คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าชดเชยพนักงานรัฐวิสาหกิจ: การตีความสถานะ 'พนักงาน' และข้อยกเว้นสำหรับฝ่ายบริหาร
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับ ซึ่งประกาศ ณ วันที่12 กันยายน 2534 ข้อ 2 ระบุว่า ให้รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวไม่ใช้บังคับทำให้ตำแหน่งงานของโจทก์ไม่อยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 อีกต่อไป ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ที่ออกตามความในมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ได้ระบุในข้อ 45 และข้อ 47 มีความหมายว่าเงินค่าชดเชยที่รัฐวิสาหกิจใดจะพึงจ่ายให้นั้นได้กำหนดเจาะจงจ่ายให้เฉพาะแก่พนักงานของรัฐวิสาหกิจนั้นเท่านั้น โดยข้อ 3 ได้ให้คำนิยามคำว่า พนักงานหมายความว่า พนักงานตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ซึ่งในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.นี้ได้ให้คำนิยามคำว่า พนักงาน หมายความว่า พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่หมายความรวมถึงฝ่ายบริหาร และคำว่า ฝ่ายบริหารหมายความว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ระดับหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยให้หมายความรวมถึงผู้อำนวยการด้วย เมื่อขณะที่โจทก์พ้นจากการทำงานให้แก่จำเลยในปี 2537 ขณะ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ใช้บังคับเพราะเหตุเกษียณอายุ โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ถือได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นฝ่ายบริหารไม่ใช่พนักงานของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามข้อ 45 และข้อ 47แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว
การที่โจทก์เรียกร้องสิทธิประโยชน์ในเงินค่าชดเชยโจทก์จะถือสิทธิความเป็นพนักงานตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 หาได้ไม่ เพราะบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับนี้ใช้สำหรับพิจารณาว่าคุณสมบัติขั้นมาตรฐานและลักษณะต้องห้ามของพนักงานรัฐวิสาหกิจมีอย่างไรเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2533 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากอายุครบ 60 ปี และการไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย
จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ อันเป็นการขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 (2) ซึ่งโจทก์รู้ล่วงหน้าถึงข้อกำหนดคุณสมบัตินี้ จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสั่งพักงานก่อนเกษียณเพื่อสอบสวนทุจริต ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง หากผลสอบไม่พบความผิด ยังสามารถออกจากงานตามเกษียณได้
สิ่งของในโรงงานของจำเลยขาดบัญชีและไม่ถูกต้อง จำเลยจึงมีคำสั่งตั่งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนและพิจารณา เมื่อขณะออกคำสั่งจำเลยยังไม่ทราบชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหา จึงไม่จำต้องระบุไว้ในคำสั่งนั้น
การสอบสวนของคณะกรรมการที่จำเลยแต่งตั้ง ปรากฏว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งของที่ขาดบัญชีโดยเป็นประธานกรรมการตรวจรับสิงของบางส่วน แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นและโจทก์มีอายุใกล้กำหนดจะออกจากงานฐานเกษียณอายุ ดังนี้จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาได้ เพราะข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้ ในกรณีเช่นนี้เป็นการสั่งให้ออกไว้ชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งตามผลการสอบสวนพิจารณา จึงหาทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยระงับสิ้นไปทันทีไม่ แม้เมื่อสอบสวนเสร็จและโจทก์เกษียณอายุไปแล้ว แต่หากการสอบสวนพิจารณาปรากฏว่าโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยก็สามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นให้ออกจากงานฐานเกษียณอายุได้ มิใช่เป็นการพ้นวิสัยที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ทั้งมิใช่ให้โจทก์ทำงานต่อไปหลังจากที่ขาดคุณสมบัติ แล้วจึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนเช่นนี้ไม่เป็นการเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2928/2528 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างพนักงานรัฐวิสาหกิจเนื่องจากอายุเกินคุณสมบัติ ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยก่อนจำเลยเปลี่ยนฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วพนักงานของจำเลยได้เปลี่ยนฐานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งต้องอยู่ในบังคับพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 โจทก์มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขาดคุณสมบัติตาม มาตรา 9 (2) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุตามกฎหมาย มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
การกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่าต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี บริบูรณ์นั้นเป็นบทกฎหมายที่กำหนดคุณสมบัติไว้โดยเฉพาะมิได้เกี่ยวกับระยะเวลาการจ้างจะนำมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับกับการเลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุไม่ได้เมื่อโจทก์เป็นผู้ขาดคุณสมบัติโดยครบเกษียณอายุจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้ โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 288/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ขาดคุณสมบัติ การจ่ายบำเหน็จไม่ใช่ค่าชดเชย
พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯมาตรา 9, 11 เป็นเพียงบทบัญญัติกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือเป็นแนวเดียวกันเท่านั้น แต่มิได้หมายความว่า เมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว การจ้างเป็นอันระงับไปในตัวทันที หากจักต้องจัดการให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
บำเหน็จเป็นเงินซึ่งมีลักษณะเป็นการตอบแทนที่พนักงานหรือลูกจ้างได้ทำงานมาด้วยดีตลอดมาจนถึงวันที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไป ส่วนค่าชดเชยเป็นเงินซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานกำหนดให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างประจำเมื่อเลิกจ้าง ดังนั้น แม้จำเลยจ่ายบำเหน็จโดยมีวิธีคำนวณเหมือนค่าชดเชย และกำหนดให้ถือว่าเป็นค่าชดเชย ก็หามีผลเป็นการจ่ายค่าชดเชยแล้วไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2955/2526 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ขาดคุณสมบัติ แม้เกี่ยวข้องสหภาพแรงงาน การคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ ไม่ครอบคลุม
แม้โจทก์จะเป็นกรรมการสหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทศไทยและเป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องที่สหภาพแรงงานการประปาแห่งประเทศไทยยื่นต่อจำเลยและยังอยู่ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ฯ ในเรื่องไม่สามารถทำงานให้แก่รัฐวิสาหกิจได้เต็มเวลา จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้ โดยถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ และอายุความในการฟ้องเรียกค่าชดเชย
วัตถุประสงค์ขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น ตาม พระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมห้องเย็น แสดงว่ากิจการ ที่องค์การดังกล่าวดำเนินการหาใช่งานเกษตรไม่ และการประกอบ ธุรกิจขององค์การก็เป็นการจ้างงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไร ในทางเศรษฐกิจ และองค์การนี้ก็ไม่ใช่ส่วนราชการที่เป็นกรมหรือ ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย จึงไม่ได้รับยกเว้นมิให้นำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับ
การที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบหกสิบปีบริบูรณ์หรือเกษียณอายุ ไม่เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน เมื่อพนักงานต้องพ้นจากตำแหน่งไปเพราะเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างหรือให้ออกจากงานซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้
เงินกองทุนบำเหน็จตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นเป็นเงินประเภทอื่น ซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง จึงไม่อาจถือว่าเป็นค่าชดเชยได้
การฟ้องเรียกค่าชดเชยไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2963/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งโรงงานยาสูบเรื่องการจ่ายเงินชดเชยขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินชดเชย
คำสั่งโรงงานยาสูบเรื่องการจ่ายเงินชดเชยแก่พนักงานยาสูบกำหนดว่า พนักงานยาสูบที่พ้นจากหน้าที่การงานเพราะเหตุเกษียณอายุ ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชย เป็นคำสั่งที่มีวัตถุประสงค์จะไม่จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง จึงเป็นคำสั่งที่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ไม่มีผลบังคับ หรือผูกพันลูกจ้าง โรงงานยาสูบต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1676/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุครบ 60 ปี ไม่ใช่กำหนดระยะเวลาจ้าง: รัฐวิสาหกิจต้องจ่ายค่าชดเชย
การที่กฎหมายและระเบียบของรัฐวิสาหกิจกำหนดให้ลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์มิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้าง เพราะมิได้กำหนดให้ผูกพันจ้างกันจนกว่าพนักงานจะมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์แต่เป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติพนักงานของรัฐวิสาหกิจเป็นการทั่วไปดังนั้น เมื่อรัฐวิสาหกิจเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ จึงต้องจ่ายเงินค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน