คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. 46

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 403 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2607/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแรงงานในการงดสืบพยาน, ค่าจ้าง vs. สวัสดิการ, และข้อยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย
ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 104 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ฉะนั้น เมื่อศาลแรงงานสอบโจทก์จำเลยแล้วแถลงรับข้อเท็จจริงกัน ศาลแรงงานก็ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจงดสืบพยานเสียได้ในเมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังเป็นยุติและวินิจฉัยได้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลแรงงานเพื่อฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจนพอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลแรงงานอันเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 หมายความว่า เงิน หรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ดังนี้ แม้จำเลยจ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละ 30,000 บาท ค่าสาธารณูปโภคได้แก่ ค่าไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์เดือนละ 3,000 บาท ให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือนพร้อมเงินเดือนโดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงก็ตาม แต่เมื่อเงินดังกล่าวเป็นเพียงสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่โจทก์ มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานของโจทก์ จึงไม่เป็นค่าจ้าง ย่อมนำมารวมเข้ากับเงินเดือนเพื่อคำนวณเป็นค่าชดเชยไม่ได้
อุทธรณ์จำเลยที่ว่า งานของโจทก์มีแต่หน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงิน ตรวจสอบการเสนอราคาให้แก่ที่ปรึกษาโครงการ และตรวจสอบผลงานเฉพาะโครงการที่ได้รับมอบหมาย ทั้งโจทก์ไม่มีหน้าที่ทำงานในโครงการอื่น ๆ ที่จำเลยรับเหมาก่อสร้างอันเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย และอุทธรณ์จำเลยที่ว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนเป็นเวลา 3 ปี โดยจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ดูแลงานเฉพาะแต่ละโครงการที่จำเลยเห็นว่าโจทก์มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งงานแต่ละโครงการที่โจทก์ดูแลจะมีกำหนดแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 ที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น คดีนี้จำเลยให้การว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนเป็นเวลา 3 ปี และลักษณะงานของโจทก์เป็นงานวิเคราะห์อันเป็นส่วนหนึ่งของงานจำเลย ซึ่งมิใช่เป็นงานในโครงการเฉพาะ แต่เป็นงานปกติของธุรกิจของจำเลย ข้ออ้างตามคำให้การของจำเลยจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสามดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวย่อมไม่ทำให้ผลแห่งการวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2599/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการยกเหตุเลิกจ้างนอกประกาศ และการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับบริษัทในคดีแรงงาน
ตามประกาศของจำเลยที่ปลดโจทก์ออกจากงาน จำเลยอ้างเหตุเพียงว่าโจทก์ละทิ้งการปฏิบัติงานเท่านั้น เท่ากับจำเลยประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในประกาศเพียงประการเดียวเป็นเหตุเลิกจ้าง ไม่ได้ถือเอาเหตุอื่นเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย ดังนี้เมื่อจำเลยถูกฟ้องก็ชอบที่จะยกเหตุตามที่ระบุในประกาศดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้เท่านั้น จำเลยจะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในประกาศดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ ดังนั้นจำเลยจะยกเหตุว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณาของศาลเพื่อที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่ แม้ประเด็นข้อนี้ศาลแรงงานวินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยได้กำหนดโทษร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไว้ ได้แก่ 1.เล่นการพนัน 2.ดื่มสุราในโรงงาน 3.ทะเลาะวิวาทในโรงงาน 4.ปั๊มบัตรบันทึกเวลาแทนกัน ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งแปดละทิ้งหน้าที่ไปดื่มสุราที่บ้านพักของโจทก์ที่ 5 โดยโจทก์ทั้งแปดมิได้ดื่มสุราในโรงงาน จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน อันเป็นกรณีที่ร้ายแรง ดังนี้จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ได้
คดีแรงงานเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากคดีแพ่งโดยทั่วไปการดำเนินคดีจะต้องเป็นไปโดยสะดวก ประหยัดและรวดเร็ว เมื่อจำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาลก็ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 วรรคท้าย กรณีจึงนำ ป.วิ.พ.มาตรา 178 มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้
ศาลแรงงานนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ในวันนัดดังกล่าวจำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง โจทก์รับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้ง แต่ศาลแรงงานมิได้สืบพยานโจทก์ ทั้งได้เปลี่ยนหน้าที่นำสืบเป็นกำหนดให้จำเลยนำสืบพยานก่อน โดยเลื่อนคดีไปนัดสืบพยานจำเลย ครั้นถึงวันนัดโจทก์จึงได้ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง แม้โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งหลังจากครบ 15 วัน นับแต่วันรับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2572/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้าง, ลักษณะการเลิกจ้าง, การสืบพยานในคดีแรงงาน, และการโต้แย้งดุลพินิจศาล
โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างและเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและ ป.พ.พ. จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างแต่เป็นหุ้นส่วนทำกิจการร่วมกัน และโจทก์มีพฤติการณ์เสียหายด้านการเงินไม่นำเงินที่เรียกเก็บจากลูกค้าไปชำระค่าบริการต่าง ๆ ให้สถานบริการเหล่านั้น จำเลยต้องรับภาระชำระหนี้สินที่โจทก์ก่อขึ้นดังกล่าว จำเลยให้โอกาสโจทก์ปรับปรุงตัวใหม่ แต่โจทก์ก็ไม่ได้ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น ยังคงหลอกลวงลูกค้าที่มาใช้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวนำเงินที่รับจากลูกค้าไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเป็นเหตุให้ลูกค้าได้รับความเสียหายอยู่อีก เมื่อศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ดังนี้ ข้อต่อสู้ของจำเลยในส่วนที่ว่าโจทก์มีพฤติการณ์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่จึงยังคงมีอยู่ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าจ้างค้างค่าครองชีพ เงินส่วนแบ่ง เงินค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายต่าง ๆ ตามฟ้องหรือไม่
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง หาได้มีบทกฎหมายใดกำหนดหรือบังคับให้ต้องมีการบอกเลิกจ้างกันอย่างชัดแจ้งทุกกรณีเสมอไปไม่ การเลิกจ้างอาจเกิดขึ้นได้โดยพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่พอแสดงได้ว่าเป็นการเลิกจ้างก็ได้ ดังที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงวิธีการซักถามพยานไว้โดยเฉพาะแล้วว่าในการสืบพยาน คู่ความจะซักถามพยานได้ก็เฉพาะเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานแล้วเท่านั้น กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการสืบพยานตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา 89, 116 (2) และมาตรา 117 มาใช้บังคับแก่การสืบพยานในคดีแรงงานในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้
โจทก์ยกเอาพยานเอกสารที่จำเลยนำสืบมาอุทธรณ์โต้แย้งเพื่อให้ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงไปอีกทางหนึ่งอันจะเป็นประโยชน์แก่โจทก์ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1244/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนระเบียบข้อบังคับ และการขัดคำสั่งชอบด้วยกฎหมาย
ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 4.7 กำหนดเรื่องการขาดงาน ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลที่สมควร จะถูกพิจารณาโทษทางวินัย คือ ขาดงานครั้งแรก ไม่จ่ายค่าจ้างในวันขาดงานและออกหนังสือเตือนครั้งที่ 1 การขาดงานครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 จะไม่จ่ายค่าจ้าง 2 เท่า และ 3 เท่าของค่าจ้าง พร้อมกับออกหนังสือเตือนทั้งสองครั้งตามลำดับ การขาดงานครั้งที่ 4จึงจะเลิกจ้างได้ และข้อ 5.24 กำหนดว่า เจ้าหน้าที่ที่ฝ่าฝืนระเบียบของศูนย์ประกันสังคมของจำเลยจะถูกพิจารณาลงโทษดังนี้ 1.ตักเตือนด้วยวาจา 2.ออกจดหมายเตือนครั้งที่ 1 3.ออกจดหมายเตือนครั้งที่ 2 4.ออกจดหมายเตือนครั้งที่ 3 พักงานโดยมีกำหนดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และ 5.เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ดังนั้น ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว เจ้าหน้าที่ที่ขาดงานโดยละทิ้งหน้าที่จำเลยจะต้องเตือนด้วยวาจา 1 ครั้งก่อน หากมีการกระทำผิดซ้ำในเรื่องเดิมหลังจากนั้นจำเลยจะต้องออกหนังสือเตือนถึง 3 ครั้ง เมื่อขาดงานครั้งที่ 5 จึงให้เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย เมื่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยทั้งสองนี้ ถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยระบุในหนังสือเลิกจ้างว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงาน โดยในครั้งแรกโจทก์ได้รับคำสั่งของจำเลยให้โจทก์ไปทำงานเป็นแพทย์ประกันสังคมประจำโรงพยาบาล ร. แต่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติตามจำเลยจึงได้ออกคำสั่งเป็นหนังสือให้โจทก์ไปปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาล ร. โจทก์รับทราบหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ยอมไป เมื่อตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจะต้องตักเตือนด้วยวาจา 1 ครั้ง และออกหนังสือเตือนอีก 3 ครั้งจึงจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ การที่จำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์เพียงครั้งเดียวแล้วเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จึงเป็นการเลิกจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
แต่การที่โจทก์ได้รับคำสั่งจากศูนย์ประกันสังคมเอกชนในนามจำเลยที่ 1 ให้ไปปฏิบัติงานเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาล ร. แต่โจทก์ก็ไม่ไปปฏิบัติงานตามคำสั่ง เมื่อจำเลยมีหนังสือย้ำให้โจทก์ไปปฏิบัติงานภายในเวลาที่กำหนด โจทก์ก็ไม่ไปปฏิบัติงานตามหน้าที่อีก เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยทั้งสองโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ทั้งจำเลยได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว จึงมีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ส่วนลำดับขั้นตอนการลงโทษตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่กำหนดให้จำเลยเตือนด้วยวาจาในครั้งแรก และออกหนังสือเตือนอีก 3 ครั้ง จึงจะเลิกจ้างลูกจ้างได้นั้น เมื่อระเบียบดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดว่าให้ใช้แก่กรณีเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเท่านั้น ดังนี้จะนำระเบียบนี้มาใช้บังคับแก่กรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ซึ่งมีหลักเกณฑ์การวินิจฉัยแตกต่างจากการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และข้อ 47 หาได้ไม่ และการที่โจทก์ไม่ไปปฏิบัติงานเป็นการจงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างแล้ว จำเลยจึงมีเหตุที่จะเลิกจ้างโจทก์โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 583

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ฝ่าฝืนระเบียบบริษัท แม้ไม่ร้ายแรง แต่มีเหตุอันสมควรจากภาพลักษณ์ธุรกิจ
ขณะเกิดเหตุ โรงแรมจำเลยกำลังมีงานจัดเลี้ยงภายในบริเวณโรงแรม โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยดื่มสุราจนมึนเมาภายในบริเวณโรงแรมเมื่อพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่ไปแล้วสามชั่วโมง แต่โจทก์ยังอยู่ในชุดทำงานและมิได้ตอกบัตรลงเวลาเลิกงาน โจทก์ล้มนอนหงายเท้าถีบตู้กระจกแสดงสินค้าของลูกค้าโรงแรมจำเลยแตกเสียหาย ดังนี้ เมื่อตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุว่า ดื่มเครื่องดองของเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือภายในบริเวณบริษัทฯและมาทำงานในขณะที่มีอาการมึนเมา หรือมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายได้เนื่องจากเสพเครื่องดองของเมาหรือยาเสพติดให้โทษอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่า ดื่มเครื่องดองของเมาหรือมึนเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือขณะทำงานหรือมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่กรณีของโจทก์เป็นเรื่องมึนเมาสุราหลังจากพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่หรือการทำงานแล้ว จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อนี้
ส่วนการที่โจทก์ดื่มสุราจนเมาล้มลงเท้าถีบตู้กระจกของลูกค้าจำเลยแตกเสียหายนั้น เมื่อไม่ใช่เรื่องโจทก์เจตนาทำลายทรัพย์สิน ชื่อเสียงและความมั่นคงของจำเลย แม้จะมีการจัดเลี้ยงอยู่ในบริเวณโรงแรมจำเลยแต่บริเวณที่โจทก์เมาสุรา และล้มลงเท้าถีบตู้กระจกลูกค้าจำเลยแตกนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นบริเวณที่จัดเลี้ยง จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยเสียชื่อเสียงและความมั่นคงของจำเลย ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุ ความผิดประเภท ง ที่ว่า "เจตนาทำลายทรัพย์สิน ชื่อเสียง และความมั่นคงของบริษัทฯ" การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานประเภทนี้เช่นเดียวกัน
สำหรับความผิดประเภท ข ที่ระบุว่า "อยู่ภายในบริเวณบริษัทฯ หลังจากพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่แล้ว หรือกลับเข้ามาในบริเวณบริษัทฯขณะที่ไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่หรือในขณะที่ลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควรพนักงานทุกคนต้องออกจากบริเวณบริษัทฯ ภายในครึ่งชั่วโมงหลังจากที่พ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่แล้ว (พนักงานระดับบริหาร และหัวหน้าแผนกต่าง ๆถือว่าปฏิบัติงานอยู่ตลอดเวลาในขณะที่อยู่ในบริเวณบริษัทฯ)" เมื่อการกระทำผิดในข้อนี้ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยได้กำหนดโทษสำหรับความผิดประเภทนี้ไว้ถึง 3 ขั้น คือ ความผิดครั้งที่หนึ่งออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ความผิดครั้งที่สอง ออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้าย ความผิดครั้งที่สาม ปลดออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องร้ายแรงที่จำเลยอาจเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) การที่โจทก์ซึ่งมิใช่พนักงานระดับบริหารหรือหัวหน้าแผนกเลิกงานแล้ว แต่ยังอยู่ในบริเวณโรงแรมจำเลยโดยมิได้ออกไปภายในครึ่งชั่วโมงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือขัดคำสั่งจำเลยที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ไม่ร้ายแรงเท่านั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว แม้เป็นข้อที่ไม่ร้ายแรงแต่ก็ถือได้ว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 583 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว แม้เป็นข้อที่ไม่ร้ายแรงก็ตาม แต่การที่จำเลยประกอบธุรกิจโรงแรมมีชื่อเสียงเป็นที่ไว้วางใจจากคนเดินทางหรือแขกที่มาพัก ในวันเกิดเหตุโจทก์เลิกงานแล้วยังอยู่ในชุดทำงาน และเมาสุราล้มลงนอนหงายเท้าถีบตู้กระจกของลูกค้าจำเลยเสียหายเช่นนี้นับว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ กรณีมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินชดเชย vs. เงินบำเหน็จ: การจ่ายรวมกันไม่ขัดกฎหมาย หากเงินบำเหน็จสูงกว่า
ตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 ข้อ 37กำหนดว่า ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานตามความในข้อ 23 และ 24 และเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชย ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชย แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว และตามบันทึกข้อตกลง ฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2524 ข้อ 3.1กำหนดว่า การจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปี บริษัทตกลงจ่ายแก่ผู้ขอรับให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม ของปีทำงานนั้น ๆ ส่วนลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะรับเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปี คงให้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาเช่า จึงเป็นได้ว่าตามข้อกำหนดของคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายเงินชดเชยในขณะที่ออกคำสั่งนั้นซึ่งหมายถึงค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่ประกาศใช้ในเวลาต่อมาและยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันให้แก่พนักงานหรือคนงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานแต่เพียงอย่างเดียว หาได้ประสงค์ให้มีสิทธิได้รับเงินเต็มจำนวนทั้งสองประเภทไม่ ดังนั้นในกรณีที่พนักงานหรือคนงานมีสิทธิได้รับทั้งค่าชดเชยมากกว่าค่าชดเชย ก็ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนค่าชดเชย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยให้แล้วเช่นกัน เพียงแต่มีการจ่ายรวมกันไปกับเงินบำเหน็จเท่านั้น และในกรณีที่เงินบำเหน็จมีจำนวนน้อยกว่าค่าชดเชยก็ให้ได้รับแต่ค่าชดเชยเพียงอย่างเดียวที่พนักงานหรือคนงานมีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว การจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าชดเชยรวมไปด้วย และมิใช่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิในการรับค่าชดเชยของพนักงานหรือคนงานตามกฎหมาย จึงถือว่าเงินบำเหน็จตัดตอนที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสิบสามก็คือเงินบำเหน็จตามคำสั่งที่124/2501 ข้อ 37 นั่นเอง เพียงแต่จำเลยและลูกจ้างได้ตกลงเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการจ่ายเงินบำเหน็จจากการจ่ายครั้งเดียวมาเป็นจ่ายเป็นรายปี และไม่ถือว่าเงินบำเหน็จตัดตอนที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสิบสามไปแล้วเป็นเงินประเภทอื่น และเมื่อคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501ดังกล่าวเพียงแต่ออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.แรงงาน พ.ศ.2499ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 และหาเป็นผลให้เป็นการยกเลิกคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 เกี่ยวกับค่าชดเชยโดยเฉพาะข้อ 37 ไม่ ดังนั้นการที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างรวมไปกับเงินบำเหน็จจึงไม่เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายคุ้มครอง-แรงงานและไม่ตกเป็นโมฆะเมื่อเงินบำเหน็จที่โจทก์แต่ละคนได้รับไปแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยที่โจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิได้รับ โจทก์ทั้งสิบสามจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ลาป่วยเท็จและฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้าง ศาลยืนยันสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
กรณีที่โจทก์ยื่นใบลาป่วยขอหยุดงานรวม 90 วันนั้น เหตุแห่งการลาป่วยเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในขณะที่โจทก์ยื่นใบลา จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงอนุญาตให้โจทก์หยุดงานไปตามนั้น แต่ต่อมาเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้ป่วยเจ็บจนไม่สามารถทำงานตามปกติ และโจทก์หยุดงานไปเพื่อทำธุรกิจส่วนตัวอันเป็นการหยุดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและแจ้งลาป่วยเท็จ ส่วนเหตุเลิกจ้างซึ่งจำเลยได้ออกหนังสือสั่งให้โจทก์ไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงาน อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏหลังจากจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยและอยู่ในระหว่างลาหยุดงานเป็นข้อเท็จจริงคนละส่วนกับข้อเท็จจริงในเหตุเลิกจ้างที่จำเลยถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและแจ้งลาป่วยเท็จ ดังนั้น ที่ศาลแรงงานวินิจฉัยเหตุของการเลิกจ้างทั้งสองประการดังกล่าวนี้ จึงมิได้ขัดแย้งกัน
หลังจากจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยและหยุดงานแล้ว ปรากฏว่าโจทก์มิได้ป่วยเจ็บจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์รายงานตัวกลับเข้าทำงานในตำแหน่งใหม่นั้น การที่จำเลยมีหนังสือแจ้งดังกล่าวให้โจทก์ทราบและถือปฏิบัติ แสดงว่าเหตุแห่งการลาป่วยที่จำเลยอนุญาตนั้นได้สิ้นไปแล้วและเป็นการยกเลิกการอนุญาตให้โจทก์ลาหยุดงานไปในตัว จำเลยหาจำต้องระบุข้อความไว้โดยแจ้งชัดว่ายกเลิกการอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยไม่ เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์มารายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงาน โจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติทั้ง ๆ ที่จำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วหลายครั้ง เป็นการที่จำเลยจงใจขัดคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5880/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างในระหว่างการชำระบัญชีองค์กร, สิทธิลูกจ้างชั่วคราว, และการคำนวณค่าชดเชย
จำเลยที่ 10 และที่ 11 มิได้เป็นนายจ้างของโจทก์มิได้เกี่ยวกับการเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 10 และที่ 11 ให้รับผิดในส่วนนี้เกี่ยวกับการเลิกจ้าง
ตาม พ.ร.ฎ.ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่พ.ศ.2520 พ.ศ.2528 มาตรา 4 องค์การเหมืองแร่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้ถูกยกเลิกตามมาตรา 3 ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีและมาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 11 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีอำนาจแต่งตั้งคณะผู้ช่วยผู้ชำระบัญชีเพื่อดำเนินการชำระบัญชีได้ และการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีคำสั่งจ้างโจทก์เป็นผู้ช่วยผู้ชำระบัญชีก็เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นไป หากพนักงาน ลูกจ้าง และคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะปฏิบัติงานต่อไป จำเลยก็ย่อมมีสิทธิเลิกจ้างเป็นรายบุคคลได้ดังนี้ เมื่องานเกี่ยวกับการชำระบัญชีหมดลง กรณีไม่จำเป็นที่จะต้องจ้างโจทก์เพื่อปฏิบัติงานต่อไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.ฎ.ดังกล่าวที่ให้อำนาจไว้ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิใช่เป็นหนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใดจำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ค่าจ้าง
สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์มิได้หยุดและค่าชดเชยเป็นหนี้เงินที่กฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้างโดยไม่ต้องทวงถามดังนั้น จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดังกล่าว
คำฟ้องโจทก์ระบุอัตราค่าจ้างของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8ไว้แล้ว และจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธอัตราค่าจ้างของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวไว้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยแก่โจทก์ผิดพลาดจากข้อเท็จจริงในสำนวน ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 คำนวณค่าชดเชยตามคำขอท้ายฟ้องมาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ดังกล่าวได้รับค่าชดเชยในจำนวนที่ถูกต้อง
จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว การที่โจทก์มาทำงานภายหลังวันที่จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าว
ศาลฎีกาเคยย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าบำเหน็จแล้ว แต่ศาลแรงงานไม่ได้วินิจฉัย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความ ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนอีกได้
จำเลยจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างเพียงฉบับละ 1 เดือน เป็นการจ้างชั่วคราวเพื่อให้การชำระบัญชีของจำเลยที่ 1เสร็จสิ้นไป หากพนักงานลูกจ้างและคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะพึงปฏิบัติงานต่อไป จำเลยก็จะเลิกจ้างเป็นรายบุคคลไป แต่ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในองค์การเหมืองแร่ ข้อ 5กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี เมื่อออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นอกจากถูกลงโทษ ปลดออก หรืออื่น ๆ มีสิทธิได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินเดือนหรือค่าจ้างเดือนสุดท้ายที่พ้นจากตำแหน่งคูณด้วยระยะเวลาที่ได้ปฏิบัติงานคิดเป็นปีและโจทก์จะทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก็ตาม แต่เมื่อการนับเวลาทำงานตามข้อ 6 ให้ถือหลักเกณฑ์โดยนับแต่วันที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับการบรรจุในอัตราประจำ ดังนี้การที่จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานในระหว่างการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการชั่วคราวมีระยะเวลาจ้างครั้งละ 1 เดือน หาได้บรรจุในอัตราประจำไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 หนังสือเรื่องโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจใหม่ ประกอบบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจและโครงสร้างเงินเดือนกับโครงสร้างเงินเดือนที่ปรับใหม่มีระบุอัตราเงินเดือน ขั้นเงินเดือนถึง 53 ขั้น และมีขั้นวิ่ง ซึ่งการปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจนั้นใช้กับพนักงานลูกจ้างที่ทำงานประจำโดยมีการบรรจุในอัตราประจำ แต่เมื่อจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานในระหว่างการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการชั่วคราว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชย โดยไม่ระบุให้จำเลยคนใดต้องรับผิดนั้น ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4714/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยลูกจ้าง: งานก่อสร้างปกติ ไม่เข้าข้อยกเว้นการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศ มท.
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคท้าย ได้กำหนดเงื่อนไขในการที่ลูกจ้างจะไม่ได้รับค่าชดเชยเพราะเหตุที่เป็นลูกจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างไว้แน่นอน จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างได้จ้างลูกจ้างเพื่อทำงานประเภทใดประเภทหนึ่งดังนี้คือ
1. ทำงานตามโครงการเฉพาะซึ่งมิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างโดยมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน
2. ทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวซึ่งมีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน
3. ทำงานที่เป็นไปตามฤดูกาลโดยได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น
ซึ่งงานทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวจะต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี ลูกจ้างจึงจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่บริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้างมีวัตถุประสงค์ทำการก่อสร้าง รับงานโครงการไว้ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 1 แห่งจังหวัดขอนแก่น 1 แห่ง และจังหวัดสมุทรสงคราม 1 แห่ง งานก่อสร้างของจำเลยตามโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวจึงเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยในการที่จะไปรับจ้างก่อสร้าง ทั้งงานที่จำเลยจ้างโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่ามีความเกี่ยวข้องกับระยะเวลาการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานแต่อย่างใด จำเลยจ้างโจทก์ 1 ปีและจ้างติดต่อไปอีก 6 เดือน การจ้างงานในกรณีดังกล่าวจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว
จำเลยจ้างโจทก์ติดต่อกันมาตามสัญญาจ้างสองฉบับโดยมิได้มีการเลิกจ้าง การนับระยะเวลาจึงต้องนับต่อเนื่องกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2893/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุเลิกจ้างต้องพิจารณา ณ ขณะเลิกจ้าง ข้อกล่าวหาหลังเกิดเหตุไม่มีผล
การเลิกจ้างที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างในขณะที่เลิกจ้างเป็นสำคัญ กรณีที่จำเลยอุทธรณ์เป็นการพิพาทกันระหว่างโจทก์กับ จ.เกี่ยวกับการบริหารงานของ จ.ในตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทจำเลย มิใช่ปัญหาว่าการบริหารงานของโจทก์ที่ผ่านมาไม่เป็นที่น่าพอใจและไม่น่าไว้วางใจตามที่จำเลยได้ยกขึ้นมาเป็นข้อกล่าวอ้างเพื่อเลิกจ้างโจทก์ ดังนั้น ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่เป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างในขณะเลิกจ้างที่จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้ แม้ศาลแรงงานได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและวินิจฉัยไว้ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 41