พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1753/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องในคดีเพิกถอนมติคณะกรรมการอาคารชุด ต้องแสดงให้เห็นถึงความเสียหายหรือกระทบสิทธิของผู้ฟ้อง
โจทก์เป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งในอาคารชุด ศ. แต่ไม่ได้เป็นกรรมการและไม่ได้เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 ทั้งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงานของนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 ฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด ครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีมติให้จําเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ จําเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ และจําเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และเพิกถอนการประชุมคณะกรรมการในวาระพิเศษเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ซึ่งมีมติอนุมัติว่าจ้างบริษัท ว. เข้าบริหารจัดการอาคารชุดรายใหม่ โดยกล่าวอ้างในฟ้องเพียงว่า ในการประชุมคณะกรรมการทั้งสองครั้ง ไม่มีการเชิญหรือแจ้งนัดประชุมให้แก่ อ. และ ณ. ซึ่งเป็นกรรมการทราบ ทำให้ อ. และ ณ. ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ซึ่ง อ. และ ณ. ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิโดยตรงไม่ได้เป็นผู้ฟ้อง เมื่อคําฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า มติที่ประชุมทั้งสองครั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ หรือนิติบุคคลอาคารชุดจําเลยที่ 1 หรือบรรดาเจ้าของร่วมอย่างไร หรือมติที่ประชุมคณะกรรมการนิติบุคคลทั้งสองครั้งกระทบต่อสิทธิของโจทก์อย่างไร จําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งที่คณะกรรมการมีมติแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ตามที่ที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมให้อำนาจไว้ และบริษัท ว. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติว่าจ้างให้เข้าบริหารจัดการอาคารชุดรายใหม่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าจําเลยที่ 2 และบริษัท ว. ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือทำงานผิดพลาดบกพร่องหรือทุจริตแต่อย่างใด ทั้งมติที่ประชุมที่โจทก์ขอเพิกถอนนั้นมีการลงมติตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 และวันที่ 3 ธันวาคม 2560 ตามลำดับ แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ล่วงเลยเวลานานหลายเดือน และยังขอให้จําเลยที่ 2 คืนเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากจําเลยที่ 1 ทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2560 โดยอ้างเรื่องไม่ได้มีการเชิญหรือแจ้งนัดประชุมให้ อ. และ ณ. กรรมการทราบเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดบกพร่องหรือทุจริตแต่ประการใด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า จําเลยทั้งห้าได้กระทำสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติบุคคลเจ้าของร่วมมีสิทธิเป็นกรรมการอาคารชุด และมอบอำนาจบุคคลอื่นเป็นกรรมการแทนได้
ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 38 (3) ไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมการผู้จัดการของนิติบุคคลนั้น หรือเป็นผู้แทนของนิติบุคคลนั้นโดยตรง ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจหรือรับมอบหมายจากนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมย่อมมีสิทธิได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้ ดังนั้น บริษัทที่เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุดย่อมมีสิทธิได้รับเลือกให้เป็นกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดและมีอำนาจมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนของบริษัทเข้าเป็นกรรมการควบคุมการจัดการของนิติบุคคลอาคารชุดแทนบริษัทได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วมอาคารชุด มีสิทธิแต่งตั้งผู้แทนเป็นกรรมการได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด
พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 38 บัญญัติว่า "บุคคลดังต่อไปนี้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ (1) เจ้าของร่วม หรือคู่สมรสของเจ้าของร่วม (2) ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่เจ้าของร่วมเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี (3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วม" เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่ามีการแยกบุคคลที่มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไว้ โดยใน (1) และ (2) เป็นการให้สิทธิบุคคลธรรมดา ส่วนใน (3) แสดงให้เห็นว่านิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดมีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการได้ หาได้จำกัดเฉพาะบุคคลธรรมดาไม่ ดังนั้น การแสดงออกของนิติบุคคลย่อมกระทำได้โดยผ่านผู้แทนหรือตัวแทน หรือผู้รับมอบอำนาจจากนิติบุคคล และการกระทำดังกล่าวมีผลผูกพันนิติบุคคลให้ต้องรับผิดด้วย แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 38 (3) กำหนดบุคคลที่จะเป็นกรรมการในกรณีที่นิติบุคคลเป็นเจ้าของร่วมไว้ว่า "ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคล" ก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุดฉบับดังกล่าวซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุพิพาท มิได้ให้คำจำกัดความหรือนิยามความหมายของคำว่า "ผู้จัดการ" หรือ "ผู้แทนอื่นของนิติบุคคล" ไว้ จึงต้องนำ ป.พ.พ.ลักษณะหุ้นส่วนบริษัทซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาเทียบเคียงโดยในบริษัทจำกัด "ผู้จัดการ" หมายถึงผู้ที่ดำเนินการจัดการเรื่องให้แก่บริษัท กฎหมายมิได้บังคับว่าต้องเป็นกรรมการของบริษัทเท่านั้นจึงจะสามารถเป็นผู้จัดการได้ อาจเป็นบุคคลใดก็ได้ที่บริษัทเห็นสมควรแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการ ส่วนกรณีผู้แทนอื่นของนิติบุคคลหาได้มีบทกฎหมายใดบังคับว่าต้องเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ อาจเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนของนิติบุคคลก็ได้ ดังนั้น ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องเป็นกรรมการผู้จัดการของนิติบุคคลนั้น หรือเป็นผู้แทนของนิติบุคคลนั้นโดยตรง ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจหรือรับมอบหมายจากนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมย่อมมีสิทธิได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดได้ เมื่อบริษัท ส. บริษัท ท. บริษัท ม. บริษัท ป. บริษัท จ. และบริษัท ว. ล้วนแต่เป็นนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของร่วมอาคารชุด ย่อมมีสิทธิได้รับเลือกให้เป็นกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดและมีอำนาจมอบอำนาจหรือมอบหมายให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการหรือผู้แทนบริษัทเข้าเป็นกรรมการควบคุมการจัดการของนิติบุคคลอาคารชุด อ. แทนบริษัทได้