คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 208 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 178 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3279/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษร่วมกัน แม้จำเลยไม่ได้รับการแต่งตั้งทนายความในชั้นพิจารณา ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาเดิม
ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นบัญญัติว่า "ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้" ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยทั้งสองเรื่องทนายความแล้ว จำเลยที่ 1 แถลงไม่ต้องการทนายความแต่ศาลชั้นต้นให้มีหนังสือขอแรงทนายความให้จำเลยทั้งสอง ซึ่งรวมถึงจำเลยที่ 1 แต่หลังจากนั้นมีการตั้งทนายความให้จำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวแล้วดำเนินคดีไปจนเสร็จการพิจารณา โดยไม่มีการตั้งทนายความให้จำเลยที่ 1 ด้วย แม้ศาลชั้นต้นจะมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาก็ตาม แต่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 พอใจในผลแห่งคำพิพากษาแล้ว โดยเห็นได้จากจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ กับเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีฝิ่นเพื่อจำหน่ายอีกกระทงหนึ่ง โดยเพิ่มเติมโทษขึ้นอีกตามอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มิได้ฎีกาโต้เถียงแต่อย่างใด และเนื่องจากศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงว่าข้อเท็จจริงในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีทนายความในการต่อสู้คดีก็รับฟังได้มั่นคงเช่นนั้น เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ก็เป็นพยานหลักฐานเดียวกันกับที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 จึงเห็นได้ว่าการทำหน้าที่ของทนายจำเลยที่ 2 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาแทนจำเลยที่ 2 มีผลเป็นการดูแลคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ด้วยในตัว ดังนี้ จำเลยที่ 1 จะมีทนายความในการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือไม่ย่อมไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ทั้งปรากฏด้วยว่า ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วกว่า 2 ปี ด้วย ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับสิทธิในฐานะนักโทษเด็ดขาดไปบ้างแล้ว แม้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่ศาลฎีกาไม่เห็นเป็นการจำเป็นที่จะพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3096/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีอาญา: ข้อจำกัดการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงและการวินิจฉัยพยานหลักฐาน
ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาตามฟ้อง การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบจึงไม่มีเจตนา พิพากษายกฟ้อง การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าข้อความที่จำเลยแจ้งเป็นความเท็จและจำเลยมีเจตนาแจ้งความเท็จ เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตหรือมีการรับรองให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าการที่จำเลยแจ้งข้อความว่าโจทก์เอาสมุดบันทึกของ อ. ไป เป็นการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เป็นการวินิจฉัยผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนนั้น เป็นการอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วนและเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7096/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวงและการอุทธรณ์คำพิพากษายกฟ้องในปัญหาข้อเท็จจริง
คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 โจทก์ยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่า กรณีศาลมีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูล โจทก์ย่อมใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง ให้ยกคำร้อง และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ จึงไม่ชอบ และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพียงแต่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยมิได้สั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์และคำสั่งตามคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ชั้นสั่งรับอุทธรณ์เสียใหม่ให้ถูกต้อง เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาขึ้นมา แต่ศาลฎีกาเห็นเป็นการจำเป็นที่จะยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6906/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำสั่งศาลที่ไม่ชอบ และการพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ถูกจำกัดสิทธิ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลยจากจำคุก 1 ปี เป็นจำคุก 6 เดือน โดยมิได้แก้บทมาตราด้วย เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า กรณีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลย เป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการที่ไม่ชอบของศาลชั้นต้น และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5918/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องอาญาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (ไม่มีลายมือชื่อโจทก์) ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องชอบแล้ว
ตามฟ้องโจทก์ปรากฏแต่เพียงลายมือชื่อผู้พิมพ์และผู้เรียงเท่านั้น ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์ จึงถือเป็นฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) หากศาลชั้นต้นตรวจพบข้อผิดพลาดดังกล่าวก็จะใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 สั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้องได้ แต่ถ้าศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนคดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แล้ว การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้สั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งกรณีดังกล่าวไม่เข้าเหตุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ย่อมไม่มีวิธีปฏิบัติเป็นอย่างอื่น นอกจากต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5111/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ทุกประเด็น การไม่วินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ทำให้คำพิพากษาไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 6 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษา ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ คงวินิจฉัยแต่อุทธรณ์ของจำเลย ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6), (8) ให้ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่อาจฎีกาในปัญหาดังกล่าวนี้ต่อมาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4672/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในคดีเยาวชน: ศาลชั้นต้นสั่งผิดพลาดเรื่องการอนุญาตฎีกาข้อเท็จจริง
กรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน โดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษ จึงถือมิได้ว่าลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 2 ปี และปรับเกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทลงโทษและบทกำหนดโทษซึ่งเป็นการแก้ไขมาก แต่ก็มิได้กำหนดโทษจำคุกและกำหนดระยะเวลาฝึกและอบรมสูงขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลย จำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นให้ฎีกาได้ตามบทบัญญัติตอนท้ายของมาตรา 219
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าฎีกาของจำเลยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิเคราะห์ว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาได้ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดหรือไม่เท่านั้น การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6327/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำเลยในการได้รับการแต่งตั้งทนายความ – กระบวนการสอบถามก่อนพิจารณา – ความไม่ชอบของกระบวนพิจารณา
คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องสอบถามจำเลยก่อนเริ่มพิจารณาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาล เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสอบถามจำเลยในเรื่องดังกล่าวในวันสอบคำให้การของจำเลย แม้จำเลยจะแต่งตั้งทนายความเข้ามาในคดีในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ตาม แต่ก็เป็นการแต่งตั้งทนายความหลังจากศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2), มาตรา 225 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5260/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำเลยในการได้รับการแต่งตั้งทนายความในคดีอาญา หากจำเลยไม่มีและต้องการทนายความ ศาลต้องดำเนินการตามกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาลคดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก เมื่อจำเลยไม่มีและแถลงต้องการทนายความ จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่ต้องตั้งทนายความให้ก่อนเริ่มพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นดำเนินคดีไปโดยจำเลยไม่มีทนายความแล้วพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4087/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินในคดียาเสพติด: การตรวจสอบกรรมสิทธิ์และเจตนาของผู้ร้อง
ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีในข้อกฎหมายโดยมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งเป็นปัญหาขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์ แต่เพื่อให้คดีเสร็จสิ้นไปโดยเร็วเพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามคำร้องของผู้ร้องพอวินิจฉัยคดีได้แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่
การร้องคัดค้านและขอคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดตาม พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 30 เป็นการใช้สิทธิทางศาลอย่างหนึ่ง ผู้ร้องต้องกระทำการโดยสุจริต เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดแจ้งว่าในวันที่รถกระบะถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้เป็นของกลางนั้น กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของ ห. หาใช่เป็นของผู้ร้องแต่อย่างใดไม่ ผู้ร้องเพิ่งได้กรรมสิทธิ์ในรถกระบะของกลางภายหลังจากการกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งขณะนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยทั้งเจ็ดพร้อมทั้งยึดรถกระบะของกลางไว้แล้ว การที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องคัดค้านว่า ตลอดเวลานับตั้งแต่ผู้ร้องได้รับมอบทรัพย์สินดังกล่าวจากผู้ขาย ผู้ร้องได้ใช้รถกระบะของกลางอย่างสุจริตและเปิดเผยมาโดยตลอดนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ขัดกันเอง พฤติการณ์ตามคำร้องส่อให้เห็นว่า ผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต กรณีมิใช่การร้องขอคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดไว้เพราะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในกระบวนการตามมาตรา 22, 27, 29 (2) ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าพอวินิจฉัยได้และให้งดการไต่สวนพยานของผู้ร้องและมีคำสั่งให้ริบรถกระบะของกลางนั้นชอบแล้ว
of 18