พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2641/2527 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับรู้คำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนของนายจ้าง: อำนาจการรับรู้อยู่ที่ผู้อำนวยการองค์การ ไม่ใช่หน่วยงานสาขา
ผู้แทนของโจทก์ได้แก่ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้การที่จะถือว่าโจทก์ทราบคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทน ก็คือผู้อำนวยการของโจทก์ทราบนั่นเอง แม้โจทก์จะมีหน่วยงานอื่นซึ่งได้แก่ส่วนทำไม้ตากและฝ่ายทำไม้ภาคเหนือ แต่ทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวก็มิได้มีอำนาจพิจารณาเกี่ยวกับการจ่ายเงินทดแทน หรือได้รับมอบอำนาจจากโจทก์เกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าว หรือมิได้มีอำนาจที่จะนำคดีมาสู่ศาลได้ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอันจะถือได้ว่าส่วนทำไม้ตากเป็นนายจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานการที่แรงงานจังหวัดกำแพงเพชรแจ้งคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนให้ส่วนทำไม้ตากรับทราบในวันที่ 21 ธันวาคม 2526 จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างทราบคำสั่งในวันดังกล่าวถือว่าโจทก์เพิ่งทราบคำสั่งดังกล่าวจากบันทึกรายงานของฝ่ายทำไม้ภาคเหนือเมื่อวันที่ 19 มกราคม2527 การที่โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวและนำคดีมาสู่ศาลในวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527 จึงไม่เกิน 30 วันโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1415/2527 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประสบอันตรายจากการเดินทางเพื่อเข้ารับการอบรมยังไม่ถือเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน หากยังมิได้เริ่มปฏิบัติงาน
อ.เป็นลูกจ้างโจทก์โดยประจำอยู่ที่ต่างจังหวัด ได้รับคำสั่งให้มารับการอบรมที่สำนักงานใหญ่จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่วันที่ 7-11 มิถุนายน 2525อ.เดินทางมาถึงเมื่อวันที่6 มิถุนายน 2525และได้รับอันตรายขณะนั่งรถแท็กซี่เดินทางหาที่พักในวันเดียวกันนั้น ซึ่งยังไม่ถึงวันเวลาทำงานตามที่โจทก์มอบหมายจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินทดแทนและค่ารักษาพยาบาลให้แก่ อ.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2526 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประสบอันตรายจากการเดินทางกลับหลังแข่งขันกีฬา ถือเป็นการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้าง มีสิทธิได้รับเงินทดแทน
งานประจำของโจทก์คือกิจการของธนาคารในหน่วยงานอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เมื่อธนาคารผู้เป็นนายจ้างมีคำสั่งให้โจทก์ไปแข่งขันกีฬาที่จังหวัดระยองระหว่างพนักงานธนาคารด้วยกัน ย่อมเป็นงานพิเศษตามครั้งคราวที่ธนาคารผู้เป็นนายจ้างจะมีคำสั่ง และเมื่อถึงวันปิดการแข่งขันโจทก์ก็ได้เดินทางกลับหน่วยงานประจำเช่นนี้ ตราบใดที่โจทก์ยังกลับไม่ถึงที่พักประจำในหน่วยงานอำเภอพัฒนานิคม ก็ยังได้ชื่อว่าโจทก์ปฏิบัติงานพิเศษกลับจากการ แข่งขันกีฬา เป็นการปฏิบัติงานให้แก่นายจ้าง การที่โจทก์ได้รับอันตรายระหว่างเดินทางกลับจึงเป็นการประสบอันตรายขณะปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างและมีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2526 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เบี้ยเลี้ยงช่างซ่อมสะพานถือเป็นค่าจ้างฐานคำนวณค่าทดแทนกรณีประสบอันตราย
ลูกจ้างเป็นช่างเหล็ก ปกติทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยง แต่ความรู้ความสามารถของลูกจ้างเป็นงานประเภทที่จะต้องไปซ่อมสะพานรถไฟตามเส้นทางรถไฟต่างจังหวัดอันเป็นงานประจำของตน ฉะนั้น เมื่อขณะประสบอันตรายลูกจ้างออกไปทำงานที่หน่วยงานสะพานต่างจังหวัดเป็นเวลาถึงหกเดือนเศษ ได้รับเบี้ยเลี้ยงเป็นการประจำจนกว่างานจะแล้วเสร็จ เห็นได้ชัดว่านายจ้างจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่ลูกจ้างเป็นส่วนหนึ่งของการตอบแทน การทำงานในเวลาปกติของวันทำงานโดยแท้ เบี้ยเลี้ยงนี้จึงเป็นค่าจ้างอันจะต้องนำมาเป็นฐานคำนวณค่าทดแทนด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 182/2524 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ขอบเขตความรับผิดนายจ้างต่อค่าทดแทนกรณีลูกจ้างเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับจากทำงาน โดยใช้รถบริการของนายจ้าง
ลูกจ้างเลิกทำงานประจำวันตามหน้าที่แล้วและออกจากโรงงานมานั่งรถยนต์เพื่อเดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุรถยนต์แล่นตกลงข้างถนนและทับลูกจ้างถึงแก่ความตาย ดังนี้ แม้รถที่ลูกจ้างนั่งจะเป็นรถยนต์บริการที่นายจ้างจัดรับส่งพนักงาน ก็เป็นเพียงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้เพื่อความสะดวกแก่พนักงานในการเดินทางกลับบ้านเท่านั้น ลูกจ้างมิได้นั่งรถไปหรือกลับจากการทำงานตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้าง จึงถือไม่ได้ว่าการตายของลูกจ้างเกี่ยวข้องกับการทำงานให้แก่นายจ้าง นายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทดแทนและค่าทำศพแก่ลูกจ้าง