พบผลลัพธ์ทั้งหมด 39 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401/2527
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุประมาทเลินเล่อต้องพิจารณาความร้ายแรงของความเสียหาย และข้อบังคับนายจ้างต้องไม่ขัดกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังนั้นการที่ระเบียบของนายจ้างกำหนดว่าการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างเสียหายแม้ไม่ร้ายแรงก็เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอันเป็นการแตกต่างไปจากที่ประกาศดังกล่าวบัญญัติจึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ การฝ่าฝืนข้อบังคับของนายจ้างซึ่งนายจ้างได้ออกใบเตือนแล้ว อันจะทำให้นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้นหมายถึงข้อบังคับอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างที่ลูกจ้างสามารถปฏิบัติได้แล้วลูกจ้างไม่กระทำโดยเจตนาฝ่าฝืนหาใช่การกระทำโดยประมาทไม่ดังนี้ เมื่อลูกจ้างประมาทเลินเล่อทำให้นายจ้างเสียหายโดยที่นายจ้างออกใบเตือนแล้ว แม้จะไม่ร้ายแรงนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ไม่เป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมแต่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3696/2525
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจนายจ้างออกระเบียบปฏิบัติงาน และสิทธิเลิกจ้างเมื่อลูกจ้างจงใจฝ่าฝืนโดยมีการตักเตือนแล้ว
นายจ้างมีอำนาจที่จะออกระเบียบกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่พนักงานขายของลูกจ้างเพื่อให้ผลงานของนายจ้างเจริญก้าวหน้าได้ ระเบียบเช่นนี้ไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหรือขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของลูกจ้างโดยทั่วไป จึงเป็นระเบียบที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อลูกจ้างจงใจฝ่าฝืนและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3572/2525
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งย้ายงานอันชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
การที่จำเลยยุบหน่วยงานที่โจทก์ประจำอยู่เพราะมีความจำเป็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของจำเลยนั้น จำเลยย่อมมีอำนาจโดยชอบที่จะจัดให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเข้าทำงานในตำแหน่งใหม่ที่เหมาะสมต่อไป โจทก์จะไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งโดยอ้างเหตุว่าเงินเดือนต่ำกว่าที่เคยได้รับหาได้ไม่เพราะเป็นคนละกรณีไม่เกี่ยวเนื่องกัน ดังนั้นการที่โจทก์ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างอันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3479/2525
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้ลูกจ้างทำผิดระเบียบ แต่ผู้บังคับบัญชามีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์
หัวหน้าคนงานสั่งให้โจทก์ซึ่งเป็นคนงานกลับไปทำงานโจทก์ไม่ไป หัวหน้าคนงานจึงผลักอกโจทก์เบา ๆ 2 ครั้งอันเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายของโจทก์ โจทก์จึงต่อยหัวหน้าคนงาน 1 ครั้งถูกที่ซอกคอ หัวหน้าคนงานจึงต่อยตอบแล้วกอดรัดฟัดเหวี่ยงกัน เมื่อมีผู้มาห้ามจึงเลิกรากันหัวหน้าคนงานไม่ได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ แม้การกระทำของโจทก์จะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย แต่หัวหน้าคนงานก็มีส่วนทำให้โจทก์กระทำความผิดขึ้นด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะถือเป็นกรณีร้ายแรงถึงขนาดที่นายจ้างจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่จ่ายค่าชดเชย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2525
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเมื่อนายจ้างไม่คำนึงถึงเหตุผลความจำเป็นส่วนตัวของลูกจ้างและไม่ตักเตือนก่อน
โจทก์เป็นลูกจ้างที่นายจ้างยอมให้ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานครตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานตลอดมาเป็นเวลา 3 ปีเศษเหตุที่โจทก์ไม่สามารถไปทำงานต่างจังหวัดเพราะต้องดูแลบุตรซึ่งยังเล็กและป่วยเป็นโรคหัวใจพิการ ต่อมาจำเลยผู้เป็นนายจ้างสั่งให้โจทก์ไปทำงานต่างจังหวัดโดยไม่ได้ให้โอกาสและเวลาแก่โจทก์ในการปรับตัวและหาทางแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวบ้างตามสมควร โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ดังนี้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโดยมิได้ตักเตือนเป็นหนังสือก่อนจึงต้องจ่ายค่าชดเชย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2881/2525
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้าง: จำเลยต้องพิสูจน์สถานะตัวแทน และข้อเท็จจริงการประพฤติชั่วร้ายแรงตามกฎข้อบังคับ
จำเลยเพียงให้การว่าโจทก์ปิดประกาศข้อความโดยมีเจตนาที่จะให้ อ. ผู้จัดการโรงงานซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบว่า อ. เป็นตัวแทนของจำเลย เมื่อโจทก์จำเลยต่างไม่ติดใจสืบพยานและข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า อ. เป็นผู้จัดการโรงงานของจำเลยเท่านั้น ไม่ได้ความว่าได้รับมอบหมายให้กระทำการหรือมีอำนาจหน้าที่อย่างใด บ้างอันจะถือว่าเป็นตัวแทนของจำเลย ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าอ. เป็นตัวแทนของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบและถึงแม้อ. จะเป็นตัวแทนของจำเลย ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับอ. เท่านั้น แต่เมื่อจำเลยให้การไว้ด้วยว่าการกระทำของโจทก์เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเป็นความผิดตามข้อบังคับของโจทก์ด้วย จำเลยจึงอาจเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ และศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยปัญหานี้ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาปัญหาดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828-2829/2525
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและการสั่งให้ลูกจ้างเบิกความที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน
อุทธรณ์ของโจทก์เพียงแต่นำคำเบิกความของตัวโจทก์และพยานมากล่าว แล้วสรุปตามคำเบิกความนั้นว่าคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางคลาดเคลื่อนต่อกฎหมายมิได้โต้แย้งว่าคำวินิจฉัยนั้นคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรให้ชัดแจ้ง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ
ลูกจ้างเป็นผู้ช่วยสมุหบัญชี ไม่มีหน้าที่ต้องไปศาลการที่นายจ้างให้ลูกจ้างนั้นไปเบิกความที่ศาลจึงไม่เกี่ยวกับการทำงาน ไม่เป็นคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นเมื่อลูกจ้างไม่ไปเบิกความตามที่นายจ้างสั่งจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง
ลูกจ้างเป็นผู้ช่วยสมุหบัญชี ไม่มีหน้าที่ต้องไปศาลการที่นายจ้างให้ลูกจ้างนั้นไปเบิกความที่ศาลจึงไม่เกี่ยวกับการทำงาน ไม่เป็นคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างตามกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นเมื่อลูกจ้างไม่ไปเบิกความตามที่นายจ้างสั่งจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2725/2525
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างฐานหย่อนสมรรถภาพ ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างเพราะฝ่าฝืนระเบียบ จึงต้องจ่ายค่าชดเชย
เมื่อจำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานหย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติงานและมีความบกพร่องในการปฏิบัติงานอยู่เนือง ๆ ตามข้อบังคับของจำเลยที่ให้อำนาจผู้จัดการเลิกจ้างพนักงานในกรณีดังกล่าวได้ ดังนี้ การที่โจทก์หย่อนสมรรถภาพและมีความบกพร่องในการปฏิบัติงานจึงมิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน ถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างในกรณีฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2247/2525
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและข้อบังคับบริษัท: การพิจารณาหน้าที่และความร้ายแรงของการกระทำผิด
อุทธรณ์ที่ว่าศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนผิดไปจากหลักฐานในสำนวน เป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา 54
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดไว้เฉพาะเป็นพนักงานที่มีหน้าที่จะต้องต้อนรับหรือบริการแขก มีอาการมึนเมา นำของมึนเมาเข้ามาทำงานหรือดื่มของมึนเมาในเวลาทำงาน เป็นการกระทำผิดกรณีร้ายแรง โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลไม่ใช่พนักงานที่มีหน้าที่ดังกล่าวแม้หากจะฟังได้ว่าโจทก์มีหน้าที่รับแขกที่มาติดต่อกับแผนกบุคคล ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องต้อนรับหรือบริการแขกโดยตรง การที่โจทก์กระทำผิดข้อบังคับนี้จึง มิใช่กรณีร้ายแรง
ส่วนที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายเนื่องจากถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และเงินค่าบริการนั้น โจทก์ต้องยื่นเป็นฟ้องอุทธรณ์ จะขอมาในคำแก้อุทธรณ์หาได้ไม่
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดไว้เฉพาะเป็นพนักงานที่มีหน้าที่จะต้องต้อนรับหรือบริการแขก มีอาการมึนเมา นำของมึนเมาเข้ามาทำงานหรือดื่มของมึนเมาในเวลาทำงาน เป็นการกระทำผิดกรณีร้ายแรง โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลไม่ใช่พนักงานที่มีหน้าที่ดังกล่าวแม้หากจะฟังได้ว่าโจทก์มีหน้าที่รับแขกที่มาติดต่อกับแผนกบุคคล ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องต้อนรับหรือบริการแขกโดยตรง การที่โจทก์กระทำผิดข้อบังคับนี้จึง มิใช่กรณีร้ายแรง
ส่วนที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายเนื่องจากถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และเงินค่าบริการนั้น โจทก์ต้องยื่นเป็นฟ้องอุทธรณ์ จะขอมาในคำแก้อุทธรณ์หาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2525
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากฝ่าฝืนระเบียบข้อร้ายแรง (ดื่มสุราขณะปฏิบัติหน้าที่) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดโทษฐานดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ของยามไว้ให้มีโทษถึงให้ออกหรือไล่ออกอันเป็นโทษสูงสุด แสดงว่าจำเลยประสงค์ให้การฝ่าฝืนระเบียบข้อนี้เป็นกรณีที่ร้ายแรง ทั้งผู้ว่าจ้างบริษัทจำเลยให้รักษาความปลอดภัยก็ประสงค์ให้ยามปราศจากการมึนเมาอย่างแท้จริง จึงกำหนดไว้ในสัญญาว่ายามที่ปฏิบัติหน้าที่จะต้องงดเว้นการดื่มสุราหรือเสพของมึนเมา 4 ชั่วโมงก่อนถึงเวลาปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้ การที่โจทก์ทั้งสองดื่มสุราในเวลาปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจทำให้ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดหรือบกพร่องได้โดยง่ายเพราะขาดสติสัมปชัญญะ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากทั้งแก่บริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้างของโจทก์ และแก่ผู้ที่ว่าจ้างบริษัทจำเลยให้รักษาความปลอดภัยให้ จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย