คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/30

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,106 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่าส่วนกลาง - ผู้ซื้อทรัพย์จากขายทอดตลาดมีหน้าที่ชำระหนี้ค้างชำระของผู้ขายได้ - ศาลฎีกาแก้ไขค่าปรับและเงินเพิ่ม
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ขอฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในประเด็นข้อกฎหมายที่โจทก์จะยกอายุความสิทธิเรียกร้องมาบังคับให้จำเลยที่ 1 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเฉพาะส่วนที่ไม่ขาดอายุความ โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด แม้นิติบุคคลอาคารชุดจะมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชำระหนี้อันเกิดจากหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 แต่เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอายุความ 5 ปี โจทก์จึงมีสิทธิขอชำระเพียงหนี้ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี ถือเป็นการกล่าวชัดแจ้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางซึ่งเจ้าของร่วมมีหน้าที่ต้องชำระให้แก่นิติบุคคลอาคารชุด แม้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติขึ้นภายหลัง ป.พ.พ. และมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมของเจ้าของร่วมก็ตาม แต่เมื่อ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้บัญญัติอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องสำหรับเงินดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เมื่อตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดให้ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นรายเดือน แต่ไม่ชำระจึงถือเป็นเงินค้างจ่าย ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ได้บัญญัติไว้แล้ว ค่าปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากการไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าใช้จ่ายส่วนกลางจึงมีอายุความ 5 ปี เช่นเดียวกับหนี้ประธาน มิใช่เป็นกรณีที่ ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้อันจะต้องนำอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับแต่อย่างใด
ในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นบทบังคับเจ้าหนี้ที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 และที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ มิได้มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียก่อน ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธโดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เท่านั้น หากแต่การที่ลูกหนี้ฟ้องคดีเพื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยจะขอชำระหนี้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้เท่าที่มีอยู่ภายใต้กำหนดระยะเวลาแห่งอายุความ ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้โดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว เพราะมีผลทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ส่วนที่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับการต่อสู้คดีในกรณีที่ลูกหนี้ถูกฟ้อง ศาลจึงยกอายุความขึ้นมาวินิจฉัยได้โดยชอบ
โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์มิใช่ลูกหนี้ผู้ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่การที่โจทก์มีภาระหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้สินค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 ที่กำหนดเป็นเงื่อนไขของการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีและตามที่กฎหมายบัญญัติบังคับไว้ ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ได้ทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกแทนลูกหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 นั่นเอง ชอบที่โจทก์จะยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 376 เมื่อหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มเป็นเงินค้างจ่าย มีอายุความ 5 ปี และโจทก์ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว โจทก์จึงคงรับผิดรับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่าปรับและเงินเพิ่มค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี สำหรับค่าปรับและเงินเพิ่มซึ่งโจทก์มิได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาในลักษณะอย่างไร แต่เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาให้โจทก์รับผิดต่อจำเลยที่ 1 ได้ ไม่เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่าปรับไว้อัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระ ก็ถือเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคหนึ่ง ซึ่งถ้าสูงเกินส่วนศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8904/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจปลอมหรือไม่ และอายุความคดีมรดก: ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
คดีขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และมาตรา 1710 หรือไม่ มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) จำเลยต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเมื่อใด ทั้งต้องแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และมาตรา 1710 ขึ้นต่อสู้ โดยไม่ได้ยกอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อโจทก์ฟ้องเพื่อแสดงให้เห็นว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไม่ได้ตกเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว แต่เป็นทรัพย์มรดกของ ส. ที่จะต้องแบ่งให้แก่ทายาท เท่ากับโจทก์ฟ้องคดีมรดก เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายวันที่ 30 สิงหาคม 2544 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 นั้นจึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำให้การต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6494/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีละเมิดหลังเจ้ามรดกเสียชีวิต: เริ่มนับเมื่อใด
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ ก. ลูกจ้างกระทำละเมิดและกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน คดีระหว่างโจทก์และ ก. จึงมีอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แต่เมื่อ ก. ถึงแก่ความตาย กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 1754 วรรคสาม ซึ่งหมายถึงกรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่าหนึ่งปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนแล้วเห็นว่า ก. ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายและให้ยุติเรื่องเพราะ ก. ถึงแก่ความตาย จากนั้นได้รายงานผลการสอบสวนต่อผู้อำนวยการของโจทก์ซึ่งมีอำนาจในการบริหารกิจการและเป็นผู้แทนของโจทก์ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกตาม พ.ร.บ.ธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 มาตรา 16, 17 ผู้อำนวยการของโจทก์พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2553 ตามเอกสารซึ่งมีข้อความระบุว่า ก. ได้เสียชีวิตไปตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2547 ย่อมถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงสิทธิเรียกร้องและรู้ตัวผู้ที่โจทก์จะพึงใช้สิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ก. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2553 แล้ว ไม่ใช่นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งเป็นวันที่ผู้อำนวยการของโจทก์พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการตามความเห็นของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 27 เมษายน 2554 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5002/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสัญญาเช่าซื้อหลังลูกหนี้เสียชีวิต: ระยะเวลา 1 ปีนับจากทราบการเสียชีวิต
วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องกรณีผู้ให้เช่าซื้อเรียกให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถกรณีผู้เช่าซื้อประพฤติผิดสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 เริ่มนับเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง มิใช่นับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงจำนวนค่าเสียหายเมื่อนำรถที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาด
ค่าขาดราคารถที่เช่าซื้อ และค่าขาดประโยชน์กฎหมายมิได้บัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ที่บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้าหนี้มรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกกรณีที่ผู้เช่าซื้อเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องนั้น เมื่อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อรู้ถึงความตายของผู้เช่าซื้อแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 ย่อมต้องอยู่ภายใต้บัญญัติดังกล่าว ที่โจทก์ต้องฟ้องเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงความตายดังกล่าว หรือภายในสิบปีนับแต่ผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกในกำหนดเวลาดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานของรัฐวิสาหกิจต่อลูกจ้าง อ้างอิงความรับผิดทางละเมิดและคำสั่งทางปกครอง
แม้โจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่ง โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดหน้าที่อันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อโจทก์ จึงเป็นการฟ้องให้รับผิดทางแพ่งที่มาจากมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่โจทก์อาศัยคำสั่งดังกล่าวบังคับตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 อันจะต้องอาศัยสำนวนการสอบสวน จำเลยที่ 2 และที่ 3 สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์การกระทำของตนเองได้ สำนวนการสอบสวนของโจทก์เป็นเพียงพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาคดีในชั้นศาลเท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องโดยไม่ตั้งกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาก่อนไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง โจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทุจริตเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป เป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดทั้งในมูลละเมิดและมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน กฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 403/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำผิดสัญญาใช้ไฟฟ้า ไม่ใช่หนี้ค่าไฟฟ้าตามปกติ
แม้โจทก์จะเป็นผู้ประกอบการค้า แต่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 อันเป็นธุรกิจทางการค้าตามปกติของโจทก์ ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาการใช้ไฟฟ้า โดยมีการสลับสายนิวตรอนทางด้านเข้าเครื่องวัดแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้า และสร้างสายดินพิเศษภายในบ้านนำกระแสไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องปรับอากาศ มีผลทำให้เครื่องวัดแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง อันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปเพิ่มอีกร่วมกับจำเลยที่ 2 ก็หาใช่เป็นการเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระไม่ แต่เป็นการฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยถือเอาค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปมาเป็นค่าสินไหมทดแทน จึงไม่อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/34 ที่ต้องฟ้องต่อศาลภายในกำหนดอายุความ 2 ปี แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18324/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาตัวการตัวแทน, เบี้ยปรับสัญญาจัดการกองทุน, ศาลลดเบี้ยปรับได้
สัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โจทก์ทำกับจำเลยนั้น จำเลยมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนและดำเนินการต่าง ๆ แทนโจทก์ ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันในฐานะตัวการกับตัวแทน หาใช่เป็นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของไม่ ซึ่งในเรื่องตัวการตัวแทนนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยตกลงกันไว้ว่า หากจำเลยบริหารจัดการกองทุนโจทก์ได้รับผลประโยชน์ในอัตราเฉลี่ยต่อปีของผลประโยชน์รวมทั้งหมดของกองทุนก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่รวมเงินบริจาคต่ำกว่าอัตราผลประโยชน์ที่จำเลยรับประกัน จำเลยจะชดเชยเงินที่ขาดนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 นั่นเอง เมื่อถือว่าเป็นเบี้ยปรับแล้ว ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14973/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้า: ความรับผิดของผู้ใช้ไฟฟ้าและเจ้าของสถานที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ครอบครอง
เนื้อหาและเจตนารมณ์ของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและข้อบังคับของโจทก์ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานั้น ไม่ได้มีเพียงในเรื่องสิทธิคู่สัญญาที่จะได้รับการจ่ายไฟฟ้าให้ถูกต้องและการได้รับชำระเงินค่าไฟฟ้าที่ครบถ้วนเท่านั้น แต่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยังมีหน้าที่และความรับผิดเรื่องอื่นอีก โดยโจทก์ยังมีหน้าที่และความรับผิดด้านการดูแลการจ่ายไฟให้ถูกต้องและปลอดภัยตามวิสัยและพฤติการณ์ของผู้ประกอบการ ให้บริการสาธารณะด้านการจ่ายไฟฟ้า ส่วนจำเลยก็ยังมีหน้าที่และความรับผิดในฐานะผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลสถานที่ใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นฝ่ายที่รู้เห็นเพียงฝ่ายเดียวเกี่ยวกับพฤติการณ์การใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในฐานะความเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครอง หรือผู้ดูแลบ้านที่ใช้ไฟฟ้าตามสัญญาที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้ในข้อบังคับของโจทก์ข้อ 36 จึงตกลงกันไว้ชัดเจนว่า ถ้าผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ได้บอกเลิกการใช้ไฟฟ้า แต่มีผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้า ให้ถือว่าผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ครอบครองสถานที่ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันในการชำระค่าไฟฟ้า เมื่อจำเลยซึ่งรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายบ้านของตนแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยตามสภาพปกติแล้วโจทก์ไม่อาจรู้ข้อเท็จจริงนี้ได้ จำเลยจึงต้องอยู่ในฐานะคู่สัญญาที่ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญาให้ครบถ้วน การที่จำเลยไม่ดำเนินการบอกเลิกใช้ไฟฟ้าตามสัญญา แล้วต่อมามีผู้ใช้วิธีการตัดสายเช็คศูนย์ทางด้านไฟฟ้าเข้าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่บริเวณหัวเสาหน้าบ้าน และมีการนำไฟฟ้าเข้าไปใช้กับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านใช้ไฟฟ้าไปทั้งสิ้น 64,108 หน่วย แต่เครื่องวัดไฟฟ้าของจำเลยอ่านได้เพียง 29,660 หน่วย ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับชำระค่าไฟฟ้าตามที่ควรได้รับตามปกติ จำเลยจึงต้องรับผิดตามเงื่อนไขแห่งสัญญาดังกล่าว
การฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายเท่ากับค่าไฟฟ้าที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงหน่วยน้อยกว่าความเป็นจริง เป็นการฟ้องให้ชำระหนี้ให้ถูกต้องโดยโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์จัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชนอันมีลักษณะเป็นกิจการสาธารณูปโภค ไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าที่จะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่ตกลงทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้วไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาให้ครบถ้วนเป็นเหตุให้มีผู้อื่นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเท่ากับค่าไฟฟ้าส่วนที่ขาดที่พึงได้ตามปกติ ซึ่งมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14954/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ: การนำอายุความ ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้
การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ผู้ต้องเสียหายมีสิทธิเรียกร้องภายใน 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนการฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งให้นับอายุความทางอาญาที่ยาวกว่าตามมาตรา 448 วรรคสอง นั้น หมายความเฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมในการกระทำความผิดโดยเฉพาะ ส่วนบุคคลอื่นซึ่งมิได้ร่วมกระทำความผิดอาญา แต่กฎหมายบัญญัติให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งกรณีปัญหาในคดีนี้ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดทางแพ่งต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยเท่านั้น หาได้บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดร่วมกับเจ้าหน้าที่ของตนซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดดังเช่นในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างไม่ จึงไม่อาจนำอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.239 มิได้บัญญัติอายุความฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13298/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งกรณีทุจริตของคนขับรถและอายุความฟ้องร้อง
พยานโจทก์ที่นำสืบมาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งนำน้ำมันเตาตามใบส่งของไปให้แก่บริษัท ท. จากการกระทำทุจริตของคนขับรถของจำเลยที่ 1 และโดยที่สัญญารับขนให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในการกระทำของคนขับรถ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และเมื่อคดีฟังได้ว่าเป็นกรณีที่มีการทุจริตกันจึงเข้าข้อยกเว้นของบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 624 ซึ่งไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความการฟ้องเรียกร้องตามข้อยกเว้นดังกล่าวไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 624 ประกอบมาตรา 193/30
of 211