คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. 47

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 112 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3507/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างพนักงานที่ปฏิบัติงานบกพร่อง แต่ไม่ร้ายแรง และสิทธิในเงินบำเหน็จ
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า การสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนมิได้เป็นไปโดยรอบคอบเป็นเหตุให้จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย การเลิกจ้างที่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าก่อน เป็นการมิชอบด้วย ป.พ.พ.และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากโจทก์มิได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาทำให้โจทก์เสียหาย เป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับที่ให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงาน ให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมค่าขาดรายได้ประจำ เงินโบนัส ส่วนรายละเอียดในการจ้าง การเลิกจ้าง และข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิด เป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
แม้โจทก์มีส่วนร่วมในความผิดพลาดในการวิเคราะห์ลูกหนี้ และการประเมินราคาหลักทรัพย์ และโจทก์ประเมินความสามารถในการชำระหนี้โดยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้รอบคอบเพียงพอให้สมกับตำแหน่งผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลยที่มีหน้าที่ดูแลระมัดระวังผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องตามระเบียบอย่างเคร่งครัด เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่การกระทำผิดของโจทก์ดังกล่าวไม่ปรากฏว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจทำให้จำเลยเสียหาย และการปล่อยสินเชื่อของโจทก์ก็เป็นการแสวงหาประโยชน์ให้แก่จำเลยโดยตรง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าการกระทำผิดของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง แต่ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นผู้จัดการสาขาธนาคารจำเลย และโจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสาขา มีหน้าที่รับผิดชอบงานทุกอย่างในสาขา การที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องย่อมทำให้จำเลย เสียหายแม้ความเสียหายดังกล่าวจะยังไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยเสียหายร้ายแรงก็ตามแต่ก็ถือได้ว่าการกระทำของโจทก์มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
โจทก์เพียงแต่บกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่ไม่ถึงขั้นกรณีที่ร้ายแรง และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้เตือนเป็นหนังสือก่อน ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จงใจขัดคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำผิดในประการอื่นอีกจำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
ตามระเบียบว่าด้วยเงินบำเหน็จของจำเลยกำหนดว่า พนักงานที่จำเลยให้ออกหรือไล่ออกเพราะกระทำผิดวินัยอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ บำนาญ และเงินพิเศษใด ๆ (1) ทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อจำเลย (2) จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย (3) ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว (4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร (5) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท (7) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง(8) มีพฤติการณ์ที่ทำให้ขาดความไว้วางใจ หรือมีมลทินมัวหมอง หากให้ปฏิบัติงานต่อไปจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อจำเลย แต่การกระทำของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องและไม่พอที่จะถือว่าทำให้จำเลยเสียหายร้ายแรง จึงไม่เข้ากรณีที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ตามระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3043/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้มีเหตุผลทางธุรกิจ แต่ต้องพิจารณาความจำเป็นและความเดือดร้อนของลูกจ้าง
บทบัญญัติเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการคุ้มครองนายจ้างและลูกจ้างมิให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน แม้ตามมาตรา 123 ซึ่งมุ่งหมายมิให้นายจ้างกลั่นแกล้งลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจะได้กำหนดเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ แต่ก็มิได้หมายความว่า เมื่อนายจ้างมีเหตุจำเป็นนอกเหนือจากเหตุแห่งการเลิกจ้างดังกล่าวแล้ว นายจ้างจะเลิกจ้างไม่ได้ จึงต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นสำคัญฉะนั้นแม้การเลิกจ้างจะเป็นเหตุให้ผู้ถูกเลิกจ้างเดือดร้อน แต่ถ้าเป็นความจำเป็นทางฝ่ายนายจ้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้กิจการของนายจ้างดำรงอยู่ต่อไป ก็ย่อมเป็นสาเหตุที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้
จำเลยร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องและถูกโจทก์เลิกจ้างในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ทั้งก่อนที่โจทก์จะยุบตำแหน่งจำเลยร่วม โจทก์ก็ยังประกอบกิจการได้กำไรอยู่ การยุบเลิกตำแหน่งดังกล่าวเป็นเพียงนโยบายของสำนักงานใหญ่ของโจทก์เท่านั้น ทั้งตำแหน่งงานใหม่ที่โจทก์เสนอให้จำเลยร่วมคือรองนายสนามบิน ก็ต้องทำงานเป็นกะบางครั้งต้องทำงานในเวลากลางคืนและทำงานช่วงวันเสาร์อาทิตย์ จำเลยร่วมมีครอบครัวจึงไม่สะดวก ส่วนตำแหน่งฝ่ายปฏิบัติการประจำสนามบินมีผลประโยชน์ต่ำกว่าตำแหน่งเดิมที่จำเลยร่วมทำงานอยู่ จำเลยร่วมจึงปฏิเสธ โจทก์ไม่สามารถหาตำแหน่งงานใหม่ที่เหมาะสมให้แก่จำเลยร่วมได้ การที่จำเลยร่วมปฏิเสธตำแหน่งงานใหม่ที่โจทก์เสนอจึงมิใช่ความผิดของจำเลยร่วม กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์มีเหตุที่จำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการเลิกจ้างจำเลยร่วม ทั้งการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมเพราะเหตุยุบตำแหน่งของจำเลยร่วม ก็ไม่อยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 123 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมในกรณีนี้จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 123

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2599/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการยกเหตุเลิกจ้างนอกประกาศ และการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับบริษัทในคดีแรงงาน
ตามประกาศของจำเลยที่ปลดโจทก์ออกจากงาน จำเลยอ้างเหตุเพียงว่าโจทก์ละทิ้งการปฏิบัติงานเท่านั้น เท่ากับจำเลยประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในประกาศเพียงประการเดียวเป็นเหตุเลิกจ้าง ไม่ได้ถือเอาเหตุอื่นเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย ดังนี้เมื่อจำเลยถูกฟ้องก็ชอบที่จะยกเหตุตามที่ระบุในประกาศดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้เท่านั้น จำเลยจะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในประกาศดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ ดังนั้นจำเลยจะยกเหตุว่าโจทก์จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณาของศาลเพื่อที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่ แม้ประเด็นข้อนี้ศาลแรงงานวินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยได้กำหนดโทษร้ายแรงถึงขั้นไล่ออกโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไว้ ได้แก่ 1.เล่นการพนัน 2.ดื่มสุราในโรงงาน 3.ทะเลาะวิวาทในโรงงาน 4.ปั๊มบัตรบันทึกเวลาแทนกัน ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งแปดละทิ้งหน้าที่ไปดื่มสุราที่บ้านพักของโจทก์ที่ 5 โดยโจทก์ทั้งแปดมิได้ดื่มสุราในโรงงาน จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน อันเป็นกรณีที่ร้ายแรง ดังนี้จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ได้
คดีแรงงานเป็นคดีที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากคดีแพ่งโดยทั่วไปการดำเนินคดีจะต้องเป็นไปโดยสะดวก ประหยัดและรวดเร็ว เมื่อจำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การเป็นหนังสือก่อนวันเวลาที่ศาลแรงงานนัดให้มาศาลก็ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 วรรคท้าย กรณีจึงนำ ป.วิ.พ.มาตรา 178 มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้
ศาลแรงงานนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ในวันนัดดังกล่าวจำเลยยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง โจทก์รับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้ง แต่ศาลแรงงานมิได้สืบพยานโจทก์ ทั้งได้เปลี่ยนหน้าที่นำสืบเป็นกำหนดให้จำเลยนำสืบพยานก่อน โดยเลื่อนคดีไปนัดสืบพยานจำเลย ครั้นถึงวันนัดโจทก์จึงได้ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง แม้โจทก์ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งหลังจากครบ 15 วัน นับแต่วันรับสำเนาคำให้การและฟ้องแย้งก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2508/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี แม้ไม่มีการเลิกจ้าง นายจ้างต้องกำหนดวันหยุดหรือจ่ายค่าจ้าง
แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 45 บัญญัติว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามข้อ 10 และข้อ 32 ด้วย บทบัญญัติดังกล่าวมิได้หมายความว่า ถ้านายจ้างมิได้เลิกจ้างลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีตามข้อ 10 อยู่แล้ว ดังนั้น หากลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี แต่นายจ้างไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีและนายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี แม้ขณะฟ้องลูกจ้างยังมีสภาพเป็นลูกจ้างก็มีสิทธิเรียกให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือให้นายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีในทางใดทางหนึ่งได้ ที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นซึ่งรวมถึงเรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ย่อมไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้อง จำเลยให้การว่า จำเลยนำวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ไปหักจากวันที่โจทก์ขาดงานและลางานเกินสิทธิที่กฎหมายกำหนดไว้หมดแล้ว คำให้การจำเลยดังกล่าวชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้อง เมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงส่วนนี้ กรณีจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ฝ่าฝืนระเบียบบริษัท แม้ไม่ร้ายแรง แต่มีเหตุอันสมควรจากภาพลักษณ์ธุรกิจ
ขณะเกิดเหตุ โรงแรมจำเลยกำลังมีงานจัดเลี้ยงภายในบริเวณโรงแรม โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยดื่มสุราจนมึนเมาภายในบริเวณโรงแรมเมื่อพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่ไปแล้วสามชั่วโมง แต่โจทก์ยังอยู่ในชุดทำงานและมิได้ตอกบัตรลงเวลาเลิกงาน โจทก์ล้มนอนหงายเท้าถีบตู้กระจกแสดงสินค้าของลูกค้าโรงแรมจำเลยแตกเสียหาย ดังนี้ เมื่อตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุว่า ดื่มเครื่องดองของเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือภายในบริเวณบริษัทฯและมาทำงานในขณะที่มีอาการมึนเมา หรือมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายได้เนื่องจากเสพเครื่องดองของเมาหรือยาเสพติดให้โทษอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่า ดื่มเครื่องดองของเมาหรือมึนเมาในขณะปฏิบัติหน้าที่หรือขณะทำงานหรือมึนเมาจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่กรณีของโจทก์เป็นเรื่องมึนเมาสุราหลังจากพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่หรือการทำงานแล้ว จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อนี้
ส่วนการที่โจทก์ดื่มสุราจนเมาล้มลงเท้าถีบตู้กระจกของลูกค้าจำเลยแตกเสียหายนั้น เมื่อไม่ใช่เรื่องโจทก์เจตนาทำลายทรัพย์สิน ชื่อเสียงและความมั่นคงของจำเลย แม้จะมีการจัดเลี้ยงอยู่ในบริเวณโรงแรมจำเลยแต่บริเวณที่โจทก์เมาสุรา และล้มลงเท้าถีบตู้กระจกลูกค้าจำเลยแตกนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นบริเวณที่จัดเลี้ยง จึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยเสียชื่อเสียงและความมั่นคงของจำเลย ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุ ความผิดประเภท ง ที่ว่า "เจตนาทำลายทรัพย์สิน ชื่อเสียง และความมั่นคงของบริษัทฯ" การกระทำของโจทก์ไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานประเภทนี้เช่นเดียวกัน
สำหรับความผิดประเภท ข ที่ระบุว่า "อยู่ภายในบริเวณบริษัทฯ หลังจากพ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่แล้ว หรือกลับเข้ามาในบริเวณบริษัทฯขณะที่ไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่หรือในขณะที่ลาหยุดโดยไม่มีเหตุอันสมควรพนักงานทุกคนต้องออกจากบริเวณบริษัทฯ ภายในครึ่งชั่วโมงหลังจากที่พ้นเวลาปฏิบัติหน้าที่แล้ว (พนักงานระดับบริหาร และหัวหน้าแผนกต่าง ๆถือว่าปฏิบัติงานอยู่ตลอดเวลาในขณะที่อยู่ในบริเวณบริษัทฯ)" เมื่อการกระทำผิดในข้อนี้ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยได้กำหนดโทษสำหรับความผิดประเภทนี้ไว้ถึง 3 ขั้น คือ ความผิดครั้งที่หนึ่งออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ความผิดครั้งที่สอง ออกหนังสือเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งสุดท้าย ความผิดครั้งที่สาม ปลดออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องร้ายแรงที่จำเลยอาจเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) การที่โจทก์ซึ่งมิใช่พนักงานระดับบริหารหรือหัวหน้าแผนกเลิกงานแล้ว แต่ยังอยู่ในบริเวณโรงแรมจำเลยโดยมิได้ออกไปภายในครึ่งชั่วโมงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือขัดคำสั่งจำเลยที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ไม่ร้ายแรงเท่านั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว แม้เป็นข้อที่ไม่ร้ายแรงแต่ก็ถือได้ว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 583 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมแล้ว แม้เป็นข้อที่ไม่ร้ายแรงก็ตาม แต่การที่จำเลยประกอบธุรกิจโรงแรมมีชื่อเสียงเป็นที่ไว้วางใจจากคนเดินทางหรือแขกที่มาพัก ในวันเกิดเหตุโจทก์เลิกงานแล้วยังอยู่ในชุดทำงาน และเมาสุราล้มลงนอนหงายเท้าถีบตู้กระจกของลูกค้าจำเลยเสียหายเช่นนี้นับว่าจำเลยมีเหตุอันสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ กรณีมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5463/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลดออกงานและค่าจ้าง กรณีขาดงานเกิน 7 วัน ตามข้อบังคับบริษัท
ตามข้อบังคับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโจทก์ ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การออกจากตำแหน่ง วินัย และการลงโทษของพนักงานระบุว่า "เมื่อพนักงานทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังต่อไปนี้ ให้ปลดออก ฯลฯ (7)ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่หรือขาดงานติดต่อในคราวเดียวกันโดยไม่มีเหตุผลสมควรเป็นเวลาเกินกว่าเจ็ดวันทำการ..." และข้อบังคับที่กล่าวมานี้ไม่ได้ระบุถึงการสั่งพักงานเพื่อสอบสวนความผิด หรือให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะปลดพนักงานหรือลูกจ้างออกจากงานโดยให้มีผลย้อนหลังได้ โจทก์มีสิทธิปลดพนักงานหรือลูกจ้างออกจากงานในกรณีตามที่ระบุไว้ใน (7) ตั้งแต่วันที่พนักงานหรือลูกจ้างขาดงานเกิน 7 วันทำการเป็นต้นไป มิใช่ตั้งแต่วันแรกที่พนักงานหรือลูกจ้างขาดงาน และโจทก์มีสิทธิปลดออกจากงานได้ในทันที การที่พนักงานของโจทก์เสนองานล่าช้าไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่พนักงานหรือลูกจ้างผู้นั้นที่จะได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างในระหว่างที่ไม่ได้มาทำงานให้แก่โจทก์ ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 575 เมื่อระเบียบข้อบังคับดังกล่าวมิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะปลดพนักงานหรือลูกจ้างออกจากงานโดยให้มีผลย้อนหลังได้ การที่โจทก์มีคำสั่งปลดจำเลยออกจากงานโดยให้มีย้อนหลังดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ
การที่จำเลยมิได้มาทำงานให้แก่โจทก์ภายหลังจากที่ขาดงานไปเกิน 7 วัน ซึ่งโจทก์มีสิทธิปลดจำเลยออกจากงานได้ทันทีตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ ดังนี้ โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยเนื่องจากจำเลยมิได้ทำงานให้แก่โจทก์ในช่วงระยะเวลาหลังจากที่ขาดงานไปเกิน 7 วัน แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้มีคำสั่งปลดจำเลยออกจากงานในทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่เกิน7 วัน ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังคงจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยต่อมาจึงเป็นกรณีต้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 407 การที่โจทก์รู้ตั้งแต่วันที่จำเลยขาดงานเกิน 7 วันแล้วว่าโจทก์มีสิทธิปลดจำเลยออกจากงานได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยในช่วงระยะเวลาหลังจากนั้นเนื่องจากตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าจ้างดังกล่าวนั้นคืนจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดความเสียหายและรับผิดชอบค่าเสียหายได้
เมื่อปรากฏว่าหนังสือการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินเป็นเอกสารที่โจทก์มีหน้าที่ต้องถ่ายสำเนาแพร่ให้สำนักงานการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ การที่โจทก์ไม่กระทำตามหน้าที่จนมีการจ่ายเงินผิดพลาด ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อบกพร่องต่อหน้าที่ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจำเลยมีคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่โจทก์และให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3028/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสดงกิริยาข่มขู่ด้วยคำพูดและการกำมือแน่นไม่ถึงขั้นเลิกจ้างได้
ขณะที่โจทก์พูดตะคอกนางสาว อ. ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าจะเซ็นชื่อในใบลาหรือไม่ ถ้าไม่รักศักดิ์ศรีเป็นเกิดเรื่องแน่ และเมื่อ อ.ถามว่าจะต่อยหน้าหรือ โจทก์ก็พูดว่าไม่แน่พร้อมกับกำมือแน่นอยู่นั้น ไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้แสดงกิริยาอาการอื่นที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์จะเข้าทำร้าย อ. การกระทำของโจทก์จึงเป็นเพียงการกระทำที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น ยังไม่พอถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3026/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าชดเชยพนักงานรัฐวิสาหกิจ: การตีความสถานะ 'พนักงาน' และข้อยกเว้นสำหรับฝ่ายบริหาร
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับ ซึ่งประกาศ ณ วันที่12 กันยายน 2534 ข้อ 2 ระบุว่า ให้รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวไม่ใช้บังคับทำให้ตำแหน่งงานของโจทก์ไม่อยู่ภายใต้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 อีกต่อไป ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ที่ออกตามความในมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ได้ระบุในข้อ 45 และข้อ 47 มีความหมายว่าเงินค่าชดเชยที่รัฐวิสาหกิจใดจะพึงจ่ายให้นั้นได้กำหนดเจาะจงจ่ายให้เฉพาะแก่พนักงานของรัฐวิสาหกิจนั้นเท่านั้น โดยข้อ 3 ได้ให้คำนิยามคำว่า พนักงานหมายความว่า พนักงานตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ซึ่งในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.นี้ได้ให้คำนิยามคำว่า พนักงาน หมายความว่า พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่หมายความรวมถึงฝ่ายบริหาร และคำว่า ฝ่ายบริหารหมายความว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ระดับหัวหน้ากองหรือเทียบเท่าขึ้นไป โดยให้หมายความรวมถึงผู้อำนวยการด้วย เมื่อขณะที่โจทก์พ้นจากการทำงานให้แก่จำเลยในปี 2537 ขณะ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ใช้บังคับเพราะเหตุเกษียณอายุ โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ถือได้ว่าโจทก์มีฐานะเป็นฝ่ายบริหารไม่ใช่พนักงานของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามข้อ 45 และข้อ 47แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว
การที่โจทก์เรียกร้องสิทธิประโยชน์ในเงินค่าชดเชยโจทก์จะถือสิทธิความเป็นพนักงานตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 หาได้ไม่ เพราะบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับนี้ใช้สำหรับพิจารณาว่าคุณสมบัติขั้นมาตรฐานและลักษณะต้องห้ามของพนักงานรัฐวิสาหกิจมีอย่างไรเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2616/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งไม่ชัดเจน, เลิกจ้างโดยชอบธรรมตามสัญญา, เหตุเลิกจ้างต้องระบุในหนังสือเลิกจ้าง
ฟ้องแย้งของจำเลยบรรยายเพียงว่า ผู้ที่สั่งจองห้องพักของจำเลยไว้ ได้ยกเลิกการจองห้องพักในภายหลังเพราะไม่พอใจการกระทำของโจทก์ ค่าห้องพักที่ถูกยกเลิกการสั่งจองคิดเป็นเงินจำนวน 10,936,655.50 บาทโดยไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะให้เข้าใจได้ว่า ผู้จองห้องพักและได้ยกเลิกการสั่งจองในภายหลังนั้น ได้จองห้องพักเมื่อใด จองห้องพักจำนวนมากน้อยและมีกำหนดระยะเวลาที่จองนานเท่าใด กับได้ยกเลิกการสั่งจองห้องพักเมื่อใด เป็นฟ้องแย้งที่ไม่แจ้งชัดซี่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น เป็นฟ้องแย้งที่เคลือบคลุม
ตามสัญญาจ้างกำหนดว่าจำเลยจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลา3 ปี โดยจำเลยหรือโจทก์ต่างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกำหนดระยะเวลา3 ปีดังกล่าวได้ การที่จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีเป็นการใช้สิทธิเลิกสัญญาจ้างตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม
จำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือเงินจำนวนใด ๆ ให้โจทก์ดังคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสองเพียงใดหรือไม่จะต้องพิจารณาถึงเหตุของการเลิกจ้างในขณะที่เลิกจ้างเป็นสำคัญ ซึ่งตามหนังสือเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยไม่ได้ระบุเหตุของการเลิกจ้างว่าเพราะโจทก์กระทำผิดตามประเด็นข้อพิพาทข้อ 3 ถึงข้อ 6 การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดตามประเด็นข้อพิพาทข้อ 3 ถึงข้อ 6 จึงเป็นการยกข้อต่อสู้นอกเหนือหนังสือเลิกจ้างซึ่งจำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้
of 12