คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ทวีชัย เจริญบัณฑิต

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 689 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5843/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์จากการถ่ายเอกสารเพื่อขาย: การกระทำเพื่อการค้าและการรับจ้าง
พฤติการณ์ที่จำเลยทำซ้ำโดยถ่ายเอกสารงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไว้หลายชุดแล้วเก็บไว้ที่ร้านค้าของจำเลยซึ่งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการเรียนการสอนโดยใช้หนังสือของโจทก์ร่วมและมีโอกาสที่จำเลยจะขายเอกสารที่ทำซ้ำขึ้นแก่นักศึกษาได้สะดวก เป็นการทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมโดยการถ่ายสำเนาเอกสารจำนวน 43 ชุดไว้เพื่อขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายอันเป็นการที่จำเลยทำซ้ำขึ้นเองเพื่อการค้าและแสวงหาประโยชน์จากการขายสำเนางานที่จำเลยทำซ้ำขึ้นมา มิใช่การรับจ้างถ่ายเอกสารจากนักศึกษาที่ต้องการได้สำเนางานที่เกิดจากการทำซ้ำไปใช้ในการศึกษาวิจัยอันเป็นเหตุยกเว้นมิให้ถือว่าการทำซ้ำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 32(1) แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5827/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ และการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนตามสัญญา
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐโดยมิได้มีคำขอบังคับให้ชำระเป็นเงินไทยด้วย การที่โจทก์บรรยายฟ้องเทียบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยในวันฟ้องก็เพื่อประโยชน์ในการคิดค่าขึ้นศาลเท่านั้น ในกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่จะชำระหนี้เป็นเงินไทยโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่ใช้เงินและเวลาที่ใช้เงิน ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 หากเกิดปัญหาขึ้นก็เป็นเรื่องที่จะต้องว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดี การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้มีคำขอ กรณีไม่จำต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราไว้ในคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5823/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความยินยอมใช้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้า: สัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุยกฟ้อง
โจทก์ทำสัญญายินยอมให้ ก. จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของ ก. ได้ กับยอมให้ ก. ดำเนินการผลิตและจำหน่ายหนังสือพิมพ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดังที่ระบุไว้ในสัญญาได้ทันที โจทก์ยอมให้ ก. โอนสิทธิตามสัญญาให้จำเลยที่ 1 หรือบุคคลอื่นได้และยินยอมให้ ก. ให้บุคคลอื่นร่วมใช้สิทธิตามสัญญาได้ ส่วน ก. ยอมรับลูกจ้างของโจทก์ 274 คน เข้าทำงานในบริษัทของจำเลยที่ 1 ต่อไปโดยไม่ต้องปลดออก แสดงว่าโจทก์ให้ความยินยอมแก่ ก. ตลอดจนจำเลยที่ 1 ให้ใช้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดังกล่าวเป็นชื่อและหัวหนังสือพิมพ์ของจำเลยที่ 1 ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าเป็นการอาศัยสิทธิตามข้อตกลงในสัญญา จึงไม่อาจถือว่าจำเลยทั้งสิบห้ามีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าตามฟ้องของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5614/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเล การจำกัดความรับผิด และหน่วยการขนส่งตามใบตราส่ง
โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการขนส่งสินค้าจากผู้ขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ได้ให้บริษัท บ. เป็นตัวแทนดำเนินการขนส่งและบริษัท บ. ได้ว่าจ้างบริษัทเรือ อ. ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปจัดการดูแลให้มีการควบคุมอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ตลอดระยะทางที่ส่งสินค้ามานั้นก็เพราะจำเลยที่ 1 ตระหนักถึงภาระหน้าที่ของผู้ขนส่งที่จะต้องดูแลมิให้สินค้าที่ส่งนั้นต้องเสียหาย สูญหายหรือบุบสลายในระหว่างการขนส่ง และยังดำเนินการทางพิธีศุลกากร การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นเพียงตัวแทนของโจทก์ในการทำพิธีการทางศุลกากรหรือตัวแทนการออกของ หรือทำในฐานะที่จะต้องส่งมอบของให้แก่ผู้รับตราส่งแต่อย่างใด นอกจากจำเลยที่ 1 ได้รับค่าบริการการดำเนินการทางพิธีศุลกากรจากโจทก์แล้ว ยังได้รับเงินค่าบริการในการขนส่งอีกจำนวนหนึ่งจากโจทก์ การดำเนินงานของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในฐานะผู้ขนส่งเพื่อบำเหน็จในทางค้าปกติโดยมีข้อตกลงกับโจทก์ในการขนส่งสินค้าพิพาทรายนี้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งแม้จะต้องรับผิดในกรณีที่ได้รับมอบหมายให้ผู้ขนส่งอื่นทำการขนส่งของที่ตนรับขนตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 43 ก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานว่า การที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิเป็นผลอันเกิดจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำหรือละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งโดยมีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้าพิพาทแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับประโยชน์โดยผลของกฎหมายในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 โดยจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละ 30 บาท ต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้น
ตามใบตราส่งระบุจำนวนหีบห่อที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ 2 ตู้ว่ามีจำนวน 521 หีบห่อ (Pieces of banded christmas trees) กรณีจึงต้องถือว่าได้มีการระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งไว้ในใบตราส่งรวมเป็นจำนวน 521 หน่วยการขนส่ง ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58, 59

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5541/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงใหม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยให้การรับสารภาพว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงในคดีจึงต้องรับฟังเป็นยุติถึงการกระทำความผิดของจำเลยได้ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยไม่อาจที่จะโต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้ การที่จำเลยอุทธรณ์ขึ้นมาว่ามิได้มีเจตนากระทำผิด เป็นอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติไปแล้ว อันถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 45 และ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5527/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ร่วมขนส่งหลายทอด: ตัวแทนเรือไม่ใช่ผู้ขนส่งโดยตรง หากไม่ได้มีส่วนร่วมในการขนถ่ายสินค้าจริง
ความหมายของข้อความว่า "ได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด"ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 ต้องปรากฏว่าแต่ละคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับของหรือสินค้าที่ถูกขนส่งเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการนำสินค้าจากที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งด้วยการรับขนส่งกันเป็นช่วง ๆ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ลำพังแต่การเป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งทอดใดทอดหนึ่งเพื่อทำธุรกรรมทางด้านเอกสารเกี่ยวกับสินค้า หรือปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรในการนำเรือเข้าเทียบท่า แจ้งกำหนดเรือบรรทุกสินค้าเข้าให้เจ้าของสินค้าทราบเพื่อจะได้มารับสินค้าเท่านั้นโดยไม่ปรากฏว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้องขนส่งสินค้าด้วยแล้ว ก็ไม่อาจถือว่าตัวแทนเรือดังกล่าวเป็นผู้ร่วมขนส่งหลายคนหลายทอดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5476/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทนายจำเลยไม่ให้ความร่วมมือในการกำหนดแนวทางพิจารณาคดี ทำให้ศาลสั่งงดสืบพยานจำเลยไม่ชอบ ศาลฎีกายกคำพิพากษา
การนัดพร้อมเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินคดีตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 27ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีพิเศษสำหรับคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องใช้เป็นหลักในการพิจารณาคดี กรณีไม่อาจนำหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งใช้กับคดีแพ่งสามัญในส่วนที่ได้กำหนดไว้ในข้อกำหนดดังกล่าวแล้วมาใช้บังคับได้
วันที่ศาลกำหนดที่จะให้มีการกำหนดแนวทางการดำเนินคดีมีความสำคัญอย่างยิ่งที่คู่ความจะต้องให้ความร่วมมือกับศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในการร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางในการดำเนินคดีเพื่อให้สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม ทนายจำเลยซึ่งรับว่าความคดีการค้าระหว่างประเทศย่อมต้องทราบกฎหมายหรือข้อกำหนดดังกล่าวเป็นอย่างดีและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีพิจารณาความสำหรับคดีชำนัญพิเศษนั้นเพื่อรักษาประโยชน์ของจำเลยซึ่งเป็นตัวความ
ทนายจำเลยไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินคดีเป็นความผิดของทนายจำเลยเองที่ไม่ได้สนใจและเอาใจใส่ในการดำเนินคดีนี้ เมื่อเป็นความผิดของทนายจำเลยเองที่ไม่ให้ ความร่วมมือกับศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในการกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีและกำหนดวันสืบพยานโจทก์ ในวันที่ทนายจำเลยว่างทนายจำเลยจึงยกเอาเหตุที่ตนไม่อาจมาศาล ในวันนัดสืบพยานโจทก์ได้ โดยอ้างเหตุที่ตนติดว่าความที่ศาลอื่น ซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้วว่าเป็นเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ตามมาตรา 27แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯมาเพื่อขอเลื่อนคดีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5476/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทนายจำเลยไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ไม่อาจอ้างเหตุติดว่าความอื่นเพื่อขอเลื่อนคดีได้
การที่ทนายจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับทราบวันนัดพร้อมของศาลซึ่งเป็นการนัดพร้อมเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 แต่เมื่อถึงกำหนดนัดดังกล่าว ทนายจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่มาศาลไม่ได้ให้ศาลทราบก่อนวันนัด อีกทั้งไม่ได้มอบฉันทะให้ผู้ใดมาแจ้งในวันนัด คงมีแต่ทนายโจทก์มาศาล ย่อมเห็นได้ว่าเป็นความผิดของทนายจำเลยเอง ดังนั้นจำเลยจะยกเอาเหตุที่ตนติดว่าความที่ศาลอื่นซึ่งได้นัดไว้ก่อนแล้วว่าเป็นเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ตาม มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาเพื่อขอเลื่อนคดีไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5203/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้ากรณีสินค้าเสียหาย ผู้รับของไม่ปฏิเสธการรับ
ตามรายงานการตรวจสอบสินค้าซึ่งจำเลยทำการขนส่งให้กับบริษัท ท. ได้ระบุไว้ว่า เมื่อสินค้ามาถึงและ ก่อนนำเข้าคลังสินค้า กล่องบรรจุสินค้า 1 หีบห่อจากทั้งหมด 5 หีบห่ออยู่ในสภาพเปียกชื้น ส่วนสภาพความเสียหายของสินค้าไม่อาจมองเห็นได้และไม่สามารถวิเคราะห์สภาพของเครื่องจักรที่อยู่ภายในเนื่องจากสินค้าดังกล่าวประกอบด้วยอุปกรณ์ทางไฟฟ้าที่สลับซับซ้อน ดังนั้น การที่บริษัท ท. ได้รับสินค้าไว้โดยมีรายงานความเสียหายของสินค้ามาพร้อมด้วยนั้น จะถือว่าบริษัท ท. รับเอาสินค้าหรือของไว้โดยไม่อิดเอื้อนไม่ได้ จำเลยจึงยังไม่หลุดพ้นความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 623 วรรคแรก ส่วนการอ้างประโยชน์ตามมาตรา 623 วรรคสอง ในกรณีความชำรุดบกพร่องมิได้ปรากฏแต่สภาพภายนอกซึ่งเจ้าของสินค้าต้องบอกกล่าวแก่ผู้ขนส่งภายใน 8 วัน นับแต่วันรับมอบนั้น ต้องปรากฏว่ามีการรับของโดยมิได้อิดเอื้อนและมีการจ่ายค่าระวางแล้ว ตามมาตรา 623 วรรคแรกด้วย ความรับผิดของจำเลยจึงจะสิ้นสุดลง เมื่อข้อเท็จจริงถือไม่ได้ว่า บริษัท ท. ผู้รับตราส่งได้รับของไว้โดยไม่อิดเอื้อน แม้ว่าผู้รับตราส่งจะมิได้แจ้งเกี่ยวกับ ความเสียหายให้จำเลยทราบภายใน 8 วัน ก็ตาม ความรับผิดของจำเลยก็ยังไม่สิ้นสุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5112-5113/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้า ‘โต๊ะกัง’ ที่เป็นชื่อเสียงและบ่งเฉพาะ ทำให้การใช้ชื่อทางการค้าอื่นคล้ายคลึงกัน ก่อให้เกิดความสับสนได้
คำว่า "โต๊ะกัง" เดิมนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ประกอบกิจการร้านค้าทองคำรูปพรรณและใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" สำหรับสินค้าทองคำรูปพรรณของตนตั้งแต่ก่อนปี 2457 โดยมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และใช้ชื่อร้านค้าว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ซึ่งนำมาจากชื่อของนายโต๊ะกังเอง โดยที่คำดังกล่าวมิได้มีความหมายว่าร้านค้าทองคำแต่อย่างใด ครั้นเมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ต่อมามีผู้ประกอบกิจการค้าทองคำหลายรายนำคำว่า "โต๊ะกัง" มาใช้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของตนเนื่องจากเห็นว่าเป็นคำที่มีผู้รู้จักและเป็นที่นิยมโดยทั่วไป แต่ก็มิใช่ว่าผู้ประกอบการค้าทองคำทั่วไปนิยมใช้คำนี้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าโดยเห็นว่า มีความหมายถึงร้านค้าทองคำ
ประชาชนผู้ซื้อสินค้าทองคำจากผู้ประกอบกิจการดังกล่าวหรือซื้อทองคำที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" ย่อมสามารถพิจารณาเครื่องหมายการค้าเหล่านี้เพื่อแยกแยะความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ แสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" นี้ยังคงมีความหมายบ่งเฉพาะที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ คำว่า "โต๊ะกัง" จึงเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นและมีลักษณะบ่งเฉพาะได้และมิใช่คำสามัญที่หมายถึงร้านค้าทองรูปพรรณดังที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในอุทธรณ์ การที่โจทก์ทั้งสองนำคำว่า "โต๊ะกัง" มาประกอบกับเครื่องหมายการค้าของตน จึงเป็นการนำเอาเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้รับจดทะเบียนไว้ก่อนมาใช้เป็นส่วนสาระสำคัญอันมีลักษณะเด่น ประชาชนอาจสังเกตและจดจำได้ง่ายกว่าคำอื่นตลอดจนรูปที่โจทก์ทั้งสองนำมาประกอบ ทั้งคำว่า "โต๊ะกัง" ที่เขียนและอ่านออกเสียงได้เหมือนกันย่อมถือว่าเป็นจุดเด่นที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้ง่าย
ปัญหาข้อพิพาทในคดีที่ พ. ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนถูกฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตั้งแต่ปี 2537 เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของ พ. เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "โต๊ะกัง" นั้น เมื่อยังไม่ปรากฏว่าศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของ พ. แล้ว ย่อมไม่อาจถือได้ว่า พ. มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง
of 69