คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 123

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 140 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความร้องทุกข์: การแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน ไม่ถือเป็นคำร้องทุกข์
โจทก์ร่วมทราบว่าถูกหลอกลวงเมื่อโจทก์ร่วมไปตามหาจําเลยที่หน่วยงานของจําเลย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 โจทก์ร่วมย่อมทราบได้ว่า จําเลยคือผู้ที่หลอกลวงโจทก์ร่วมตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ร่วมไปพบพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ข้อความที่ปรากฏในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุแจ้งชัดว่า เป็นการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและผู้แจ้งขอไปติดตามการสนทนาระหว่างผู้แจ้งกับจําเลยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป มิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ การแจ้งความตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน จึงไม่เป็นคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ โจทก์ร่วมเพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจําเลย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เมื่อโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2561 การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมจึงพ้นกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ สิทธิของโจทก์และโจทก์ร่วมในการนําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานยักยอกเงินสมาคมฌาปนกิจฯ ร่วมกันกระทำความผิด พยานหลักฐานจากคำให้การของผู้ร่วมกระทำความผิด
โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4893/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจากสื่อ การกำหนดค่าเสียหาย และขอบเขตความรับผิด
การที่ชายหญิงมีเพศสัมพันธ์กันโดยความยินยอมพร้อมใจในสถานที่อันมิดชิดและเหมาะสมเป็นวิถีชีวิตตามปกติของสังคมมนุษย์ และถือเป็นสิทธิในความเป็นส่วนตัว ซึ่งได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 34 ที่บัญญัติว่า "สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง" ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะเป็นสื่อมวลชน มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาหรือสื่อความหมายโดยวิธีอื่น ๆ แต่ก็หาอาจกระทำการใด ๆ ที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น การที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงคู่หนึ่งซึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ เคยนำเสนอภาพและข่าวไปก่อนหน้านั้น แต่ยังไม่ได้ระบุว่าชายหญิงในภาพเป็นใครมาเผยแพร่ซ้ำโดยระบุในเนื้อข่าวว่า ชายในภาพที่กำลังมีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักคือโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการก้าวล่วงหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายต้องแจ้งชื่อ ลักษณะแห่งความผิดและพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดได้กระทำลงนั้นเป็นหน้าที่ที่ผู้เสียหายต้องกระทำในการร้องทุกข์กล่าวโทษตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 123 กำหนดไว้ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิของตนจากการถูกละเมิด จะถือว่าโจทก์ยินยอมเปิดเผยชื่อและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อสาธารณชนหาได้ไม่ ยิ่งเมื่อพิจารณาเนื้อหาข่าวที่จำเลยทั้งสองนำมาลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์พบว่ามีขอบเขตที่กว้างกว่าการเสนอข่าวการดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
แม้โจทก์จะเป็นนักการเมือง เป็นบุคคลสาธารณะ แต่ก็ย่อมมีสิทธิของความเป็นส่วนตัว มิใช่ว่าเมื่อเป็นนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะแล้วจะทำให้สิทธิในความเป็นส่วนตัวต้องสูญสิ้นไปทั้งหมด ทั้งการที่จำเลยทั้งสองนำข่าวการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับหญิงคนรักซึ่งถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวโดยแท้มาเผยแพร่ซ้ำ ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อสาธารณชน มีแต่จะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างมากขึ้น
การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 มิใช่เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ตามมาตรา 423 โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณและความเสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของตนโดยประการอื่นอันเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดตามมาตรา 423 ได้ โจทก์คงเรียกได้เฉพาะค่าเสียหายจากการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเท่านั้น
การที่จำเลยทั้งสองไม่เคยเสนอข่าวในทางที่ทำให้โจทก์เสียหายมาก่อน เพิ่งมาเสนอข่าวหลังจากโจทก์ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ผู้ที่นำข่าวและภาพโจทก์มีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนรักไปเผยแพร่ก่อนหน้านั้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองยังมีจรรยาบรรณของผู้มีอาชีพสื่อมวลชนอยู่ ทั้งเนื้อข่าวบางส่วนน่าจะมีผลเป็นการปรามผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์อยู่หรือคิดจะกระทำละเมิดต่อโจทก์ให้หยุดการกระทำหรือยกเลิกความคิดที่จะกระทำนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองถือว่าไม่ร้ายแรงมากนัก เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้หนึ่งที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองย่อมต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้จะมีบุคคลอื่นกระทำละเมิดด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับผู้กระทำละเมิดรายนั้น ๆ มิใช่เหตุตามกฎหมายที่จำเลยทั้งสองจะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ศาลปรับลดค่าเสียหายที่ตนต้องรับผิดลง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็ดี หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็ดี ที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดยมีจุดประสงค์ในการที่จะควบคุมอำนาจรัฐและผดุงไว้ซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นการทั่วไป มิใช่กฎหมายที่บัญญัติกำหนดความรับผิดของบุคคลในกรณีที่มีการกระทำละเมิดกันไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 34 จะบัญญัติคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และมาตรา 28 บัญญัติให้ผู้ถูกกระทำละเมิดสามารถยกขึ้นเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีบทบัญญัติในทำนองเดียวกันนี้ก็ตาม แต่การที่จะพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4560/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความและร้องทุกข์ในคดีฉ้อโกง: การมีอำนาจสอบสวนและฟ้องคดี
แม้ในเบื้องต้นโจทก์ร่วมที่ 1 ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐาน ตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี แต่หลังจากนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถคันดังกล่าว ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษหรือพยาน ซึ่งในการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 123 วรรคสาม บัญญัติว่า คำร้องทุกข์จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวันเดือนปีและลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปาก ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ หรือพยาน ระบุว่า วันที่ 16 ตุลาคม 2554 โจทก์ร่วมที่ 1 ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเขาสมิงพร้อมกับร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงรถ โดยในคำให้การดังกล่าวปรากฏชื่อและที่อยู่ของโจทก์ร่วมที่ 1 ในฐานะผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ต่างๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้ เข้าลักษณะเป็นคำร้องทุกข์ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ประกอบมาตรา 123 แล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 และมาตรา 120 ตามลำดับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16789/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกเคหสถาน ทำร้ายร่างกาย และทำให้เสียทรัพย์ ศาลอุทธรณ์แก้ไขโทษจำคุกและยืนตามคำพิพากษาเดิมบางส่วน
จำเลยทั้งสี่นำสืบว่า จำเลยที่ 1 เรียกให้ผู้เสียหายกับพวกออกมาที่หน้าบ้านเกิดเหตุ และจำเลยที่ 1 ชกต่อยกับผู้เสียหายกับพวกที่บริเวณหน้าบ้าน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าห้ามปรามโดยจำเลยทั้งสี่ไม่ได้เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิด จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็ไม่มีความผิดฐานบุกรุกด้วยเพราะเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามพฤติการณ์เชื่อว่าผู้เสียหายกับพวกครอบครองบ้านเกิดเหตุอยู่โดยอาศัยสิทธิของ จ. และขณะเกิดเหตุบ้านเกิดเหตุยังอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายกับพวก แม้จะรับฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสี่นำสืบและฎีกาว่า จ. เคยฟ้องมารดาของจำเลยทั้งสามกับพวกเกี่ยวกับที่ดินที่ปลูกสร้างบ้านที่เกิดเหตุ และศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของ จ. ก็ตาม แต่ตามสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปรากฏว่า จ. ซึ่งถูกมารดาของจำเลยทั้งสามฟ้องขับไล่ยังคงโต้แย้งสิทธิในที่ดินที่บ้านเกิดเหตุตั้งอยู่ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 เพิ่งมีคำพิพากษาภายหลังเกิดเหตุคดีนี้ให้ยกอุทธรณ์ของ จ. ดังนี้ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับพวกจึงยังมีสิทธิอยู่ในบ้านเกิดเหตุ และเมื่อฟังว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำให้เสียหาย ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ย่อมมีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวได้
ฟ้องโจทก์บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกในข้อหาร่วมกันบุกรุกและข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนมาในข้อเดียวกันคือ ข้อ ค. โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องแยกแยะการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่กับพวกให้ปรากฏชัดแจ้งพอที่จะเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องข้อ ค. ในแต่ละข้อหาเป็นแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกและร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเป็นสองกรรมเกินจากที่ได้กล่าวในฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
จำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อถามหาน้องชายของผู้เสียหาย แต่เมื่อไม่พบจึงได้ร่วมกันทำลายทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจตนาแยกต่างหากจากเจตนาแรกที่บุกรุกเข้าไปถามหาน้องชายของผู้เสียหาย ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกจึงเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11858/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจเป็นเงื่อนไขสำคัญ
ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย เป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นมาก่อน แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ทั้งต้องเป็นการสอบสวนที่ไม่บกพร่องหรือผิดพลาดในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา 2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า การกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดฐานร่วมกันยักยอก คือการร่วมกับจ่าสิบตำรวจ อ. จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 21/2555 ของศาลชั้นต้น นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. โดยระบุว่า เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาในชั้นพิจารณากลับได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ว. พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า การจำนำรถยนต์อันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดของจำเลยเกิดขึ้นที่เขตเพชรเกษม อันเป็นท้องที่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษม ดังนี้ พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษมซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิดย่อมเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่อื่นนอกจากนี้ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนได้ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร และถูกจับกุมดำเนินคดีนี้โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาล หนองค้างพลู เช่นนี้ แม้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยจะเป็นผู้รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ทั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีเขตรับผิดชอบในท้องที่ซึ่งบริษัทผู้เสียหายตั้งอยู่ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่ ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม กำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยทำการสอบสวนจำเลย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 จึงเป็นกรณี ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรม ทั้งการกระทำอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่กล่าวหาคือการที่ผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ดังนั้น ความผิดฐานยักยอกย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยและจ่าสิบตำรวจ อ. ร่วมกันนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. การกระทำของจำเลยจึงหาใช่ความผิดต่อเนื่องที่ได้กระทำในหลายท้องที่ ทั้งกรณีซึ่งจะถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดมีอำนาจทำการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายแต่เฉพาะเมื่อสภาพและลักษณะแห่งการกระทำความผิดนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ใดในหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน โดยมิได้หมายรวมถึงกรณีที่เป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่า ความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด ดังนี้ แม้ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 123 และมาตรา 124 ก็ตาม แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน ย่อมมีผลให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยักยอกทรัพย์โดยจำเลยครอบครองเงินร่วมกับโจทก์ และการร้องทุกข์ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9600/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำละเมิดลิขสิทธิ์โดยผู้รับมอบอำนาจช่วง: ผู้เสียหายต้องมีอำนาจร้องทุกข์เอง พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบใช้ไม่ได้
ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะอันเป็นการก่อให้จำเลยทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้กระทำความผิดโดยทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนำแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่ ร. ผู้ล่อซื้ออันจะถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) เมื่อ ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงานจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้ แผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ ที่ ร. ว่าจ้างจำเลยให้ทำขึ้นและวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์การบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลยที่ ร. แอบถ่ายไว้เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1287/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเช็ค: การร้องทุกข์ด้วยวาจาโดยกรรมการบริษัท ถือเป็นการร้องทุกข์โดยชอบ
แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหนังสือมอบอำนาจมิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ร่วมตามข้อบังคับซึ่งมีผลให้การมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าในวันที่ ก. ผู้รับมอบอำนาจเข้าให้การต่อพนักงานสอบสวนนั้น ก. มิได้นำหนังสือร้องทุกข์ไปมอบให้แก่พนักงานสอบสวน เป็นการร้องทุกข์ด้วยวาจา และในวันเดียวกันนั้นเอง ด. และ ว. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ร่วมก็ได้ไปพบพนักงานสอบสวนพร้อมกับ ก. และให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ด้วยตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษหรือพยาน ซึ่ง ธ. พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่า ในวันที่พยานรับคำร้องทุกข์ ด. และ ว. ให้การต่อพยานว่าจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวและ ด. กับ ว. ยืนยันให้ดำเนินคดีแก่จำเลย จึงฟังได้ว่าบริษัทโจทก์ร่วมโดย ด. และ ว. ได้ร้องทุกข์ด้วยวาจาหรือด้วยปากต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 123 วรรคสามแล้ว ส่วนการที่พนักงานสอบสวนได้จัดให้มีการลงบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี หรือบันทึกคำให้การของ ด. และ ว. มีรายละเอียดอย่างใดก็เป็นการดำเนินการเพื่อให้มีการบันทึกไว้ตามบทกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3915/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของคำฟ้องฐานกระทำอนาจาร และสิทธิของผู้เยาว์ในการร้องทุกข์
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเข้าไปในห้องนอนของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้เสียหายที่ 2 กำลังนอนหลับอยู่ จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 อายุ 15 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาจำเลยโดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำ ลูบคลำร่างกายของผู้เสียหายที่ 2 และพยายามถอดเสื้อผ้าของผู้เสียหายที่ 2 ที่สวมใส่อยู่ออก และใช้อาวุธปืนบังคับขู่เข็ญเพื่อจะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนที่จำเลยจะกระทำอนาจารอย่างไรและบริเวณใดของร่างกายกับจำเลยลูบคลำร่างกายผู้เสียหายที่ 2 อย่างไร เป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 มิได้บัญญัติว่า การร้องทุกข์ของผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือบุคคลดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ของผู้เยาว์ด้วย ดังนั้น ผู้เยาว์จึงมีอำนาจร้องทุกข์ด้วยตนเองได้
of 14