คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. 45

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 48 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2311-2313/2526 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและการคุ้มครองสิทธิลูกจ้างตามกฎหมาย
นายจ้างประสบปัญหาขาดทุน จำเป็นต้องยุบหน่วยงานที่ขาดทุนและเลิกจ้างลูกจ้างที่ประจำอยู่หน่วยงานนั้น การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับฐานะทางเศรษฐกิจและความอยู่รอดของนายจ้าง เป็นกรณีมีเหตุอันสมควร มิใช่การกลั่นแกล้ง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง
แม้สัญญาจ้างแรงงานจะระบุว่า นายจ้างมีสิทธิเลิกสัญญาได้ทุกขณะโดยลูกจ้างไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ ก็ตาม แต่ค่าชดเชย ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างจึงมิใช่ค่าเสียหายใด ๆ ตามสัญญาจ้าง เมื่อนายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่มีความผิดและไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะไม่ต้องจ่าย นายจ้างจะอ้างสัญญาจ้างมาเป็นข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่ลูกจ้างหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1822/2526 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีทุจริตต่อหน้าที่ แม้เป็นการกระทำต่อสมาคมในเครือเดียวกับนายจ้าง
แม้สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์การเกษตรจะได้จดทะเบียนเป็นสมาคมเป็นนิติบุคคลต่างหากจากสหกรณ์การเกษตรจำเลยก็ตาม แต่สมาคมนี้นับได้ว่าอยู่ในเครือเดียวกับจำเลยโดยมีกำเนิดสืบเนื่องมาจากวัตถุประสงค์ของกิจการจำเลย ผู้สมัครเป็นสมาชิกสมาคมล้วนเป็นสมาชิกของจำเลย เนื่องด้วยสมาคมไม่มีเจ้าหน้าที่ของตนเองจำเลยจึงมอบหมายให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยดำเนินการรับสมัครสมาชิกตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสมาคมและยังมิได้จดทะเบียนเป็นสมาคม ถือได้ว่าจำเลยมอบให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเพื่อกระทำการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยแล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์ยักยอกเงินค่ารับสมัครสมาชิกสมาคมจึงเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ที่จำเลยมอบหมายแก่โจทก์ จำเลยจึงเลิกจ้างหรือไล่โจทก์ออกจากงานได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จ ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2671/2525 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างป่วย (หย่อนความสามารถ) นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างวันหยุดพักผ่อน
ลูกจ้างป่วยมีอาการคล้ายโรคอัมพาต ลุกเดินนั่งและหยิบจับสิ่งของไม่สะดวกมาประมาณ 2 ปี และไม่สามารถปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำได้ ถือได้ว่าลูกจ้างหย่อนความสามารถ แม้นายจ้างจะมีสิทธิตามสัญญาและตามระเบียบข้อบังคับที่จะถอดถอนลูกจ้างออกจากตำแหน่งได้แต่การที่นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างออกจากตำแหน่งในกรณีนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างในกรณีฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3) นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง
กรณีดังกล่าว การที่นายจ้างให้โอกาสแก่ลูกจ้างที่จะพักรักษาตัว ได้และลูกจ้างได้ลาพักรักษาตัวเป็นเวลาถึง 2 ปี ก็เป็นเรื่องที่นายจ้างประสงค์ให้ลูกจ้างหายเป็นปกติเพื่อจะได้ทำงานต่อไป มิใช่เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าเพื่อเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 45 มิได้มีเงื่อนไขกำหนดให้ลูกจ้างต้องแจ้งความจำนงขอหยุดพักผ่อนประจำปีก่อนแต่อย่างใดเมื่อลูกจ้างยังมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2523 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงาน vs. จ้างทำของ, สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี, ความรับผิดของนายจ้างและกรรมการ
จำเลยจ้างให้โจทก์ทำงานจนกว่า จำเลยจะหาคนทำงานแทนโจทก์ได้ เป็นเวลากว่า 3 ปี จำเลยจึงหาคนมาทำงานแทนโจทก์ได้ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ ดังนี้ โจทก์มิได้ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งสำเร็จให้แก่จำเลย และจำเลยจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น หากแต่เป็นเรื่องโจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยผู้เป็นนายจ้าง ในหน้าที่ซึ่งจำเลยมอบให้ และจำเลยตกลงจะให้สินจ้างเป็นแรงงาน หาใช่สัญญาจ้างทำของไม่
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 45 ประกอบด้วย ข้อ 10 และข้อ 32 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่าปีละ 6 วัน และนายจ้างกับลูกจ้างจะตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีอื่นก็ได้ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างไม่มีความผิด นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน แม้ตามสภาพของงานโจทก์ต้องไปทำงานให้จำเลยสัปดาห์ละเพียง 2 หรือ 3 วัน ก็ไม่มีกฎหมายหรือประกาศกระทรวงมหาดไทย กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีอีก และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กำหนดล่วงหน้าให้วันใดในแต่ละสัปดาห์เป็นวันทำงานซึ่งโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อน ฉะนั้น จึงจะถือว่านอกจากเวลาทำงานสัปดาห์ละ 2-3 วัน แล้วนอกนั้นเป็นวันหยุดของโจทก์ทั้งสิ้นย่อมไม่ถูกต้อง การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยได้ทำงานให้จำลยมาเป็นเวลากว่า 3 ปี โดยไม่เคยหยุดพักผ่อนประจำปีเลย จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีละ 6 วัน รวม 18 วัน
เมื่อจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่เป็นนายจ้างซึ่งต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และไม่ปรากฏเหตุที่จะต้องรับเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์และข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้อง ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้เอง
of 5