คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/30

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,106 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4634/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่ากระแสไฟฟ้า - ผู้ประกอบการค้าเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ใช้ไฟฟ้า - การเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้า - อายุความ 10 ปี
คำให้การของจำเลยที่ 1 ถือเป็นคำให้การที่แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธเรื่องคดีขาดอายุความไว้แล้วและเป็นการปฏิเสธความรับผิดตามคำฟ้องโดยอ้างว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ว่าจะอาศัยเหตุใดและเริ่มนับสิทธิเรียกร้องตั้งแต่วันใดล้วนแล้วแต่ขาดอายุความทั้งสิ้น คำให้การของจำเลยที่ 1 หาใช่คำให้การที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าอายุความเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใดอันเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ชอบที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้
โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดตกบกพร่องไปอันเนื่องมาจากมีการขอตัดฝากมิเตอร์เพื่อลดการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เปลี่ยนแปลงการคิดค่าใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 จากอัตราประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง เป็นอัตราประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก ที่ไม่นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้ารวมเข้ากับค่ากระแสไฟฟ้าในระหว่างนั้น และเมื่อครบกำหนดการตัดฝากมิเตอร์จำเลยที่ 1 กลับมาใช้กระแสไฟฟ้ารวมเกิน 30 กิโลวัตต์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 โดยที่โจทก์ไม่ทราบทำให้ไม่ได้นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปในเดือนดังกล่าวคำนวณเป็นค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปน้อยกว่าความเป็นจริง แม้ค่ากระแสไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อนจะไม่ได้เป็นผลจากการแก้ไขดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าหรือเกิดขึ้นเพราะความทุจริตของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อตามหนังสือเอกสารหมาย จ.9 มีข้อความที่เข้าใจได้ว่า หากต่อมาในภายหลังจำเลยที่ 1 กลับไปทำฟาร์มเลี้ยงไก่ซึ่งเป็นเรื่องของกาลภายหน้าและใช้กระแสไฟฟ้าในอัตราตามสัญญาเดิมแล้ว จำเลยที่ 1 จะแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราการคิดค่ากระแสไฟฟ้าให้เป็นไปตามอัตราในสัญญาสอดคล้องกับการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นิ่งเฉยไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้กระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อโจทก์ เป็นผลให้จำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์จากการใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์โดยชำระค่ากระแสไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดจำนวนเช่นนี้ จึงมิใช่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ค้างชำระอันมีต่อผู้ขอใช้กระแสไฟฟ้าซึ่งอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่เป็นกรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ตรวจพบเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดของหนี้เงินในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 24 สิงหาคม 2560 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เดิมและรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3549/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสัญญาซื้อขายทองคำ: ไม่ใช่อายุความ 2 ปี แต่เป็น 10 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ขายทองคำผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบทองคำที่ทำการขายทุกรายการภายในกำหนดเวลา 3 วันทำการนับแต่วันที่จำเลยส่งคำสั่งขายแต่ละรายการ โจทก์จึงใช้สิทธิตามสัญญาดำเนินการล้างฐานะเพื่อบังคับชำระหนี้โดยหักกลบลบหนี้เพื่อทอนบัญชีระหว่างจำนวนเงินค่าทองคำที่จำเลยสั่งขายกับจำนวนเงินค่าทองคำที่ได้จากการบังคับซื้อกลับ ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.1 ระบุว่า หากปรากฏพฤติการณ์ดังต่อไปนี้ไม่ว่าข้อใดข้อหนึ่ง ให้ภาระหนี้สินทั้งหมดของลูกค้าในบัญชีของลูกค้าถึงกำหนดชำระโดยพลัน และให้บริษัทสามารถดำเนินการการล้างฐานะซื้อขายทองคำได้ทันที...(1) เมื่อลูกค้าผิดนัดไม่ชำระค่าซื้อและ/หรือขายทองคำ และ/หรือผิดนัดการวางหลักประกัน และ/หรือผิดนัดชำระหนี้ใด ๆ ตามสัญญานี้ ภายในระยะเวลา และ/หรือเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญานี้ หรือตามข้อกำหนดของบริษัท และ/หรือไม่ชำระเงินจำนวนใด ๆ ภายใต้สัญญานี้ตามจำนวนที่ต้องชำระเมื่อถึงกำหนดชำระ และข้อ 5.3 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่บริษัทล้างฐานะรายการซื้อขายทองคำของลูกค้าแล้ว ทำให้เกิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขาย และ/หรือผลขาดทุน และ/หรือ มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ลูกค้ายินดีรับผิดชอบชำระส่วนต่าง และ/หรือผลขาดทุน และ/หรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้กับบริษัททันทีที่ได้รับการทวงถามจากบริษัท พร้อมด้วยค่าเสียหายและดอกเบี้ยและ/หรือเบี้ยปรับ ในอัตราที่บริษัทกำหนดนับจากวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้บริษัทครบถ้วน การที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบทองคำให้โจทก์ตามกำหนด โจทก์จึงใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 5.1 (1) เพื่อดำเนินการล้างฐานะซื้อขายทองคำอันทำให้เกิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 5.3 วรรคสอง ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องดังกล่าวจึงเป็นการเรียกเอาค่าเสียหายจากส่วนต่างของราคาทองคำเนื่องจากจำเลยมิได้ส่งมอบทองคำให้แก่โจทก์ภายในกำหนดตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว สิทธิเรียกร้องในลักษณะนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี มิใช่อายุความ 2 ปี ดังที่จำเลยฎีกาฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3010/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ชำรุด ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาและเรียกเงินคืน พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาเช่ารถยนต์กับโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์รับรถยนต์ไปใช้ปรากฏว่าเกิดเสียงดังในขณะขับรถถอยหลัง เมื่อนำกลับไปให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมหลายครั้งแต่ไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าในสภาพที่ไม่เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ เป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนหรือในขณะส่งมอบและเพิ่งปรากฏขึ้นภายหลังจากการส่งมอบรถ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดตามสัญญาเช่าเนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซึ่งไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา มิใช่กรณีฟ้องขอให้รับผิดในกรณีชำรุดบกพร่อง บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 จึงไม่นำมาปรับใช้กับคดีนี้ และการฟ้องขอให้รับผิดโดยขอคืนเงินที่ชำระตามสัญญาเช่าเนื่องจากส่งมอบทรัพย์ที่เช่าไม่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันเป็นการผิดสัญญาเช่านั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 190/30
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 ซึ่งบัญญัติว่า "การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่าก็ดี ความรับผิดของผู้ให้เช่าในกรณีชำรุดบกพร่องและรอนสิทธิก็ดี ผลแห่งข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดก็ดี เหล่านี้ ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการซื้อขายอนุโลมความตามควร" และมาตรา 472 วรรคแรก บัญญัติว่า "ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด" ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่ารถยนต์นอกจากมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นก่อนส่งมอบและเพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากส่งมอบแก่โจทก์ และเสียงที่ดังเกิดที่เบรกรถยนต์ซึ่งเป็นระบบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับรถยนต์ แม้จำเลยที่ 1 จะซ่อมแซมหลายครั้งแล้วก็ยังแก้ไขไม่ได้ ย่อมทำให้เกิดความวิตกกังวลและความไม่เชื่อมั่นในการใช้รถที่เช่า ความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าดังกล่าวจึงถึงขนาดเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้ตามปกติ ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ให้เช่าได้ส่งมอบรถยนต์โดยมีสภาพที่เหมาะกับการใช้ประโยชน์ตามที่เช่า แม้สัญญาเช่ามีข้อตกลงให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ที่เช่าอันเป็นการยกเว้นความผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 ประกอบมาตรา 472 ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนด ทำให้จำเลยที่ 2 ได้เปรียบโจทก์เกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีผลใช้บังคับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม (1) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 2 ด้วยการนำรถกลับไปคืนจำเลยที่ 1 แล้วต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญา และจำเลยที่ 2 นำรถยนต์ที่เช่าไปขายแก่บุคคลภายนอกแล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องให้โจทก์กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมด้วยการคืนเงินค่าเช่าที่ได้รับมาทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
ส่วนจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทในขณะที่โจทก์ฟ้องคดี ทั้งไม่ใช่ผู้รับชำระค่าเช่าจากโจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและเรียกค่าเสียหายภายใต้บังคับของกฎหมายเท่านั้น กรณีไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมชำระเงินดังกล่าวที่โจทก์ชำระไปแล้วคืนให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยความรับผิดของผู้ค้ำประกัน การคิดดอกเบี้ยผิดนัด และอายุความของสัญญา
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย จะเห็นได้ว่าในการทำสัญญาประกันภัย คู่สัญญาอาจกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเหตุวินาศภัยหรือเหตุอย่างอื่นที่มิใช่วินาศภัยก็ได้ แล้วแต่ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยจะตกลงกัน และคำว่า วินาศภัย นั้น ป.พ.พ. มาตรา 869 บัญญัติให้หมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนั้น ความเสียหายอันเป็นวินาศภัยย่อมต้องเป็นเหตุหรือภัยใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น มิใช่ความรับผิดตามข้อสัญญาระหว่างคู่กรณีที่มีลักษณะเป็นนิติกรรม เมื่อหนี้ที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดชําระแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงื่อนไขที่จําเลยที่ 2 จะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ในนามของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เงื่อนไขความรับผิดระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจําเลยที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งจําเลยที่ 2 ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในเหตุอย่างอื่นในอนาคตหากมีการกระทำอันเป็นการผิดสัญญา มิใช่กรณีเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น จึงมิใช่สัญญาประกันวินาศภัยซึ่ง ป.พ.พ. บัญญัติเกี่ยวกับการประกันวินาศภัยไว้ในลักษณะ 20 หมวด 2 และมีบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการเฉพาะตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง คือ ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกําหนดเวลาสองปีนับแต่วันวินาศภัย แต่กรณีดังกล่าวเป็นการทำสัญญาประกันภัยในเหตุแห่งการผิดสัญญาอันเป็นเหตุอย่างอื่นในอนาคต ซึ่ง ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 นับแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสามอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยได้ตามมาตรา 193/12 การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดียังอยู่ในระยะเวลา 10 ปี คดีของโจทก์ทั้งสามสำหรับจําเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจําเลยที่ 1 ต่อโจทก์ที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หากจําเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชําระหนี้ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ย่อมต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ที่ 1 ด้วย ถือว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 863 แม้จําเลยที่ 1 จะเป็นคนชําระเบี้ยประกันภัยก็เป็นการชําระในนามของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ผู้เอาประกันภัย และเป็นเรื่องระหว่างจําเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่มีผลให้การเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต้องเปลี่ยนแปลงไป สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจําเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันคู่สัญญา
ส่วนที่จําเลยที่ 2 ให้การว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามข้อบังคับโจทก์ที่ 1 นั้น จําเลยที่ 2 ไม่ได้ระบุว่าไม่ถูกต้องตามข้อบังคับอย่างไรบ้าง และที่ให้การว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้แจ้งให้จําเลยที่ 2 ทราบถึงการผิดนัดชําระหนี้เงินกู้ของจําเลยที่ 1 ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ผิดนัดงวดแรก ก็ไม่ได้ระบุว่าผลเป็นประการใด ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 จึงไม่เกิดประเด็นให้ต้องวินิจฉัย
ส่วนปัญหาว่าจําเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เพียงใด นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจําเลยที่ 2 เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกและโจทก์ที่ 1 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วก็ตาม แต่ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องให้จําเลยที่ 2 รับผิด ยังไม่เต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย อีกทั้งหลังจากได้รับหนังสือทวงถามแล้ว จําเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่ชําระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย ทำให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจําเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ในต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชําระรวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ชําระดอกเบี้ยที่ค้างชําระอยู่เดิมและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่รวมทั้งต้นเงินบางส่วนให้โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะคู่สัญญาประกันภัยย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจําเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรับผิดชําระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามสัญญาประกันภัยในส่วนของจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เหลืออยู่ได้ ดังนั้นจําเลยที่ 2 ต้องรับผิดชําระเงินแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เพียงเท่าจำนวนเงินเอาประกันภัยส่วนที่เหลือโดยเฉลี่ยให้เท่ากัน พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้ทวงถามให้จําเลยที่ 2 ชําระหนี้ ยังไม่อาจถือได้ว่าจําเลยที่ 2 ผิดนัด จึงให้จําเลยที่ 2 ชําระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ฎีกาขอให้จําเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจําเลยที่ 1 จึงเป็นคดีที่มีคําขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นราคาได้ โจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท การที่โจทก์ทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องจึงไม่ถูกต้อง ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 18 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์ทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยเพื่อบุคคลภายนอก: การคำนวณอายุความและขอบเขตความรับผิดของผุ้รับประกัน
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย จะเห็นได้ว่าในการทำสัญญาประกันภัย คู่สัญญาอาจกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเหตุวินาศภัยหรือเหตุอย่างอื่นที่มิใช่วินาศภัยก็ได้ แล้วแต่ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยจะตกลงกัน และคำว่า วินาศภัย นั้น ป.พ.พ. มาตรา 869 บัญญัติให้หมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนั้น ความเสียหายอันเป็นวินาศภัยย่อมต้องเป็นเหตุหรือภัยใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น มิใช่ความรับผิดตามข้อสัญญาระหว่างคู่กรณีที่มีลักษณะเป็นนิติกรรม เมื่อหนี้ที่โจทก์ที่ 2 และ ธ. ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงื่อนไขที่จำเลยที่ 2 จะใช้ค่าสินไหมแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ในนามของโจทก์ที่ 2 กับ ธ. เงื่อนไขความรับผิดระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งจำเลยที่ 2 ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในเหตุอย่างอื่นในอนาคตหากมีการกระทำอันเป็นการผิดสัญญา มิใช่กรณีเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น จึงมิใช่สัญญาประกันวินาศภัยซึ่ง ป.พ.พ. บัญญัติเกี่ยวกับการประกันวินาศภัยไว้ในลักษณะ 20 หมวด 2 และมีบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการเฉพาะตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง คือ ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันวินาศภัย แต่กรณีดังกล่าวเป็นการทำสัญญาประกันภัยในเหตุแห่งการผิดสัญญาอันเป็นเหตุอย่างอื่นในอนาคต ซึ่ง ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 นับแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยได้ตามมาตรา 193/12 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดียังอยู่ในระยะเวลา 10 ปี คดีของโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 หรือไม่ เพียงใด นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์ที่ 2 และ ธ. กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก และโจทก์ที่ 1 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วก็ตาม แต่ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามหนังสือทวงถามยังไม่เต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย อีกทั้งหลังจากได้รับหนังสือทวงถามแล้ว จำเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย ทำให้โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ในต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระรวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 2 ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่เดิมและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่รวมทั้งต้นเงินบางส่วนให้โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาประกันภัยย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 ตามสัญญาประกันภัยในส่วนของจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เหลืออยู่ได้ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัด จึงให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917-1041/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีซื้อขายบ้านและที่ดิน การตรวจรับบ้าน และการทราบข้อบกพร่องตามสภาพที่แท้จริง
โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบฟ้องอ้างว่าจำเลยก่อสร้างสาธารณูปโภคไม่เป็นไปตามแผนผังโครงการและแบบก่อสร้างที่ได้ขออนุญาตและเรียกค่าเสียหาย เป็นการอ้างว่าจำเลยกระทำการผิดสัญญาจะซื้อจะขายและหลักเกณฑ์ในการจัดสรรที่ดิน ทำให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแชมปรับปรุงพื้นที่สาธารณูปโภค เป็นกรณีที่จำเลยส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องอันเป็นการผิดสัญญาซื้อขาย ไม่ใช่กรณีฟ้องว่าทรัพย์สินที่จำเลยส่งมอบชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติหรือประโยชน์ที่มุ่งโดยสัญญา จึงไม่นำอายุความในข้อความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องมาปรับใช้แก่คดีนี้ และเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
กรณีตามคำฟ้องเป็นเรื่องผู้ขายส่งมอบทรัพย์ไม่ตรงตามสัญญาซึ่งทรัพย์ที่ส่งมอบเป็นบ้านจัดสรรที่ผู้ขายก่อสร้างเองฝ่ายเดียว ผู้ซื้อซึ่งเป็นวิญญูชนไม่มีทางทราบได้เลยในขณะทำสัญญาหรือแม้แต่ขณะรับมอบบ้านว่าจำเลยได้ถมดินในบริเวณโครงการสูงกว่าถนนสาธารณะ 30 เซนติเมตร ตามแผนผังโครงการที่ขออนุญาตจัดสรรไว้หรือไม่ และในความจริงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบด้วยจึงจะทราบข้อเท็จจริง กรณีเช่นว่านี้จึงต้องถือว่าเวลาที่ผู้ซื้อซึ่งเป็นเจ้าหนี้อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้คือเวลาที่ผู้ซื้อทราบความจริงจากผู้เชี่ยวชาญว่าที่ดินโครงการมีระดับต่ำกว่าที่ระบุในแผนผังโครงการที่จำเลยยื่นต่อทางราชการ เมื่อโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบทราบถึงการส่งมอบทรัพย์สินไม่ถูกต้องเนื่องจากเกิดปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ นับถึงวันฟ้องวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 คดียังไม่ล่วงพ้นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบอาจบังคับสิทธิเรียกร้อง คดีโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยเก้าสิบจึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ที่ 79 เพิ่งทราบข้อเท็จจริงที่แน่นอนชัดเจนว่าจำเลยไม่ได้ดำเนินการตามแผนผังการจัดสรรเนื่องจากกรณีนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจพิสูจน์ ประกอบกับไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์ที่ 79 ซื้อบ้านพร้อมที่ดินพิพาทจากจำเลยในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดหรือไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหาย ทั้งจำเลยให้การว่าได้ดำเนินการจัดสรรที่ดินตามแผนผังจัดสรรไม่ได้ผิดสัญญาซื้อขายแต่อย่างใด อันเป็นการแสดงว่าจำเลยยังปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้อยู่ และ ป.พ.พ. มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต การที่โจทก์ที่ 79 ใช้สิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาซื้อขายซึ่งเป็นการใช้สิทธิของบุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิตามปกติ หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 910/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ, อายุความ, การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน: คดีจัดสรรที่ดิน – สิทธิผู้ซื้อ – แก้ไขสาธารณูปโภค
แม้คดีก่อนและคดีนี้ต่างก็มีข้อพิพาทเกี่ยวกับเรื่องสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะเหมือนกัน แต่เหตุที่โจทก์ฟ้องในคดีก่อนเกี่ยวกับสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ เป็นสาธารณูปโภคที่จำเลยจัดทำไว้แล้วเกิดมีความชำรุดบกพร่องที่สามารถพบเห็นความเสียหายโดยประจักษ์ด้วยสายตาและเป็นความชำรุดบกพร่องที่ต้องซ่อมแซมอันเป็นเรื่องที่ต้องกระทำเพื่อบำรุงรักษา ส่วนคดีนี้เป็นสาธารณูปโภคที่โจทก์อ้างว่า จำเลยก่อสร้างไม่ตรงตามแบบแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรร และคดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้เงินเพื่อซ่อมแซมความชำรุดบกพร่อง ส่วนคดีนี้ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสาธารณูปโภคที่จำเลยก่อสร้างไม่ตรงตามแบบแผนผังโครงการ ข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีทั้งสองจึงแตกต่างเป็นคนละเหตุกัน ประเด็นแห่งคดีที่ต้องวินิจฉัยก็แตกต่างเป็นคนละประเด็นกัน อีกทั้งตามฟ้องโจทก์อ้างว่ามีการตรวจสอบพบการก่อสร้างที่ไม่ตรงตามแบบแผนผังโครงการภายหลังที่ฟ้องคดีก่อนไปแล้ว ซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การโต้เถียงข้อนี้ โจทก์จึงไม่อาจรู้ถึงการกระทำที่เป็นการโต้แย้งสิทธิตามฟ้องคดีนี้ในขณะที่ฟ้องคดีก่อน จึงถือไม่ได้ว่าในขณะฟ้องคดีก่อนโจทก์สามารถนำเหตุคดีนี้ฟ้องไปพร้อมกันได้ แต่ไม่ฟ้อง เป็นการไม่ติดใจจะใช้สิทธิฟ้องคดีนี้แล้ว และกรณีถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยชำระเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขสาธารณูปโภคที่จำเลยก่อสร้างไม่ตรงตามแบบแผนผังโครงการ ถือได้ว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทำผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรรกับสมาชิกของโจทก์ผู้ซื้อที่ดินจากจำเลย ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์อ้างว่าเพิ่งทราบถึงการทำผิดสัญญาดังกล่าวของจำเลยจากวิศวกรที่ว่าจ้างให้ตรวจสอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 จึงถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องกับจำเลยจากการทำผิดสัญญาได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันนั้น นับถึงวันฟ้องวันที่ 3 มกราคม 2562 ยังไม่ล่วงพ้นเวลา 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายกรมธรรม์ประกันภัย: ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด
จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปติดต่อกับครอบครัวของโจทก์ทั้งสอง จนครอบครัวโจทก์ทั้งสองทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 1 รวม 9 ฉบับ โดยจำเลยที่ 2 กับสมาชิกในทีมดำเนินการให้โจทก์ทั้งสองกับครอบครัวทำใบคำขอเอาประกันชีวิตยื่นต่อจำเลยที่ 1 รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ออกใบรับเงินชั่วคราวแทนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้นำกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 9 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 ออกให้ มามอบให้แก่โจทก์ทั้งสองและครอบครัว เมื่อจำเลยที่ 2 แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองว่า สามารถเปลี่ยนแบบกรมธรรม์ใหม่ ทุนประกันเท่าเดิม แต่จะได้รับความคุ้มครองที่ดีกว่าเดิม ย่อมเป็นเหตุอันสมควรที่ทำให้โจทก์ทั้งสองเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และถือได้ว่าเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจตัวแทนประกันชีวิตที่จำเลยที่ 1 มอบหมาย แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว พนักงานอัยการจะฟ้องเป็นคดีอาญา และศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว แต่คดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นคู่ความด้วย ทั้งการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 1 ประเด็นในคดีนี้จึงมีว่า จำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวในฐานะที่เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 หรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทจึงต่างจากคดีอาญา ไม่จำต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ทั้งสองให้ลงลายมือชื่อในหนังสือบอกกล่าวเวนคืนกรมธรรม์เพื่อขอเวนคืนกรมธรรม์และขอรับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ และนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 อนุมัติ ก็รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์และออกใบรับเงินชั่วคราวในนามของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ทั้งสองเพื่อเป็นหลักฐานการรับชำระค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับการเปลี่ยนแบบหรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่ตามที่เสนอขายแก่โจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะเบียดบังเอาเงินดังกล่าวไปและไม่ส่งมอบแก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องไปว่ากล่าวเอากับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทน หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในฐานะตัวการไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการจึงต้องผูกพันและรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในขอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 และ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 70/1 ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
แม้ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 71 วรรคสอง ตัวแทนประกันชีวิตไม่อาจทำสัญญาประกันชีวิตในนามบริษัท และมีผลให้การชักชวนของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่คำเสนอในการทำสัญญาประกันชีวิต แต่การชักชวนให้โจทก์ทั้งสองเปลี่ยนหรือซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแบบใหม่โดยเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยเดิม เพื่อนำเงินมาชำระเป็นเบี้ยประกันภัย เป็นการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ถือเป็นคำเสนออย่างหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองตกลงจึงเป็นคำสนองและเกิดสัญญาต่างตอบแทนขึ้น โดยโจทก์ทั้งสองเมื่อได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์แล้ว ก็ต้องชำระเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องออกกรมธรรม์ประกันภัยแบบเดิมให้แก่โจทก์ทั้งสองตามที่จำเลยที่ 2 ให้สัญญาไว้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องในกรณีดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยโจทก์ทั้งสองอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์และส่งมอบแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จนครบถ้วน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 4 ฉบับ ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2549 เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 14 กรกฎาคม 2559 ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความ
เมื่อสัญญาต่างตอบแทนมีสภาพบังคับได้และมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการ โจทก์ทั้งสองย่อมมีคำขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามคำขอท้ายฟ้องได้ อย่างไรก็ดีเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ กรมธรรม์ 2 ฉบับแรก จะครบกำหนดความคุ้มครองแล้ว ส่วนกรมธรรม์อีก 2 ฉบับ แม้จะยังไม่ครบกำหนด แต่เมื่อนับถึงวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา กรรมธรรม์อีก 2 ฉบับ ก็จะครบกำหนดความคุ้มครองแล้วเช่นกัน น่าเชื่อว่าการที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ก็เพื่อที่จะเรียกร้องเอาผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากโจทก์ทั้งสองถือกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ไว้จนครบกำหนดแล้วเป็นสำคัญ จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่ากับผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากกรมธรรม์ทั้ง 4 ฉบับ ยังคงมีผลใช้บังคับ อันเป็นการกำหนดค่าเสียหายเต็มตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสองแล้ว กรณีย่อมไม่จำเป็นต้องบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 1 ออกกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ ให้แก่โจทก์ทั้งสองอีกต่อไป
ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองในคดีนี้เท่ากับผลประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองควรจะได้รับหากไม่มีการเวนคืนกรมธรรม์พิพาททั้ง 4 ฉบับ แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำซ้อนกับคำพิพากษาในคดีอาญาที่ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์แก่โจทก์ทั้งสอง ดังนั้น หากโจทก์ทั้งสองได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาดังกล่าวเพียงใด ก็ให้นำมาหักกับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 158/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคล, การรับสภาพหนี้, และดอกเบี้ยผิดนัด
ตามสัญญาและเงื่อนไขที่ระบุในใบสมัครสินเชื่อส่วนบุคคล กำหนดว่า ผู้กู้ตกลงที่จะชำระคืนหนี้ต้นเงินกู้ ตามจํานวนที่ระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชีพร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนในวันที่ครบกําหนดชําระเงินซึ่งระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชี โดยผู้กู้จะเลือกชําระคืนต้นเงินกู้ขั้นต่ำในแต่ละเดือนเท่ากับอัตราร้อยละ 5 ของยอดหนี้ที่ธนาคารเรียกเก็บในแต่ละเดือนหรือจํานวน 500 บาท แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่ากันและ/หรือในอัตราขั้นต่ำอื่น ๆ ที่ธนาคารประกาศกําหนดในแต่ละขณะตามจํานวนที่ธนาคารระบุไว้ในใบแจ้งยอดบัญชีก็ได้ ตามสัญญามีข้อตกลงว่าจำเลยจะต้องชําระค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินโดยแบ่งชําระเป็นงวดรายเดือนในอัตราขั้นต่ำร้อยละ 5 ของยอดหนี้ที่ธนาคารเรียกเก็บในแต่ละเดือน ซึ่งสัญญาตามกําหนดให้จําเลยชําระเพียงจํานวนเงินขั้นต่ำที่ต้องชําระ แม้ธนาคารจะนําไปหักชําระเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยบางส่วน แต่หากจําเลยผิดนัดไม่ชําระหนี้ตามสัญญาและภายในกําหนดจําเลยต้องชําระเบี้ยปรับและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอันเป็นข้อตกลงว่าจําเลยอาจชําระหนี้ในอัตราขั้นสูงเพียงใดก็ได้ และสัญญามิได้กําหนดให้จําเลยต้องผ่อนทุนคืนเป็นเวลากี่งวด สัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลจึงไม่มีลักษณะผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ กรณีดังกล่าวจึงมิใช่สิทธิเรียกร้องที่มีกําหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์เช่นนี้กฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อจําเลยทําสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า สัญญาฉบับนี้เป็นเพียงการยืนยันความถูกต้องแห่งภาระหนี้ และการผ่อนปรนชําระหนี้ มิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันทําให้หนี้เดิมตามสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลระงับ จึงเป็นกรณีที่จําเลยรับสภาพหนี้ต่อธนาคารเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นไม่นับเข้าในอายุความ ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตามอายุความสินเชื่อส่วนบุคคลตามมาตรา 193/15 เมื่อจําเลยผิดนัดตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลของจําเลยจากธนาคาร ย. ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องให้จําเลยชําระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2553 และเริ่มนับอายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์นับแต่นั้นมา เมื่อนับถึงวันฟ้องวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ
เมื่อธนาคาร ย. เจ้าหนี้เดิมทําสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญาสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีต่อจําเลยให้แก่โจทก์ จําเลยจึงต้องรับผิดในต้นเงินค้างชําระ ส่วนที่โจทก์ขอใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดกับจําเลยในอัตราร้อยละ 28 ต่อปี โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ของจําเลยจากธนาคาร ย. ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามอัตราเดิมที่ธนาคารมีสิทธิคิดจากลูกหนี้ แต่ต้องคิดดอกเบี้ย ณ วันที่ได้รับโอนสินทรัพย์มา ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เมื่อโจทก์ได้รับโอนสิทธิจากธนาคารเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ประกาศธนาคาร ย. เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยค่าบริการต่าง ๆ และเบี้ยปรับที่สถาบันการเงินอาจเรียกได้ในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กํากับ ฉบับที่ 002/2559 เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2559 ระบุอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชําระหนี้ (ต่อปี) สําหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 28 โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ย ร้อยละ 28 ต่อปี โดยชอบด้วยกฎหมาย ธนาคาร ย. คิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัดอัตราร้อยละ 26.5 ต่อปี การคิดดอกเบี้ยผิดนัดเป็นการกําหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอํานาจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 เห็นควรลดเบี้ยปรับลงเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 27 ต่อปี นับแต่วันที่จําเลยผิดนัดไม่ชําระหนี้จนกว่าจะชําระเสร็จ แต่เมื่อจําเลยยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยค้างชําระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ไว้ในคําให้การ จึงกําหนดให้จําเลยรับผิดชําระดอกเบี้ยแก่โจทก์ก่อนฟ้องไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5999/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีสัญญาซื้อขายของรัฐวิสาหกิจที่ไม่แสวงหากำไร และประเด็นฟ้องซ้ำ
โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีการดำเนินการด้านวิจัยสาขาต่าง ๆ ซึ่งมุ่งเน้นในการให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการ การวิจัยมิใช่เป็นการประกอบการค้าซึ่งมุ่งแสวงหากำไรเป็นปกติธุระ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า ทั้งโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา มิใช่ฟ้องเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น หรือเงินที่ได้ออกทดรองไป จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ที่กำหนดอายุความ 2 ปี และกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
of 211