัวเข็มขัดที่นักศึกษาสถาบันการศึกษาของผู้เสียหายใช้เท่านั้น และมีราคาเพียง 30 บาท ซึ่งจำเลยไม่สามารถนำไปใช้หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินได้ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องจำเลยกระทำไปด้วยอารมณ์โกรธแค้น มิได้ประสงค์ต่อผลในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าวโดยแท้จริงจึงเป็นการกระทำที่ขาดเจตนาลักทรัพย์ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามชิงทรัพย์ แต่การที่จำเลยขู่เข็ญให้ผู้เสียหายส่งเข็มขัดให้แก่จำเลย เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้กระทำตามที่จำเลยประสงค์ โดยทำให้กลัวว่าจะทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดต่อเสรีภาพตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยข้อหาชิงทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดินอันไม่อาจยอมความได้ การที่ผู้เสียหายเบิกความและยื่นคำร้องแต่ฝ่ายเดียวว่า การกระทำของจำเลยไม่มีเจตนาที่จะชิงทรัพย์ เพราะเป็นการเข้าใจผิดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และจำเลยเป็นนักศึกษาอยู่ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความกับจำเลย ถือได้แต่เพียงว่าเป็นคำแถลงที่ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความกับจำเลยและขอให้ศาลปรานีจำเลยเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายกับจำเลยยอมความกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 201/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาโทษจำคุกสำหรับผู้กระทำความผิดพยายามชิงทรัพย์ โดยคำนึงถึงอายุ ประวัติ และพฤติการณ์แห่งคดี
จำเลยกระทำผิดฐานพยายามชิงทรัพย์โดยใช้ผ้าชุบน้ำยาอีเทอร์ปิดจมูกผู้เสียหาย เพื่อทำให้ผู้เสียหายหมดสติ และผลักผู้เสียหายกระแทกถูกผนังห้องน้ำจนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บท้ายทอยบวม โดยประสงค์จะเอานาฬิกาข้อมือ 1 เรือนและสร้อยข้อมือทองคำหนัก 1 สลึงของผู้เสียหายที่ใส่ติดตัวอยู่ไป แต่มีผู้มาช่วยเหลือ จำเลยจึงเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปไม่ได้ ดังนี้ แม้พฤติการณ์ในการกระทำผิดของจำเลยจะร้ายแรง แต่ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุเพียง19 ปี ไม่ปรากฏประวัติและความประพฤติที่เสียหาย คงได้ความเพียงว่าจำเลยไม่สนใจศึกษาเล่าเรียน จนสถานศึกษาที่จำเลยศึกษาอยู่ให้จำเลยพ้นสภาพจากการเป็นนักศึกษาเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลย 8 ปี ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี จึงเหมาะสมแก่รูปคดี.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3608/2535
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน, บุกรุก, ข่มขืนใจ, ชิงทรัพย์ และการแก้ไขโทษตามประมวลกฎหมายอาญา
ความผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่มีโทษสถานเดียวคือประหารชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 เมื่อจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษดังกล่าวตามมาตรา 80 เท่ากับลดโทษลงมาหนึ่งในสามนั่นเอง ซึ่งคงเหลือเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ตามมาตรา 52(1) หลังจากจำเลยใช้อาวุธปืนยิง ท.แล้ว จำเลยได้ใช้อาวุธปืนจี้เอารถจักรยานยนต์ของ ร.ขับหลบหนีไป แล้วนำรถจักรยานยนต์นั้นไปทิ้งไว้ข้างทางห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 กิโลเมตร ไม่ได้นำรถจักรยานยนต์ไปเป็นประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีเจตนาประสงค์จะเอาทรัพย์คือรถจักรยานยนต์นั้น คงมีเจตนาเพียงต้องการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อหลบหนีเท่านั้นจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้อง แต่การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อาวุธปืนข่มขืนใจ ร. ให้มอบรถจักรยานยนต์โดย ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกาย อันเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามทางพิจารณาที่ได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคท้าย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกานับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่น ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้มีคำขอมาท้ายฟ้องหรือขอแก้เพิ่มเติมฟ้องในเรื่องขอให้นับโทษต่อเสียก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพิ่งจะขอมาหลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาและจำเลยฎีกาต่อมา จึงไม่อาจนับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1570/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ชิงทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำต่อเนื่องแสดงเจตนาชิงทรัพย์
จำเลยทำร้ายและค้นเอาทรัพย์ของผู้เสียหายโดยได้กระทำต่อเนื่องกันทั้งหลังจากได้ทรัพย์แล้วยังมีการข่มขู่ผู้เสียหายอีกย่อมเห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำการทั้งหมดเป็นอันเดียวกันมาแต่ต้นหาใช่เจตนาเพียงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายแต่แรกแล้วเกิดเจตนาลักทรัพย์ของผู้เสียหายขึ้นภายหลังจากที่ได้ทำร้ายผู้เสียหายไปแล้วไม่ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ มีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กาย ตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสาม ฎีกาของจำเลยกล่าวอ้างข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีปรากฏในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เพื่อจะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องว่า ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ จึงเป็นข้อกฎหมายที่ไร้สาระเพราะเมื่อไม่มีข้อเท็จจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้างย่อมไม่เกิดข้อกฎหมายอันจะเป็นสาระแก่คดีขึ้นได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 330/2535
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ทำร้ายร่างกายและการลักทรัพย์: การประเมินเจตนาและพยานหลักฐานในการพิพากษา
พวกจำเลยล้อมรถขายไอศกรีม ของผู้เสียหายไว้ จำเลยที่ 3 เข้าต่อรองราคา แม้จะเป็นราคาที่อาจรู้ว่าผู้เสียหาย ไม่ตกลงด้วย ก็ไม่ถือว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อผู้เสียหาย การล้อมรถโดยไม่ปรากฏว่ามีท่าทางว่า จะเข้ามาทำร้ายผู้เสียหาย เพียงแต่ยืนจับกลุ่มกันอยู่ก่อน ไม่ถือว่าเป็นการใช้พวกเข้าขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ผู้เสียหายยอมจะให้ทรัพย์แก่พวกจำเลย จึงไม่เป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ จำเลยที่ 3 เจ้ามาขอซื้อไอศกรีม 7-8 แท่ง ในราคา 1 บาท จนผู้เสียหายไม่พอใจและชักอาวุธออกมา จำเลยทั้งสาม จึงกลุ้มรุมทำร้ายผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายชักอาวุธออกมา มิใช่เพราะเจตนาจะทำร้ายผู้เสียหายเพื่อประสงค์ต่อไอศกรีม ของผู้เสียหายแต่แรก ทั้งยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 หยิบเอาไอศกรีม ไปแจกจ่ายพวกจำเลย ประกอบกับ หลังจากนั้น โจทก์ไม่มีพยานยืนยันว่าจำเลยทั้งสามร่วมกัน ลักเอาไอศกรีม ดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่เป็นความผิดทำร้ายร่างกาย ผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์มีความเห็นว่ามีรอยบวมเล็กน้อยที่ขมับด้านซ้าย บาดแผลรักษาหายภายใน3 วัน เป็นความเป็นผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4109/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปเพื่อประกันหนี้ ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ผู้เสียหายเป็นหนี้พี่สาวจำเลย พี่สาวจำเลยเคยบอกผู้เสียหายว่าจะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายมาไว้ก่อน เมื่อผู้เสียหายมีเงินแล้วค่อยมาไถ่คืน จำเลยไปเอาทรัพย์ของผู้เสียหายโดยเปิดเผยตามที่ผู้เสียหายยินยอมให้ถือเอาทรัพย์ของตนเพื่อประกันการชำระหนี้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1215/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อจำกัดการพิพากษาเกินคำขอและบทบัญญัติเกี่ยวกับโทษทางอาญาที่หนักที่สุด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดชิงทรัพย์กรรมหนึ่ง แล้วจึงฆ่าผู้ตายโดยเจตนาอีกกรรมหนึ่ง แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นเพียงอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้ตายโดยมีอาวุธ อันเป็นความผิดตามป.อ. มาตรา 339 วรรคสองเท่านั้น จะลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 339วรรคท้ายไม่ได้ ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 และปัญหานี้เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นอ้างเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสองศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามโจทก์มิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 11 ดังนั้นโจทก์จึงฎีกาขอให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การข่มขืนใจเพื่อเอาทรัพย์และการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ของวัยรุ่น ไม่ถึงขั้นชิงทรัพย์
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ที่แสดงต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นนักเรียนต่างโรงเรียนกันในขณะที่มีอาการมึนเมาโดยเอาเสื้อของผู้เสียหายที่พาด บ่าผู้เสียหายไป เมื่อลงจากรถโดยสารประจำทางไปแล้วก็มิได้มีกิริยาที่จะหลบหนี หรือพาไปให้พ้นทั้งยังตามไปในโรงแรมที่ผู้เสียหายเข้าไป โดยเสื้อที่เอาไปก็ยังพาด บ่าจำเลยที่ 2อยู่ การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เป็นวัยรุ่นเช่นนั้น เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาที่จะเอาไปเป็นของตนเอง อันเป็นการแสดงเจตนาทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์ที่เอาไป แต่เป็นที่เห็นได้ว่าเป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ทำไปด้วยความคะนองเพื่อให้ผู้เสียหายเห็นว่าเป็นคนเก่ง พอที่จะรังแกคนได้ตามวิสัยวัยรุ่นที่ความประพฤติไม่เรียบร้อยเท่านั้น มิใช่เป็นการมุ่งหมายเพื่อจะได้ประโยชน์จากทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานชิง ทรัพย์ การที่จำเลยที่ 1 พูดในลักษณะที่เป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายว่าถ้า ไม่ให้เสื้อแก่จำเลยที่ 2 จะเจ็บตัวจนผู้เสียหายยอมให้เสื้อไปนั้น เป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายต้องจำยอมโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย อันเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งความผิดดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานชิง ทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1ตามที่พิจารณาได้ความ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาการกระทำชิงทรัพย์ในวัยรุ่น: การแสดงอำนาจและข่มขู่ใจ ไม่ถึงเจตนาทุจริต
เมื่อพฤติการณ์ในคดีฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 นั้นมิได้มีเจตนาที่จะเอาเสื้อของผู้เสียหายไปเป็นของตนเองอันเป็นการแสดงเจตนาทุจริตเกี่ยวกับทรัพย์ที่เอาไป แต่เป็นการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ด้วยความคะนองตามวิสัยวัยรุ่นที่ความประพฤติไม่เรียบร้อยเท่านั้น มิใช่เป็นการมุ่งหมายเพื่อจะได้ประโยชน์จากทรัพย์นั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาลักทรัพย์อันจะทำให้จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานชิงทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 1ซึ่งร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำการดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์แต่การที่จำเลยที่ 1 พูดในลักษณะที่เป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายว่าถ้าไม่ให้เสื้อจำเลยที่ 2 จะเจ็บตัวจนผู้เสียหายยอมให้เสื้อไปนั้นเป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายต้องจำยอม โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกายอันเป็นความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคแรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่พิจารณาได้ความนั้นได้.