คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 387

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 395 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 699/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายบ้านสร้างเสร็จ: หน้าที่ของผู้ขายและการบอกเลิกสัญญาเมื่อผิดนัด
แม้สัญญาจะซื้อจะขายจะไม่มีข้อตกลงว่าจำเลยจะสร้างบ้านให้แล้วเสร็จเมื่อใดก็ตาม แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทน และโจทก์ได้ชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยย่อมมีหน้าที่ปลูกสร้างบ้านและส่งมอบให้โจทก์ตามสัญญา ทั้งไม่ใช่ว่าจำเลยจะสร้างบ้านให้เสร็จเมื่อใดก็ได้แล้วแต่ความพอใจของจำเลย คดีนี้โจทก์ชำระเงินเฉพาะค่างวดให้จำเลยไปแล้ว 630,000 บาท โดยงวดหลังสุดชำระเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 แต่นับจากวันทำสัญญาคือวันที่ 15 มิถุนายน 2539 เป็นต้นมา กระทั่งโจทก์บอกเลิกสัญญา และจนถึงปัจจุบันจำเลยก็ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างบ้านให้โจทก์ โดยจำเลยไม่ได้ชี้แจงหรือโต้แย้งใดๆ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือว่าจำเลยผิดสัญญาและจำเลยไม่มีเจตนาชำระหนี้ให้โจทก์ จึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องให้โจทก์บอกกล่าวกำหนดเวลาให้จำเลยดำเนินการอีก ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายบ้านหลังผู้ขายไม่สร้างบ้านตามสัญญา แม้ไม่มีกำหนดเวลาชัดเจน
สัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้มีข้อตกลงว่าจำเลยจะสร้างบ้านให้แล้วเสร็จเมื่อใดทั้งโจทก์และนางสาว ส. ซึ่งลงชื่อเป็นพยานในสัญญาจะซื้อจะขายและเป็นผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยในโครงการเดียวกันกับโจทก์เบิกความเพียงว่า โครงการจะสร้างเสร็จภายในปลายปี 2540 จึงยังไม่พอถือได้ว่าสัญญาจะซื้อจะขายมีกำหนดเวลาสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ระบุว่าผู้จะขายจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้จะซื้อเมื่อผู้จะซื้อได้ชำระเงินดาวน์ให้ผู้จะขายครบถ้วน สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาไว้โดยปริยายนั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเป็นสัญญาต่างตอบแทน และโจทก์ได้ชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยย่อมมีหน้าที่สร้างบ้านและส่งมอบให้โจทก์ตามสัญญา และถึงแม้สัญญาดังกล่าวจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จไว้โดยชัดเจนก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจำเลยจะสร้างบ้านให้แล้วเสร็จเมื่อใดก็ได้แล้วแต่ความพอใจของจำเลย เมื่อโจทก์ชำระเงินตามงวดให้จำเลยไปแล้ว 220,300 บาท ทั้งได้มีหนังสือบอกกล่าวถึงจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาและชำระหนี้จนถึงวันที่โจทก์มีหนังสือขอให้บฏิบัติตามสัญญาและชำระหนี้ไปยังจำเลยครั้งสุดท้ายนับเป็นเวลา 5 ปีเศษ จำเลยยังไม่สามารถก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จเช่นนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งการบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการภายในกำหนด 15 วัน มิเช่นนั้นให้คืนเงินที่ชำระไปแล้ว พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นับจากเวลาดังกล่าว ในกรณีนี้ต้องนับว่าเป็นระยะเวลาอันสมควรแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8367/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าเนื่องจากผิดสัญญา และการฟ้องขับไล่ผู้เช่าหลังสัญญาสิ้นผลผูกพัน
การบอกเลิกสัญญาเช่าเพราะเหตุจำเลยต่อเติมอาคารที่เช่าและนำอาคารที่เช่าไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงอันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ทันทีตามสัญญา เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยแล้วสัญญาเช่าย่อมเป็นอันสิ้นผลผูกพัน จำเลยจึงต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารที่เช่าและส่งมอบอาคารดังกล่าวคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยภายในระยะเวลาที่โจทก์กำหนด แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลย ชำระค่าเช่าที่ค้างอีกภายหลังจากที่โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลย และจำเลยได้กระทำตามโดยได้ชำระค่าเช่า ที่ค้างภายในกำหนดเวลา หามีผลทำให้สัญญาเช่าซึ่งสิ้นผลผูกพันไปแล้วกลับมีผลผูกพันขึ้นมาใหม่ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7406/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิก ผลคือจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการขายรถยนต์ของโจทก์
โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อแต่จำเลยก็รับไว้ แสดงว่าจำเลยมิได้ยึดถือเอาข้อสัญญาเช่าซื้อที่ว่า หากโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวเป็นสาระสำคัญ โดยจำเลยยังถือว่าสัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับต่อไปจึงรับค่าเช่าซื้อไว้ ดังนั้น หากจำเลยมีความประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์โดยให้ระยะเวลาแก่โจทก์พอสมควร เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ เพราะหวังเพียงได้รับค่าดอกเบี้ยที่ชำระค่าเช่าซื้อล่าช้าและเบี้ยปรับ และการที่พนักงานของจำเลยไปยึดรถยนต์บรรทุกพิพาทคืน โจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านมิได้ยินยอมด้วยโดยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันและมีผลบังคับกันต่อไป โจทก์ผู้เช่าซื้อชอบที่จะครอบครองรถยนต์บรรทุกพิพาทต่อไป และจำเลยต้องส่งมอบรถยนต์บรรทุกดังกล่าวคืนโจทก์ แต่จำเลยได้ขายรถยนต์บรรทุกดังกล่าวให้แก่ ส. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว จึงเป็นการพ้นวิสัยที่จะนำรถยนต์บรรทุกพิพาทกลับมาคืนโจทก์ เพราะพฤติการณ์ที่จำเลยต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 218 วรรคแรก และการครอบครองรถยนต์บรรทุกพิพาทของโจทก์เป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ยังมิได้เลิกกัน การใช้รถยนต์บรรทุกพิพาทของโจทก์จึงไม่อาจคิดเป็นค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยและนำไปหักกลบลบหนี้กับค่าเช่าซื้อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2677/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การบอกเลิกสัญญาต้องเป็นไปตามกฎหมายและเจตนาของคู่สัญญา การชำระหนี้ล่าช้าไม่ถือเป็นการผิดนัดหากคู่สัญญามิได้ถือเป็นสาระสำคัญ
การบอกเลิกสัญญาจำเลยจะต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 คือ จำเลยจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในกำหนดเวลานั้น ถ้าโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ จึงจะถือว่าโจทก์ผิดนัดและจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กำหนดเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาแม้สัญญาเช่าซื้อจะมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที โดยไม่คำนึงว่าจำเลยเคยผ่อนผันการผิดสัญญาเช่นนั้นมาก่อนก็ตาม แต่การผ่อนผันการผิดสัญญาตามข้อสัญญาดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่จำเลยได้แสดงเจตนาผ่อนผันการผิดสัญญาครั้งก่อนๆ โดยมิได้ยินยอมให้มีการผิดสัญญาในครั้งต่อๆ ไปได้ด้วย แต่การที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันตลอดมาโดยไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อที่กำหนดไว้ตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จึงหาใช่กรณีที่จำเลยยอมผ่อนผันการผิดสัญญาให้แก่โจทก์ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิที่จะยึดรถที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ การที่จำเลยไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์โดยไม่มีสิทธิ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่กำหนด แต่จำเลยก็ยินยอมรับค่าเช่าซื้อตลอดมา โดยมิได้เรียกร้องค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการชำระล่าช้า จนถือได้ว่าคู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาดังกล่าว จึงไม่ถือว่าโจทก์ทำผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิจะคิดค่าปรับในกรณีชำระหนี้ล่าช้าจากโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9307/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างทำของ การเลิกสัญญาโดยปริยาย การคิดค่าจ้างตามผลงาน และสิทธิในการรับค่าจ้าง
โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยขุดร่องและทำคันดินรอบที่ดินของโจทก์ กำหนดค่าจ้างคิดเหมาจากจำนวนดินที่นำมาถมทำเป็นคันดินในราคาคิวละ 14 บาท ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 เมษายน 2540 จำเลยได้ถมดินให้โจทก์ 157,324 คิว เป็นเงิน 2,202,536 บาทโจทก์ได้จ่ายเงินให้จำเลยไปรวม 1,300,000 บาท หลังจากวันที่ 15 เมษายน 2540 โจทก์ยังยินยอมให้จำเลยเบิกเงินอีก 50,000 บาท ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2540 แสดงว่า โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาถือเอากำหนดเวลาในสัญญาเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่จำเลยไปพบโจทก์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2540 อ้างว่างานเรียบร้อยแล้วขอให้โจทก์ลงชื่อรับมอบงานแต่โจทก์โต้เถียงว่างานยังไม่เรียบร้อย ซึ่งหากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญา โจทก์จะต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยแก้ไขข้อบกพร่องเสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการภายในกำหนดโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาได้ แต่โจทก์มิได้บอกกล่าวเลิกสัญญา อย่างไรก็ตามการที่โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 บอกเลิกสัญญาและเรียกร้องเอาเงินค่าปรับจากจำเลย และไปว่าจ้างผู้อื่นให้มาไถและปรับแต่งที่ดินจนแล้วเสร็จเป็นเงิน 80,000 บาทจำเลยทราบเรื่องจึงไปแจ้งความไว้ถือว่าโจทก์จำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาโดยปริยายแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายย่อมกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โจทก์จึงต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานของจำเลยให้จำเลยตามมาตรา 391 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4087/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมางาน: โจทก์ต้องแจ้งให้จำเลยแก้ไขงานชำรุดก่อนบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ทำสัญญารับจ้างเหมางานก่อสร้างสถานีบริการและติดตั้งอุปกรณ์ตามฟ้องจากโจทก์ โดยจำเลยที่ 3 ทำหนังสือค้ำประกันความเสียหายให้แก่โจทก์ ต่อมามีเหตุชำรุดเสียหายแก่งานที่ก่อสร้างหลายรายการ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดตามหนังสือสัญญาจ้างดังกล่าว ข้อ 6 ซึ่งระบุว่าถ้ามีความชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานที่ก่อสร้าง โจทก์มีอำนาจจ้างผู้อื่นแก้ไขซ่อมแซมงานได้ โดยมีเงื่อนไขว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างต้องมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างให้แก้ไขซ่อมแซมภายในเวลาที่กำหนดก่อนแล้วจำเลยที่ 1 ไม่แก้ไขซ่อมแซม เมื่อหนังสือที่โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 เป็นเพียงหนังสือแจ้งเกี่ยวกับการเก็บงานที่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้เรียบร้อยโดยเท้าความถึงเอกสารอื่น แม้จะระบุว่ามีความเสียหายเพิ่มเติมเกิดขึ้นอีกแต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่าเป็นความเสียหายส่วนไหนของงานก่อสร้างและหนังสือดังกล่าวแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์จะให้บริษัท ป. เข้าดำเนินการตรวจสอบ ซ่อมแซม รวมทั้งเก็บรายละเอียดงานก่อสร้างที่ยังบกพร่องอยู่ให้เรียบร้อยแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้นอีกทั้งโจทก์จะให้บริษัท ป. ดำเนินการซ่อมแซมแทนจำเลยที่ 1 ในงานก่อสร้างที่ตรวจพบความชำรุดบกพร่องทันทีและในส่วนที่อาจเกิดขึ้นอีกในภายหลัง โดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายอันเป็นกรณีตามสัญญาข้ออื่น โจทก์ไม่อาจนำเงื่อนไขในสัญญาจ้าง ข้อ 6 มาใช้กับข้อสัญญาข้ออื่นได้ หนังสือที่โจทก์แจ้งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างข้ออื่น ไม่ใช่หนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขซ่อมแซมความชำรุดเสียหายงานก่อสร้างภายในเวลาที่กำหนดตามเงื่อนไขในสัญญาจ้าง ข้อ 6 เท่ากับว่าโจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันก็ไม่ต้องรับผิดด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้ฎีกา แต่หนี้อันเกิดจากการค้ำประกันเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 3 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่าบริการโทรศัพท์: สิทธิเรียกร้องเกิดขึ้นเมื่อใช้บริการ, หากเกิน 2 ปี คดีขาดอายุความ
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการให้จำเลยชำระค่าเช่าให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าเป็นหนี้อันเกิดจากการใช้สินค้าและบริการของผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการซึ่งหากมิได้กำหนดเวลาการชำระหนี้ไว้ชัดเจน ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 เมื่อปรากฏว่าสัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนเพื่อให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บริการโทรศัพท์ แม้ในเงื่อนไขของสัญญาดังกล่าวจะระบุให้จำเลยผู้ใช้บริการนำเงินค่าใช้บริการไปชำระให้แก่โจทก์ผู้ให้บริการภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ข้อความดังกล่าวก็เป็นเพียงเงื่อนไขของการบอกกล่าวเพื่อให้ชำระหนี้ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เท่านั้น ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าใช้บริการจึงเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยได้ใช้บริการโทรศัพท์ของโจทก์ในแต่ละครั้ง เมื่อปรากฏตามใบแจ้งหนี้ว่าช่วงระยะเวลาที่จำเลยใช้บริการโทรศัพท์จนถึงวันฟ้องเกินกว่า 2 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3602/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระ อายุความ 2 ปี: สิทธิเรียกร้องค่าบริการโทรศัพท์ขาดอายุความเมื่อเกิน 2 ปีนับจากใช้บริการ
สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้อันเกิดจากการใช้สินค้าและบริการของผู้ประกอบการค้าหรือผู้ให้บริการ มิได้กำหนดเวลาการชำระหนี้ไว้ชัดเจน ถือได้ว่าเป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203
สัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างโจทก์จำเลย ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนเพื่อให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บริการโทรศัพท์ แม้ตามเงื่อนไขของสัญญาดังกล่าวระบุให้ผู้ใช้บริการนำเงินค่าใช้บริการไปชำระให้แก่ผู้ให้บริการภายในระยะเวลาที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้ ก็เป็นเพียงเงื่อนไขของการบอกกล่าวเพื่อให้ชำระหนี้ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เท่านั้น ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าใช้บริการจึงเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยได้ใช้บริการโทรศัพท์ของโจทก์ในแต่ละครั้ง เมื่อช่วงระยะเวลาที่จำเลยใช้บริการโทรศัพท์จนถึงวันฟ้องเกินกว่า2 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2575/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดรถยนต์หลังผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ: โจทก์ผิดสัญญาเมื่อไม่บอกกล่าวให้ชำระหนี้ก่อนยึดรถ
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะระบุว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อไม่ว่างวดหนึ่งงวดใด ให้เจ้าของมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้โดยทันที และยินยอมให้เจ้าของทำการยึด และเข้าครอบครองรถยนต์นั้นก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาตั้งแต่งวดที่ 2 ถึงที่ 8 ซึ่งโจทก์ก็ยินยอมรับไว้ แม้โจทก์จะคิดค่าปรับแก่จำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อทุกงวดที่ล่าช้าก็ตาม แต่หลังจากโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว โจทก์ยังยินยอมรับเงินค่าเช่าซื้องวดที่ 7 และ ที่ 8 พร้อมค่าปรับ พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์แสดงว่าโจทก์มิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาชำระค่าเช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวเป็นสาระสำคัญอีกต่อไป ดังนี้หากโจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาก็จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ทั้งก่อนที่โจทก์จะไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนก็ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ จากนั้นจำเลยที่ 1 ไปติดต่อขอรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน แสดงว่าจำเลยที่ 1 โต้แย้งการยึดนั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระงวดที่ 9 ภายในกำหนดระยะเวลาพอสมควรดังบทบัญญัติดังกล่าว การที่โจทก์ไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเพราะเหตุดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ก็โต้แย้งการยึด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิเลิกสัญญาได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อแทนค่าปรับที่ได้รับไว้แก่จำเลยที่ 1
of 40