คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ข้อ 47

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 21 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้าง: เหตุผลการเลิกจ้างต้องชัดเจนตามกฎหมาย และการคำนวณค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ตามหนังสือเลิกจ้างของจำเลย จำเลยได้ระบุเหตุเลิกจ้างไว้ว่าโจทก์จงใจกลั่นแกล้งผสมสีพ่นไม้ให้ผิดไปจากที่เคยปฏิบัติเป็นเหตุให้สีที่พ่นไม้แดงปาร์เก้ไม่แห้ง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย อันเป็นการเลิกจ้างโดยอ้างเหตุโจทก์ได้กระทำผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(2)จำเลยหาได้ระบุเหตุเลิกจ้างเนื่องจากโจทก์ทำการโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตามข้อ 47(5) ไม่ ต้องถือว่าจำเลยไม่ประสงค์จะเลิกจ้างโจทก์โดยสาเหตุเช่นว่านี้แล้ว แม้จำเลยจะให้การต่อสู้คดีไว้ และศาลแรงงานกลางหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัย ก็ไม่เป็นเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยให้ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 3,050 บาท จ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 16และวันที่ 1 ของเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 2 กันยายน2529 กรณีนี้การบอกเลิกการจ้างของจำเลยจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ก็คือวันที่ 1 ตุลาคม 2529จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างในระหว่างวันที่ 2 กันยายน ถึงวันที่30 กันยายน 2529 รวมเป็นเวลา 29 วัน คิดเป็นสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,948.14 บาทแก่โจทก์.(ที่มา-ส่งเสริม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1895/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์เกินกำหนด & เลิกจ้างมีเหตุผล: ศาลฎีกายืนตามศาลแรงงานกลาง ไม่รับอุทธรณ์ & ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเกินกำหนดสิบห้าวันโดยมิได้ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์นั้นเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบแม้ศาลแรงงานกลางจะสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาก็หาทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบแล้วนั้นกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบไม่ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย บทบัญญัติเกี่ยวกับการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา49แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522และบทบัญญัติในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา583เรื่องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นกฎหมายทั้งสามฉบับนี้มีวัตถุประสงค์และมีที่ใช้ต่างกันจะเทียบเคียงแปลปรับเข้าด้วยกันมิได้การที่จะวินิจฉัยว่าการใดจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามบทบัญญัติมาตรา49แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522หรือมิใช่นั้นจะต้องพิเคราะห์ว่ามีสาเหตุเพียงพอที่จะเลิกจ้างได้หรือไม่เป็นประการสำคัญนายจ้างเชื่อว่าลูกจ้างมีส่วนพัวพันกับการพยายามฆ่าย. ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนายจ้างทำให้นายจ้างไม่ไว้วางใจลูกจ้างจึงสั่งเลิกจ้างไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2299/2528

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: การประกอบธุรกิจส่วนตัวในเวลางาน และการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน
ข้อบังคับการทำงานของจำเลยกำหนดว่า พนักงานต้องอุทิศเวลาให้แก่บริษัทฯ ไม่มาสายหรือกลับก่อนเวลาทำงาน หรือหลับในเวลาปฏิบัติงานหรือปฏิบัติงานล่าช้าโดยเจตนาหรือหลีกเลี่ยงการทำงาน ฯลฯ ดังนั้น การที่โจทก์ใช้เวลาทำงานประกอบธุรกิจส่วนตัวย่อมถือว่าปฏิบัติงานล่าช้าโดยเจตนาและหลีกเลี่ยงการงานอยู่ในตัวแล้ว โจทก์จึงได้ชื่อว่าไม่อุทิศเวลาให้แก่นายจ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าการประกอบธุรกิจส่วนตัวของโจทก์เกิดขึ้น ก่อนหรือหลังจากที่จำเลยเพิ่มค่าจ้างให้โจทก์แล้ว จึงไม่อาจถือเอาการเพิ่มค่าจ้างเป็นข้อยกเว้นว่าการประกอบธุรกิจส่วนตัวในเวลาทำงานไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงาน เพราะการจะพิจารณาว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าการเลิกจ้างนั้นมีสาเหตุอันควรหรือไม่ หากนายจ้างเลิกจ้างโดยปราศจากสาเหตุหรือเป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้าง การเลิกจ้างนั้นจึงจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์ใช้เวลาทำงานประกอบธุรกิจส่วนตัวภายในสำนักงาน เป็นเหตุให้พนักงานอื่นต้องหยุดการทำงานเพื่อเลือกสรรเครื่องประดับที่โจทก์นำมาเสนอขายการกระทำของโจทก์ถือได้ว่ากระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่การกระทำของโจทก์ดังกล่าวยังไม่ถึงขั้นเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)
การที่โจทก์แนะนำคนรู้จักหรือญาติพี่น้องเข้าสมัครทำงานกับจำเลยแล้วคัดเลือกใบสมัครเฉพาะพรรคพวกของโจทก์ส่งไป ทั้งที่มีผู้สมัครหลายราย แต่โจทก์แจ้งว่ามีผู้สมัครเฉพาะเท่าที่โจทก์ส่งไป เป็นการตัดโอกาสที่จำเลยจะคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมได้ แม้โจทก์จะได้รับความยำเกรงจากผู้ที่ได้รับคัดเลือกและเป็นการสร้างสมบารมีก็ไม่ใช่เป็นผลประโยชน์ในเชิงทรัพย์สินการกระทำของโจทก์หาเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2281-2282/2528

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การจ่ายค่าจ้างวันหยุดพักผ่อน และดอกเบี้ย
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 49 นั้น หมายถึงการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร มิได้หมายความว่าถ้านายจ้างเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้กระทำผิดแล้วจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่จำเลยให้การว่าจำเลยประสบปัญหาเรื่องการเงินและขาดเงินทุนดำเนินการ จำเลยจึงปรับปรุงกิจการโดยยุบเลิกตำแหน่งและหน่วยงานซึ่งโจทก์ดำรงอยู่และไม่สามารถจัดหาตำแหน่งอื่นทดแทนแก่โจทก์ได้คำให้การของจำเลยดังนี้ แสดงเหตุของการเลิกจ้างไว้โดยชัดแจ้ง หาใช่คำให้การ ที่ไม่มีประเด็นไม่
ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมว่าจำเลยเลิกจ้างโดยอ้างว่ายุบเลิกตำแหน่งและหน่วยงานที่โจทก์ดำรงอยู่ ซึ่งไม่เป็นความจริงและหาได้กล่าวอ้างถึงเหตุอื่นไม่ ฉะนั้นโจทก์จะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากเหตุที่กล่าวในฟ้องมาเป็นข้ออุทธรณ์หาได้ไม่ เพราะมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่หนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างทันทีที่เลิกจ้าง ดังนั้นนายจ้างจะผิดนัดต่อเมื่อลูกจ้างทวงถามเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิได้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง ส่วนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 45 กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง โดยไม่ต้องทวงถาม เมื่อจำเลยไม่จ่าย จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3266/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแทน, ค่าชดเชย, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, การเลิกจ้าง, ค่าพาหนะ: กรณีลูกจ้างทำร้ายลูกจ้างด้วยกัน
โจทก์มอบอำนาจให้ ม. ฟ้องคดีนี้แทนเพียงคดีเดียว แม้ใบมอบอำนาจจะระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาหรืออื่นๆ ได้ด้วยก็ตาม ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียวซึ่งตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้ปิดอากรแสตมป์ 10 บาท เท่านั้น ม. ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีแทน ย่อมอยู่ในฐานะคู่ความจึงมีอำนาจเรียงหรือแต่งคำคู่ความได้ เพราะการเรียงหรือแต่งคำคู่ความไม่ใช่การว่าความอย่างทนายความ การที่โจทก์ชก น.นอกสถานที่ทำงานและนอกเวลาทำงาน เพราะมีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน ทำให้ น.มีบาดแผลเล็กน้อยนั้น เป็นเรื่องลูกจ้างทำร้ายกันเองไม่เกี่ยวกับกิจการของจำเลยโดยตรง จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงหรือทำลายเกียรติคุณของจำเลย ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงอันจำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และ ไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583ซึ่งจำเลยจะมีสิทธิมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีกด้วย ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าค่าพาหนะเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าพาหนะเป็นการฟ้องเรียกเงินอีกประเภทหนึ่งต่างหาก และจำนวนค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ก็มิได้นำค่าพาหนะมารวมคำนวณด้วยจึงไม่ต้องนำค่าพาหนะมาเป็นฐานคำนวณจ่ายเงินดังกล่าว กรณีที่สินจ้างจ่ายกันในวันพฤหัสบดีเว้นหนึ่งวันพฤหัสบดีโดยวันอาทิตย์เป็นวันหยุด หนึ่งช่วงเวลาของการจ่ายค่าจ้างจึงเป็นเวลา 12 วัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2985/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างป่วย: ศาลฎีกาจำกัดการใช้ดุลยพินิจเพื่อเพิ่มค่าชดเชยเกินคำขอ หากลูกจ้างไม่ได้อ้างค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมาย
การเลิกจ้างในกรณีลูกจ้างป่วยไม่อาจปฏิบัติงานให้นายจ้างได้นั้น ไม่เข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47 อันนายจ้างจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เมื่อลูกจ้างฟ้องเรียกค่าชดเชยตามอัตราค่าจ้างสุดท้ายซึ่งต่ำกว่าอัตราตามกฎหมายมาด้วยความสมัครใจ มิได้พลั้งพลาดผิดหลง จึงยังไม่สมควรที่ศาลจะอ้างความเป็นธรรมนำค่าจ้างที่ลูกจ้างมิได้รับจริงมาเป็นฐานคำนวณให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2562/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างต้องตักเตือนก่อนเว้นแต่กรณีร้ายแรง การอ้างเหตุใหม่หลังฟ้องคดีทำไม่ได้
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 11,28 ห้ามทะเลาะวิวาทหรือประทุษร้ายต่อพนักงานด้วยกันในระหว่างปฏิบัติงานหรือนอกเวลาปฏิบัติงานในบริเวณโรงแรมของจำเลยถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนมีโทษถึงปลดออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชยการที่โจทก์ทะเลาะตบตีกับพนักงานอื่นซึ่งเป็นหญิงด้วยกัน ไม่ปรากฏว่าบาดเจ็บมากน้อยเพียงใด ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)จำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนต่อเมื่อโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างกระทำผิดซ้ำอีก จึงจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยคดีนี้จำเลยรับแล้วว่ามิได้ตักเตือน โจทก์เป็นหนังสือเมื่อเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชย เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งปลดโจทก์ออกจากงานนั้นอ้างเหตุเลิกจ้างเพียงว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีทะเลาะวิวาทประทุษร้ายพนักงานอื่น เท่านั้น เห็นได้ว่าจำเลยไม่ติดใจหยิบยกสาเหตุที่โจทก์เล่นการพนันสลากกินรวบมาเป็นสาเหตุการผิดวินัยหรือเป็นเหตุแห่งการลงโทษอีกต่อไปเมื่อโจทก์ฟ้องคดีแล้ว จำเลยจะยกเหตุที่โจทก์เล่นการพนันสลากกินรวบมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1903/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษซ้ำซ้อนทางวินัย การเตือนด้วยวาจาไม่ใช่คำเตือนเป็นหนังสือ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
เอกสารที่เป็นแต่เพียงคำรับสารภาพของลูกจ้างว่าได้กระทำผิดอย่างใดมาแล้วโดยมีบันทึกแสดงเป็นหลักฐานว่าได้มีการตักเตือนด้วยวาจาจากผู้บังคับบัญชาด้วยเท่านั้นไม่ใช่คำเตือนเป็นหนังสือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(3) เมื่อการตักเตือนด้วยวาจาเป็นโทษทางวินัยอย่างหนึ่งตามระเบียบของนายจ้างดังนั้นการที่ลูกจ้างกระทำผิดและนายจ้างลงโทษโดยการเตือนด้วยวาจาไปแล้วนายจ้างก็จะยกเอาการกระทำเดียวกันนี้มาลงโทษเลิกจ้างลูกจ้างอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3141/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบเงินประกันของลูกจ้างกรณีขาดงานเกิน 10 วันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ถือเป็นความเสียหายต่อองค์กร
การที่โจทก์ขาดงานติดต่อกันเกิน 10 วัน โดยไม่มีเหตุอันสมควรถือได้ว่าโจทก์ทำความเสียหายให้แก่จำเลยอยู่ในตัว จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินประกันแทนค่าเสียหายที่โจทก์ขาดงานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3006-3007/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากความขัดแย้งภายในบริษัทและการแจ้งความดำเนินคดี โดยศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำของบริษัทจำเลยและยังเป็นผู้ถือหุ้นกับเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยด้วย ได้ร่วมกับจำเลยปลอมปนน้ำมันหล่อลื่นเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลย และโจทก์นำความไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่ประธานกรรมการบริษัทจำเลยและยังออกคำสั่งพิเศษให้พนักงานบริษัทฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของโจทก์และจำเลย ซึ่งโจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่าประธานกรรมการทุจริตเบียดบังเงินของจำเลย แล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้น เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์ดังนี้เป็นการกระทำโดยไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ให้ลุล่วงถูกต้องไปโดยสุจริต และไม่เป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ยังถือไม่ได้อีกด้วยว่าเป็นการกระทำผิดโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง ดังนั้น จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหาย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์
of 3