คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. 2

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 209 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5781/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้าง: นายจ้างหักค่าจ้างโดยไม่ชอบ
โจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนของจำเลยย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างเป็นเดือน เมื่อไม่มีข้อตกลงหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สิทธิแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีสิทธิหักค่าจ้างในวันที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไม่มาทำงานหรือขาดงานโดยโจทก์ไม่ตกลงยินยอมด้วยได้ ดังนั้น แม้โจทก์ขาดงานและทำงานไม่ครบเวลาในเดือนมีนาคมและเมษายน 2540 ก็ตาม จำเลยย่อมไม่มีสิทธิหักค่าจ้างในวันที่โจทก์ขาดงานโดยมิชอบนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5493/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์คดีแรงงาน, การจ่ายสินจ้างทดแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, และความรับผิดของกรรมการบริษัท
ที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ว่า โจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 เอง จำเลยทั้งห้ามิได้เลิกจ้างโจทก์นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่รับฟังว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่เป็นกรณีโจทก์ลาออกเอง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามสัญญา จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายแก่โจทก์เพราะจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์เสียหายซึ่งได้แก่ค่าเสียหายต่าง ๆ ที่โจทก์ระบุมาในฟ้อง ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์การคำนวณค่าเสียหายในส่วนนี้เพียงอาศัยสัญญาจ้างตามที่ระบุไว้ในเอกสารหมายจ.2 ข้อ 4 เป็นฐานในการคิดเท่านั้น มิใช่เป็นการพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายในส่วนนี้ตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างดังกล่าว ฉะนั้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าที่อ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้ตามสัญญาจ้างจึงไม่ใช่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่จะอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 223 ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลในฐานะนายจ้าง แม้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 จะระบุให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีฐานะเป็นนายจ้างด้วยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็เป็นเพียงผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวหรือร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์
เมื่อตามเอกสารระบุถึงการจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์หลังจากเลิกจ้างแล้วอีก 3 เดือน โดยไม่ปรากฏว่าเป็นเงินประเภทใด แต่การจ่ายเงินในอัตราดังกล่าวเป็นลักษณะของการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 (2) เพราะโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเป็นเวลาปีเศษ แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย90 วัน หรือ 3 เดือน ซึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์ การที่ศาลแรงงานนำข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวที่ว่าโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยหลังจากเลิกจ้างแล้วดังกล่าวไปหักออกจากความรับผิดที่จำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินที่โจทก์ได้รับหลังจากเลิกจ้างแล้วนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดในการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2539 นั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4800/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้รับเหมาชั้นต้นในฐานะนายจ้างตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 และหลักการนอกเหนือคำฟ้อง
ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยทั้งสองได้จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างสร้างสถานีอนามัยและบ้านพักสถานีอนามัย โดยได้ระบุวันที่อ้างว่าจำเลยจ้างโจทก์ และระบุประเภท ตำแหน่ง อัตราค่าจ้าง กำหนดวันจ่ายค่าจ้างไว้ด้วย รวมทั้งจำเลยทั้งสองค้างค่าจ้างโจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใด และเมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองปฏิเสธไม่ยอมจ่ายให้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย อันเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสองแล้ว คำฟ้องโจทก์ จึงไม่เคลือบคลุม
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 เป็นบทบังคับในกรณีที่ผู้รับเหมาช่วงเป็นนายจ้างของลูกจ้าง แต่ผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างของลูกจ้างในหนี้เงินบางประเภทดังที่กำหนดไว้เท่านั้น กรณีมิได้หมายความว่า ผู้รับเหมาชั้นต้นมีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างไปด้วย สภาพของการเป็นนายจ้างก็ดี หรือลูกจ้างก็ดี เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 หากโจทก์ประสงค์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 แล้ว ก็ชอบที่จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงฐานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ตรงกับบทกฎหมายดังกล่าวให้แจ้งชัด
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานฟังมาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นโดยมีโจทก์ที่ 1 เป็นผู้รับเหมาช่วง ส่วนโจทก์ที่ 2ถึงที่ 15 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 มิใช่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นจึงเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่15 และคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบและศาลฎีกาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฏหมายว่าด้วยอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4309/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่านายหน้าตามผลงานเป็นค่าจ้าง: ต้องนำมารวมคำนวณค่าชดเชย
แม้ค่านายหน้าที่โจทก์ได้รับในแต่ละเดือนจะมีจำนวนไม่แน่นอนและไม่เท่ากัน แต่จำเลยจ่ายค่านายหน้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ทุกวันสิ้นเดือน โดยคำนวณตามยอดขายสินค้าที่โจทก์ขายได้และยอดเงินที่จำเลยเก็บค่าสินค้าซึ่งโจทก์ขายได้จึงเป็นการจ่ายเป็นประจำทุกเดือน กรณีถือได้ว่าค่านายหน้าดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงานโดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์ทำได้ จึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 จำเลยต้องนำค่านายหน้าดังกล่าวมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย
โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยจ่ายค่านายหน้าซึ่งต้องนำมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยเกินไปจากจำนวนเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้อง แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2607/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแรงงานในการงดสืบพยาน, ค่าจ้าง vs. สวัสดิการ, และข้อยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย
ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 104 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ฉะนั้น เมื่อศาลแรงงานสอบโจทก์จำเลยแล้วแถลงรับข้อเท็จจริงกัน ศาลแรงงานก็ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจงดสืบพยานเสียได้ในเมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังเป็นยุติและวินิจฉัยได้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลแรงงานเพื่อฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจนพอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลแรงงานอันเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 หมายความว่า เงิน หรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ดังนี้ แม้จำเลยจ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละ 30,000 บาท ค่าสาธารณูปโภคได้แก่ ค่าไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์เดือนละ 3,000 บาท ให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือนพร้อมเงินเดือนโดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงก็ตาม แต่เมื่อเงินดังกล่าวเป็นเพียงสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่โจทก์ มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานของโจทก์ จึงไม่เป็นค่าจ้าง ย่อมนำมารวมเข้ากับเงินเดือนเพื่อคำนวณเป็นค่าชดเชยไม่ได้
อุทธรณ์จำเลยที่ว่า งานของโจทก์มีแต่หน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงิน ตรวจสอบการเสนอราคาให้แก่ที่ปรึกษาโครงการ และตรวจสอบผลงานเฉพาะโครงการที่ได้รับมอบหมาย ทั้งโจทก์ไม่มีหน้าที่ทำงานในโครงการอื่น ๆ ที่จำเลยรับเหมาก่อสร้างอันเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย และอุทธรณ์จำเลยที่ว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนเป็นเวลา 3 ปี โดยจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ดูแลงานเฉพาะแต่ละโครงการที่จำเลยเห็นว่าโจทก์มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งงานแต่ละโครงการที่โจทก์ดูแลจะมีกำหนดแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 ที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น คดีนี้จำเลยให้การว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนเป็นเวลา 3 ปี และลักษณะงานของโจทก์เป็นงานวิเคราะห์อันเป็นส่วนหนึ่งของงานจำเลย ซึ่งมิใช่เป็นงานในโครงการเฉพาะ แต่เป็นงานปกติของธุรกิจของจำเลย ข้ออ้างตามคำให้การของจำเลยจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสามดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวย่อมไม่ทำให้ผลแห่งการวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1448/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพการจ้างและผลของการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ: การคำนวณเงินโบนัส
เดิมจำเลยกับลูกจ้างมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างใช้บังคับกำหนดให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างเป็นจำนวน 100 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ในหนึ่งเดือน ไม่รวมเงินเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเงินโบนัสตามข้อตกลงดังกล่าวจำเลยต้องคำนวณจากรายได้ของลูกจ้าง ยกเว้นเฉพาะเงินเปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จำเลยมิได้คำนวณเงินโบนัสจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว การที่ต่อมาจำเลยได้นำกฎระเบียบข้อบังคับการทำงาน มาใช้บังคับแทนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมแม้ตามกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยฉบับนี้ ในเรื่องสวัสดิการพนักงานว่าด้วยเงินโบนัสประจำปีจะระบุไว้ว่า จำนวนเงินโบนัสที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างอย่างน้อยเท่ากับ 100 เปอร์เซ็นต์ของอัตราเงินเดือน โดยไม่รวมเงินเปอร์เซ็นต์แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยจ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างโดยนำค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือนเป็นฐานการคำนวณ และหลังจากจำเลยนำกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานมาใช้แล้วจำเลยก็ยังคงจ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างโดยนำค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือนเป็นฐานคำนวณตลอดมา เช่นนี้ ซึ่งแสดงว่าการคำนวณเงินโบนัสที่จำเลยจ่ายให้ลูกจ้างนั้นจำเลยมิได้ยึดถือว่าต้องนำเฉพาะเงินเดือนตามกฎระเบียบข้อบังคับการทำงานดังกล่าวมาใช้บังคับ การที่จำเลยจ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างโดยนำค่าครองชีพมารวมคำนวณด้วยตลอดมาจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การที่จำเลยจ่ายเงินโบนัสโดยมิได้นำค่าครองชีพมารวมคำนวณ จึงฝ่าฝืนต่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8183/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวแทนตามสัญญาจัดหางานและการหักค่าจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำเนาสัญญาจัดหางานเพื่อให้คนหางานไปทำงานในต่างประเทศเอกสารท้ายฟ้องซึ่งโจทก์รับรองสำเนาถูกต้อง อันเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่าเป็นเอกสารไม่ถูกต้องกับเอกสารต้นฉบับอย่างไร จึงถือว่าจำเลยรับว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวเป็นอยู่จริงตามนั้น
ย.กรรมการจำเลยผู้มีอำนาจลงชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยผูกพันจำเลยได้ลงชื่อในสัญญาจัดหางานกับโจทก์ โดยเป็นการดำเนินการแทนบริษัท จ.เพื่อส่งโจทก์ไปทำงานกับบริษัท จ.ที่ไต้หวัน ต่อมาโจทก์ได้ไปทำงานโดยทำสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัท จ.แล้ว ถือได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัท จ.ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ เมื่อการกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นตัวแทนทำสัญญากับโจทก์แทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อตัวการจะได้เปิดเผยแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา 824 การที่บริษัท จ.ยอมให้โจทก์กลับประเทศไทยโดยไม่จัดหาตั๋วเครื่องบินขากลับให้แก่โจทก์ตามสัญญา แต่กลับหักค่าตั๋วเครื่องบินจากค่าจ้างโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิจำเลยในฐานะตัวแทนของนายจ้างดังกล่าวจึงต้องรับผิดคืนเงินค่าจ้างที่หักไว้แก่โจทก์จำเลยจะอ้าง พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 39 (1)มายกเว้นความรับผิดหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7061/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้าง, ค่าชดเชย, สิทธิลูกจ้าง, การพิพากษาเกินคำขอ, อุทธรณ์ข้อเท็จจริง
ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2ยื่นหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์ย่อมเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างที่ไม่ประสงค์จะจ้างโจทก์ให้ทำงานต่อไป จึงเป็นการเลิกจ้างและมีผลสมบูรณ์นับแต่ยื่นหนังสือเลิกจ้างดังกล่าว แม้ภายหลังโจทก์รับหนังสือเลิกจ้างแล้วโจทก์ยื่นหนังสือลาออกให้จำเลยที่ 2 ก็มิใช่เป็นการตกลงกันใหม่ให้ถือเป็นการลาออกดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง ดังนี้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานปรับข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
รายได้พิเศษอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือผ่านสิทธิและรับรองเงินเดือนเป็นเงินค่าภาษีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากร จำเลยที่ 1ผู้เป็นนายจ้างจึงออกภาษีเงินได้ให้แก่กรมสรรพากรแทนโจทก์ โดยมิได้หักจากเงินเดือนของโจทก์ ดังนี้ภาษีเงินได้ดังกล่าวเป็นเพียงสวัสดิการ และเมื่อเงินดังกล่าวมิใช่เงินที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงมิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย180 วัน หรือ 6 เดือน จำเลยทั้งสองจ่ายให้โจทก์เพียง 3 เดือน ยังคงค้างค่าชดเชยอีก 3 เดือน แต่ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือ 6 เดือน โดยมิได้ยกเหตุใด ๆขึ้นอ้างเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ย่อมไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5880/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างในระหว่างการชำระบัญชีองค์กร, สิทธิลูกจ้างชั่วคราว, และการคำนวณค่าชดเชย
จำเลยที่ 10 และที่ 11 มิได้เป็นนายจ้างของโจทก์มิได้เกี่ยวกับการเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 10 และที่ 11 ให้รับผิดในส่วนนี้เกี่ยวกับการเลิกจ้าง
ตาม พ.ร.ฎ.ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่พ.ศ.2520 พ.ศ.2528 มาตรา 4 องค์การเหมืองแร่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้ถูกยกเลิกตามมาตรา 3 ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีและมาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 11 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีอำนาจแต่งตั้งคณะผู้ช่วยผู้ชำระบัญชีเพื่อดำเนินการชำระบัญชีได้ และการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีคำสั่งจ้างโจทก์เป็นผู้ช่วยผู้ชำระบัญชีก็เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นไป หากพนักงาน ลูกจ้าง และคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะปฏิบัติงานต่อไป จำเลยก็ย่อมมีสิทธิเลิกจ้างเป็นรายบุคคลได้ดังนี้ เมื่องานเกี่ยวกับการชำระบัญชีหมดลง กรณีไม่จำเป็นที่จะต้องจ้างโจทก์เพื่อปฏิบัติงานต่อไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.ฎ.ดังกล่าวที่ให้อำนาจไว้ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิใช่เป็นหนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใดจำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ค่าจ้าง
สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์มิได้หยุดและค่าชดเชยเป็นหนี้เงินที่กฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้างโดยไม่ต้องทวงถามดังนั้น จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดังกล่าว
คำฟ้องโจทก์ระบุอัตราค่าจ้างของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8ไว้แล้ว และจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธอัตราค่าจ้างของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวไว้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยแก่โจทก์ผิดพลาดจากข้อเท็จจริงในสำนวน ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 คำนวณค่าชดเชยตามคำขอท้ายฟ้องมาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ดังกล่าวได้รับค่าชดเชยในจำนวนที่ถูกต้อง
จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว การที่โจทก์มาทำงานภายหลังวันที่จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าว
ศาลฎีกาเคยย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าบำเหน็จแล้ว แต่ศาลแรงงานไม่ได้วินิจฉัย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความ ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนอีกได้
จำเลยจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างเพียงฉบับละ 1 เดือน เป็นการจ้างชั่วคราวเพื่อให้การชำระบัญชีของจำเลยที่ 1เสร็จสิ้นไป หากพนักงานลูกจ้างและคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะพึงปฏิบัติงานต่อไป จำเลยก็จะเลิกจ้างเป็นรายบุคคลไป แต่ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในองค์การเหมืองแร่ ข้อ 5กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี เมื่อออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นอกจากถูกลงโทษ ปลดออก หรืออื่น ๆ มีสิทธิได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินเดือนหรือค่าจ้างเดือนสุดท้ายที่พ้นจากตำแหน่งคูณด้วยระยะเวลาที่ได้ปฏิบัติงานคิดเป็นปีและโจทก์จะทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก็ตาม แต่เมื่อการนับเวลาทำงานตามข้อ 6 ให้ถือหลักเกณฑ์โดยนับแต่วันที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับการบรรจุในอัตราประจำ ดังนี้การที่จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานในระหว่างการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการชั่วคราวมีระยะเวลาจ้างครั้งละ 1 เดือน หาได้บรรจุในอัตราประจำไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 หนังสือเรื่องโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจใหม่ ประกอบบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจและโครงสร้างเงินเดือนกับโครงสร้างเงินเดือนที่ปรับใหม่มีระบุอัตราเงินเดือน ขั้นเงินเดือนถึง 53 ขั้น และมีขั้นวิ่ง ซึ่งการปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจนั้นใช้กับพนักงานลูกจ้างที่ทำงานประจำโดยมีการบรรจุในอัตราประจำ แต่เมื่อจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานในระหว่างการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการชั่วคราว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชย โดยไม่ระบุให้จำเลยคนใดต้องรับผิดนั้น ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5759/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในสัญญาจ้างต่อเนื่อง: ตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระยังคงมีผลผูกพัน แม้สัญญาจ้างแรกสิ้นสุด
สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยฉบับแรกในส่วนที่เกี่ยวกับตั๋วเครื่องบินมีข้อความว่า "เริ่มต้นของสัญญานี้ ท่านไม่มีสิทธิได้รับตั๋วเครื่องบินไปกลับและจากบ้าน อย่างไรก็ดีเมื่อสัญญาฉบับ 1 ปีเต็ม ได้ตกลงกัน ปี 2539ท่านมีสิทธิได้รับตั๋วเครื่องบินชั้นประหยัดในการเดินทางแบบเที่ยวเดียว จำนวน4 ใบ จากภูเก็ตไปที่ใด ๆ สำหรับท่านและครอบครัวของท่านทันที นอกจากนั้นค่าธรรมเนียมในการขนย้ายทรัพย์สินของท่านไปภูเก็ต และจากภูเก็ตไปที่อื่นจะได้รับการชดใช้โดยรีสอร์ทในวงเงินสูงสุดเท่ากับเงินเดือนที่ท่านได้รับ 1 เดือน"โดยสัญญาจ้างฉบับแรกนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 มีระยะเวลาการจ้างตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 ต่อมาจึงมีการทำสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.2 ขึ้นก่อนสัญญาจ้างฉบับแรกครบกำหนด โดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้าง 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2538 ถึงวันที่30 พฤศจิกายน 2539 มีข้อความในตอนแรกว่า "ตามสัญญาจ้างของเรากับท่านฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2538 และอาศัยการตกลงด้วยวาจาโดยการอนุมัติของไคจ์แอนดรีเซ่น เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538 ข้าพเจ้ามีความยินดีต่อสัญญาจ้างให้ท่านใหม่อีก 1 ปี..." ข้อความในสัญญาจ้างฉบับหลังดังกล่าวย่อมแสดงโดยชัดแจ้งว่าการทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 เป็นผลสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างฉบับแรกเมื่อสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างโจทก์ต่อมีกำหนด1 ปี ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างฉบับแรก ดังนี้ สิทธิของโจทก์ที่จะได้รับค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระก็ย่อมเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับแรก โดยไม่จำต้องระบุสิทธิของโจทก์ในเรื่องนี้ไว้ในสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 อีก และสิทธิของโจทก์ดังกล่าวจะลบล้างได้ก็โดยคู่กรณีตกลงกันยกเลิกเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 มีการยกเลิกสิทธิเกี่ยวกับค่าตั๋วเครื่องบินและค่าขนย้ายสัมภาระของโจทก์แต่อย่างใด จึงต้องถือว่าข้อตกลงในเรื่องดังกล่าวตามสัญญาจ้างฉบับแรก ยังคงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองให้ต้องปฏิบัติตามสัญญานั้นต่อไป แม้ว่าสัญญาจ้างฉบับแรกจะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 ให้คำนิยามคำว่า นายจ้างในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการทั่วไปและมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ย่อมมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วยตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้ แต่กิจการใดอันตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของตัวแทนนั้นเป็นการกระทำของตัวการ จำเลยที่ 1ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องผูกพันรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์ด้วย
of 21