คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 1

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1406/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ้างงานที่ไม่แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจ: ไม่อยู่ภายใต้บังคับประกาศคุ้มครองแรงงาน สิทธิเรียกร้องค่าชดเชย
ในวันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่ากิจการจำเลยเป็นการจ้างแรงงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรทางเศรษฐกิจศาลแรงงานกลางจึงรับฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความแถลงรับกันการที่โจทก์อุทธรณ์ว่ากิจการจำเลยเป็นการจ้างงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรทางเศรษฐกิจจึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา54 กิจการจำเลยเป็นการจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรทางเศรษฐกิจการจ้างงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อออกจากงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ46จากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 573/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างต่อเนื่อง-ต่ออายุ ไม่ใช่สัญญาใหม่: ลูกจ้างมีสิทธิค่าชดเชย แม้สหกรณ์อ้างไม่แสวงหากำไร
เมื่อโจทก์ทำงานถึงอายุ 60 ปีแล้วมีการต่ออายุการทำงานออกไปคราวละ 1 ปี จนกระทั่งโจทก์มีอายุครบ65 ปีนั้น การต่ออายุการทำงานแต่ละคราวเป็นเพียงการขยายกำหนดเวลาจ้างเดิมออกไปไม่ใช่ตกลงทำสัญญาจ้างกันใหม่ จึงเป็นสัญญาจ้างที่มิได้กำหนด ระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนอยู่เช่นเดิม แม้จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ต่ออายุการทำงาน จำเลยก็ต้องจ่ายค่าชดเชย
วัตถุประสงค์ตามข้อบังคับสหกรณ์จำเลยกำหนดการจัดสรรกำไรสุทธิ ของสหกรณ์ การจัดสรรกำไรเป็นโบนัสแก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์จึงแสดงว่าสหกรณ์จำเลยดำเนินการเพื่อกำไรในทางเศรษฐกิจ
การจ่ายค่าชดเชยเป็นหน้าที่ของนายจ้างตาม กฎหมายคุ้มครองแรงงานการไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดอาญา ถือว่าเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่อาจระงับไปด้วยเหตุที่ลูกจ้างถอนคำร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อเตือนจำเลยให้จ่ายค่าชดเชย
จำเลยเสียค่าแต่งทนายความ ซึ่งจำเลยไม่ต้องเสียตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา27 ศาลฎีกาคืนค่าธรรมเนียมนี้ให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3234/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของลูกจ้างในสัญญาชดใช้ค่าเสียหาย: ความรับผิดจำกัดเฉพาะการกระทำโดยประมาทหรือยักยอกเท่านั้น
แม้ลูกจ้างจะมีข้อตกลงกับนายจ้างว่าลูกจ้างต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือสูญหายของสินค้าที่เก็บไว้ในคลังสินค้าก็ตาม แต่การตกลงเช่นนี้คู่กรณีย่อมคำนึงถึงความสามารถที่คู่กรณีจะรับผิดชอบได้ คงไม่มีเจตนาที่จะให้รับผิดชอบไม่ว่ากรณีใด ๆซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจและความสามารถของคู่กรณี เช่น อุบัติเหตุ ภัยพิบัติธรรมชาติโจรกรรมหรือเหตุสุดวิสัยด้วย ดังนั้น เมื่อสินค้าของนายจ้างหายไปโดยมิได้เกิดจากการยักยอกหรือด้วยความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างแล้วลูกจ้างก็ไม่ต้องรับผิดตามข้อตกลงนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2068/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการคุ้มครองแรงงาน: การจ้างที่ไม่แสวงหากำไรและความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างภายใต้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เป็นบทกฎหมายที่กำหนดการคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้างเพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปโดยเหมาะสมเป็นกฎหมายคนละส่วนกับพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์รวมทั้งวิธีการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เป็นไปด้วยวิธีปรองดองและเป็นธรรม ดังนั้นการจ้างงานที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ จึงมิใช่กิจการที่ได้รับยกเว้นมิให้ใช้พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์บังคับเช่นเดียวกับประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2806-2807/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะองค์การฟอกหนังกับการคุ้มครองแรงงาน: การเลิกจ้างและการจ้างใหม่
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การรัฐบาล มาตรา 3การจัดตั้งองค์การให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และมาตรา 4 ให้องค์การที่จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายองค์การฟอกหนัง จำเลยจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง มิได้มีบทบัญญัติให้จำเลยเป็นหน่วยงานหรือกรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นกรมสังกัดอยู่ในกระทรวงกลาโหม ทั้งตามมาตรา 6 และ 7 แห่ง พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จำเลยมีวัตถุประสงค์ในทางการค้ามิใช่หน่วยงานบริหารราชการแผ่นดิน จำเลยจึงมิใช่ราชการส่วนกลางตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 1(1)
ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนังได้กำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การฟอกหนังจำเลยไว้ตามมาตรา 6(3) และ (4) ที่จะผลิตและประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมฟอกหนังและสินค้าสำเร็จรูปจากหนังฟอกหรือจากวัตถุอย่างอื่นแทนหนังฟอกได้มาตรา 7(3)(4)(7)(9) ให้จำเลยมีอำนาจทำการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ขององค์การทุกชนิดร่วมการงาน หรือสมทบกับบุคคลอื่นรวมทั้งการเข้าหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วน หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด รับเป็นสาขาตัวแทน ตัวแทนค้าต่างอันเกี่ยวกับกิจการตามวัตถุประสงค์และกระทำกิจการอื่นใดเกี่ยวกับการผลิตการค้าซึ่งเครื่องอุตสาหกรรมหนังหรือที่ต่อเนื่อง ดังนี้องค์การจำเลยได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงกำไรในทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2
เมื่อจำเลยเป็นองค์การของรัฐที่มิได้รับการยกเว้น การใช้บังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ทั้งได้ความว่าจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานโดยมีค่าจ้างเป็นประโยชน์ตอบแทนตรงตามความหมายของคำว่านายจ้างลูกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน การที่จำเลยวางระเบียบข้อบังคับการทำงานและอื่น ๆ เหมือนหรืออ้างอิงระเบียบของทางราชการ หาทำให้จำเลยไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานไม่
การที่จำเลยออกคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบข้อบังคับนั้น เป็นการเลิกจ้างโจทก์ฐานเป็นลูกจ้างขาดตอนไป ที่จำเลยมีคำสั่งใหม่แม้จะเป็นวันเดียวกันให้จ้างโจทก์ต่อไป ก็เป็นการจ้างโจทก์ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2802-2805/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการคุ้มครองแรงงาน: องค์การแก้วแสวงหากำไร ไม่ได้รับการยกเว้นตามประกาศมหาดไทย และข้อบังคับกองทุนบำเหน็จไม่ขัดแย้ง
พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การแก้ว มาตรา 6 ระบุวัตถุประสงค์ขององค์การแก้วจำเลยไว้ว่า จัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแก้วและวัตถุทนไฟ ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมแก้วและวัตถุทนไฟ มาตรา 7 ยังให้อำนาจแก่จำเลยว่า ทำการค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของจำเลยร่วมการงานหรือสมทบกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ของจำเลยรวมทั้งการเข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลใด ๆ และรับเป็นสาขาตัวแทน ตัวแทนค้าต่าง อันเกี่ยวกับกิจการตามวัตถุประสงค์ของจำเลย ดังนี้ องค์การแก้วจำเลยมิได้จัดตั้งขึ้นเพื่อประโยชน์เฉพาะในทางราชการทหาร หรือเพื่อช่วยเหลือประชาชนเท่านั้น แต่ยังมีวัตถุประสงค์ประกอบการในทางค้าแสวงหากำไรทางเศรษฐกิจด้วย การจ้างงานของจำเลยจึงมิได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดกิจการที่มิให้ใช้บังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2
ข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จของจำเลยที่กำหนดว่าพนักงานที่ออกจากงานมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จแต่เพียงอย่างเดียว และถือว่าเป็นเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานด้วย อันเป็นข้อบังคับที่มีผลไม่ให้จ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานซึ่งถือเป็นกฎหมายส่วนหนึ่ง จึงไม่มีผลบังคับ