คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/30

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,106 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5783/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินคืนจากสัญญาซื้อขายที่ดิน: สัญญาซื้อขายและบันทึกข้อตกลงมีอายุความ 10 ปี
โจทก์ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากจำเลย มีบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าหากรังวัดที่แล้ว ปรากฏว่ามีเนื้อที่ไม่ครบถ้วนตามที่ระบุในโฉนดที่ดิน จำเลยยินยอมคืนเงินโจทก์ตามส่วนที่ดินซึ่งขาดไป เป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดิน โดยมีข้อตกลงการคืนเงิน ถ้าที่ดินไม่ครบถ้วน เมื่อรังวัดที่ดินแล้ว พบว่าที่ดินขาดหายไปบางส่วนจริง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเพื่อเรียกเงินราคาที่ดินบางส่วนคืน เป็นกรณีสืบเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาซื้อขายที่ดิน จะนำอายุความ 1 ปี ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 มาบังคับไม่ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับใช้อายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1460/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกจำเลยร่วมเพื่อไล่เบี้ยจากผู้ขนส่งหลายทอด และอายุความของสิทธิเรียกร้อง
คำร้องขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน หากตนเองต้องแพ้คดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) นั้น ไม่ใช่คำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) เพราะเป็นแต่คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยและให้เข้าร่วมรับผิดกับจำเลยต่อโจทก์ด้วยเท่านั้น จำเลยไม่ได้ขอบังคับให้จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้แก่จำเลยแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำร้องให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาในคดี ไม่เป็นฟ้องซ้อนนั้นชอบแล้ว
จำเลยและจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายของสินค้าที่ส่งต่อโจทก์ซี่งเป็นผู้ส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 618 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดกับจำเลยร่วมที่ 1 ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 คำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาในคดีเป็นการใช้สิทธิของจำเลยเพื่อไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 มิใช่เป็นคำฟ้องของโจทก์จึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่
การใช้สิทธิไล่เบี้ยระหว่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งเป็นผู้ขนส่งหลายทอดด้วยกันนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำร้องของจำเลยที่ให้เรียกจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 313/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าทดแทนทางแพ่งจากการเปิดใช้ทางจำเป็นบนที่ดิน และการพิสูจน์กรรมสิทธิ์หลังการเวนคืน
การเรียกร้องค่าทดแทนเป็นสิทธิของเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อชดเชยความเสียหายอันที่เกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสี่ โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนการใช้ที่ดินจากจำเลยเป็นคดีต่างหากได้ หากศาลในคดีก่อนวินิจฉัยชี้ขาดให้จำเลยได้สิทธิทางจำเป็นบนที่ดินของโจทก์ทั้งสาม โดยโจทก์ทั้งสามไม่จำต้องฟ้องแย้งเรียกค่าทดแทนมาในคำให้การ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของคู่ความว่า มีการบังคับคดีเปิดทางจำเป็นตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 โจทก์ทั้งสามจึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นบนที่ดินของโจทก์ทั้งสามนับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2555 อายุความสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในเรื่องอายุความใช้ค่าทดแทนในการเปิดทางจำเป็นไว้ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลานับแต่วันที่มีการเปิดใช้ทางจำเป็นจนถึงวันที่โจทก์ทั้งสามฟ้องเรียกค่าทดแทนในคดีนี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกค่าทดแทนของโจทก์ทั้งสามจึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4557/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับสภาพหนี้ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขาดอายุความ ยึดโฉนดได้
โจทก์ฟ้องโดยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือมาแสดง แต่โจทก์มีหนังสือรับสภาพหนี้มีใจความว่าผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ โดยนำโฉนดที่ดินมาให้ยึดถือไว้เป็นประกัน และจำเลยในฐานะทายาทของผู้ตายรับจะชดใช้เงินแก่โจทก์ กับมีลายมือชื่อของจำเลยในสัญญา และโจทก์มี ส. บุตรของโจทก์และในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์และเป็นพยานลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้มาเบิกความยืนยันว่า ผู้ตายซึ่งเป็นบิดาของจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จริงและมารดาพยานซึ่งเป็นพี่ของผู้ตายต้องการช่วยน้อง จึงให้นำโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกัน มีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้ ต่อมาเมื่อจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ โจทก์ได้คืนสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลย โจทก์และ ส. เป็นญาติของจำเลย เชื่อว่า ส. เบิกความไปตามความจริงที่ได้รู้เห็นมา อันเป็นการนำสืบถึงความเป็นมาของมูลหนี้เดิมและหลักทรัพย์ที่นำมาเป็นประกันประกอบกับโจทก์มีโฉนดที่ดินของผู้ตายอยู่ในครอบครอง จึงฟังได้ว่าผู้ตายกู้ยืมเงินโจทก์โดยมีการทำสัญญากู้ยืมเงินกันไว้จริง และมีการคืนให้จำเลยเมื่อมีการทำหนังสือรับสภาพหนี้
การที่ ง. โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยทราบว่าผู้ตายเป็นหนี้โจทก์ให้จำเลยไปลงชื่อรับชำระหนี้ มิฉะนั้นจะเอาตำรวจมาจับและต้องติดคุก แสดงว่า ง. ได้แจ้งข้อเท็จจริงในหนังสือให้จำเลยทราบแล้วก่อนที่จะมีการทำหนังสือดังกล่าวขึ้น ส่วนถ้อยคำที่ว่า "ให้จำเลยไปลงชื่อรับชำระหนี้มิเช่นนั้นจะเอาตำรวจมาจับจะต้องติดคุก" นั้น จากพฤติการณ์ที่ผู้ตายเสียชีวิตและยังไม่มีผู้ใดชำระหนี้ การที่ ง. พูดขู่จำเลยดังกล่าว และจำเลยยอมลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับผิดจะใช้เงินที่กู้คืนแก่โจทก์ เป็นกรณีที่ ง. ทำไปโดยเชื่อว่าตนมีสิทธิทำได้ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม หาใช่เป็นการหลอกลวงข่มขู่อันจะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆียะไม่ หนังสือรับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 165 วรรคหนึ่ง และมาตรา 166
ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2556 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 เมื่อการทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยต่อโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้อายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์ไม่ต้องห้ามฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม และต้องเริ่มต้นนับอายุความใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้เดิมนับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความของการกู้ยืมเงินไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเองเพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 และมาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ภายในกำหนด 10 ปี ดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
การทำหนังสือรับสภาพหนี้ของจำเลยมีข้อตกลงระบุให้โจทก์มีสิทธิยึดโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันอันเป็นข้อตกลงที่คู่สัญญาสมัครใจทำต่อกัน ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงมีสิทธิยึดโฉนดที่ดินอันเป็นทรัพย์ที่นำมาประกันไว้จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ตามสัญญา จำเลยไม่มีสิทธิขอโฉนดที่ดินคืนจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4370/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทเรื่องค่าบำเหน็จตัวแทนประกันชีวิต, อายุความ, และดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายใหม่
กรณีที่จะเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 ต้องเป็นการที่บุคคลใดได้ทรัพย์สิ่งใดมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่งเสียเปรียบ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่รับไปแก่โจทก์เนื่องจากมีการยกเลิกกรมธรรม์และบอกล้างกรมธรรม์แก่ผู้เอาประกัน ซึ่งเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากโจทก์ไปเป็นการรับไว้ในฐานะตัวแทนประกันชีวิตของโจทก์ตามสัญญาข้อตกลงแต่งตั้งตัวแทน จึงเป็นการรับเงินไว้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ มิใช่เรื่องลาภมิควรได้ เมื่อปรากฏต่อมาว่าโจทก์ยกเลิกกรมธรรม์และบอกล้างกรมธรรม์แก่ผู้เอาประกันรายที่จำเลยที่ 1 และทีมงานชักชวนให้มาทำประกันชีวิตกับโจทก์ อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องคืนเบี้ยประกันให้ผู้เอาประกัน จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่ได้รับสำหรับผู้เอาประกันรายดังกล่าวแก่โจทก์ และโจทก์มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืนได้ตามเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาข้อตกลงแต่งตั้งตัวแทน เมื่อโจทก์บอกกล่าวทวงถามเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงใช้สิทธิฟ้องเรียกเงินคืนฐานผิดสัญญา มิใช่กรณีเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ จะนำเอาอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 มาใช้บังคับกับกรณีนี้ไม่ได้ และเมื่อการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าบำเหน็จและเงินผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นตัวแทนประกันชีวิตกรณีโจทก์ยกเลิกกรมธรรม์และบอกล้างกรมธรรม์ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 อายุความในคดีนี้จึงมีระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872-3873/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องร้องคดีสัญญาจ้างทำของ การแจ้งข้อพิพาท และผลของการวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทกล่าวอ้างว่าผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญาจ้างงานบริการวิศวกรรมที่ปรึกษาอันถือเป็นสัญญาจ้างทำของ และเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุที่ปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าว ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่บัญญัติให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี โดยนับจากวันสิ้นสุดหน้าที่ของผู้ร้องที่จะให้คำปรึกษาแก่ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 แล้ว ส่วนเงื่อนไขให้ต้องมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงข้อพิพาทหรือความเห็นที่ขัดแย้งเพื่อหาข้อยุติก่อนส่งเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญานั้นมิอาจถือเป็นเงื่อนไขให้เริ่มนับอายุความได้เพราะขัดต่อเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย
แม้การที่ผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการครั้งแรก อาจถือเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (4) แต่เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการในคดีดังกล่าวมีคำชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทเพราะเหตุว่าผู้คัดค้านไม่มีอำนาจเสนอข้อพิพาท กรณีย่อมถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 193/18 เมื่อผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทครั้งหลังเกิน 10 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3038/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันทางสัญญาและละเมิดจากการโฆษณาชวนเชื่อทางการแพทย์และผลประโยชน์ร่วมกัน
โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปได้พบโฆษณาโครงการของจำเลยที่ 1 ผ่านเว็บไซต์ยูทูบย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดเกี่ยวกับการศัลยกรรมผ่าตัดเสริมความงามโดยมีโรงพยาบาลชั้นนำได้มาตรฐานระดับโลกร่วมอยู่ในโครงการของจำเลยที่ 1 และการผ่าตัดศัลยกรรมกับโครงการของจำเลยที่ 1 จะไม่มีผลกระทบ ไม่บวม ไม่เจ็บ ฟื้นตัวเร็ว ไร้รอยแผลเป็น และจะได้รับการบริการในราคาถูก ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนพบเห็นหรือทราบข้อความที่จำเลยที่ 1 แสดงไว้ในวิดีโอคลิปดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะถือว่าเป็นการโฆษณาเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยที่ 1 แล้ว ยังถือว่าการที่จำเลยที่ 1 หรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 สนทนากับโจทก์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ตามบันทึกการสนทนานั้นเป็นการที่จำเลยที่ 1 ให้คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของ บริการหรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญาอันถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเข้าร่วมโครงการของจำเลยที่ 1 ตามความหมายของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มาตรา 11 แล้ว เมื่อเป็นการโฆษณาที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายแก่โจทก์
คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยทั้งสี่ผิดสัญญาหรือทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาททั้งในเรื่องผิดสัญญาและละเมิด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาให้บริการทางการแพทย์ มิใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ในมูลละเมิด ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์จึงเป็นความรับผิดอันเกิดจากสัญญา ซึ่งสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาให้บริการทางการแพทย์อันเป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการ การที่จำเลยที่ 1 ดำเนินโครงการโดยจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีผลประโยชน์ร่วมกันอันมีลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3037/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันทางแพ่งจากการโฆษณาเกินจริงทางการแพทย์ และการดำเนินกิจการสถานพยาบาล
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาต่อโจทก์ มิใช่เรื่องการทำละเมิด โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ จึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้เป็นที่ยุติว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาต่อโจทก์ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุจำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในมูลฐานความผิดฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 โฆษณาโครงการเฟซออฟโดยแสดงให้เห็นว่าผู้เข้ารับการผ่าตัดดึงหน้าในโครงการผ่าตัดศัลยกรรมของจำเลยที่ 1 จะไร้รอยแผลเป็น ไม่เจ็บ หน้าจะเด็กลงนั้น มีลักษณะเป็นการเสนอให้บริการทางการแพทย์ เมื่อโจทก์หลงเชื่อการโฆษณาและตกลงเข้าร่วมโครงการกับจำเลยที่ 1 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาให้บริการทางการแพทย์อันเป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์รู้ว่าการทำศัลยกรรมของจำเลยที่ 4 ที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ไม่ดีโดยนำคดีมาฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
การที่จำเลยที่ 1 โฆษณาว่าเป็นการผ่าตัดไร้รอยแผล แม้จะเป็นการโฆษณาเกินความจริง แต่แผลเป็นหลังผ่าตัดที่ยังคงเหลืออยู่ที่ขมับ หลังใบหู และท้ายทอยของโจทก์เป็นแผลเป็นที่เกิดขึ้นตามปกติของการผ่าตัด ซึ่งโจทก์ยอมรับว่าผลการผ่าตัดทำให้ใบหน้าโจทก์เปลี่ยนแปลงดีขึ้นกว่าเดิม กรณียังไม่อาจรับฟังได้ว่าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องในคดีนี้เกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จึงไม่อาจสั่งให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกรรมการบริษัทที่ละเลยหน้าที่ทำให้บริษัทเสียหาย คดีไม่ขาดอายุความหากอ้างอิงอายุความ 10 ปี
แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้องให้ชัดเจนว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 ให้รับผิดในความเสียหายจากการกระทำละเมิด หรือให้รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือตัวแทนกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ทำการเป็นตัวแทนหรือทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 812 แต่เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายใด ซึ่งสหกรณ์ น. เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 37 วรรคสอง และโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 เป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 จึงเป็นผู้แทนสหกรณ์ น. ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ความเกี่ยวพันระหว่างสหกรณ์ น. กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสองทาง โดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 รับผิดทั้งในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือตัวแทนและในมูลละเมิด แม้ว่าโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 20 ธันวาคม 2555 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 รับผิดในฐานะผู้แทนนิติบุคคลหรือในฐานะตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 812 นั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 21 กระทำการฝ่าฝืนระเบียบสหกรณ์ น. ในวันที่ 17 มิถุนายน 2552 โดยการทำบันทึกข้อตกลงซื้อขายปาล์มน้ำมันกับบริษัท ภ. เป็นเงินเชื่อและมิได้ให้บริษัท ภ. จัดหาหนังสือค้ำประกันของธนาคารตามระเบียบ เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4635/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีเรียกค่าเสียหายจากค่ากระแสไฟฟ้าที่ผิดพลาด การใช้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้และข้อยกเว้นอายุความ
คำให้การของจำเลยที่ 1 ถือเป็นคำให้การที่แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธเรื่องคดีขาดอายุความไว้แล้ว และเป็นการปฏิเสธความรับผิดตามคำฟ้องโดยอ้างว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ว่าจะอาศัยเหตุใดและเริ่มนับสิทธิเรียกร้องตั้งแต่วันใดล้วนแล้วแต่ขาดอายุความทั้งสิ้น คำให้การของจำเลยที่ 1 หาใช่คำให้การที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าอายุความเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใดอันเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ชอบที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้
โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดตกบกพร่องไปอันเนื่องมาจากมีการขอตัดฝากมิเตอร์เพื่อลดการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เปลี่ยนแปลงการคิดค่าใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 จากอัตราประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง เป็นอัตราประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก ที่ไม่นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้ารวมเข้ากับค่ากระแสไฟฟ้าในระหว่างนั้น และเมื่อครบกำหนดการตัดฝากมิเตอร์ จำเลยที่ 1 กลับมาใช้กระแสไฟฟ้ารวมเกิน 30 กิโลวัตต์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 โดยที่โจทก์ไม่ทราบทำให้มิได้นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปในเดือนดังกล่าวคำนวณเป็นค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปน้อยกว่าความเป็นจริง แม้ค่ากระแสไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อนจะไม่ได้เป็นผลจากการแก้ไขดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าหรือเกิดขึ้นเพราะความทุจริตของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อตามหนังสือเอกสารหมาย จ.9 มีข้อความที่เข้าใจได้ว่า หากต่อมาในภายหลังจำเลยที่ 1 กลับไปทำฟาร์มเลี้ยงไก่ซึ่งเป็นเรื่องของกาลภายหน้าและใช้กระแสไฟฟ้าในอัตราตามสัญญาเดิมแล้ว จำเลยที่ 1 จะแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราการคิดค่ากระแสไฟฟ้าให้เป็นไปตามอัตราในสัญญาสอดคล้องกับการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นิ่งเฉยไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้กระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อโจทก์ เป็นผลให้จำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์จากการใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์โดยชำระค่ากระแสไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดจำนวนเช่นนี้ จึงมิใช่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ค้างชำระอันมีต่อผู้ขอใช้กระแสไฟฟ้าซึ่งอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ตรวจพบเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป และเมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ฟังไม่ขึ้น
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดของหนี้เงินในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เดิมและรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
of 211