คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 889

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 83 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1758/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัย: การคุ้มครองทุพพลภาพถาวรและการคืนเบี้ยประกันภัย
ข้อตกลงในสัญญาใดจะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงจะคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อพิจารณาใบสมัครเอาประกันภัยที่โจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ขอสมัครเอาประกันภัยไว้ทุกแผ่น จะเห็นได้ว่ามีข้อความที่อธิบายถึงความหมายของคำว่า ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวรไว้หลายที่ โดยเฉพาะในแผ่นที่ 2 จะมีข้อความที่อธิบายถึงความหมายของคำว่าทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวรพิมพ์อยู่เหนือบริเวณโจทก์ลงลายมือชื่อและโจทก์ไม่ได้ฎีกาคัดค้านว่าโจทก์ไม่ทราบข้อความดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่า โจทก์ทราบถึงเงื่อนไขความรับผิดของจำเลยในกรณีโจทก์ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพในระหว่างอายุสัญญาประกันชีวิตแล้ว หากโจทก์เห็นว่าข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยดังกล่าวทำให้เสียเปรียบเกินสมควรโจทก์ก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่เข้าทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยและเลือกทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัยที่โจทก์เห็นว่าข้อจำกัดความรับผิดของผู้รับประกันภัยเป็นประโยชน์แก่โจทก์สูงสุด โจทก์จึงไม่ได้ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหรือจำยอมก่อนที่จะเข้าทำสัญญาประกันภัยกับจำเลย เมื่อโจทก์สมัครใจเข้าทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยก็เท่ากับโจทก์ตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการจำกัดความรับผิดของจำเลยจากกรณีโจทก์ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพตามสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์การยกเว้นเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นสัญญาเพิ่มเติมที่โจทก์ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องชำระเบี้ยประกันภัย ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่จะตกเป็นโมฆะ
สัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์การยกเว้นเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกัน ให้คำจำกัดความของคำว่า ทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวร หมายถึง ทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพใด ๆ โดยไม่ขาดระยะเป็นอย่างน้อย 180 วัน และไม่มีทางหายเป็นปกติได้หรือกรณีดังต่อไปนี้ ตาบอดทั้งสองข้าง การตัดออกหรือการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานโดยสิ้นเชิงของมือหรือเท้าทั้งสองข้าง การตัดออกหรือการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานโดยสิ้นเชิงของมือข้างใดข้างหนึ่งและเท้าข้างใดข้างหนึ่ง ตาบอดข้างใดข้างหนึ่งและการตัดออกหรือการสูญเสียสมรรถภาพการทำงานโดยสิ้นเชิงของมือหรือเท้าข้างใดข้างหนึ่ง เมื่อได้ความตามใบรับรองแพทย์ ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2560 นายแพทย์ ว. แพทย์ผู้ทำการรักษาโจทก์บันทึกไว้ในใบรับรองแพทย์ว่า โจทก์ต้องพักฟื้นรักษาตัวมีกำหนดสามเดือน นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 หลังจากนั้น ยังต้องทำกายภาพบำบัดและรอเวลาใส่ขาเทียม อีก 3 ถึง 6 เดือน เห็นได้ว่าเป็นกรณีโจทก์ทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพใด ๆ โดยไม่ขาดระยะเป็นอย่างน้อย 180 วัน และไม่มีทางหายเป็นปกติได้ เข้าเงื่อนไขของการทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงและถาวรแล้ว โจทก์มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติมผลประโยชน์ยกเว้นเบี้ยประกันภัยของผู้เอาประกันภัย โดยได้รับยกเว้นการชำระเบี้ยประกันภัยคุ้มครองทุพพลภาพและเบี้ยประกันชีวิตที่ครบกำหนดชำระในระหว่างที่ทุพพลภาพถึงสิ้นสุดระยะเวลาประกันภัยอันจะมีผลให้กรมธรรม์ชีวิตที่สัญญาฉบับนี้ออกควบอยู่ ยังคงมีสิทธิเป็นกรมธรรม์ที่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยตามกำหนดทุกประการ เมื่อโจทก์เข้ารับการผ่าตัดตัดขาซ้ายออกระดับเหนือเข่าลงมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 นับแต่นั้นมาโจทก์ย่อมตกอยู่ในสภาพทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร ดังนั้น โจทก์จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเบี้ยประกันรายเดือน เดือนละ 2,015.20 บาท ตั้งแต่งวดเดือนธันวาคม 2560 จนครบกำหนดระยะเวลา 7 ปี นับแต่วันที่ 5 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสัญญาประกันภัย แม้โจทก์ไม่ได้มีคำขอส่วนนี้มาแต่เป็นกรณีที่จำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหายตามฟ้อง ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันภัยงวดเดือนธันวาคม 2560 ถึงงวดเดือนกรกฎาคม 2561 โดยวิธีหักจากบัญชีธนาคารเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 16,121.60 บาท จำเลยจึงต้องคืนค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวฐานลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ได้แจ้งการยกเว้นการชำระเบี้ยประกันภัยอันถือได้ว่าเป็นการทวงถามเบี้ยประกันที่โจทก์ชำระไปดังกล่าวคืนจากจำเลย แต่จำเลยไม่ชำระ จึงถือว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ทุจริตและตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะโจทก์ได้เตือนแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง และมาตรา 415

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาผู้เอาประกันภัยสำคัญกว่าข้อมูลในกรมธรรม์ หากไม่ตรงกัน กรมธรรม์ส่วนที่ระบุผู้รับประโยชน์เป็นทายาทตามกฎหมายจึงไม่ผูกพัน
ส. ทำคำขอเอาประกันภัยกรมธรรม์ประกันภัยพิพาท โดยมีเจตนาให้เฉพาะโจทก์ทั้งสองเท่านั้นเป็นผู้รับประโยชน์ มิได้มีเจตนาให้ทายาทตามกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์ด้วย การจ่ายเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวย่อมเป็นไปตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า ผู้เอาประกันภัยสามารถระบุชื่อผู้รับประโยชน์ได้ เมื่อผู้ได้รับความคุ้มครองเสียชีวิตบริษัทจะจ่ายเงินผลประโยชน์ใด ๆ ภายใต้ข้อกำหนดกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามที่ระบุนั้น หากมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ บริษัทจะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้แก่กองมรดกของผู้ได้รับความคุ้มครอง เมื่อพิจารณาประกอบกับความตอนต้นแห่งกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุให้คำขอเอาประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันภัยแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ออกกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ ส. โดยระบุทายาทตามกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์นั้นไม่ตรงกับเจตนาของ ส. และไม่เป็นไปตามข้อสัญญาดังกล่าว กรมธรรม์ประกันภัยพิพาทส่วนที่ระบุทายาทตามกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์จึงไม่มีผลบังคับและไม่ผูกพัน กรมธรรม์ประกันภัยส่วนที่กำหนดผู้รับประโยชน์ย่อมต้องถือตามที่ระบุในคำขอเอาประกันภัยของ ส. จำเลยที่ 1 ต้องใช้เงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชมรมสงเคราะห์จ่ายเงินสงเคราะห์หลังสมาชิกเสียชีวิต เข้าข่ายประกอบธุรกิจประกันชีวิตโดยไม่ได้รับอนุญาต
การดำเนินกิจกรรมของชมรมเอื้ออาทรเกษตรกรอำนาจเจริญ สมาชิกจะต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกแก่ชมรมทุกปี เมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย ชมรมจะนำเงินค่าสมาชิกหมุนเวียนจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์โดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะของสมาชิกนั้น เป็นเหตุในอนาคตที่จะใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ตามที่สมาชิกนั้นกำหนดไว้ มิใช่เป็นการจ่ายเพื่อการสงเคราะห์ตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 แต่เป็นการดำเนินกิจการอันมีลักษณะทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 มาตรา 862 และมาตรา 889 ซึ่งมิได้จัดตั้งขึ้นในรูปบริษัทมหาชนจำกัด จึงไม่อาจที่จะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตาม พ.ร.บ.การประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7
จำเลยทั้งสี่ร่วมกันดำเนินกิจการชมรมในการทำการเป็นผู้รับประกันชีวิตโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบรรดาสมาชิกทั้งหลายด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำชักชวนหาสมาชิก เป็นการร่วมกันทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลใด ๆ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นความผิดตามมาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำสัญญาประกันชีวิตใหม่โดยความยินยอมของผู้เอาประกัน การกระทำไม่เข้าข่ายฉ้อฉล
ข้อที่โจทก์แก้ฎีกาอ้างมาเป็นเหตุผลบางประการที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาประกอบคำวินิจฉัยให้เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ฉ้อฉลหลอกลวงในประเด็นว่าจำเลยทั้งสามใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ให้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตตามฟ้องหรือไม่ แม้ฎีกาของจำเลยที่ 1 จะไม่ได้โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์นำพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาวินิจฉัยดังกล่าวโดยตรงก็ตาม แต่เมื่ออ่านฎีกาของจำเลยที่ 1 ทั้งฉบับแล้ว ก็เห็นได้ว่าเนื้อหาของฎีกาเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องและมีรายละเอียดแสดงเหตุผลว่าที่ถูกควรเป็นเช่นไร ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงชัดแจ้งชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง)
พฤติการณ์ของโจทก์บ่งชี้ให้เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการยื่นคำขอให้โจทก์ การที่จำเลยที่ 3 ดำเนินการดังกล่าว และการที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 3 และร่วมกับจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับการประกันชีวิตให้โจทก์มาก่อนลงลายมือชื่อเป็นตัวแทนในใบคำขอเอาประกันชีวิตของโจทก์และเอกสารที่เกี่ยวข้องยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฉ้อฉลโจทก์ให้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องเงินประกันชีวิตเมื่อผู้รับประโยชน์และผู้เอาประกันเสียชีวิตพร้อมกัน สิทธิมิได้ตกแก่กองมรดกผู้รับประโยชน์
โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. การที่ ส. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยโดยระบุให้ ท. เป็นผู้รับประโยชน์เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. และ ท. ต่างถึงแก่ความตายซึ่งไม่ว่า ท. จะถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ส. ท. ก็ถึงแก่ความตายเช่นเดียวกัน เมื่อ ท. ผู้รับประโยชน์ถึงแก่ความตายจึงไม่อาจเข้ารับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ได้ ดังนั้นจึงไม่อาจถือว่า ท. จะได้รับประโยชน์จากการจ่ายเงินตามเงื่อนไขของกรมธรรม์และไม่ถือว่าเงินตามกรมธรรม์ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่ ท. ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์นั้นตกเป็นของกองมรดก ท. กรณีต้องถือว่า ท. ผู้รับประโยชน์ไม่อาจเข้าถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตของ ส. ดังนั้นประโยชน์ที่จะได้รับจากสัญญาประกันชีวิตจึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกซึ่งผู้จัดการมรดกของ ส. หรือทายาทโดยธรรมจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. เมื่อโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการมรดกของ ท. จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของ ส. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18403/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลบังคับใช้สัญญาประกันชีวิตเริ่มนับจากวันที่สาขาประกันภัยได้รับคำขอและเงิน หากไม่ปฏิเสธภายใน 30 วัน
สำเนาใบรับเงินชั่วคราวระบุข้อความเกี่ยวกับการรับประกันชีวิตว่า "การชำระเงินตามใบรับเงินชั่วคราวฉบับนี้พร้อมกับใบคำขอเอาประกันภัย... บริษัทจะพิจารณาออกกรมธรรม์... ให้ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการได้รับใบคำขอเอาประกันภัยหรือคำร้องขอและได้รับเงินแล้ว หากบริษัทมิได้ออกกรมธรรม์...ให้ภายในเวลาที่กำหนด หรือปฏิเสธการขอเอาประกันภัยหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภัย ให้ถือว่าบริษัทตกลงรับสัญญาหรือคำร้องขอซึ่งบริษัทใช้อยู่ในกิจการหลังสุด โดยให้เริ่มมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันสิ้นระยะเวลา 30 วัน ดังกล่าวข้างต้น" แม้จำเลยจะนำสืบระเบียบการประกันชีวิตที่ รบ.2-137/2542 ประกอบคู่มือการตรวจใบคำขอเอาประกันภัยว่า สำนักงานสาขาของจำเลยไม่มีอำนาจในการพิจารณาแบบประกันชีวิตของผู้ตายและสำนักงานสาขาของจำเลยต้องส่งให้สำนักงานใหญ่พิจารณาอนุมัติและออกกรมธรรม์ก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นเรื่องการบริหารภายในระหว่างสำนักงานสาขากับสำนักงานใหญ่ของจำเลยเท่านั้น จำเลยไม่อาจยกขึ้นเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น ระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันจึงต้องเริ่มนับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานสาขาของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกัน สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2545 จำเลยจะต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว คือภายในวันที่ 30 กันยายน 2545 แม้จำเลยจะมีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2545 แจ้งผู้ตายว่า ขณะนี้การทำประกันชีวิตของผู้ตายอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาดำเนินการของบริษัท ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะแจ้งผลให้ผู้ตายทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้ตายได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 27 กันยายน 2545 อันเป็นเวลาภายในกำหนด 30 วัน ก็ตาม แต่ข้อความในหนังสือดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการปฏิเสธการขอเอาประกันหรือการแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกัน ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยได้ปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันให้ผู้ตายทราบภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน สัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงมีผลใช้บังคับเมื่อสิ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตาย คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 0.01 นาฬิกา เป็นต้นไป การที่จำเลยมีหนังสือต่อมาอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ปฏิเสธการรับประกันและคืนเงินค่าเบี้ยประกันไปยังผู้ตาย อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากวันที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้วย่อมไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วสิ้นผลไปได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุจมน้ำตายในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 23 นาฬิกา ภายในระยะเวลาที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงิน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในทางการจ้างและการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากผู้รับประกันภัย แม้มีการจ่ายค่ารักษาไปแล้ว
เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท ที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ชำระไป เป็นจำนวนเงินที่บริษัททั้งสองพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตระหว่างบริษัททั้งสองกับโจทก์ โดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แม้ภัยที่โจทก์ประสบเกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 บริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยหาอาจรับช่วงสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ไม่ เพราะตามบทบัญญัติว่าด้วยการประกันชีวิตไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้รับประกันภัยที่จะเข้ารับช่วงสิทธิได้อย่างกรณีการประกันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 ดังนั้น แม้โจทก์ได้รับชดใช้เงินค่ารักษาพยาบาล 666,385 บาท จากบริษัททั้งสองผู้รับประกันภัยแล้วก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21074/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันสุขภาพไม่ใช่ประกันวินาศภัย ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิดได้
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า สัญญาประกันสุขภาพของโจทก์ไม่เป็นการประกันชีวิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แต่เป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง เมื่อบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ไป ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ได้จ่ายไปแทนจากจำเลยทั้งสามซ้ำซ้อนอีกนั้น ไม่ชอบเนื่องจากตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 5 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ บริษัท หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ และหมายความรวมถึง สาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 19 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า "ประกันชีวิต" หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน นอกจากบุคคลดังต่อไปนี้ (1) บริษัทและมาตรา ๓๓ บัญญัติว่า ห้ามมิให้บริษัทกระทำการดังต่อไปนี้ (1) ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ดังนั้น บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด จึงไม่อาจประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ การที่บริษัทดังกล่าวจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ จึงฟังได้ว่าเป็นการจ่ายตามข้อตกลงในสัญญาประกันสุขภาพอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิตซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับจากบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ตามสัญญา โดยไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยทั้งสามผู้ต้องรับผิดฐานละเมิด โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยทั้งสามได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6423-6424/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดทำระเบียบช่วยเหลือสมาชิกของสหกรณ์ เข้าข่ายประกอบธุรกิจประกันชีวิตโดยไม่ได้รับอนุญาต
พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มิได้นิยามคำว่าการประกอบธุรกิจประกันชีวิตไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะประกันภัยของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ การที่จำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และในกรณีเจ็บป่วยปีละไม่เกิน 5,000 บาท โดยสมาชิกต้องส่งเงินให้จำเลยเป็นรายปี ปีละ 12,000 บาท เป็นสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 ที่บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัย คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย การที่ระเบียบของจำเลยใช้คำว่าให้สมาชิกบริจาคเงินให้แก่จำเลย แต่ความหมายที่แท้จริงคือเงินที่สมาชิกจะต้องส่งให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นเงื่อนไขเพื่อให้จำเลยใช้เงินในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตตามที่ระบุไว้ในระเบียบเช่นเดียวกับการส่งเบี้ยประกันภัย แม้ตามระเบียบของจำเลยใช้คำว่าบริจาคแทนเงินเบี้ยประกันภัย ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่สมาชิกต้องส่งให้แก่จำเลยไม่เป็นเบี้ยประกันภัย โดยจำเลยมีฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ส่วนสมาชิกมีฐานะเป็นผู้เอาประกันภัย และสมาชิกหรือบุคคลที่สมาชิกระบุในกรณีถึงแก่ความตาย เป็นผู้รับประโยชน์ตาม มาตรา 862 และการที่ระเบียบกำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคล จึงเป็นการประกันชีวิตตาม มาตรา 889 เงินที่ได้รับจากสมาชิกตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 14 กำหนดว่า เมื่อสิ้นปีทางบัญชีหากมีเงินเหลือให้ถือว่าเงินจำนวนนั้นเป็นรายได้ของจำเลย หากปีใดเงินไม่เพียงพอ ให้ถือว่าเงินจำนวนที่ขาดเป็นรายจ่ายของจำเลยการที่จำเลยดำเนินการตามระเบียบโดยมีสมาชิกจำนวน 350 คน จึงเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิต แม้บุคคลที่จะเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเป็นสมาชิกหรือครอบครัวและพนักงานของจำเลยเท่านั้นก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำไม่เป็นการประกอบธุรกิจ เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรีโดยคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11711-11712/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินค่าสินไหมทดแทนจากประกันชีวิตที่ได้จากเงินผิดกฎหมาย เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ต้องตกเป็นของแผ่นดิน
เงินเบี้ยประกันชีวิตที่ ม. ผู้เอาประกันภัยส่งแก่ผู้คัดค้านที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำอันเป็นความผิดมูลฐาน แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 รับไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 4 โดยชอบแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงไม่อาจยกเอาความสำคัญผิดแหล่งที่มาเกี่ยวกับเบี้ยประกันชีวิตที่ได้รับชำระจาก ม. มาเป็นข้ออ้างอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันชีวิตระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 กับ ม. เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
เงินเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นเงินที่ ม. ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความหมายใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (เดิม) การนำเอาเงินไปชำระให้แก่บริษัท อ. และผู้คัดค้านที่ 4 เป็นค่าเบี้ยประกันภัย แล้วได้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาทมา เงินดังกล่าวย่อมเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์พิพาท จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เงินค่าสินไหมทดแทนและเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ตกเป็นของแผ่นดิน
แม้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง จะบัญญัติให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่คดีนี้ถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม แม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ศาลเห็นสมควรมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ถูกต้อง
of 9