คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 335

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 565 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5855/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกลักทรัพย์มีสิทธิเป็นผู้เสียหายได้ แม้กรรมสิทธิ์จะยังไม่โอน
คำว่า "ผู้เสียหาย" ในความผิดฐานลักทรัพย์ไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ถูกลักไป บุคคลที่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกลักไปก็เป็นผู้เสียหายได้ คดีนี้ได้ความว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมได้ร่วมกันลักอาหารสัตว์ส่วนหนึ่งในระหว่างทางที่โจทก์ร่วมขนส่งเพื่อส่งมอบให้แก่บริษัท ซ. ผู้ซื้อ ระหว่างการขนส่งอาหารสัตว์ที่บรรทุกในรถยนต์คันเกิดเหตุ อาหารสัตว์เหล่านั้นจึงยังคงอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองเนื่องจากโจทก์ร่วมมีหน้าที่จำต้องส่งมอบอาหารสัตว์ให้ครบจำนวนแก่บริษัท ซ. ผู้ซื้อ โจทก์ร่วมจึงมีฐานะเป็นผู้เสียหายในเหตุคดีนี้อยู่ด้วย ไม่ว่ากรรมสิทธิ์ในอาหารสัตว์ที่โจทก์ร่วมตกลงขายได้โอนไปยังบริษัท ซ. เพราะมีการชั่งน้ำหนักอันเป็นการบ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตั้งแต่ต้นทางการขนส่งโดยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 460 วรรคแรก แล้วหรือไม่ก็ตาม โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเข้าดำเนินคดีเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้โดยชอบ แม้ขณะเกิดเหตุหากกรรมสิทธิ์ในอาหารสัตว์ดังกล่าวได้โอนไปยังบริษัท ซ. เสียก่อนแล้วโดยผลของกฎหมายอันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองลักทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ซ. ขณะอยู่ในความครอบครองโจทก์ร่วมผู้เป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสองซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้องซึ่งบรรยายว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม กรณีก็เป็นข้อแตกต่างที่มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยทั้งสองมิได้หลงข้อต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาชิงทรัพย์ vs. แก้แค้นทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์: การพิจารณาความผิดฐานชิงทรัพย์
จำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะชิงทรัพย์ของผู้เสียหายมาแต่แรก แต่สาเหตุเนื่องจากผู้เสียหายกับจำเลยมีเรื่องวิวาทกันก่อน จำเลยสู้ไม่ได้จึงพาพรรคพวกคือ ส. และ ท. มารุมทำร้ายผู้เสียหายในภายหลัง ที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปน่าจะเป็นผลพลอยได้จากการที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บแล้วมากกว่า มิฉะนั้นจำเลยคงไม่พูดประโยคว่า "มึงทำกูเจ็บ ก็ต้องเอาของมึง" ซึ่งมีลักษณะเป็นการแก้แค้นจากการถูกผู้เสียหายทำร้ายมาก่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์ของผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5182/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความไม่ชัดเจนของคำฟ้องฐานรับของโจรช่วงเวลากระทำผิด ทำให้ฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิด
การที่โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 เกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 มีคนร้ายหลายคนร่วมกันลักเอาไม้มะค่าโมงแปรรูปจำนวน 235 แผ่น ที่เจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางในคดีอาญาขณะอยู่ในความครอบครองดูแลของ ว. ผู้เสียหายไปโดยทุจริต และบรรยายฟ้องข้อ 2 เกี่ยวกับความผิดฐานรับของโจรว่า ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2545 จำเลยรับของโจรไม้มะค่าโมงจำนวน 8 แผ่น อันเป็นส่วนหนึ่งของไม้มะค่าโมงของกลางตามฟ้องข้อ 1 ที่ถูกคนร้ายลักไป หาใช่การบรรยายฟ้องที่ระบุว่า เวลากระทำผิดทั้งหมดในความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นก่อนที่ไม้มะค่าโมงถูกคนร้ายลักเอาไป อันจะมีผลทำให้เป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจรไม่ ทั้งนี้เพราะฟ้องข้อ 2 โจทก์มิได้ระบุว่า เหตุรับของโจรเกิดขึ้นเพียงวันเดียวในวันที่ 6 มิถุนายน 2545 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมไม้ของกลางบางส่วนเท่านั้น หากแต่โจทก์ระบุว่า เหตุรับของโจรเกิดตั้งแต่วันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 ถึงวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 2 ซึ่งคำว่า ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 หมายถึง ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 อันมีช่วงระยะเวลานานถึง 1 เดือน วันเกิดเหตุความผิดฐานรับของโจรตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องข้อ 2 จึงอาจเป็นวันใดวันหนึ่งในช่วงเวลา 1 เดือนดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นเวลาภายหลังจากที่มีคนร้ายลักไม้ของกลางตามฟ้องข้อ 1 แล้วก็ได้ การบรรยายฟ้องเช่นนี้จึงหาใช่การบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดฐานรับของโจรก่อนเกิดความผิดฐานลักทรัพย์ อันจะมีผลทำให้คำฟ้องโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจรไม่
การที่โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 ระบุเกี่ยวกับเวลาการทำผิดฐานรับของโจรว่า เหตุรับของโจรเกิดตั้งแต่วันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 คือตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2545 ถึงวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 2 คือวันที่ 6 มิถุนายน 2545 อันเป็นวันเวลาก่อนที่จะถึงวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 เป็นคำฟ้องที่สับสนขัดต่อสภาพและความเป็นจริง ไม่ชัดแจ้งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาเอารถจักรยานยนต์ไปเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่ลักทรัพย์ แม้ใช้วิธีการไม่ชอบธรรม
จำเลยที่ 1 ทวงเงินจาก อ. ไม่ได้ จึงพาพวกไปทวงเงินจาก อ. ในเวลาที่ต่อเนื่องกัน เมื่อ อ. ไม่ยอมคืนเงินและไม่ยอมออกมาพบจึงใช้อำนาจบังคับโดยพลการเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปขณะนั้น แม้ข้อเท็จจริงปราฏว่าจำเลยที่ 1 กับพวกใช้กุญแจที่ไม่ใช้กุญแจรถจักรยานยนต์ของกลางติดเครื่องยนต์นำรถจักรยานยนต์ของกลางออกไป อีกทั้งรถจักรยานยนต์ของกลางมีราคา 26,000 บาท สูงกว่าจำนวนหนี้ 300 บาท อยู่มากก็ตาม จำเลยที่ 1 กับพวกคงไม่ได้คิดว่ารถจักรยานยนต์ของกลางมีราคาสูงเท่าใด หากแต่ต้องการเพียงให้ อ. ที่จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์นำเงินมาชำระหนี้ตนเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงมิได้มีเจตนาเอารถจักรยานยนต์ของกลางไปโดยทุจริต ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง และเหตุดังกล่าวเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1865/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมลักทรัพย์: การส่งกุญแจและช่วยเหลือผู้กระทำผิดแสดงเจตนาในการร่วมกระทำความผิด
จำเลยกับ ส. เป็นเพื่อนสนิทกัน ก่อนเกิดเหตุ ส. เคยบอกจำเลยว่า ส. ไม่มีรถใช้ อยากได้รถจักรยานยนต์ไว้ใช้สักคัน ซึ่งแสดงว่าจำเลยทราบว่า ส. ประสงค์จะลักรถจักรยานยนต์มาใช้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุแล้ว ขณะที่จำเลยกับ ส. พากันกลับไปที่ด้านหน้าบริษัท ย. ที่จำเลยจอดรถจักรยานยนต์ของตนไว้ ส. เห็นมีรถจักรยานยนต์หลายคันจอดอยู่ในบริเวณดังกล่าว ส. ได้บอกจำเลยว่าอยากได้รถจักรยานยนต์ไปใช้สักคัน ดังนั้น การที่จำเลยส่งกุญแจรถจักรยานยนต์ให้แก่ ส. ไปทดลองไขดูและยังยืนอยู่ในที่เกิดเหตุพร้อมที่จะช่วยเหลือ ส. ได้ทันที ทั้งเมื่อ ส. ใช้กุญแจไขและติดเครื่องรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายได้แล้ว จำเลยกับ ส. ก็ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีออกไปจากที่เกิดเหตุพร้อมกัน นอกจากนี้เมื่อพากันกลับไปถึงที่ทำงานของ ส. แล้ว ส. ยังได้พูดขอจำเลยเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไว้ใช้เอง ตามพฤติการณ์จึงถือได้ว่า จำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานลักทรัพย์กับ ส. ด้วย มิใช่เป็นผู้ใช้หรือเป็นเพียงผู้สนับสนุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 593/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถือหุ้นและการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์: ข้อสันนิษฐานทางกฎหมายและการขาดเจตนาทุจริต
สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่โจทก์ส่งไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเป็นเอกสารราชการ และนาง ส. กรรมการบริษัทโจทก์ได้ลงชื่อรับรองว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง เอกสารดังกล่าวระบุว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์จำนวน 5,000 หุ้น เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนบุตรสาวของนาง ส. โดยโจทก์มีเพียงนาง ส. เท่านั้นมานำสืบ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้
จำเลยที่ 1 ถือหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น รองจากนาง ส. ย่อมมีสิทธิได้รับการแบ่งผลกำไรจากการทำธุรกิจร่วมกับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์กัน โดยจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์ไม่แบ่งผลประโยชน์ให้ จึงถอดเครื่องอุปกรณ์ของเครื่องจักรในโรงงานและเอาสีต่าง ๆ ไปเก็บไว้เพื่อต่อรองให้โจทก์จ่ายผลประโยชน์ในส่วนที่ตนพึงจะได้รับ เครื่องอุปกรณ์ชิ้นส่วนดังกล่าวเมื่อนำมาติดตั้งใหม่ก็สามารถติดตั้งและใช้งานได้ดีตามปกติ การกระทำเช่นนี้ของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่ามิได้ประสงค์ต่อผลที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนหรือของผู้อื่น แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์นำสิ่งของดังกล่าวไปฝากที่บ้านของจำเลยที่ 3 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ และจำเลยที่ 3 ผู้รับฝากทรัพย์ข้างต้นย่อมไม่มีความผิดฐานรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 593/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถือหุ้นและการแบ่งผลกำไร: การกระทำเพื่อเรียกร้องสิทธิ ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์
ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งโจทก์ส่งไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ก. เป็นเอกสารราชการ นอกจากนี้ ส. กรรมการโจทก์ได้ลงชื่อรับรองว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง เอกสารดังกล่าวระบุว่าจำเลยที่ 1 ถือหุ้นอยู่ในบริษัทโจทก์จำนวน 5,000 หุ้น เมื่อโจทก์ไม่สามารถหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งถือหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น รองจาก ส. กรรมการโจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับการแบ่งผลกำไรจากการทำธุรกิจร่วมกันกับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์กันโดยจำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์ไม่แบ่งผลประโยชน์ให้ จึงถอดเครื่องอุปกรณ์ของเครื่องจักรในโรงงานและเอาสีต่าง ๆ ไปเก็บไว้เพื่อต่อรองให้โจทก์จ่ายผลประโยชน์ในส่วนที่ตนพึงจะได้รับเครื่องอุปกรณ์ชิ้นส่วนดังกล่าวเมื่อนำมาติดตั้งใหม่ก็สามารถติดตั้งและใช้งานได้ดีตามปกติ การกระทำของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่ามิได้ประสงค์ต่อผลที่จะเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนหรือของผู้อื่น แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาทุจริตแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์นำสิ่งของดังกล่าวไปฝากไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 3 ก็ไม่มีความผิดฐานรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6371/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์สำเร็จ: การเคลื่อนย้ายทรัพย์ออกจากที่เก็บของผู้เสียหาย แม้จะยังอยู่ในสถานที่เดียวกัน
การที่จำเลยนำชุดก้านสูบรถจักรยานยนต์ออกจากที่เก็บซึ่งจำเลยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย แล้วนำไปวางบนผ้ากันเปื้อนของจำเลย แต่เมื่อถูกทักท้วงจึงนำไปเก็บนั้น แม้การกระทำของจำเลยยังอยู่ภายในโรงงานของผู้เสียหายก็ตาม แต่เป็นการนำทรัพย์ของผู้เสียหายออกจากที่เก็บของของผู้เสียหาย เป็นการเคลื่อนย้ายทรัพย์ไปจากความครอบครองของผู้เสียหายแล้ว การนำมาวางที่ผ้ากันเปื้อนของจำเลยก็เป็นการที่จำเลยเข้าถือเอาทรัพย์นั้นแล้ว แม้จำเลยจะยังมิได้นำออกนอกโรงงานของผู้เสียหายก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นการเอาทรัพย์นั้นไปจากความครอบครองของผู้เสียหาย อันเป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5152/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานที่จอดรถไม่ใช่สถานที่ราชการ ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นเพียงลักทรัพย์ธรรมดา
สถานที่จอดรถของวิทยาลัยเทคนิคชัยนาทเป็นเพียงสถานที่ซึ่งทางราชการจัดไว้สำหรับเป็นที่จอดรถของบรรดานักศึกษา ผู้มาติดต่อราชการตลอดจนข้าราชการของวิทยาลัยเท่านั้น มิใช่สถานที่ซึ่งใช้สำหรับปฏิบัติราชการของข้าราชการในวิทยาลัยโดยตรง การที่จำเลยลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปจากบริเวณสถานที่จอดรถดังกล่าว จึงไม่ใช่การลักทรัพย์ในสถานที่ราชการอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2775/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้รายงานการสืบเสาะและพินิจประกอบการพิจารณาโทษและการวินิจฉัยความผิดฐานใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกในการกระทำความผิด
การที่ศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์ และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 364, 335 ประกอบมาตรา 336 ทวิ และมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยนั้น ก็เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควร และเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลยต่อไปเท่านั้น มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น และแม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญาฯ มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ก็เป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วย จึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาเป็นเหตุยกฟ้องของโจทก์แม้เพียงบางส่วนก็ไม่ได้ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาวินิจฉัยว่าการกระทำผิดของจำเลยครั้งนี้ไม่ปรากฏเหตุอันจะทำให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ และยกฟ้องโจทก์บางส่วนนั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
of 57