คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. 46

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 403 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสั่งพักงานก่อนเกษียณเพื่อสอบสวนทุจริต ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง หากผลสอบไม่พบความผิด ยังสามารถออกจากงานตามเกษียณได้
สิ่งของในโรงงานของจำเลยขาดบัญชีและไม่ถูกต้อง จำเลยจึงมีคำสั่งตั่งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนและพิจารณา เมื่อขณะออกคำสั่งจำเลยยังไม่ทราบชื่อและตำแหน่งของผู้ถูกกล่าวหา จึงไม่จำต้องระบุไว้ในคำสั่งนั้น
การสอบสวนของคณะกรรมการที่จำเลยแต่งตั้ง ปรากฏว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งของที่ขาดบัญชีโดยเป็นประธานกรรมการตรวจรับสิงของบางส่วน แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นและโจทก์มีอายุใกล้กำหนดจะออกจากงานฐานเกษียณอายุ ดังนี้จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนเพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาได้ เพราะข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้ ในกรณีเช่นนี้เป็นการสั่งให้ออกไว้ชั่วคราวโดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งตามผลการสอบสวนพิจารณา จึงหาทำให้นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์จำเลยระงับสิ้นไปทันทีไม่ แม้เมื่อสอบสวนเสร็จและโจทก์เกษียณอายุไปแล้ว แต่หากการสอบสวนพิจารณาปรากฏว่าโจทก์ไม่มีความผิด จำเลยก็สามารถเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นให้ออกจากงานฐานเกษียณอายุได้ มิใช่เป็นการพ้นวิสัยที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ทั้งมิใช่ให้โจทก์ทำงานต่อไปหลังจากที่ขาดคุณสมบัติ แล้วจึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานไว้ก่อนเช่นนี้ไม่เป็นการเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2121/2529 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าจ้างและสวัสดิการ: การพิจารณาองค์ประกอบของค่าจ้างที่ไม่ใช่เงินเดือน และการยอมรับเอกสารหลักฐาน
โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยโดยบรรยายฟ้องว่า เงินรางวัลและค่าครองชีพพิเศษ เงินสะสมค่าเครื่องแบบ ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ ค่าน้ำมันรถยนต์ ค่าภาษีเงินได้ ค่ารถประจำตำแหน่ง และโบนัสพิเศษ เป็นค่าจ้างต้องนำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วย จำเลยให้การว่า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์มีความผิด โดยมิได้ต่อสู้ว่าเงินทั้ง 8 รายการดังกล่าวเป็นค่าจ้างหรือไม่ เช่นนี้ เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว ศาลย่อมต้องพิจารณาต่อไปว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเป็นจำนวนเงินเท่าใด โดยคำนวณจากอายุงานและค่าจ้างเป็นหลัก เมื่อรายการใดถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามกฎหมายอันจะพึงนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนนั้นการที่ศาลวินิจฉัยว่าเงินและสิ่งของที่โจทก์ได้รับรวม 8 รายการมิใช่ค่าจ้างจึงเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับประเด็น ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือเป็นเรื่องที่ถือว่าจำเลยยอมรับแล้ว
เงินรางวัลเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้จากผลกำไรซึ่งแล้วแต่ผู้บริหารจะกำหนดเองและไม่แน่นอน มิใช่เป็นเงินที่ให้เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง ส่วนค่าครองชีพพิเศษก็มิได้แยกจำนวนไว้ต่างหากโดยกำหนดรวมไว้เป็นเงินรางวัลและค่าครองชีพพิเศษผลจึงเป็นว่าการจ่ายเงินรางวัลและค่าครองชีพพิเศษต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บริหารของจำเลยที่จะกำหนดและเป็นจำนวนไม่แน่นอน เงินประเภทนี้จึงมิใช่ค่าจ้าง
จำเลยได้จ่ายเงินสะสมสมทบโดยมิได้หักเงินเดือนของลูกจ้างและได้จ่ายสมทบนับแต่พนักงานของจำเลยได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำส่วนสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินสะสมก็ต่อเมื่อออกจากงาน หากออกจากงานก่อนครบ 5 ปี หรือออกเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือประมาทเลินเล่อ หรือต้องจำคุกโดยคำพิพากษาก็ไม่มีสิทธิได้รับนอกจากจำเลยจะพิจารณาเห็นสมควรเงินประเภทนี้จึงมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานอันพึงถือว่าเป็นค่าจ้าง
ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ปีละ 1,000 บาท จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานบางระดับที่ไม่มีรถยนต์ประจำตำแหน่ง แต่สำหรับโจทก์ซึ่งมีรถยนต์ประจำตำแหน่งได้รับอนุมัติช่วยเหลือด้วย ซึ่งเป็นเพียงการช่วยเหลือในด้านสวัสดิการ มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้าง
จำเลยเติมน้ำมันให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ได้ใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งมีจำนวนมากน้อยแล้วแต่การใช้งานแต่ไม่เกินเดือนละ300 ลิตร หากใช้น้อยก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องในส่วนที่ใช้ยังไม่ครบ จึงเป็นจำนวนไม่แน่นอนและมิใช่การเหมาจ่าย กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยอนุเคราะห์โจทก์เกี่ยวกับการใช้พาหนะ มิใช่เงินหรือสิ่งของที่จ่ายเป็นการตอบแทนการทำงานอันจะถือเป็นค่าจ้าง
ภาษีเงินได้ที่จำเลยออกให้โจทก์โดยมิได้หักจากเงินเดือนของโจทก์ เป็นการที่จำเลยจัดให้มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างเต็มตามสัญญาจ้าง เพื่อความมั่นคงในการดำรงชีพและดำรงฐานะให้เหมาะสมกับตำแหน่งที่ดียิ่งขึ้น เป็นสวัสดิการที่จำเลยจัดหาให้แก่ลูกจ้าง มิใช่เป็นเงินที่ให้เพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง จึงมิใช่ค่าจ้าง
จำเลยจัดรถยนต์ประจำตำแหน่งให้โจทก์ได้ใช้ก็เพื่อประโยชน์ในการที่โจทก์ใช้เป็นพาหนะเพื่อปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนแม้บางเวลาโจทก์อาจนำไปใช้เป็นส่วนตัวได้บ้างก็เป็นเรื่องการอนุเคราะห์ในด้านความสะดวกสบายบางประการเท่านั้น กรณีไม่อาจเปลี่ยนแปลงสภาพของการอำนวยประโยชน์ของความสะดวกสบายเช่นนี้มาเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนได้ จึงมิใช่ค่าจ้าง
เงินโบนัสไม่ใช่เงินซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง นายจ้างจะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายอย่างใดก็ได้ตามแต่นายจ้างจะเป็นผู้กำหนด และการจ่ายเงินโบนัสพิเศษก็เป็นไปตามดุลพินิจของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยเป็นผู้กำหนดและเป็นจำนวนไม่แน่นอนจึงมิใช่ค่าจ้าง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางเรียกพยานเอกสารจากจำเลยหลายฉบับหลายครั้ง คำร้องทุกฉบับโจทก์ได้ชี้แจงแสดงเหตุที่จะต้องขอให้เรียกเอกสารจากจำเลย และศาลแรงงานกลางได้สอบถามรายละเอียดของข้อเท็จจริงในเอกสารต่าง ๆ จากโจทก์บ้าง แล้วมีความเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดีและไม่มีความจำเป็นต้องนำสืบ ดังนี้เป็นการที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้งดสืบพยานหลักฐานดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อโจทก์ได้เบิกความถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในเอกสารเหล่านั้นโดยไม่จำต้องอาศัยพยานเอกสาร การเรียกเอกสารดังกล่าวจึงไม่จำเป็นแก่คดี ศาลแรงงานกลางชอบที่จะสั่งยกคำร้องของโจทก์ได้
พยานเอกสารที่จำเลยนำมาสืบแม้เป็นเพียงภาพถ่ายมิใช่ต้นฉบับเอกสาร แต่เมื่อจำเลยส่งอ้างเป็นพยานต่อศาล โจทก์มิได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้น พยานโจทก์และพยานจำเลยหลายปากก็ได้เบิกความรับรองและอ้างถึงเอกสารดังกล่าว ซึ่งเท่ากับยอมรับว่าเอกสารนั้นมีอยู่จริงและมีข้อความตรงกับต้นฉบับ ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าภาพถ่ายเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว ศาลย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวได้หาเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1919/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้าง, ค่าชดเชย, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, การลากิจ/ลาป่วย, และการคำนวณวันเลิกจ้าง
โจทก์ลากิจและลาป่วยเกินกำหนด 45 วันต่อปี ได้ทำหนังสือทัณฑ์บนไว้แก่จำเลยนายจ้างว่าถ้าไม่ได้ขึ้นค่าจ้างในปีต่อไป ยอมให้เลิกจ้างได้ ดังนี้ แม้ว่าข้อบังคับของจำเลยจะกำหนดให้ลูกจ้างต้องอุทิศเวลาให้แก่กิจการของจำเลยก็ตาม แต่การที่โจทก์ลากิจและลาป่วยเกิน 45 วันต่อปี อีก ก็มิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เป็นแต่เพียงเหตุที่ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาความดีความชอบประจำปีเท่านั้น ส่วนหนังสือทัณฑ์บนเป็นเพียงการบอกกล่าวให้โจทก์ทราบล่วงหน้าว่า หากถูกงดขั้นเงินเดือนหรือค่าจ้าง 2 ปีติดต่อกันอาจถูกเลิกจ้างได้ จึงไม่ใช่หนังสือตักเตือนตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อโจทก์ลากิจและลาป่วยเกิน 45 วันต่อปีโดยได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาโดยชอบแล้ว โจทก์จึงไม่ได้กระทำผิดเพราะลากิจและลาป่วยมากและไม่ถือว่าเป็นการจงใจขัดคำสั่งโดยชอบของนายจ้าง ทั้งไม่เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย และต้องบอกกล่าวล่วงหน้า.
จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ ลูกจ้างประจำรายวัน ทุกวันที่ 14 และวันที่ 28 ของเดือน เมื่อจำเลยบอกเลิกการจ้างวันที่ 19กันยายน 2528 การเลิกจ้างย่อมมีผลตามกฎหมายในวันที่ 14 ตุลาคม 2528 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป การที่จำเลยบอกเลิกจ้างต่อโจทก์ในวันที่ 19 กันยายน 2528 โดยให้มีผลเลิกจ้างในวันที่ 1 ตุลาคม 2528 และต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม รวม 9 วัน เพราะช่วงระยะเวลาดังกล่าวตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ เสาร์อาทิตย์รวม 4 วัน และต้องจ่ายค่าครองชีพเป็นเวลา 13 วัน
เงินบำเหน็จ เงินประกัน และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้จ่ายตั้งแต่วันเลิกจ้าง โจทก์จึงต้องทวงถามก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการทวงถามจำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1274/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างระหว่างทดลองงาน: สิทธิในการรับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2528 ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2528 จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำโดยกำหนดให้ทดลองปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน โจทก์จึง เป็นลูกจ้างประจำที่นายจ้างให้ทดลองปฏิบัติงานตามประกาศกระทรวงทหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสาม การนับระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานของโจทก์ต้องนับตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม 2528 เป็นต้นไป มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยบรรจุโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราว เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2528 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาทดลองปฏิบัติงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการเลิกจ้างกรณีเช่นนี้ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1141-1142/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างใหม่หลังหมดอายุสัญญาเดิม การเลิกจ้างระหว่างสัญญาใหม่มีผลให้ต้องจ่ายค่าชดเชย
กรณีที่สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน การเลิกจ้างซึ่งจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาตามความในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสามซึ่งจะทำให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น ได้แก่การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในวันที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้าง หรือเลิกจ้างในวันที่ระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างสิ้นสุดลง มิได้หมายความว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้างแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเมื่อใดก็ได้ เมื่อสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายครบกำหนดในวันที่ 20 เมษายน 2528 จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์โดยให้โจทก์ทำงานกับจำเลยทั้งยินยอมจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 581 การที่สัญญาจ้างครบกำหนดในระหว่างที่โจทก์ทำงานอยู่บนเรือนั้น ไม่ใช่เหตุซึ่งจะทำให้จำเลยไม่สามารถเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 24เมษายน 2528 ซึ่งอยู่ในระหว่างอายุของสัญญาจ้างใหม่จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 706/2529 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการทำงานหลังประนีประนอม: การนับอายุงานใหม่เมื่อสภาพการจ้างเดิมสิ้นสุด
โจทก์เคยทำงานกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกล่าวหาว่าจำเลยผิดสัญญาเรียกค่าเสียหายและเงินต่าง ๆ หลายประเภท คดีดังกล่าวตกลงกันได้โดยการประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมแล้วว่า บริษัทจำเลยยอมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งแก่โจทก์ ยอมรับโจทก์กลับเข้าทำงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2527 เป็นต้นไป ดังนี้ สภาพการจ้างระหว่างโจทก์จำเลยที่มีอยู่เดิมยุติลงแล้วด้วยการที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลาง เมื่อโจทก์จำเลยยอมความกันก็มิได้กล่าวถึงว่าจะนับอายุการทำงานเดิมต่อกับอายุการทำงานใหม่หรือไม่ ทั้งคดีดังกล่าวโจทก์ก็มิได้ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานใหม่ โจทก์จึงจะนับอายุการทำงานที่ตกลงกันใหม่ต่อจากอายุการทำงานเดิมมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260/2529 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างชั่วคราวที่มีกำหนดระยะเวลาชัดเจน ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามสัญญา
จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวตามสัญญาจ้างสี่ฉบับ กำหนดระยะเวลาจ้างและวันเริ่มต้นและสิ้นสุดแห่งสัญญาไว้ จึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 75 จะกำหนดให้ลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำงานเกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันมีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ แต่เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามสัญญาจ้างฉบับที่สี่ กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามวรรคท้ายของข้อ 46 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97-98/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าสอนพิเศษนอกเวลาทำงานปกติ ไม่ถือเป็นค่าจ้างสำหรับคำนวณค่าชดเชย
ค่าสอนพิเศษเป็นเงินที่ได้จากการทำงานนอกเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 จึงไม่ใช่ค่าจ้างที่ต้องนำมารวมคำนวณค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21-23/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงานที่ตกลงให้จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ผูกพันตามกฎหมาย
การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานโดยกำหนดว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์เมื่อใดก็ได้และโจทก์จะไม่เรียกร้องอย่างใด ๆ เอากับจำเลยนั้น เป็นเพียงข้อสัญญาซึ่งให้สิทธิจำเลยที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเท่านั้น มิได้หมายความว่าโจทก์สละสิทธิไม่เรียกร้องเงินซึ่งพึงจะได้รับตามกฎหมาย
ค่าชดเชยเป็นเงินซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 บังคับให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ซึ่งประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับอย่างกฎหมาย โจทก์กับจำเลยจะตกลงทำสัญญาจ้างแรงงานโดยมีข้อตกลงใด ๆ อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศฉบับดังกล่าวหาได้ไม่ การที่โจทก์กับจำเลยตกลงกันโดยกำหนดให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชย ย่อมเป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย เป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 ไม่มีผลใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5042/2528 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยลูกจ้าง นายจ้างระงับการจ่ายไม่ได้ แม้มีสอบสวนความรับผิดทางแพ่งค้างอยู่
เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทันทีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 46 การที่จำเลยตั้งกรรมการสอบสวนความรับผิดทางแพ่งของโจทก์กรณีทรัพย์สินของจำเลยเสียหาย และการสอบสวนของคณะกรรมการยังไม่เสร็จสิ้นในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งหากการสอบสวนเสร็จสิ้น และปรากฏว่า โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยแล้ว จำเลยมีสิทธิขอหักกลบลบหนี้ กับโจทก์ได้นั้น เป็นเพียงเหตุซึ่งจำเลยจะใช้สิทธิหักกลบลบหนี้เท่านั้นไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะระงับการจ่ายค่าชดเชยไว้จำเลย จะอ้างระเบียบข้อบังคับของจำเลยมาเป็นเหตุระงับการจ่ายค่าชดเชย หาได้ไม่
of 41