คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ม. 32

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอทางจำเป็นแม้ผู้ซื้อที่ดินทราบว่าที่ดินถูกล้อม และผลกระทบต่อสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรร
การขอทางผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง มุ่งพิจารณาถึงสภาพของที่ดินนั้นจะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะต้องได้ที่ดินมาโดยสุจริต กล่าวคือ ต้องไม่รู้ว่าที่ดินที่ตนได้มาถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะมาก่อน หากรู้มาก่อนถือว่าไม่สุจริตไม่มีสิทธิผ่านที่ดินแปลงที่ล้อมออกสู่ทางสาธารณะได้แต่อย่างใด ดังนั้นแม้โจทก์จะซื้อที่ดินมาโดยรู้อยู่แล้วว่ามีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ออกสู่ทางสาธารณะหมดไป เพราะสิทธิของโจทก์ดังกล่าวเป็นสิทธิที่กฎหมายบัญญัติให้ไว้ ซึ่งหากจำเลยได้รับความเสียหายจากการเปิดทางจำเป็นดังกล่าว จำเลยก็มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนเป็นค่าเสียหายได้ ตามมาตรา 1349 วรรคสี่
มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะต้องขอผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ ซึ่งอยู่ใกล้ทางสาธารณะมากที่สุดเท่านั้น เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะขอผ่านที่ดินที่ล้อมแปลงใดก็ได้ เพียงแต่การที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็น กับต้องคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ตามมาตรา 1349 วรรคสาม เมื่อปรากฏว่าที่ดินของจำเลยที่ล้อมที่ดินของโจทก์อยู่มีสภาพเป็นทางซึ่งใช้ออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว จึงเป็นทางจำเป็นที่สะดวกที่สุดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยน้อยที่สุด
แม้ทางจำเลยที่โจทก์ขอผ่านจะเป็นถนนซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้น และตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร แม้มีกฎหมายซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแล้วทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระแก่ที่ดินนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามนัยแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18, 30 วรรคแรก และ 32 ก็ตาม แต่เมื่อถนนดังกล่าวตกอยู่ภายใต้สิทธิเรียกร้องที่โจทก์จะขอเปิดทางจำเป็นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระแก่ที่ดินที่ตกเป็นสาธารณูปโภค จึงหาขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5527/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม การจัดสรรที่ดิน และสิทธิในการรื้อถอนสิ่งกีดขวาง
เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาให้ฟ้องและดำเนินคดีแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะมอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องและดำเนินคดีแทนได้หาจำต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาอีกครั้งไม่
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินไว้ในข้อ 1 ว่า การจัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อย มีจำนวนตั้งแต่ 10 แปลงขึ้นไปไม่ว่าด้วยวิธีใด เมื่อปรากฏว่า ป.และ ย.ได้ร่วมกันแบ่งแยกที่ดินของตนออกเป็นแปลงย่อย รวม 27 แปลง แล้วประกาศขายให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยได้ระบุที่ดินพิพาทอันเป็นรูปตัวทีในหนังสือโฆษณาจัดทำเป็นทางออกสู่ถนนสาธารณะทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ซื้อที่ดิน การกระทำของ ป.และ ย.จึงเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่า บุคคลทั้งสองได้จัดให้มีสาธารณูปโภคคือที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกอันถือได้ว่าเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ตามข้อ 1ดังกล่าวประกอบด้วย ข้อ 30 วรรคหนึ่ง และข้อ 32 ส่วนการที่ ป.และ ย.จะได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินหรือไม่เป็นอีกเรื่องต่างหาก หากบุคคลทั้งสองนั้นจะดำเนินการฝ่าฝืนโดยไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวก็ไม่ทำให้การดำเนินการขายที่ดินของบุคคลทั้งสองดังกล่าวไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทางภาระจำยอมตามกฎหมายแก่ที่ดินจัดสรรและที่ดินโจทก์ที่ได้รับจาก ส.ซึ่งซื้อที่ดินดังกล่าวมาจาก ป.และ ย. จำเลยจะอ้างว่าจำเลยเป็นบุคคลภายนอกรับโอนโดยสุจริตและจดทะเบียนโดยสุจริตหาได้ไม่
เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์ จำเลยเป็นผู้ก่อสร้างสิ่งของลงบนที่ดินพิพาทเพื่อกีดขวางทางภาระจำยอม อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและเครื่องกั้นกีดขวางให้ออกไปจากทางภาระจำยอมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2491/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมที่ดินจัดสรร: การบังคับใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 กับที่ดินจัดสรรก่อนประกาศ
ช.เจ้าของที่ดินเดิมที่ทำการจัดสรรที่ดินมีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณูปโภคแก่หมู่บ้าน อ. และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286ได้บัญญัติขึ้นโดยมีเจตนาคุ้มครองแก่ผู้ที่ซื้อที่ดินจากการจัดสรร ในการจัดสรรที่ดินของ ช.เจ้าของเดิมก็ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับที่ดินตรงตามความหมายของคำจำกัดความประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ดังกล่าว ข้อ 1 ทุกประการ แม้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติต่อมาว่า "สาธารณูปโภค ซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตเช่นถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้"จะระบุใช้บังคับแก่ผู้จัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตก็จริง แต่หากพิจารณาประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวข้อ 32 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดทำการจัดสรรที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและได้จำหน่ายที่ดินจัดสรรไปแล้วบางส่วน หรือได้จัดให้มีสาธารณูปโภคหรือ...ไปแล้วบางส่วน...ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ เว้นแต่การอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินให้อยู่ภายใต้บังคับข้อ 30 ด้วย" มาประกอบเข้าด้วยกันแล้วจะเห็นได้ว่าข้อความประโยคสุดท้ายของบทบัญญัติข้อนี้ได้ยกเว้นในเรื่องกิจการสาธารณูปโภคกับผู้จัดสรรที่ดินก่อนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับซึ่งผู้จัดสรรที่ดินไม่ต้องขออนุญาต แต่ในเรื่องสาธารณูปโภคก็ยังคงให้อยู่ภายใต้บังคับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ข้อ 30 ได้ตามที่ข้อ 32 บัญญัติไว้ ดังนี้ ที่ดินพิพาทซึ่งจำเลยร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นที่ดินที่อยู่ในหมู่บ้าน อ.ที่โจทก์ซื้อและจำเลยร่วมได้ซื้อจากจำเลยในระหว่างที่โจทก์จำเลยพิพาทกัน โดย ช.เจ้าของที่ดินเดิมที่ทำการจัดสรรที่ดินมีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณูปโภคแก่หมู่บ้าน อ.ย่อมตกเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรหมู่บ้าน อ.ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จำเลยร่วมจึงมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินพิพาทตามที่กฎหมายได้บังคับไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมเพื่อประโยชน์ที่ดินจัดสรร: สิทธิใช้ทาง & การรื้อถอนสิ่งกีดขวาง
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน2515 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง ประกอบข้อ 32 จะเห็นได้ว่า ถึงแม้การจัดสรรที่ดิน ซึ่งผู้จัดสรรที่ดินกระทำอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24พฤศจิกายน 2515 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 32 จะไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวก็ตาม แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการอันเป็นสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินจะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อ 30 กล่าวคือ ถือว่าสาธารณูปโภคเช่นว่านั้นตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และจากถ้อยคำในข้อ 32ที่ว่า "ผู้ใดจัดสรรที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ประกาศในราชกิจจา-นุเบกษา และ...หรือได้จัดให้มีสาธารณูปโภค...หรือที่ประกอบการอุตสาหกรรมไปแล้วบางส่วน...ฯลฯ" ย่อมมีความหมายชัดแจ้งอยู่แล้วว่า สาธารณูปโภคดังกล่าวคือสาธารณูปโภคที่มีอยู่ก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24พฤศจิกายน 2515 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หาใช่สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินภายหลังประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับไม่เมื่อบริษัท น.ดำเนินการจัดสรรที่ดินหมู่บ้าน ม.เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2516 และถนนซอยพิพาทเป็นสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นก่อนที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ใช้บังคับ ถนนซอยพิพาทจึงตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 และ 32 ถึงแม้ถนนซอยพิพาทเป็นทางเข้าออกบ้านของจำเลยทั้งสองสู่ถนนสายหลักของหมู่บ้าน ม.และถนนสาธารณะ โดยผ่านรั้วด้านข้างบ้านของโจทก์และเจ้าของบ้านอีกหลังหนึ่งซึ่งไม่มีประตูที่รั้วด้านดังกล่าว แต่ในเมื่อถนนซอยพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30และ 32 โจทก์ในฐานะเป็นผู้อาศัยอยู่ในที่ดินจัดสรร จึงมีสิทธิใช้ถนนซอยพิพาทได้ซึ่งอาจจะใช้เป็นประจำหรือเป็นครั้งคราว เช่น ในยามเกิดอัคคีภัยเป็นต้นที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดทำประตูรั้วเหล็กปิดกั้นถนนซอยพิพาท ย่อมทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วเหล็กดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2674/2524 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ต้องเป็นปัญหาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ปัญหาข้อกฎหมายที่คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวไว้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่คู่ความมีสิทธิที่จะฎีกาได้นั้นจะต้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 24 เพียงแต่ให้สิทธิแก่ผู้จัดสรรที่ดินที่จะเรียกร้องเอาราคาที่ดินทั้งหมดที่ผู้ซื้อยังค้างชำระอยู่ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระราคาที่ต้องชำระเป็นคราวๆ ตั้งแต่สองคราวติดต่อกันขึ้นไปก็ได้เท่านั้น จึงมิใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยไม่มีสิทธิอ้างประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวมาให้ศาลวินิจฉัยในเมื่อมิได้ยกข้อต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2284/2523 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภารจำยอมในที่ดินจัดสรร: ถนนที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรตกอยู่ในภารจำยอม แม้เจ้าของกรรมสิทธิ์ยังคงเป็นผู้เดิม
ผู้จัดสรรที่ดินได้ซื้อที่ดินจากจำเลยมาทำการปรับปรุงจัดสรรเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป โดยทำถนนพิพาทขึ้นในที่จัดสรรนั้นด้วย ถือได้ว่าถนนพิพาทเป็นสาธารณูปโภค ซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน ต้องตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตามนัยแห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคแรก และข้อ 32 แม้ว่าถนนดังกล่าวยังมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่ก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก