คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 387

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 395 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาซื้อขายและการคืนเงินเมื่อผู้ซื้อผิดนัดชำระหนี้ ศาลพิจารณาความเสียหายและคิดดอกเบี้ย
จำเลยสร้างตึกแถวที่จะขายให้โจทก์เสร็จพร้อมที่จะโอนตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2539 โจทก์ย่อมมีหน้าที่รับโอนและชำระราคาส่วนที่เหลืออีก 2,000,000 บาท แก่จำเลย แต่โจทก์ไม่ชำระแม้ในช่วงเวลานั้นต่างมิได้ถือเอาเงื่อนไขในการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ เนื่องจากจำเลยกำลังบอกขายตึกแถวพร้อมที่ดินให้แก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์ของโจทก์ แต่ไม่เป็นการแน่นอนว่าจะสำเร็จได้ โจทก์ย่อมมีเวลาเพียงพอในการเตรียมเงินชำระให้แก่จำเลยการที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระเงินที่ค้างชำระแก่จำเลยภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ อันเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยปลูกสร้างตึกแถวแล้วเสร็จเกือบ 1 ปี จึงเป็นการบอกกล่าวให้เวลาอันสมควรแล้ว เมื่อหนังสือดังกล่าวมีข้อความแสดงเจตนาเลิกสัญญา และโจทก์ไม่ชำระเงินภายในเวลากำหนดสัญญาจะซื้อจะขายย่อมเป็นอันเลิกกันเมื่อล่วงพ้น 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือทวงถามนั้น แต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยมีหน้าที่คืนเงิน 1,200,000 บาท ที่รับไว้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
โจทก์ชำระเงินดาวน์ 300,000 บาท อันเป็นส่วนหนึ่งของเงินจำนวน1,200,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญา โดยมิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงต้องถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ชำระล่วงหน้า มิใช่มัดจำที่จำเลยจะริบได้ เมื่อจำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือแล้วโจทก์เพิกเฉย โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง จำเลยมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดได้ตามมาตรา 215 การที่จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องคืนเงินล่วงหน้า 1,200,000 บาท ให้แก่โจทก์จนครบจำนวน เนื่องจากจำเลยได้รับความเสียหาย เพราะเหตุที่โจทก์ผิดนัดและต้องรับภาระดอกเบี้ยที่กู้ยืมเงินจากธนาคารมาลงทุนปลูกสร้างอาคารพอแปลได้ว่าจำเลยเรียกเอาเงิน 1,200,000 บาท นั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้
การที่โจทก์ไม่ชำระเงิน 2,000,000 บาทให้แก่จำเลยเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารสำหรับจำนวนเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี แต่ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบโจทก์จึงมิได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นถึงความเสียหายเช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้ว จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์รับผิดไม่ได้ อย่างไรก็ดีการที่โจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่จำเลยย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายดังนั้น แม้จำเลยจะนำสืบถึงค่าเสียหายไม่ได้ ศาลก็มีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีโดยเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบกับความสุจริตในการดำเนินคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9571/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ การกำหนดระยะเวลาบอกกล่าว และการคิดดอกเบี้ยเกินอัตรา
สิทธิการบอกเลิกสัญญาและวิธีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยให้สิทธิแก่ผู้เช่าซื้อตามมาตรา 573 และให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าซื้อตามมาตรา 574 ไม่ใช่กรณีไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีตามมาตรา 4 จึงไม่อาจนำวิธีการบอกเลิกสัญญาเช่าในกฎหมายลักษณะเช่าทรัพย์ตามมาตรา 560 มาใช้บังคับในการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้
สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับผู้ซื้อมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าสัญญาเลิกกันทันที ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขการเลิกสัญญาเช่าซื้อแตกต่างจากบทบัญญัติของกฎหมาย แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงใช้บังคับได้เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อโจทก์ใช้วิธีแสดงเจตนามีหนังสือทวงถามไปยังผู้เช่าซื้อให้ชำระหนี้ก่อน หากไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดให้ถือเอาหนังสือนั้นเป็นการบอกเลิกสัญญาจึงบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 387 ได้ เมื่อโจทก์มีหนังสือไปยังผู้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ภายใน 3 วัน หากไม่ชำระขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ระยะเวลา 3 วันที่โจทก์กำหนดให้ผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่จำนวน 29,810 บาทนั้น นับว่าเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว โจทก์ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 387 แล้ว เมื่อผู้เช่าซื้อไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย
แม้จำเลยมิได้ยกข้อต่อสู้มาตั้งแต่ในศาลชั้นต้นว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ30 ต่อปี รวมไว้ในสัญญาเช่าซื้อและค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระซึ่งเป็นอัตราอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสองได้ ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ได้โดยวินิจฉัยว่าตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ เป็นการห้ามเรียกดอกเบี้ยเฉพาะแต่การกู้ยืมเงินเท่านั้น ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่การเช่าซื้อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9223/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญา, การบอกเลิกสัญญา, และการคิดดอกเบี้ยทบต้น: หลักเกณฑ์ตามกฎหมายและสัญญา
ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้ผู้กู้ต้องชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันที่สิ้นสุดของเดือน หากผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยก็มีข้อกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้ผู้ให้กู้มีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินเดิมเป็นต้นเงินใหม่ได้ทันที แต่มิได้ให้สิทธิผู้ให้กู้ที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ดังนี้ เมื่อสัญญายังไม่เลิก ผู้ให้กู้จึงจะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดโดยอ้างเหตุผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยหาได้ไม่
ผู้ให้กู้บอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปยังผู้กู้กำหนดให้ชำระหนี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และผู้กู้ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 เดือนเดียวกัน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเลิกกันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แต่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกำหนดให้คิดดอกเบี้ยทบต้นทุกวันสิ้นเดือนเป็นรายเดือน ดังนั้น ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 ซึ่งเป็นวันที่สัญญาเลิกกันยังไม่ถึง 1 เดือน ตามสัญญาและประเพณีที่โจทก์จะคิดดอกเบี้ยทบต้น โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ คิดได้แต่เพียงดอกเบี้ยไม่ทบต้น
เมื่อสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครบกำหนด แต่ยังมีการเดินบัญชีตลอดมา สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงยังมีผลอยู่ โดยไม่มีกำหนดเวลา การที่ผู้ให้กู้เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้กู้ชำระหนี้โดยผู้กู้มิได้ผิดสัญญา จึงเป็นกรณีที่ผู้ให้กู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ให้กู้ย่อมไม่มีสิทธิอ้างบันทึกข้อตกลงที่กำหนดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในกรณีผู้กู้ผิดสัญญาได้
สัญญารับชำระหนี้ที่ผู้กู้ทำให้ไว้แก่ผู้ให้กู้เพื่อเป็นหลักฐานในการรับจะชำระหนี้ มิใช่สัญญากู้ยืมระหว่างผู้ให้กู้กับผู้กู้ จึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร สัญญารับชำระหนี้ดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้
แม้สัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับจะมีผู้ค้ำประกันเกินกว่าหนึ่งคน แต่เป็นการร่วมกันค้ำประกันในภาระหนี้รายเดียวกัน การปิดอากรแสตมป์แต่ละฉบับเพียง 10 บาท จึงครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7144/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างที่ชอบธรรมและการมีสิทธิเรียกค่าปรับเมื่อผู้รับจ้างผิดสัญญา
โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยแล้ว แม้จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือตัวแทนของจำเลยมิได้เป็นผู้รับเอกสารนั้น การแสดงเจตนาแก่จำเลยผู้อยู่ห่างโดยระยะทางดังกล่าว ก็ถือว่าไปถึงผู้รับการแสดงเจตนาแล้ว ย่อมมีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนึ่ง อีกทั้งก่อนบอกเลิกสัญญา โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาหลายครั้ง การบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงชอบ ถือได้ว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงในวันที่หนังสือบอกเลิกสัญญาไปถึงจำเลย และเมื่อได้ความว่าโจทก์สงวนสิทธิในการเรียกค่าปรับไว้ก่อนบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5782/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเจรจาแก้ไขหนี้หลังผิดนัดชำระ
หลังจากโจทก์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยในงวดที่สองตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทแล้ว ก็ยังมีการร่วมประชุมเจรจาระหว่างโจทก์และจำเลยเพื่อหาทางปฏิบัติตามสัญญากันต่อไปพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยมิได้ถือเอาเงื่อนเวลาแห่งการชำระเงินค่าดอกเบี้ยงวดที่สองเป็นสาระสำคัญ ย่อมเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนไขเวลาโดยปริยายแล้ว หากจำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ จำเลยจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นหรือต้องรอให้ถึงกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ แต่จำเลยบอกเลิกสัญญาก่อนวันนัดโอนกรรมสิทธิ์โดยไม่กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ปฏิบัติการชำระหนี้จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โจทก์ยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยมีหน้าที่ต้องโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5358/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่สมบูรณ์ ผู้ขายผิดสัญญาเมื่อไม่ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์
สัญญาพิพาทเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และแม้ขณะทำสัญญาจำเลยจะยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ตามแต่กำหนดระยะเวลาส่งมอบที่ดินไว้ภายหลังจำเลยบรรลุนิติภาวะแล้วโดยมารดาจำเลยลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญา จึงไม่ตกเป็นโมฆะและใช้บังคับได้ ในสัญญาดังกล่าวแม้กำหนดวันส่งมอบที่ดินไว้แน่นอนในวันที่ 14 มกราคม 2534 แต่เนื่องจากที่ดินตามสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 6792 ซึ่งต้องมีการแบ่งแยกที่ดินก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญา แต่คู่สัญญาหาได้ตกลงไว้เป็นการแน่นอนในเรื่องดังกล่าวไม่ คงกล่าวไว้เพียงว่าผู้ขายได้ขายส่วนหนึ่งของโฉนดที่ดินเลขที่ 6792 เนื้อที่ดินประมาณ 20 ไร่ ตามผังที่กาเส้นสีแดงเท่านั้นจึงมิใช่กรณีกำหนดชำระหนี้กันไว้แน่นอนแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่มารับโอนที่ดินจะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาหาได้ไม่ ต่อมาเมื่อโจทก์มีหนังสือเตือนให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา แต่จำเลยไม่ไปตามกำหนด จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ หากโอนไม่ได้ก็ต้องคืนเงินค่าที่ดินให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายบ้าน: แผ่นพับโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา, จำเลยผิดสัญญาเมื่อก่อสร้างล่าช้า
แผ่นพับโฆษณาของจำเลยระบุว่าเริ่มก่อสร้างบ้านเดือนกันยายน2537 จะแล้วเสร็จปลายปี 2539 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้พบแผ่นพับโฆษณาดังกล่าว ได้พิจารณารูปแบบบ้าน ทำเลที่ดินและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ระบุไว้และใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจที่จะซื้อจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องก่อสร้างบ้านให้เสร็จภายในวันดังกล่าว เมื่อมิได้ก่อสร้างให้เสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2539 และได้ทำหนังสือถึงโจทก์ยืนยันว่าจะก่อสร้างให้เสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2539 แต่จำเลยก็ไม่เสร็จตามที่ขอขยายเวลาออกไป โจทก์ย่อมมีสิทธิไม่ชำระหนี้จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ตอบแทนโจทก์จึงไม่ผิดสัญญา การที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าได้ก่อสร้างบ้านเสร็จเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2540 ซึ่งพ้นกำหนดเวลาที่จำเลยขอขยายการก่อสร้างออกไป จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
การที่โจทก์นำสืบแผ่นพับโฆษณาเสนอขายบ้านพร้อมที่ดินของจำเลยที่กำหนดเวลาเริ่มก่อสร้างไว้และกำหนดเวลาแล้วเสร็จเพื่อจะอธิบายให้เห็นชัดในสัญญาจะซื้อจะขายว่ากำหนดเวลาสร้างแล้วเสร็จจะเป็นวันเวลาใด มิใช่เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 750/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดิน: ฝ่ายใดผิดสัญญาเมื่อไม่ปฏิบัติตามกำหนดเวลาโอนกรรมสิทธิ์
ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินข้อ 5 ระบุว่า "ทั้งสองได้ทำหนังสือสัญญากันเรียบร้อยแล้ว มีกำหนดเวลาปี 2537 พร้อมดอกเบี้ยไม่มี" จึงเห็นได้ว่ามิได้กำหนดวันและเดือนที่จะไปโอนที่ดินพิพาทไว้ในสัญญา เมื่อปรากฏว่าโจทก์จำเลยต่างได้ทวงถามให้อีกฝ่ายหนึ่งไปทำการโอนและรับโอนที่ดินพิพาทหลายครั้ง จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาโดยปริยายแต่ยังคงติดใจที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อกันต่อไปโดยมิได้มีเจตนาถือเอา กำหนดเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ให้ ม. ไปบอกจำเลยให้ไปรับโอนที่ดินในวันรุ่งขึ้น ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้กำหนดระยะเวลา พอสมควรแล้วบอกกล่าวให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินพิพาทที่เหลือตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิ บอกเลิกสัญญา ส่วนจำเลยได้กำหนดให้โจทก์โอนที่ดินพิพาทภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าวถือเป็นกำหนดระยะเวลา พอสมควรแล้ว เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือบอกกล่าวแต่โจทก์ไม่ปฏิบัติ ตามสัญญา โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำเสนอซื้อขาย/เช่า และการบอกเลิกสัญญา กรณีแหล่งเงินกู้ไม่อนุมัติ
แผ่นพับโฆษณาที่มีข้อความกล่าวถึงขนาด เนื้อที่อาคารราคาเซ้งต่อห้อง 20 ปี การผ่อนชำระเงิน วันจอง ทำสัญญา ผ่อนชำระชำระวันโอนสิทธิ การผ่อนชำระแก่สถาบันการเงินอัตราร้อยละ 11.5 ต่อปีซึ่งหากผู้ใดสนใจจะจองห้องเช่าที่ขนาดใดต้องติดต่อขอทำสัญญากับโจทก์นั้นเป็นการชวนเชิญให้จำเลยเป็นฝ่ายทำคำเสนอเท่านั้น ไม่ชัดเจนแน่นอนพอที่จะถือเป็นคำเสนอ
สัญญาจองห้องเช่าระหว่างโจทก์จำเลยระบุว่าหากจำเลยประสงค์ให้ติดต่อแหล่งเงินทุนเพื่อการกู้ยืมเงินชำระค่าเช่า จำเลยจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า จำเลยต้องไปพบเจ้าหน้าที่ของแหล่งเงินทุน และปฏิบัติตามข้อกำหนดของแหล่งเงินทุนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายในการกู้ยืม และจดทะเบียนต่าง ๆ เองทั้งสิ้น เป็นการอนุเคราะห์ให้ความสะดวกแก่จำเลย หากแหล่งเงินทุนไม่อนุมัติ จำเลยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญานี้ จะยกการไม่อนุมัติเงินกู้มาเป็นเหตุไม่ปฏิบัติตามสัญญาหาได้ไม่ โจทก์เป็นเพียงคนกลางติดต่อหาแหล่งเงินกู้ให้เท่านั้น มิใช่เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องติดต่อหาแหล่งเงินกู้ให้จำเลยจนได้รับอนุมัติให้กู้เงินได้ตามจำนวนที่กำหนด ดังนั้น เมื่อโจทก์ติดต่อให้จำเลยกู้เงินจากบริษัทเงินทุนแล้ว แต่จำเลยได้รับอนุมัติให้กู้เพียง1,200,000 บาท ยังขาดอยู่อีกประมาณ 500,000 บาท การที่จำเลยไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4900/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาก่อนฟ้องคดี: กรณีจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาเช่าที่ดินได้ และโจทก์มีคำขอให้คืนเงินมัดจำ
สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ผู้จะซื้อกับจำเลยผู้จะขายระบุให้ผู้ขายเป็นฝ่ายตกลงกับผู้เช่านาเอง หมายถึงว่าให้จำเลยจัดการให้ผู้เช่านาออกจากที่ดินพิพาทให้เรียบร้อยก่อนวันโอนกรรมสิทธิ์
พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ บัญญัติให้การจัดการให้ผู้เช่านาออกจากที่เช่าต้องปฏิบัติตามขั้นตอนในกฎหมายดังกล่าวให้ถูกต้องก่อน โดยผู้ให้เช่านาต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อผู้เช่านาพร้อมทั้งแสดงเหตุแห่งการบอกเลิกการเช่านาและส่งสำเนาหนังสือดังกล่าวต่อประธาน คชก. ตำบล และภายในเจ็ดวันนับแต่เมื่อได้รับสำเนาหนังสือตามวรรคหนึ่ง ให้ประธาน คชก. ตำบล หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคชก. ตำบล แจ้งให้ผู้เช่านาที่ถูกบอกเลิกการเช่านาทราบเพื่อคัดค้านการบอกเลิกการเช่านาต่อ คชก. ตำบล ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง การที่จำเลยและ ช. ไปลงบันทึกประจำวัน ช. เลิกทำนาในที่ดินพิพาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย สัญญาเช่านายังไม่เลิกกันเท่ากับจำเลยยังมิได้จัดการตกลงให้ผู้เช่านาออกจากที่ดินที่พิพาท
การที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่จดทะเบียนการซื้อขายให้เนื่องจากมีผู้เช่านาที่ดินพิพาท ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาต่อจำเลย แต่เมื่อจำเลยขอยกเลิกการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทแล้วโจทก์มิได้คัดค้าน และโจทก์มาฟ้องคดีอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาโดยไม่จัดให้ผู้เช่านาออกจากที่ดินพิพาท ซึ่งในสัญญามิได้ระบุว่าจำเลยต้องดำเนินการให้เสร็จเมื่อใด ทั้งโจทก์มิได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยปฏิบัติในเวลาอันสมควร แต่กลับฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาโดยโอนที่ดินแก่โจทก์ทันทีจนจำเลยไม่อาจปฏิบัติได้จำเลยจึงไม่ผิดสัญญาเช่นกัน
พฤติการณ์ที่จำเลยนัดโจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินโดยที่ยังมิได้ดำเนินการให้ผู้เช่านาออกไปจากที่ดินพิพาทและเมื่อโจทก์ไม่รับโอนจึงขอยกเลิกการจดทะเบียนซื้อขายกับการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยโอนที่ดินโดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังมิได้ให้เวลาจำเลยดำเนินการให้ผู้เช่านาออกไปจากที่ดินพิพาทก่อน โจทก์ย่อมรู้อยู่ว่าไม่สามารถทำได้แต่โจทก์มีคำขอว่าถ้าไม่สามารถโอนที่ดินได้ก็ให้คืนเงินมัดจำ เป็นพฤติการณ์ที่ถือว่าโจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายโดยมิได้มีฝ่ายใดผิดสัญญา โจทก์และจำเลยจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม
of 40