คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. 47 (4)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 40 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทะเลาะวิวาท และสิทธิในการรับเงินโบนัสหลังการเลิกจ้าง
การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ห้ามทะเลาะวิวาทและกล่าววาจาที่ไม่สุภาพให้ร้ายต่อเพื่อน-ร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชา ป.เป็นลูกจ้างของ ว. ป.จึงไม่ใช่ลูกจ้างจำเลย และไม่ได้เป็นเพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาของโจทก์ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หากจะถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับดังกล่าว ก็ไม่ใช่กรณีร้ายแรงอันจำเลยจะเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น เมื่อคดีไม่มีประเด็นว่า ป.เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ เพราะโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องและข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดจากคำเบิกความของผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยเป็นข้อเท็จจริงนอกเรื่องนอกประเด็น และไม่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ.มาตรา 87 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่จำเลยยกข้อเท็จจริงดังกล่าวเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่โจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัย
ศาลแรงงานวินิจฉัยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจาก ป.ทำงานให้แก่จำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการผิดวินัยแต่ศาลแรงงานมิได้ชี้ชัดว่า ป.เกี่ยวพันกับจำเลยในฐานะใด เพียงแต่กล่าวว่าป.ทำงานให้แก่จำเลย แต่เมื่อโจทก์ยอมรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแรงงานว่า รายงานเหตุการณ์ของแผนก GENERAL AFFAIRSถึงผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.19 ถูกต้องแล้ว ดังนั้นเมื่อได้ความตามเอกสารดังกล่าวว่า หลังจากมีการสอบสวนพนักงานทั้งหมดแล้วแผนก GENERAL AFFAIRS ได้ตักเตือนพนักงานและได้จัดการเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยให้ย้ายพนักงานไปทำงานในบริเวณที่ไกลต่อกันและกัน เพื่อไม่ให้มีการทะเลาะกันอีก จึงเห็นได้ว่า การที่แผนกธุรการฝ่ายบุคคลของจำเลยสั่งย้ายพนักงานซึ่งมี ป.ลูกจ้างของ ว.ซึ่งเป็นผู้รับเหมาทำความสะอาดให้จำเลยรวมอยู่ด้วยนั้น ถือได้แล้วว่า ป.เป็นเพื่อนร่วมงานของโจทก์เพราะโจทก์มีหน้าที่เป็นคนทำสวนของจำเลย ส่วน ป.เป็นพนักงานของผู้รับเหมาทำความสะอาดในที่ทำการของจำเลย แม้ผู้เป็นนายจ้างของโจทก์กับ ป.จะต่างคนกันก็ตาม แต่เมื่อผลของงานที่แต่ละคนดำเนินการไปนั้นตกได้แก่จำเลยแต่ผู้เดียวดังนั้น เมื่อโจทก์ทำร้ายร่างกาย ป.จนได้รับอันตรายสาหัสเช่นนี้ จึงผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ระบุว่าห้ามทะเลาะวิวาทและกล่าววาจาที่ไม่สุภาพให้ร้ายต่อเพื่อนร่วมงานแล้ว
เมื่อสาเหตุที่โจทก์ทำร้ายร่างกาย ป.เนื่องมาจากในระหว่างเวลาทำงาน ขณะ ป.ทำความสะอาดห้องน้ำในโรงงานของจำเลย เป็นเหตุให้น้ำกระเด็นไปถูกเสื้อผ้าของโจทก์ที่ตากไว้เปียกและสกปรก โจทก์ได้ด่าว่า ป.อย่างเสียหาย และหลังจากเลิกงานแล้วยังได้ไปดักทำร้ายร่างกาย ป.นอกที่ทำการของบริษัทจำเลยอีก เมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องมาจากการทำงานภายในบริษัทจำเลย กรณีถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน และเมื่อการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4)จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ.มาตรา 583
โจทก์จงใจอุทธรณ์บิดเบือนโต้แย้งในข้อเท็จจริง ที่ศาลแรงงานรับฟังคำเบิกความของ ช.ว่า ตามระเบียบจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงานเฉพาะผู้ที่ทำงานถึงวันกำหนดจ่ายเงินโบนัส เป็นการไม่ชอบ เพราะ ช.เบิกความขัดกับระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.20 ซึ่งไม่มีการกำหนดจ่ายเงินโบนัสไว้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า ช.ไม่ได้เบิกความเกี่ยวโยงถึงเอกสารหมาย ล.20 ไว้เช่นนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อนี้
แม้ตามประกาศของจำเลยเรื่องการจ่ายเงินโบนัส ได้ประกาศก่อนที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์และข้อความในประกาศกำหนดว่าจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานทุกคนหลังจากวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก็ตามคำว่า พนักงาน หมายถึง ผู้ซึ่งมีฐานะเป็นลูกจ้างจำเลยอยู่ในวันกำหนดจ่ายเงินโบนัสเท่านั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ไปก่อนวันที่จำเลยกำหนดจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงาน และเมื่อฐานะความเป็นลูกจ้างของโจทก์ย่อมสิ้นไปก่อนถึงวันกำหนดจ่ายเงินโบนัสดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5515/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งมอบหมายงานพิเศษหลังเกิดอุบัติเหตุ ไม่ถือเป็นการลงโทษทางวินัย นายจ้างมีอำนาจออกคำสั่งได้
คำสั่งของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างที่ให้ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างไปทำความสะอาดแคร่หรือหางรถเทรลเลอร์ครั้งละ 1 วัน เป็นคำสั่งที่ผู้ร้องใช้ปฏิบัติตามประเพณีของทางแผนกขนส่งของผู้ร้องในกรณีที่พนักงานขับรถของผู้ร้องไปเกิดอุบัติเหตุในขณะปฏิบัติงานในหน้าที่ตลอดมาและพนักงานอื่นของผู้ร้องที่เป็นพนักงานขับรถก็ยอมรับปฏิบัติตามเช่นนี้ กรณีถือได้ว่าเป็นระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอย่างหนึ่งของผู้ร้องแม้จะมิได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรก็ใช้บังคับได้ทั้งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องไม่ปรากฏว่าการทำความสะอาดแคร่เป็นการลงโทษทางวินัยของผู้ร้อง การที่ผู้ร้องมอบหมายให้พนักงานขับรถรวมทั้งผู้คัดค้านที่ขับรถไปเกิดอุบัติเหตุ ล้างแคร่หรือหางรถเทรลเลอร์จึงมิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการมอบหมายงานเป็นกรณีพิเศษ ผู้ร้องจึงมีอำนาจที่จะออกคำสั่งมอบหมายงานดังกล่าวได้ ซึ่งพนักงานขับรถทุกคนและผู้คัดค้านมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเมื่อผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ร้องที่ออกโดยชอบ ผู้ร้องจึงมีสิทธิลงโทษผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4715/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เหตุทะเลาะวิวาทนอกสถานที่ทำงานและนอกเวลา
คำให้การของจำเลยอ้างแต่เพียงว่าเหตุที่เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทะเลาะวิวาททำร้ายผู้อื่นในสถานที่ทำงานของจำเลย อันเป็นเหตุเลิกจ้างตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 3.9.1 เท่านั้น หาได้อ้างเหตุเลิกจ้างอื่นตามข้อ 3.9.8 และข้อ 3.9.9 ด้วยไม่ การที่จำเลยอุทธรณ์อ้างเหตุเลิกจ้างตามข้อ3.9.8 และข้อ 3.9.9 จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงาน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
แม้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 3.9.1 จะมีข้อความว่า "พนักงานต้องไม่ทำการทะเลาะวิวาท หรือใช้กำลังประทุษร้ายซึ่งกันและกันในบริเวณบริษัทฯ..." แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ทำร้ายร่างกาย ส.ที่ถนนในบริเวณบริษัท มิใช่ภายในอาคารที่ทำงานหรือที่เก็บสินค้าของจำเลย ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 17 นาฬิกา หลังจากเลิกงานแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่า ส.ได้รับบาดเจ็บพฤติการณ์และการกระทำของโจทก์จึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรงที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากคำด่าที่ไม่ถึงขั้นร้ายแรง จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยได้ด่า ส.ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่า "ตอแหล" ต่อหน้าพนักงานอื่นในสถานที่ทำงานขณะที่ ส.สั่งห้ามพนักงานพูดเสียงดัง การที่โจทก์ด่า ส.โดยใช้ถ้อยคำว่า "ตอแหล" ซึ่งมีความหมายว่าเป็นคนพูดเท็จ อันเป็นการแสดงกิริยากระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาด้วยการใช้วาจาดูหมิ่น เหยียดหยามและก้าวร้าว เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งจำเลยได้จัดไว้ในหัวข้อเรื่องวินัยและความประพฤติทั่วไปของพนักงาน แยกต่างหากจากหัวข้อเรื่องความผิดร้ายแรงซึ่งได้ระบุการกระทำที่เป็นความผิดร้ายแรงไว้โดยเฉพาะ ซึ่งแสดงว่าจำเลยไม่ได้ถือว่าการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเป็นความผิดกรณีร้ายแรงแต่อย่างใดดังนั้น เมื่อปรับการกระทำของโจทก์กับระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าวแล้ว การกระทำของโจทก์เป็นเพียงฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีทั่วไป หาเป็นความผิดกรณีร้ายแรงไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อน จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 46 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3149/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีทุจริตหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบของธนาคาร สิทธิในเงินบำเหน็จพิเศษและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
จำเลยประกอบธุรกิจการธนาคารซึ่งเป็นธุรกิจที่จะต้องเป็นที่เชื่อถือของประชาชนทั่วไป การที่โจทก์สั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาโอนเงินจำเลยไปยังบัญชีต่าง ๆ ทั้งในสาขาเดียวกันและต่างสาขาย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าขณะที่มีการโอนเงินของจำเลยไปยังบัญชีทั้งหลายเหล่านั้น ตัวเงินย่อมจะต้องถูกหักจากจำเลยไปแล้ว และการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การกระทำของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะอาศัยตำแหน่งหน้าที่ในฐานะผู้จัดการสาขาซึ่งไม่มีอำนาจทำได้ ส่วนการที่ฝ่ายตรวจสอบและฝ่ายการพนักงานของจำเลยมีความเห็นว่าการโอนเงินไปก่อนแล้วค่อยรวมยอดตัดจากบัญชีของบิดาโจทก์คราวเดียวในตอนเย็นของวันเดียวกัน แม้จะไม่ถูกต้องตามระเบียบแต่ก็ไม่ปรากฏว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นเพียงความเห็นที่คำนึงเฉพาะด้านตัวเงินหรือดอกเบี้ยซึ่งไม่ได้สูญหาย แต่โดยทั่วไปแล้วย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยได้รับความเสียหายในด้านความเชื่อถือของประชาชน เพราะอาจมีกรณีเงินบัญชีของบิดาโจทก์ไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้คืนจำเลยได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าการโอนเงินจากบัญชีของบิดาโจทก์ไปยังบัญชีต่าง ๆ อย่างถูกต้องนั้นมีเหตุขัดข้องหรือไม่สะดวกอย่างไร ประกอบกับการที่จำเลยประกอบธุรกิจด้านการเงินการธนาคาร ระเบียบข้อบังคับที่ให้ปฏิบัติเกี่ยวกับเงินในธนาคารจะต้องถือว่ามีส่วนสำคัญมากเพื่อให้ธุรกิจของจำเลยมีความมั่นคงเป็นที่เชื่อถือได้การกระทำที่ผิดระเบียบของโจทก์เช่นนี้ถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยชอบ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากการที่ถูกจำเลยมีคำสั่งปลดออกจากงาน และเป็นกรณีที่เข้าลักษณะตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง ตาม ป.พ.พ.มาตรา 583 จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกด้วย
จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหมวด 3ว่าด้วยเงินบำเหน็จพิเศษ กำหนดให้จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินบำเหน็จพิเศษให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยสำหรับผู้ที่ทำงานมาครบ 10 ปี ตามอัตราเงินเดือนที่กำหนดไว้ในข้อ 1 แต่ในข้อ 2 ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าเงินบำเหน็จดังกล่าวจะจ่ายให้เมื่อพนักงานหรือลูกจ้างผู้นั้นออกจากงาน เว้นแต่กรณีออกจากงานเพราะกระทำความผิดตามภาค 2 หมวด 3 ข้อ 3(1) หรือ (2) หรือ (3)ซึ่งหมายถึงการออกจากงานเพราะจำเลยมีคำสั่งไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จพิเศษ
ส่วนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดไว้ในภาค 3 หมวด 2 ข้อ 2.7 วรรคสองว่า "ให้คณะกรรมการกองทุนฯ ดำเนินการดังนี้...2.7.2 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ทุกทอดของเงินสมทบให้แก่สมาชิก เว้นแต่... 2.7.2.1 สมาชิกที่ถูกลงโทษทางวินัยโดยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกโดยธนาคารมีคำสั่งงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ทั้งสิ้น" ดังนั้นเมื่อโจทก์ถูกจำเลยมีคำสั่งให้ออกจากงานโดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินกองทุนสมทบที่จำเลยนำเข้าบัญชีเงินกองทุนให้แก่โจทก์ โจทก์คงมีสิทธิได้รับเฉพาะส่วนที่โจทก์จ่ายในฐานะที่เป็นสมาชิก แต่แม้จำเลยได้ออกเอกสารซึ่งได้แยกให้เห็นว่าเงินส่วนหักจากพนักงานและเงินส่วนสมทบโดยจำเลยไว้ชัดแจ้ง เมื่อปรากฏว่าในส่วนเงินที่หักจากพนักงานนั้น โจทก์ได้รับแล้ว และจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานโดยงดจ่ายเงินพึงได้ใด ๆ ทั้งสิ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินส่วนสมทบนี้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ และก่อเหตุทำร้ายร่างกาย ถือเป็นการเลิกจ้างที่ชอบธรรม
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยระบุไว้ว่าห้ามเล่นการพนันก่อการทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายลักทรัพย์หรือก่อกวนความสงบสุขหรือก้าวก่ายการปฏิบัติงานของพนักงานอื่นซึ่งหากคนงานกระทำผิดข้อบังคับดังกล่าวจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้การที่โจทก์มิได้เป็นผู้บังคับบัญชาของอ. ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบงานของอ. และอ. จะตอบคำถามของโจทก์หรือไม่ก็ได้เมื่ออ. ไม่ยอมพูดด้วยโจทก์ก็น่าจะรู้ว่าอ.ไม่ต้องการให้โจทก์ไปรบกวนเวลาที่กำลังทำงานระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็ระบุห้ามไว้ซึ่งโจทก์ต้องปฏิบัติตามแต่โจทก์กลับหาเรื่องชกต่อยอ.ถึง2ทีเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายไปก่อเหตุขึ้นก่อนจะอ้างว่าได้กระทำไปเพราะบันดาลโทสะเนื่องจากอ. แสดงอาการยียวนหาได้ไม่การกระทำของโจทก์เป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยและเป็นความผิดทางอาญาด้วยจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ47(4)และเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา583ด้วยจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากกระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยการทำร้ายร่างกาย ถือเป็นเหตุเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยระบุไว้ว่าห้ามเล่นการพนัน ก่อการทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์หรือก่อกวนความสงบสุขหรือก้าวก่ายการปฏิบัติงานของพนักงานอื่นซึ่งหากคนงานกระทำผิดข้อบังคับดังกล่าว จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้การที่โจทก์มิได้เป็นผู้บังคับบัญชาของ อ. ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบงานของ อ.และอ. จะตอบคำถามของโจทก์หรือไม่ก็ได้ เมื่อ อ.ไม่ยอมพูดด้วยโจทก์ก็น่าจะรู้ว่าอ.ไม่ต้องการให้โจทก์ไปรบกวนเวลาที่กำลังทำงานระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็ระบุห้ามไว้ซึ่งโจทก์ต้องปฏิบัติตาม แต่โจทก์กลับหาเรื่องชกต่อย อ.ถึง 2 ที เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายไปก่อเหตุขึ้นก่อน จะอ้างว่าได้กระทำไปเพราะบันดาลโทสะเนื่องจาก อ. แสดงอาการยียวนหาได้ไม่ การกระทำของโจทก์เป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย และเป็นความผิดทางอาญาด้วย จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) และเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ด้วยจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1179/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงหน้าที่งานที่ไม่เป็นธรรมและการปฏิเสธคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม
โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2522จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติหน้าที่พนักงานทอผ้าในแผนกทอผ้าตลอดมา การปฏิบัติงานที่แผนกสวัสดิการทั่วไป คือทำงานตักขยะ ตักเศษด้ายขึ้นมาจากท้องร่องรอบ ๆ โรงงานและกวาดขยะเน่าในโกดัง ซึ่งมีลักษณะงานแตกต่างจากที่โจทก์ได้ปฏิบัติหน้าที่เดิมที่แผนกทอผ้ามาก ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานในส่วนสำคัญและเป็นการย้ายลูกจ้างไปทำงานในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ต่ำกว่าเดิม คำสั่งเปลี่ยนแปลงหน้าที่โจทก์จากงานทอผ้าไปทำงานแผนกสวัสดิการทั่วไปจึงเป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม การที่จำเลยมีคำสั่งเปลี่ยนหน้าที่โจทก์จากทอผ้าไปทำงานแผนกสวัสดิการทั่วไป แม้โจทก์ไม่ปฏิบัติตามโดยจำเลยได้ตักเตือนแล้วก็ตาม กรณียังถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5296/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากประพฤติปฏิบัติกระทบความเชื่อถือของกิจการบริการรับส่งเอกสาร
กิจการของจำเลยในการให้บริการรับส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ด่วนพิเศษจะดำเนินการอยู่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือของลูกค้าในการให้บริการของจำเลยที่จะต้องจัดการนำส่งเอกสารและพัสดุภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าอย่างรวดเร็วและถูกต้อง ปรากฏว่าเอกสารของลูกค้าจำเลยส่งมาถึงจำเลยตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม2538 พนักงานแยกเอกสารได้นำเอกสารดังกล่าวไปใส่ในช่องเอกสารของโจทก์แล้ว แต่โจทก์ละเลยไม่นำเอกสารไปส่งให้แก่ลูกค้าจำเลย จนเป็นเหตุให้ลูกค้าต้องโทรศัพท์ทวงถามเอกสารจากจำเลยในวันที่ 29 กรกฎาคม 2538 จึงได้มีการตรวจค้นพบเอกสารอยู่ในกระเป๋าใส่เอกสารประจำตัวของโจทก์ซึ่งทิ้งไว้ที่บริษัทจำเลย พฤติการณ์การกระทำของโจทก์ย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือของลูกค้าที่มีแก่บริการรับส่งเอกสารของจำเลยเป็นอย่างยิ่ง ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 70 ข้อ 96 และข้อ 99.4 กรณีร้ายแรงจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7770/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากดื่มสุราในระหว่างทำงาน แม้เพียงเล็กน้อย ก็ถือเป็นความผิดร้ายแรง
ตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการทำงานของบริษัทจำเลยได้กำหนดเกี่ยวกับความผิดวินัยกรณีร้ายแรงไว้ตามหมวด 7 ข้อ 3 (4) ว่า"การดื่มสุรา สิ่งมึนเมาหรือยาเสพติดในบริเวณบริษัท หรือในระหว่างปฏิบัติหน้าที่เป็นความผิดวินัยร้ายแรง" เจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ที่จำเลยได้กำหนดระเบียบข้อบังคับการทำงานดังกล่าวข้างต้นไว้ เพราะจำเลยต้องการที่จะกำหนดเป็นมาตรการเพื่อป้องกันภยันตรายหรือความเสียหายซึ่งจะเกิดแก่พนักงานทุกคนหรือแก่ทรัพย์สินของจำเลย อันอาจจะเกิดขึ้นได้ไว้ล่วงหน้า เพราะการดื่มสุราหรือสิ่งมึนเมาก่อให้เกิดความประมาทในขณะปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งนี้จำเลยมิได้กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับการทำงานให้นำผลจากการดื่มมากดื่มน้อยเพียงใด หรือผลจากการดื่มแล้วยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่มาเป็นเกณฑ์การพิจารณาถึงความร้ายแรงหรือไม่ โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์รับส่งผู้บริหารของบริษัทจำเลย ตั้งแต่เวลา 17 ถึง 20 นาฬิกา แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างระยะเวลาทำงานล่วงเวลา แต่ก็ต้องถือว่าอยู่ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์ปฏิบัติย่อมต้องใช้ความรับผิดชอบและความระมัดระวังสูง หากประมาทเลินเล่อย่อมนำมาซึ่งความเสียหายได้ทันที ดังนั้น หากปล่อยให้โจทก์ดื่มสุราหรือสิ่งมึนเมาจนถึงขั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือมึนเมาจนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นก่อนแล้วจึงถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง นายจ้างโดยทั่วไปหรือจำเลยก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์หรือความคุ้มครองในมาตรการที่ป้องกันภยันตรายที่จำเลยได้กำหนดไว้ หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (4) แต่อย่างใดการที่โจทก์ดื่มเบียร์เพียงครึ่งแก้วระหว่างระยะเวลาการทำงานล่วงเวลาจึงเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
of 4