คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 52

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1415/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประสบอันตรายจากการทำงาน: การเดินทางก่อนเริ่มงานไม่ถือว่าเป็นการประสบอันตราย
อ.เป็นลูกจ้างโจทก์โดยประจำอยู่ที่ต่างจังหวัดได้รับคำสั่งให้มารับการอบรมที่สำนักงานใหญ่จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่วันที่ 7-11 มิถุนายน 2525อ.เดินทางมาถึงเมื่อวันที่6 มิถุนายน 2525 และได้รับอันตรายขณะนั่งรถแท็กซี่เดินทางหาที่พักในวันเดียวกันนั้นซึ่งยังไม่ถึงวันเวลาทำงานตามที่โจทก์มอบหมายจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนและค่ารักษาพยาบาลให้แก่ อ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 182/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดนายจ้างต่อการเสียชีวิตลูกจ้างขณะเดินทางกลับจากที่ทำงาน กรณีสวัสดิการรถรับส่ง
ลูกจ้างเลิกทำงานประจำวันตามหน้าที่แล้วและออกจากโรงงานมานั่งรถยนต์เพื่อเดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุรถยนต์แล่นตกลงข้างถนนและทับลูกจ้างถึงแก่ความตาย ดังนี้ แม้รถที่ลูกจ้างนั่งจะเป็นรถยนต์บริการที่นายจ้างจัดรับส่งพนักงาน ก็เป็นเพียงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้เพื่อความสะดวกแก่พนักงานในการเดินทางกลับบ้านเท่านั้น ลูกจ้างมิได้นั่งรถไปหรือกลับจากการทำงานตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้างจึงถือไม่ได้ว่าการตายของลูกจ้างเกี่ยวข้องกับการทำงานให้แก่นายจ้าง นายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทดแทนและค่าทำศพแก่ลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3103/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายเงินทดแทนซ้ำซ้อนจากนายจ้างและกองทุนเงินทดแทนหลังประนีประนอมยอมความ ย่อมไม่ขัดกฎหมาย
ท. ลูกจ้างโจทก์ถึงแก่ความตายในขณะปฏิบัติงานให้โจทก์โจทก์ได้จ่ายเงินทดแทนและค่าทำศพให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของ ท. แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง ข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหาย โจทก์และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ยอมให้จำเลยที่ 3 ขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้ โดยโจทก์จะไม่เกี่ยวข้องโต้แย้งจำเลยที่ 3 จึงยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ดังนี้ ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามนายจ้างจ่ายเงินทดแทนหรือห้ามลูกจ้างรับเงินทดแทนเกินกว่าจำนวนที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ การที่จำเลยที่ 3ได้รับเงินทดแทนจากโจทก์แล้ว แต่โจทก์ยังทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 3ยื่นขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้อีกสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจึงหาเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนฯ ข้อ 15 วรรคสองกำหนดให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้มีสิทธิทราบว่าลูกจ้างถึงแก่ความตายและจำเลยที่ 3ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดแล้ว ก็หาเป็นการห้ามสำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินแก่จำเลยที่ 3 ไม่ และแม้การจ่ายเงินดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายเพราะต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้น แต่เป็นความเสียหายที่เกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ทำลงโดยสมัครใจและบังคับได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องให้ห้ามกรมแรงงานและผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินทดแทนแก่จำเลยที่ 3