คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/30

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,106 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6952/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญานายหน้า: สิทธิเรียกร้องค่าบำเหน็จและส่วนเกินใช้ อายุความ 10 ปี ตามกฎหมายทั่วไป
โจทก์ฟ้องเรียกค่าบำเหน็จและเงินส่วนเกินตามสัญญานายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 มิได้ฟ้องเรียกเอาสินจ้างจากการรับทำการงาน สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6329/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสัญญาเช่า, การสิ้นสุดสัญญาโดยปริยาย, และขอบเขตการพิสูจน์ข้อเท็จจริง
สิทธิในการเลิกสัญญาของคู่สัญญาอาจเกิดจากข้อกำหนดในสัญญาหรือโดยบทบัญญัติของกฎหมายอันเป็นหลักทั่วไปตามมาตรา 387 ถึง 389 หรือตามบทบัญญัติว่าด้วยเอกเทศสัญญา ลักษณะเช่าทรัพย์ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าโจทก์ปฏิบัติต่อจำเลยไม่เป็นไปตามฐานะผู้ให้เช่าที่ควรให้ความสะดวกแก่ผู้เช่าตามสมควร แต่กลับไม่ให้ความสะดวกในการที่จำเลยให้เช่าช่วงนั้น เมื่อตามสัญญาเช่าไม่มีข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุดังที่จำเลยกล่าวอ้างทั้งตามหนังสือบอกเลิกสัญญาของจำเลยก็มิได้ระบุว่าโจทก์กระทำผิดสัญญาข้อใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา หนังสือบอกเลิกสัญญาของจำเลยเป็นเพียงคำเสนอขอเลิกสัญญา เมื่อโจทก์ไม่ตกลงเลิกสัญญาตามคำเสนอของจำเลย สัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงหาได้เลิกกันไม่
แม้ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 40 กำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สินมีหน้าที่ต้องเสียก็ตาม แต่ตามสัญญาเช่าข้อ 15 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยเป็นผู้ชำระ เมื่อจำเลยไม่ชำระ โจทก์ก็ต้องชำระแทนและเรียกเอาจากจำเลยได้กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ให้เช่าฟ้องจำเลยผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
การฟ้องเรียกค่าปรับฐานชำระค่าเช่าล่าช้านั้นมิใช่เป็นการเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) แต่ถือเป็นคดีที่โจทก์ผู้ให้เช่าฟ้องจำเลยผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่าจึงต้องฟ้องภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามมาตรา 563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5963/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเสียหายจากการส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องตามสัญญา: 10 ปี มิใช่ 1 ปี
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายเพราะจำเลยส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องตรงตามสัญญา แม้คำฟ้องโจทก์จะบรรยายความชำรุดบกพร่องของห้องน้ำว่าส้วมชักโครกใช้การไม่ได้ ใช้ห้องน้ำแล้วมีน้ำขังไม่สามารถระบายน้ำลงท่อระบายน้ำได้ก็เป็นการฟ้องเรื่องส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายไม่ถูกต้องตรงตามสัญญา ไม่ใช่กรณีฟ้องว่าทรัพย์สินที่ส่งมอบชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาซึ่งจะต้องบังคับ อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 แต่เป็นกรณีต้องบังคับอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายใน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5725/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหนี้จากการกู้ยืมเงินธนาคาร โดยเริ่มนับแต่วันที่ผิดสัญญาชำระหนี้ตามข้อตกลง
ผู้กู้ทำสัญญากู้เงินสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันโดยยินยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วม และตามหนังสือสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏ ข้อ 4 ระบุว่า ผู้กู้ตกลงให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนและเงินพึงได้อื่นได้อื่นใดที่ผู้กู้พึงได้จากนายจ้างเป็นรายเดือนให้ผู้กู้โดยวิธีนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้กู้ที่เปิดไว้ ณ สำนักงานธนาคารผู้ให้กู้เป็นประจำทุกเดือนติดต่อกันตลอดไป จากข้อสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่านิติสัมพันธ์ระหว่าง ผู้กู้กับโจทก์ตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏในลักษณะนี้กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้กู้ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2534 หลังจากนั้นผู้กู้หรือหน่วยงานของผู้กู้ก็มิได้นำเงินมาชำระหนี้โจทก์อีกเลย จึงถือว่าเป็นการประพฤติผิดสัญญา และเมื่อตามหนังสือสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏ ข้อ 4 ระบุว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดคืนได้ทันทีถือได้ว่าระยะเวลา ซึ่งโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นั้นเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไป หาใช่นับแต่วันครบกำหนด 7 วันนับแต่วันที่ 5 มกราคม 2547 ที่โจทก์บอกเลิกสัญญาดังที่โจทก์ฎีกาไม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547 จึงเกิน 10 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5041/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าไฟฟ้า, การปรับปรุงค่าไฟฟ้าตามสัญญา, การพิสูจน์ความคลาดเคลื่อนของมิเตอร์, ผู้ค้ำประกัน
มาตรวัดไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 อ่านค่าการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 คลาดเคลื่อนน้อยกว่าความเป็นจริงเพราะจุดต่อสายของหม้อแปลงไฟฟ้าแรงสูงหลวม เป็นเหตุให้มาตรวัดไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 หมุนช้ากว่าปกติดทำให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปน้อยกว่าความเป็นจริง เมื่อโจทก์ตรวจสอบพบจุดบกพร่องจึงทำการแก้ไขแล้วเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
เหตุที่นอตหลวมเกิดจากการที่พนักงานของโจทก์ขันนอตไม่แน่น เป็นเหตุให้มาตรวัดไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 เดินคลาดเคลื่อนช้ากว่าปกติ ทำให้อ่านค่าการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 น้อยกว่าที่ใช้ไปจริง โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อกระแสไฟฟ้าจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีหน้าที่ชำระหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ตามที่ใช้ไปจริง จำเลยที่ 1 จึงยังต้องรับผิดชำระค่าไฟฟ้าที่ขาดบกพร่องตามที่ใช้ไปจริงให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4736/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสะดุดหยุดเมื่อมีการหักชำระหนี้จากบัญชีเงินเดือนตามสัญญา การฟ้องภายใน 10 ปีนับจากวันสะดุดหยุดยังคงมีอายุความ
จำเลยที่ 1 ยอมให้หน่วยงานของตนนำเงินเดือนหรือเงินได้อื่นใดของจำเลยที่ 1 ทุกเดือนเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 เมื่อมีการนำเงินเข้าบัญชีแล้ว โจทก์ผู้ให้กู้มีสิทธินำเงินดังกล่าวไปหักชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้กู้ไปจากโจทก์ตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้กับโจทก์ตามสัญญากู้ ดังนั้น เมื่อมีการถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวจึงเป็นผลให้จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นลูกหนี้ของโจทก์ การที่หน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีดังกล่าวทุก ๆ เดือน และโจทก์นำเงินนั้นไปหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างอยู่กับโจทก์เป็นปกติตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติต่อกันมา อายุความจึงสะดุดหยุดลงทุกครั้งที่มีการนำเงินเข้าบัญชี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า หน่วยงานต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ครั้งสุดท้ายวันที่ 30 มิถุนายน 2537 โจทก์นำเงินดังกล่าวตัดบัญชีเพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระในวันดังกล่าว อายุความในการฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2537 และเริ่มนับอายุความใหม่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 28 มิถุนายน 2547 ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่อายุความสะดุดหยุดลง ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4582/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์ในคดีทรัพย์สินทางปัญญา และอายุความของค่าเสียหายจากสัญญา
ในคำให้การของจำเลยก็ดี ในทางนำสืบของจำเลยก็ดี ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่ากิจการสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันของจำเลยตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิที่ทำกับโจทก์นั้นประสบภาวะขาดทุนโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าสาเหตุเกิดจากอะไร สัญญาดังกล่าวไม่เป็นธรรมอย่างไร และโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตอย่างไร ดังนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์โดยให้รายละเอียดว่า การที่โจทก์คิดค่าใช้สิทธิจากจำเลยเพิ่มเติมในส่วนจำนวนน้ำมันที่จำเลยซื้อจากโจทก์ไม่ถึงปริมาณที่กำหนดไว้ในสัญญาอีก จึงไม่เป็นธรรมต่อจำเลยและเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต กิจการของจำเลยประสบกับภาวะขาดทุนเพราะสภาพเศรษฐกิจนั้น อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ประกอบด้วยมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
โจทก์ฟ้องคดีนี้ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีน้ำมัน โดยเรียกเงินค่าเสียหายจากจำเลยคือ เงินค้างชำระเกี่ยวกับค่าใช้สิทธิ ค่าซื้อสินค้า ค่าส่งเสริมการขาย และค่าซ่อมอุปกรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องจากสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิทั้งสิ้น นอกจากนี้น้ำมันซึ่งโจทก์ส่งมอบให้จำเลยก็มิใช่สินค้าที่มีลักษณะเป็นการซื้อมาขายไปเป็นปกติธุระของโจทก์ เพราะต้องมีการควบคุมปริมาณและคุณภาพตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ค่าเสียหายตามคำฟ้องของโจทก์จึงไม่ตกอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เรื่องผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี สัญญาให้ใช้สิทธิดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4582/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าเสียหายจากสัญญาสิทธิการดำเนินงานสถานีน้ำมัน: ไม่เข้าข่ายสินค้าซื้อมาขายไป อายุความ 10 ปี
โจทก์ฟ้องคดีตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีน้ำมัน โดยเรียกเงินค่าเสียหายจากจำเลย คือ เงินค้างชำระเกี่ยวกับค่าใช้สิทธิ ค่าซื้อสินค้า ค่าส่งเสริมการขาย และค่าซ่อมอุปกรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องจากสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิทั้งสิ้น นอกจากนี้น้ำมันซึ่งโจทก์ส่งมอบให้จำเลยก็มิใช่สินค้าที่มีลักษณะเป็นการซื้อมาขายไปเป็นปกติธุระของโจทก์ เพราะต้องมีการควบคุมปริมาณและคุณภาพตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ค่าเสียหายดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เรื่องผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ส่งมอบ ตามป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี เมื่อสัญญาให้ใช้สิทธิดังกล่าวไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3401/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีแรงงาน และการคิดเงินบำเหน็จกรณีเกษียณอายุ
จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์คืนเงินของจำเลยที่โจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยนำไปชำระค่าภาษีเงินได้ของโจทก์โดยไม่มีสิทธิ อันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ใช่กรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องแย้งเรียกเอาเงินค่าจ้างที่จำเลยได้จ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไปล่วงหน้าคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/4 (9) และสิทธิเรียกร้องอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 193/30
จำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในการทำงานช่วงก่อนครบเกษียณอายุโดยนับอายุงาน 31 ปี 9 เดือน อยู่แล้ว และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 มาตรา 118 (5) กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็นค่าชดเชยสูงสุด ดังนั้น ไม่ว่าจะนำระยะเวลาการทำงานของโจทก์หลังครบเกษียณอายุอีก 5 ปี 5 เดือน มานับรวมเป็นอายุงานในการคำนวณค่าชดเชยของโจทก์ด้วยได้หรือไม่ โจทก์ก็คงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วันอยู่ดี อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3088/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิทธิสมาชิกสนามกอล์ฟ, การบอกเลิกสัญญา, สิทธิคืนเงิน, และอายุความดอกเบี้ย
ปัญหาเรื่องค่าสมาชิกสนามกอล์ฟแยกต่างหากจากสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การและประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเป็นสำคัญ เมื่อตามคำฟ้อง คำให้การและข้อที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยต้องคืนค่าที่ศาลพิพากษาและค่าสนามกอล์ฟให้โจทก์ ถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาเกี่ยวกับสิทธิการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟและไม่ต้องคืนเงินค่าสมาชิกสนามกอล์ฟให้แก่โจทก์ได้
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยแล้ว โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ซึ่งกรณีนี้หมายรวมถึงการเป็นสมาชิกสนามกอล์ฟที่ต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่ได้ชำระไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เมื่อดอกเบี้ยที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์เป็นดอกเบี้ยตามมาตรา 391 วรรคสอง อันเนื่องจากโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา จึงไม่ใช่ดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (1)
เมื่อสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยเกิดแต่โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา จึงเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่โจทก์เรียกคืนอันเป็นส่วนที่เป็นหนี้ประธานสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจึงมีอายุความและเริ่มนับอายุความเช่นเดียวกันกับหนี้ประธาน สิทธิเรียกร้องเงินค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟที่โจทก์เรียกคืนจากจำเลยยังไม่ขาดอายุความ 10 ปี ดังนั้น สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งเป็นส่วนที่เป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าซื้อที่ดินและค่าสมาชิกสนามกอล์ฟอันเป็นส่วนที่เป็นหนี้ประธานย่อมไม่ขาดอายุความไปด้วย
of 211