คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 472

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 76 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ชำรุด ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาและเรียกเงินคืน พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาเช่ารถยนต์กับโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์รับรถยนต์ไปใช้ปรากฏว่าเกิดเสียงดังในขณะขับรถถอยหลัง เมื่อนำกลับไปให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมหลายครั้งแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าในสภาพที่ไม่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ เป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนหรือในขณะส่งมอบและเพิ่งปรากฏขึ้นภายหลังจากการส่งมอบรถ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดตามสัญญาเช่าเนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซึ่งไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา มิใช่กรณีฟ้องขอให้รับผิดในกรณีชำรุดบกพร่อง บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 จึงไม่นำมาปรับใช้กับคดีนี้ และการฟ้องขอให้รับผิดโดยขอคืนเงินที่ชำระตามสัญญาเช่าเนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันเป็นการผิดสัญญาเช่านั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 190/30
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 ซึ่งบัญญัติว่า "การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่าก็ดี ความรับผิดของผู้ให้เช่าในกรณีชำรุดบกพร่องและรอนสิทธิก็ดี ผลแห่งข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดก็ดี เหล่านี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการซื้อขายอนุโลมความตามควร" และมาตรา 472 วรรคแรก บัญญัติว่า "ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่ารถยนต์นอกจากมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นก่อนส่งมอบและเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากส่งมอบแก่โจทก์ และเสียงที่ดังเกิดที่เบรกรถยนต์ซึ่งเป็นระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับรถยนต์ แม้จำเลยที่ 1 จะซ่อมแซมหลายครั้งแล้วก็ยังแก้ไขไม่ได้ ย่อมทำให้เกิดความวิตกกังวลและความไม่เชื่อมั่นในการใช้รถที่เช่า ความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าดังกล่าวจึงถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้ตามปกติ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่าได้ส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะกับการใช้ประโยชน์ตามที่เช่า แม้สัญญาเช่ามีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าอันเป็นการยกเว้นความผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 ประกอบมาตรา 472 ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนด ทำให้จำเลยที่ 2 ได้เปรียบโจทก์เกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีผลใช้บังคับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม (1) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 2 ด้วยการนำรถกลับไปคืนจำเลยที่ 1 แล้วต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และจำเลยที่ 2 นำรถยนต์ที่เช่าไปขายแก่บุคคลภายนอกแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการคืนเงินค่าเช่าที่ได้รับมาทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทในขณะที่โจทก์ฟ้องคดี ทั้งไม่ใช่ผู้รับชำระค่าเช่าจากโจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและเรียกค่าเสียหายภายใต้บังคับของกฎหมายเท่านั้น กรณีไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมชำระเงินดังกล่าวที่โจทก์ชำระไปแล้วคืนให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1755/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดรถยนต์ของกลาง ผู้ขายต้องส่งมอบรถยนต์สภาพพร้อมใช้งานตามกฎหมาย หากไม่สามารถจดทะเบียนได้ถือเป็นผิดสัญญา
ก่อนนำรถยนต์ของกลางออกขายทอดตลาด จำเลยปฏิบัติตามประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2556 ข้อ 1 3 4 22 ที่กำหนดให้ตรวจสอบรถยนต์ที่ตรวจยึดทุกคันไม่ว่าจะมีผู้ต้องหาหรือไม่ก็ตามจาก 6 หน่วยงานแล้ว ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการขนส่งทางบกนั้น จำเลยมีหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบกขอความร่วมมือตรวจสอบรถยนต์ของกลางที่จะประมูลขายทอดตลาดว่าสามารถจดทะเบียนได้หรือไม่ โดยหากกรมการขนส่งทางบกพบว่ารถคันใดมีปัญหาในการที่จะนำไปจดทะเบียน ขอให้กรมการขนส่งทางบกแจ้งให้จำเลยทราบพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดภายในวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ต่อมากรมการขนส่งทางบกได้แจ้งผลการตรวจสอบรถยนต์ที่จะประมูลดังกล่าวตามหนังสือของกรมการขนส่งทางบก ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวกรมการขนส่งทางบกได้ส่งผลการตรวจสอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลางที่จะประมูลขายทอดตลาด 343 คัน โดยแบ่งออกเป็น 1. รายการรถที่สามารถจดทะเบียนได้ 3 คัน 2. รายการรถที่ไม่สามารถจดทะเบียนได้ 1 คัน 3. รายการรถที่มีการตรวจสอบพบว่ามีการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องรถยนต์ไว้ จึงไม่สามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของรถได้ 70 คัน และ 4. รายการรถที่ตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูลใด ๆ จึงไม่สามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของรถได้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรถยนต์ของกลางอยู่ในรายการที่ 3 คือตรวจสอบพบว่ามีการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ไว้ จึงไม่สามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของรถได้ แสดงให้เห็นว่า กรมการขนส่งทางบกเองก็มิได้ยืนยันว่ารถยนต์ของกลางสามารถจดทะเบียนได้ดังเช่นรถในรายการที่ 1 การที่จำเลยอ้างตามฎีกาว่า กฎกระทรวงงดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พ.ศ. 2556 ระบุไว้เพียงแค่ชิ้นส่วนที่เป็นตัวถังรถ โครงคัสซี หรือ แชสซี (Chassis) รถหรือโครงรถจักรยานยนต์เท่านั้น มิได้ระบุส่วนของเครื่องยนต์อันเป็นชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่จะนำมาประกอบการงดรับจดทะเบียนตามข้อ 1 ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว รถยนต์ของกลางมีการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ มิได้มีการส่งบัญชีตัวถังรถ โครงคัสซีรถและโครงรถจักรยานยนต์ ดังนั้น รถยนต์ของกลางจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของกฎกระทรวงงดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พ.ศ. 2556 และคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่าสินค้าที่นำเข้ามาโดยไม่มีใบอนุญาตซึ่งถูกริบตกเป็นของแผ่นดิน ไม่ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากได้ตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว ถ้าจำเลยนำสินค้าดังกล่าวออกขายทอดตลาด ผู้ซื้อไปจากการขายทอดตลาดไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าอีกเพราะมิได้เป็นผู้นำเข้า การที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางขายทอดตลาดและออกเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนจึงเป็นการกระทำภายใต้ความเชื่อโดยสุจริตว่ารถยนต์ของกลางสามารถนำไปจดทะเบียนได้นั้น จึงเป็นเพียงความเห็นของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว เมื่อจำเลยทราบอยู่แล้วว่ารถยนต์ของกลางยังไม่ได้รับการยืนยันจากกรมการขนส่งทางบกว่าจดทะเบียนได้หรือไม่ แต่กลับนำออกขายทอดตลาด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งให้ผู้เข้าประมูลรวมถึงโจทก์ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนการประมูล นอกจากนี้ เมื่อพิเคราะห์ประกาศส่วนกลาง สำนักสืบสวนและปราบปราม ที่ 5/2559 เรื่อง ประมูลขายทอดตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลาง วันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2559 และบัญชีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลางที่จะทำการขายทอดตลาดในวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ที่มีรายละเอียดของรถยนต์ของกลางแล้ว ได้ความจาก ว. พนักงานจำเลย เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ตามเอกสารดังกล่าวรถยนต์ของกลางมิได้มีการระบุในช่องหมายเหตุ 1 ว่า "ไม่ออกแบบที่ 32" ซึ่งหมายความว่ารถยนต์ของกลางสามารถจดทะเบียนได้ ย่อมทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลรวมทั้งโจทก์ที่อ่านประกาศดังกล่าวเข้าใจได้ว่ารถยนต์ของกลางสามารถจดทะเบียนได้ เมื่อต่อมารถยนต์ของกลางไม่สามารถจดทะเบียนได้ จึงถือได้ว่าจำเลยในฐานะผู้ขายไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่มีสภาพเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติตามวิสัยของการใช้ทรัพย์แก่โจทก์ในฐานะผู้ซื้อ เนื่องจากผู้ซื้อรถยนต์ย่อมต้องการใช้รถยนต์ที่สามารถจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15016/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทน (การให้บริการซอฟต์แวร์) ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย จำเลยมีหน้าที่ชำระเงินเมื่อได้รับบริการครบถ้วน
สัญญาการให้สิทธิและการบริการทั้งสองฉบับเป็นสัญญาที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการโรงแรมโดยจำเลยยินยอมจ่ายค่าตอบแทน ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งซึ่งมีผลผูกพันคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุที่ทรัพย์สินซึ่งซื้อขายชำรุดบกพร่องมาเป็นเหตุปฏิเสธไม่ชำระเงินแก่โจทก์ได้
สำหรับวัตถุประสงค์ของสัญญานั้นปรากฏข้อความในตอนต้นของสัญญาการให้สิทธิและการบริการทั้งสองฉบับว่า จำเลยประสงค์จะได้รับการจัดหา การติดตั้ง การบำรุงรักษา และสิทธิการใช้ระบบบริหารโรงแรมตามที่ระบุในภาคผนวก ก ซึ่งคือระบบซอฟต์แวร์ทั้งสี่ระบบ เมื่อโจทก์ได้จัดหา ติดตั้ง บำรุงรักษา และให้สิทธิจำเลยใช้ระบบซอฟต์แวร์ทั้งสี่ระบบตามสัญญาแล้ว ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตรงตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาการให้สิทธิและการบริการทั้งสองฉบับซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนในส่วนของตนแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาสัญญาให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขายสินค้าบกพร่องและการหักลดราคาจากความเสียหายหลังส่งมอบ
โจทก์ติดตั้งหลังคาเสร็จ พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบงานแล้วโดยเมื่อฝนตกไม่ปรากฏการรั่วซึม จึงลงลายมือชื่อรับมอบงาน แสดงว่าขณะจำเลยที่ 1 รับมอบงานความชำรุดบกพร่องยังมิได้เห็นประจักษ์ หากแต่มาปรากฏภายหลังจากมีการรับมอบสินค้าแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าที่เห็นความชำรุดบกพร่องประจักษ์โดยมิได้อิดเอื้อน เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดจากการติดตั้งสินค้าของโจทก์ เป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ถือเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ขณะส่งมอบสินค้า โจทก์ผู้ขายจึงต้องรับผิดแม้จะรู้หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และการที่บริษัทผู้ว่าจ้างปรับลดค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 ในส่วนหลังคาดังกล่าว ถือได้ว่าไม่ประสงค์ให้โจทก์เข้าไปแก้ไขความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นอีก จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจใช้สิทธิยึดหน่วงเงินราคาค่าสินค้าได้อีกต่อไป คงมีสิทธิหักทอนเป็นค่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากความชำรุดบกพร่องนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9345/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายเครื่องจักรเก่า ยอมรับสินค้าแล้วมีหน้าที่ชำระราคา แม้ภายหลังมีชำรุด การฟ้องแย้งเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม
เครื่องบรรจุเอกสารพิพาททั้งสามเป็นเครื่องเก่าที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว เป็นธรรมดาที่สมรรถนะของเครื่องไม่อาจเทียบได้กับเครื่องใหม่ การซื้อขายสินค้าจึงต้องพิจารณาจากข้อตกลงและพฤติการณ์ของคู่สัญญาเป็นกรณีไป ดังนั้น การปรับบทกฎหมายในเรื่องความรับผิดกรณีมีความชำรุดบกพร่องจึงต้องพิจารณาองค์ประกอบของกฎหมายในแต่ละมาตราประกอบกัน ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะมาตราหนึ่งมาตราใด จากข้อเท็จจริงเมื่อโจทก์ติดตั้งเครื่องบรรจุเอกสารแต่ละเครื่องเสร็จ โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาให้บริการกัน ต่อมามีการทำใบสั่งซื้อเครื่องบรรจุเอกสารทั้งสามเครื่อง แสดงว่าจำเลยยอมรับสินค้าของโจทก์ตามสภาพของสินค้าที่มีการติดตั้งแล้ว และขณะติดตั้งเครื่องบรรจุเอกสารไม่ได้ชำรุดบกพร่อง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าเครื่องบรรจุเอกสารจะอ้างความชำรุดบกพร่องอันไม่สามารถเห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบมาปฏิเสธไม่ชำระค่าสินค้าไม่ได้ เพราะไม่เป็นไปตามข้อตกลงแห่งสัญญา ส่วนภายหลังนั้นการใช้งานเครื่องบรรจุเอกสารมีความชำรุดบกพร่อง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยต้องว่ากล่าวกันตามข้อตกลงสัญญาให้บริการ มิใช่กรณีที่จำเลยจะอ้างเป็นเหตุไม่ชำระราคาค่าสินค้าได้
การพิจารณาว่าฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนใดเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมหรือไม่ เพียงใด จะต้องพิจารณาจากคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งฉบับเปรียบเทียบกับคำฟ้องของโจทก์ ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะตอนหนึ่งตอนใดเท่านั้น คำฟ้องโจทก์บรรยายสรุปว่า จำเลยสั่งซื้อเครื่องบรรจุเอกสารจากโจทก์ จำเลยได้รับสินค้าแล้ว เมื่อถึงกำหนดชำระราคาสินค้า จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินค้า จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งสรุปว่า การรับสินค้าของจำเลยเป็นการรับเพื่อทดลองใช้ เมื่อทดลองใช้แล้วสินค้ามีการชำรุดบกพร่อง จำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าและเรียกร้องค่าเสียหายนอกเหนือไปกว่าราคาที่ยึดหน่วงไว้ ดังนั้น คำขอในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคำขอที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าตามคำฟ้องของโจทก์นั่นเอง ฟ้องแย้งของจำเลยในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17093/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องสัญญาซื้อขาย: ผู้รับโอนสิทธิไม่มีอำนาจฟ้องแทนคู่สัญญาเดิม
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในฐานะจำเลยเป็นผู้ขาย อันเป็นการฟ้องให้รับผิดตามสัญญาซื้อขาย เมื่อโจทก์โอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ทำไว้กับจำเลยให้แก่ ข. ต่อมา ข. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาแล้ว ข. จึงเป็นคู่สัญญากับจำเลย โจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลย แม้โจทก์จะได้รับการให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ข. ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะให้ ไม่มีบทบัญญัติว่าผู้รับต้องรับสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ของผู้ให้ไปด้วย ซึ่งต่างจากกรณีทายาทรับมรดกที่จะเป็นผู้สืบสิทธิได้ สิทธิที่จะฟ้องบังคับให้รับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตามสัญญาซื้อขายเป็นบุคคลสิทธิบังคับได้ระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขายบ้านต่อความชำรุดบกพร่องที่ซ่อนเร้นและไม่สามารถตรวจพบได้ง่าย
การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้านเป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472
แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13923/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดหน่วงราคาและการยกเว้นการชำระหนี้เนื่องจากสินค้าชำรุด
จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ ต่อมาก่อนเช็คพิพาทถึงกำหนด จำเลยพบว่าสินค้าที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยตามใบสั่งซื้อ มีวาล์ว 10 ตัว จากจำนวนที่สั่งซื้อ 20 ตัว ชำรุดบกพร่องใช้การไม่ได้ ซึ่งโจทก์ในฐานะผู้ขายจะต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระไว้ได้ทั้งหมดหรือบางส่วนตามมาตรา 488 การที่จำเลยออกเช็คโดยจำนวนเงินตามเช็คเป็นการชำระค่าสินค้าทั้งหมดตามใบสั่งซื้อให้แก่โจทก์ แต่มีสินค้าบางส่วนชำรุดบกพร่อง อันมีเหตุให้จำเลยไม่ต้องชำระเงินเต็มตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในเช็คพิพาท จำเลยจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้ธนาคารห้ามการใช้เงิน ต่อมาเมื่อเช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามเช็คพิพาทจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5569/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้ซื้อในการยึดหน่วงราคาเมื่อทรัพย์สินชำรุด และขอบเขตการแก้ไขคำพิพากษาเรื่องค่าทนายความ
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารและส่งมอบทาวน์เฮ้าส์พิพาทคืนให้โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าออกไปจากทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ เป็นคดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง การวินิจฉัยข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247
โจทก์มอบอำนาจให้ ข. ทำสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น พร้อมที่ดินกับจำเลยในราคา 1,900,000 บาท จำเลยได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญาจำนวน 100,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 6 งวด โดยจำเลยได้เข้าอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวและจำเลยชำระเงินให้โจทก์เป็นเวลา 5 งวด เมื่อทาวน์เฮ้าส์ที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยมีความชำรุดบกพร่องหลายแห่ง จำเลยจึงมีสิทธิให้โจทก์แก้ไขความชำรุดบกพร่องและยึดหน่วงยังไม่ต้องชำระราคาค่าซื้อในงวดสุดท้ายได้ การที่จำเลยยังไม่ชำระราคาค่าซื้องวดสุดท้าย เพราะโจทก์ยังมิได้แก้ไขความชำรุดบกพร่องจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 และมาตรา 488

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66-67/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดหน่วงชำระราคาซื้อขายเนื่องจากทรัพย์สินชำรุด ผู้ซื้อมีสิทธิยึดหน่วงได้หากผู้ขายไม่ซ่อมแซม
บ้านที่จำเลยซื้อจากโจทก์ชำรุดบกพร่อง และโจทก์ไม่ได้ซ่อมแซมให้เรียบร้อย เมื่อเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ซื้อขาย ผู้ขายต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 ส่วนจำเลยผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 488 ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องโดยสุจริตไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านระหว่างบริษัทกับจำเลย และจำเลยสามารถไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าวได้นั้น เห็นว่าโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวและเป็นผู้กระทำแทนบริษัทตลอดมา ทั้งในขณะทำบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์ได้รับรองว่าจะซ่อมแซมความเสียหายทั้งหมดด้วยตนเอง แม้เช็คทั้งห้าฉบับจำเลยจะสั่งจ่ายชำระหนี้ตามบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง แต่ก็เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการวางเงินดาวน์ค่าที่ดินและบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้าน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบ้านที่ชำรุดบกพร่องโจทก์ไม่ซ่อมแซมให้เรียบร้อย จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงไม่ชำระราคาที่ดินและบ้านโดยไม่นำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4
of 8