คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 34

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6839/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลแรงงานกลาง และการอุทธรณ์ดุลพินิจค่าเสียหายในคดีแรงงาน
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดเชียงใหม่) มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลแรงงานกลาง จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 255 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 60 ที่บัญญัติว่า "ในระหว่างที่ศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัดยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด ให้ศาลแรงงานกลางมีเขตอำนาจในท้องที่นั้นด้วย โจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้นก็ได้ ให้ศาลจังหวัดแจ้งไปยังศาลแรงงานกลาง เมื่อศาลแรงงานกลาง สั่งรับคดีนั้นไว้พิจารณาแล้ว ให้ศาลแรงงานกลางออกไปนั่งพิจารณาพิพากษา ณ ศาลจังหวัดแห่งท้องที่นั้น" ในปัจจุบันศาลแรงงานภาคและศาลแรงงานจังหวัดยังมิได้เปิดทำการในท้องที่ใด จากบทบัญญัติดังกล่าวศาลแรงงานกลางย่อมมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานได้ทั่วราชอาณาจักร โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ที่ศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดเชียงใหม่)ได้ เมื่อศาลแรงงานกลางสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา ศาลแรงงานกลางย่อมมีอำนาจออกไปนั่งพิจารณาพิพากษาคดีนี้ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้เช่นเดียวกัน
จำเลยอุทธรณ์โดยแสดงเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้ศาลฎีการับฟังว่าจำเลยมิได้กลั่นแกล้งโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่ถึง 60,000 บาท และศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายโดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานใด ๆ ที่โจทก์นำสืบ ล้วนเป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลแรงงานกลางไม่ได้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแสดงว่าประสงค์ให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ แต่ไม่ได้กำหนดไว้ให้ชัด ศาลฎีกาจึงกำหนดให้ชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2211/2523 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ฝ่าฝืนข้อบังคับบริษัทโดยได้รับการว่ากล่าวตักเตือนแล้ว ถือเป็นการเลิกจ้างโดยชอบตามกฎหมาย
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 35 ให้ศาลบันทึกรายการแห่งข้อหา ไม่จำต้องบันทึกโดยละเอียดดังเช่นคำฟ้องเป็นหนังสือ เมื่อพิจารณาคำฟ้องที่ศาลบันทึกไว้ ประกอบกับคำสั่งของจำเลยที่โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอน ซึ่งโจทก์ส่งศาลและศาลนำมาแนบท้ายคำฟ้องไว้ ถือว่ามีรายละเอียดที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอน ครบถ้วนเป็นรายการแห่งข้อกฎหมายบัญญัติไว้แล้วจึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์กำหนดเพียงว่า การขาดงานเป็นการกระทำผิดวินัย โดยมิได้ระบุโทษไว้ เต่เมื่อลูกจ้างขาดงาน 1 วัน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ก็ถือได้ว่าลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง หากได้ว่ากล่าวและตักเตือนโดยชอบแล้ว นายจ้างย่อมมีอำนาจเลิกจ้างลูกจ้างได้ ตามมาตรา 123 (3) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
เมื่อนายจ้างได้ว่ากล่าวและตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือมาแล้วหลายครั้ง ในการที่ลูกจ้างขาดงานครั้งก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นการว่ากล่าวและตักเตือนเป็นโทษหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นการว่ากล่าวและตักเตือนเป็นหนังสือ ตามความหมายของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 (3) แล้ว